HomeBrand Move !!ฟัง “ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” แนะทางรอดธุรกิจครอบครัวด้วย 6Cs สูตรสำเร็จเอาชนะคำสาป 3 รุ่น

ฟัง “ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์” แนะทางรอดธุรกิจครอบครัวด้วย 6Cs สูตรสำเร็จเอาชนะคำสาป 3 รุ่น

แชร์ :


แม้การดำเนิน “ธุรกิจครอบครัว” หรือ “กงสี” จะมีแต้มต่อในเรื่องความเป็นเจ้าของและการวางรากฐานไว้อย่างแข็งแกร่งจากคนรุ่นแรก แต่การจะสานต่อธุรกิจครอบครัวให้เติบโตต่อเนื่องยาวนานจากรุ่นสู่รุ่นยังคงเป็นโจทย์ยาก ที่ผ่านมาหลายธุรกิจครอบครัวที่เคยรุ่งโรจน์ในยุคบุกเบิกจึงไม่สามารถประคองความยั่งยืนเอาไว้ได้ แต่ในขณะเดียวกันมีธุรกิจครอบครัวจำนวนไม่น้อยที่สามารถส่งไม้ต่อไปสู่ทายาทจนกิจการเติบโตมีอายุกว่า 100 ปี ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น มาฟังแนวคิดและวิธีการเอาชนะคำสาป 3 รุ่นจาก ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการบริษัท เบเคอร์ แอนด์ แม็คเค็นซี่ จำกัด เพื่อให้ธุรกิจสืบทอดอย่างยืนยาวมั่นคง ที่กล่าวไว้ในงานสัมนาซึ่งจัดโดย เว็บไซต์ Brand Buffet ร่วมกับธนาคาร UOB ในหัวข้อเรื่อง ฮาวทู..Do Family Business ธุรกิจครอบครัวทำมั่วๆ ไม่ได้ 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ธุรกิจครอบครัว กับคำสาป 3 รุ่น

ในแวดวงธุรกิจ หลายคนคงคุ้นกันว่า การ สร้าง ธุรกิจเป็นเรื่องยากแล้ว แต่การ รักษา ธุรกิจให้อยู่รอดและเติบโตเป็นเรื่องยากกว่าหลายเท่า การบริหารธุรกิจครอบครัวก็เช่นเดียวกัน เมื่อรุ่นบุกเบิกก่อร่างสร้างธุรกิจมาจนเติบโตระดับหนึ่ง ทายาทที่จะเข้ามารับช่วงต่อจะต้องสานต่อธุรกิจให้เติบโตเช่นเดียวกับที่รุ่นแรกสร้างเอาไว้หรือต้องดีกว่าเดิม การบริหารธุรกิจครอบครัวจึงไม่ใช่เรื่องง่าย

ยิ่งทายาทที่จะเข้ามาสานต่อกิจการไม่ได้ซึมซัมกับธุรกิจที่รุ่นบุกเบิกสร้างมา การจะสานต่อกิจการของครอบครัวให้เติบโตต่อไปก็ยิ่งยากกว่าเดิม จึงทำให้อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวจึงไม่เกิน 3 รุ่น โดยรุ่นหนึ่งเป็นผู้สร้าง รุ่นสองสานต่อเริ่มมีฐานมั่นคง และรุ่นสามทำลาย หรือเป็นคำสาป 3 รุ่น มาจนถึงทุกวันนี้

แม้ว่าการบริหารธุรกิจครอบครัวจะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้ง่าย แต่ ศ.พิเศษ กิติพงศ์ บอกว่า ในต่างประเทศมีธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จทำธุรกิจมานานและมีอายุยืนยาวเกิน 100 ปีเป็นจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือ แอร์เมส ที่ก่อสร้างธุรกิจจนกลายเป็นแบรนด์เก่าแก่อายุกว่า 200 ปี ขณะที่ ประเทศญี่ปุ่น มีบริษัทที่มีอายุเกิน 200 ปี กว่า 3,000 บริษัท

