วันนี้ประเทศไทยเรียกได้ว่าเริ่มเข้าสู่ยุคหลังโควิด-19 (Post Covid-19) ก็ว่าได้ เมื่อไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศมาหลายวัน ภาครัฐจึงเปิดให้กิจการและกิจกรรมต่างๆ ที่ถูก Lockdown กลับมาดำเนินการได้หมดแล้ว สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นมายาวนานกว่า 5 เดือน แม้วันนี้มีมาตรการผ่อนปรน เพื่อให้เศรษฐกิจได้ขับเคลื่อน แต่การทำธุรกิจและวิถีชีวิตของผู้บริโภคก็ต้องปรับเปลี่ยนไปตามเหตุการณ์ที่ยังมีข้อจำกัด จึงมีหลายเรื่องที่จะได้เห็นและต้องรับมือ!
มุมมองใหม่และสิ่งที่จะได้เห็นตามมาในยุคหลังโควิด ดร.เอกก์ ภทรธนกุล ภาควิชาการตลาด คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สรุปไว้ 5 เรื่องหลัก
1. Travel Bubble การจับคู่การท่องเที่ยวของประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งประเทศไทย ก็ติดอันดับ 2 ของโลกในการบริหารจัดการโควิดได้ดี มีผู้ติดเชื้อไม่มากและควบคุมไม่ให้มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ ในช่วงการฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด จึงใช้นโยบายจับคู่ท่องเที่ยวกับประเทศที่ดูแลสถานการณ์โควิดได้ดี ไม่เกิดปัญหาการติดเชื้อใหม่ เช่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไต้หวัน และอีกหลายประเทศ เพื่อท่องเที่ยวระหว่างกันเอง ให้เศรษฐกิจได้ขยับอีกครั้ง
“สถานการณ์โควิด มีทั้งฝั่งการดูแลสุขภาพประชาชนให้ปลอดการติดเชื้อ และก็ต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกันด้วย จึงต้องบาลานซ์ทั้งคุณภาพชีวิต การหารายได้ การดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม การบริหารประเทศไม่สามารถทำแบบสุดกู่ด้านใดด้านหนึ่งได้ แม้ยังต้องระวังสถานการณ์โควิด แต่ก็ต้องเปิดให้มีการท่องเที่ยวแบบจำกัด”
ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวมีความสำคัญกับประเทศไทย เพราะจีดีพีเกิน 50% มาจากภาคบริการ และการท่องเที่ยวเป็นสัดส่วน 12% ของจีดีพี ดังนั้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจหลังโควิด จึงต้องมีกลไกกระตุ้นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับคนจำนวนมาก ไม่เช่นนั้นหลายธุรกิจไปต่อไม่ได้
แม้ “ไทยเที่ยวไทย” เป็นส่วนหนึ่งที่เข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ แต่เนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมี 2 ส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่ผ่านมานักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2562 มีจำนวนกว่า 38 ล้านคน การท่องเที่ยวในประเทศด้วยกันเอง ก็คงไม่สามารถทดแทนจำนวนนี้ได้มากนัก เพราะฝั่งท่องเที่ยวในประเทศก็ต้องกระตุ้นให้ได้เท่าเดิมและทำให้มากขึ้นเพื่อไปชดเชยนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ก่อนหน้าโควิด ธุรกิจในประเทศไทย ได้ลงทุนสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รองรับนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติที่มีแนวโน้มเพิ่มทุกปีไว้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์การค้า จึงต้องมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาช่วยฟื้นเศรษฐกิจ เพราะสินค้าบางอย่างต้องอาศัยกำลังซื้อจากต่างประเทศเป็นหลัก การเริ่มเปิด Travel Bubble จึงเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังโควิด
2. Tangible Security ใส่ความปลอดภัย ที่จับต้องได้ เพิ่มเข้าไปในการใช้ชีวิตอีกเรื่อยๆ เพราะสถานการณ์โควิดที่ยังต้องเฝ้าระวังการระบาดซ้ำ (Second Wave) จะเห็นการทำธุรกิจที่นำมาตรการด้านความปลอดภัยต่างๆ มาใช้มากขึ้น ทั้งการเช็คอินผ่านแอป ไทยชนะ การพัฒนาเทคโนโลยีด้านการฆ่าเชื้อระบบใหม่ๆ ทั้งหุ่นยนต์ อุโมงค์ หรือจะที่พรมบนพื้น เทคโนโลยีจอเช็คอุณหภูมิร่างกายและตรวจจับการใส่หน้ากาก เรียกว่าเป็นการแข่งกันเรื่องเครื่องมือความปลอดภัย ที่จะได้เห็นธุรกิจต่างๆ นำมาใช้มากขึ้นอีก
3. Inconvenience OK ไม่สะดวกมาก ไม่เป็นไร เอาให้ปลอดภัยดีกว่า มุมมองทางการตลาดเดิม คือ “ความสะดวก” เป็นกุญแจไขความสำเร็จ ต้องทำให้ผู้บริโภคสะดวกที่สุดในทุกเรื่อง แต่ในยุคหลังโควิด ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคทุกวันนี้ ยอมเสียเวลาเข้าห้าง ด้วยการสแกนแอปไทยชนะ หากห้างไหนไม่มี ผู้บริโภคอาจไม่ไป เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย การสั่ง Food Delivery ก็ยอมให้ส่งหน้าบ้าน แบบไม่ต้องเจอกันก็ได้ หรือ ระบบประชุมออนไลน์ ก็ไม่ได้สะดวกนัก แต่ก็โอเคที่จะทำ เพราะยังต้องลดการเดินทางในช่วงเวลาแออัด และทำงานที่บ้าน
“วันนี้มุมมองการตลาด กุญแจความสำเร็จที่เคยไขออกทุกอย่าง จะไม่เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป เพราะสถานการณ์หลังโควิด เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องปรับตัวเรียนรู้กลยุทธ์ใหม่ๆ ที่ไม่เคยมีมาก่อน”
4. เปลี่ยนโฉมการศึกษายุค Post COVID-19 หลังโควิด อีกสิ่งที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงชัดเจน คือ รูปแบบการศึกษา ที่ต้องปรับทั้ง Process Program People ในเรื่อง กระบวนการ มีการพูดคุยของมหาวิทยาลัยใหญ่ๆ ของโลก ถึงรูปแบบการศึกษาหลังโควิด นอกจากกระบวนการเรียนออนไลน์และปฏิบัติแบบออฟไลน์ ยังมีข้อปฏิบัติเพิมเติม คือ ตำราการศึกษา ที่เป็นเนื้อหาก่อนโควิด ต้องปรับสู่ตำราใหม่ๆ หลังโควิด ที่วันนี้สถานการณ์ยังไม่จบ ตำราใหม่ๆ ในเรื่องนี้จึงยังไม่ออกมา ดังนั้นเนื้อหาการเรียนหลัง Post Covid-19 เป็นสิ่งที่จะได้เห็นอีกหลายเรื่อง
ตัวอย่างก่อนหน้านี้จะมีการเรียนเรื่อง Sharing Economy ที่เข้ามา Disrupt ธุรกิจเดิมๆ แต่โควิด ทำให้หนึ่งในผู้นำ Sharing Economy อย่าง Brian Chesky ซีอีโอ Airbnb บอกว่ากำลังเผชิญกับอนาคตที่ไม่แน่นอน จากความกลัวของผู้คนในการเดินทางท่องเที่ยวทั่วโลก ธุรกิจที่ใช้เวลาสร้าง 12 ปี ต้องสูญเสียทุกอย่างไปในระยะเวลาอันรวดเร็วจากโควิด ที่เป็นเช่นนั้น เพราะโควิดทำให้ผู้บริโภคไม่ต้องการแชร์สิ่งต่างๆ เพื่อใช้งานร่วมกันแล้ว
รูปแบบการเรียนการสอนยุคหลังโควิด นอกจากปรับ Process และ Program แล้ว People ก็ต้องเปลี่ยนด้วย โดยจะต้องมีการเรียนรู้สกิลใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มเติม รูปแบบการปรับนี้ สามารถนำหลักคิดไปใช้ในด้านธุรกิจได้เช่นกัน
5. Nerve Center หน่วยงานใหม่ในองค์กรที่สามารถตัดสินใจและแก้ปัญหาทันท่วงทีในสถานการณ์ที่มีเรื่องใหม่เกิดขึ้นทุกวัน ช่วงที่เกิดโควิด มีสถานการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นทันที ทำให้องค์กรต้องตัดสินใจแบบด่วนว่าจะแก้ไขปัญหาอย่างไร
ยุคหลังโควิด สถานการณ์ใหม่ๆ ก็จะเกิดขึ้นอีก ดังนั้นองค์กรต่างๆ ต้องเตรียมโครงสร้างใหม่ ต้องมีหน่วยงาน Nerve Center เพื่อดูว่าเมื่อเกิดสถานการณ์ใดจะแก้ไขปัญหาอย่างไร ต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจและสั่งการได้อย่างรวดเร็ว หรือให้คำแนะนำหน่วยงานอื่นๆ ในการแก้ไขปัญหา หลังจากนี้ไปจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโควิด ยังต้องเจอกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และองค์กรต้องปรับตัวรับมือให้ทัน การเตรียมความพร้อมจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้ในวิกฤติครั้งนี้