ส่วนในประเทศไทย มีบริษัทที่อายุเกิน 100 ปี อยู่น้อยมาก โดยโรงแรมโอเรียนเต็ลเป็นธุรกิจครอบครัวที่เก่าแก่สุด แต่ความเป็นเจ้าของแปรเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก, เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ปัจจุบันถ่ายทอดกิจการมาสู่รุ่น 3. อาณาจักรเซ็นทรัล สืบทอดสู่ทายาทรุ่น 3 และรุ่น 4 เริ่มเข้ามาทำงาน, โอสถสภา หนึ่งในผู้ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภค ที่ส่งต่อกิจการมาถึงทายาทรุ่น 4, คิงพาวเวอร์ สืบทอดมาสู่ทายาทรุ่น 2, ยาขมน้ำเต้าทอง แบรนด์สมุนไพรจีนที่สืบทอดมาสู่ทายาทรุ่น 4 และกลุ่มสยามวาลา ปัจจุบันส่งต่อการบริหารงานมาสู่รุ่นที่ 4

ทำไมธุรกิจครอบครัวมัก ล่มสลายในรุ่นที่ 3

สาเหตุหลักที่ธุรกิจครอบครัวมักจะส่งไม้ต่อได้ไม่เกิน 3 รุ่นก็ล่มสลาย ศ.พิเศษ กิติพงศ์ บอกว่า มาจาก 3 ปัจจัยใหญ่ๆ คือ 1.ขาดการจัดโครงสร้างการประกอบธุรกิจและการถือหุ้นที่ดี ไม่ได้วางโครงสร้างการจัดตั้งบริษัทเพื่อธุรกิจในครอบครัว (Holding Company) รวมถึงโครงสร้างผู้ถือหุ้นและการวางแผนการสืบทอดธุรกิจ ทำให้การบริหารจัดการที่ชัดเจน 2.ขาดการสื่อสารแลกเปลี่ยนข้อมูลของสมาชิกในครอบครัว โดยสมาชิกในครอบครัวไม่ยอมพูดคุยปรึกษาหารือกัน 3.ขาดการจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม ทั้งในเรื่องหุ้น และเงินเดือน จนนำมาสู่ความขัดแย้งกันภายในครอบครัว ซึ่งที่ผ่านมามักมีตัวอย่างให้เห็นมากมาย

“ธุรกิจครอบครัวในไทยมีความขัดแย้งกันจำนวนมาก โดยเกิดมาจากความเห็นที่ต่างกันของคน 3 รุ่นคือ รุ่นก่อตั้ง รุ่นพี่น้อง รุ่นเครือญาติ ส่วนใหญ่รุ่นก่อตั้งกับรุ่นพี่น้องไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเป็นพ่อเป็นลูกกัน แต่เมื่อครอบครัวขยายสมาชิกมากขึ้น มุมมองความคิดเห็นอาจจะแตกต่างกัน จึงทำให้เกิดปัญหาข้อพิพาท”

6C คือ ทางรอด สูตรสำเร็จธุรกิจครอบครัวโตยั่งยืน

จากประสบการณ์ทำงานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวมากกว่า 40 ปี สูตรสำเร็จที่เขาค้นพบในการบริหารธุรกิจครอบครัวไทยไม่ให้กิจการสิ้นสุดเพียงแค่ 3 รุ่นคือ 6C ประกอบดัวย

1.Corporate Structure โครงสร้างการถือหุ้นและโครงสร้างของบริษัท โดยจะต้องมีโครงสร้างบริษัทและการถือหุ้นที่ดีและเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงและไม่ก่อหนี้ เพราะหากจัดโครงสร้างได้ดี ย่อมทำให้บริษัทเติบโตได้อย่างมั่นคง แต่หากโครงสร้างผิดอาจทำให้ธุรกิจครอบครัวพังลงได้ง่ายๆ เช่นกัน จะเห็นได้จากธุรกิจที่ล่มสลายในปี 2540 ส่วนมากจะมีโครงสร้างที่ผิดพลาด โดยนำธุรกิจครอบครัว ธุรกิจส่วนตัว และทรัพย์สินไปรวมกัน พอมีการกู้หนี้ยืนสิน จนเกิดการฟ้องล้มละลาย ทั้งธุรกิจครอบครัวและส่วนตัวก็ล้มไปด้วย

2.Compensation การจัดการตอบแทนและผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม โดยไม่ได้หมายถึงการแบ่งปันอย่างเท่าเทียม หรือตามใจของพ่อแม่ในรุ่นที่ 1 แต่หมายถึงการวางนโยบายจัดสรรผลประโยชน์ให้เหมาะตามความสามารถของผลงานแต่ละคน ซึ่งจะทำให้ทุกคนในครอบครัวพึงพอใจและป้องกันความขัดแย้งที่อาจเกิดขึ้นตามมา

3.Communication การสื่อสารภายในครอบครัว โดยการสื่อสารต้องไม่ใช่การสั่งให้ทำ โดยเฉพาะรุ่น 1 จะสั่งมากกว่าทุกรุ่น เพราะถือว่าตัวเองสร้างธุรกิจมากับมือ อีกทั้งแต่ละเจนเนอเรชั่นมีความคิดไม่เหมือนกัน การสื่อสารจึงต้องรับฟังแบบเปิดใจ พูดคุยระหว่างรุ่นต่อรุ่นที่ทำธุรกิจ และให้กำลังใจไม่ทำร้ายจิตใจกัน และเมื่อสื่อสารแล้วความเห็นไม่ตรงกัน ต้องมีกระบวนการเจรจา ไกล่เกลี่ย ระงับข้อพิพาท

4.Conflict Resolution การระงับข้อพิพาทหรือความขัดแย้ง ธุรกิจครอบครัวต้องมีการบริหารความขัดแย้งด้วยการเขียนเป็นข้อกฏหมายให้ชัดเจน หากธุรกิจครอบครัวมีความคิดเห็นไม่ตรงกันควรยึดหลัก ฉันทานุมัติ หรือ “สื่อสารจนเข้าใจตรงกัน” ไม่ควรใช้การโหวด เพราะอาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่าโดนคัดค้าน เช่น กรณีแบรนด์กุชชี่ ที่เกิดความขัดแย้งจากการสื่อสาร จนเป็นเหตุให้คนอื่นเข้ามาซื้อกิจการไปจากตระกูล

5.Care and Compression ความเอื้ออาทรเห็นใจซึ่งกันและกัน เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับธุรกิจครอบครัว โดยนอกจากการเอื้ออาทรคนในครอบครัวแล้ว ยังต้องรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย เพราะการทำธุรกิจวันนี้จะมุ่งหวังแค่ผลกำไรอย่างเดียวโดยไม่ทำประโยชน์เพื่อส่วนรวม คงไม่ยั่งยืน ขณะเดียวกันทุกส่วนล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างต่อเนื่องร่วมกัน

6.Change ความเปลี่ยนแปลง เป็นตัวที่สำคัญที่สุด เพราะการทำธุรกิจต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งรุ่นส่งมอบและรุ่นรับมอบจึงต้องรู้จักเปลี่ยน “วิธีคิด” และ “วิธีการทำงาน” ให้ทันกับโลกที่เปลี่ยนไปอยู่เสมอ อย่างเช่น ซาบีน่า หนึ่งในองค์กรที่มีมืออาชีพเข้ามาดูแลธุรกิจเป็นจำนวนมาก และให้ทายาทเข้ามาศึกษาทุกงานในองค์กรเพื่อให้เห็นภาพรวมของธุรกิจ ก่อนจะเลือกลงมือทำในงานที่สนใจ พร้อมเปลี่ยนจากการเป็นโรงงานรับจ้างผลิต (OEM)  มาสู่การสร้างแบรนด์ของตัวเอง ซึ่งผลลัพธ์ของการเปลี่ยนแปลงกลับทำให้ทุกคนรู้จักและอยากใช้แบรนด์ซาบีน่า

“เวลาสร้างธุรกิจครอบครัว สิ่งสำคัญคือการจัดโครงสร้างให้ดี เพื่อกำหนดวัตถุประสงค์และข้อบังคับที่ชัดเจน ส่วนธรรมนูญครอบครัวเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะทำพร้อมหรือทำทีหลังก็ได้ โดยธรรมนูญครอบครัว ไม่ใช่พินัยกรรม แต่เป็นแนวทางกำหนดนโยบายในการทำธุรกิจร่วมกันของคนในครอบครัว ถ้าไม่มี จะไม่มีข้อตกลงในการเดินไปข้างหน้าของครอบครัว ขาดการวางแผนการสืบทอดธุรกิจ และขาดการสื่อสารไม่สามารถหาข้อระงับข้อพิพาทได้ ซึ่งธรรมนูญครอบครัวต้องเกิดจากความเข้าใจและร่วมมือกันทำ” ศ.พิเศษ กิติพงศ์ ย้ำในตอนท้าย

ฟังคลิปเต็มๆ

เว็บไซต์ BrandBuffet ขอขอบคุณ ธนาคารยูโอบี ที่เห็นความสำคัญของ “ธุรกิจครอบครัวไทย”

 


แชร์ :

You may also like