HomeBrand Move !!“นกแอร์” แบกหนี้ 2.6 หมื่นล้าน ยื่นศาลล้มละลายกลางฟื้นฟูกิจการอีกราย

“นกแอร์” แบกหนี้ 2.6 หมื่นล้าน ยื่นศาลล้มละลายกลางฟื้นฟูกิจการอีกราย

แชร์ :

ธุรกิจสายการบินยังออกอาการสาหัสจากผลกระทบโควิด-19 ต่อไป เมื่อ “นกแอร์” ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ตาม “การบินไทย” ที่เข้าสู่กระบวนการไปก่อนหน้านี้ หลังจากเผชิญปัญหาหนี้ท่วมกว่า 2.6 หมื่นล้าน ล่าสุดศาลรับคำร้องได้รับการพักชำระหนี้ทันที เริ่มไต่สวนวันที่ 27 ตุลาคมนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

วันนี้ (30 ก.ค.) บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง เนื่องจากนกแอร์ มีหนี้สินรวมกว่า 2.6 หมื่นล้านบาท โดยมีเจ้าหนี้จำนวน 312 ราย ซึ่งศาลได้มีคำสั่ง “รับคำร้อง” ขอฟื้นฟูกิจการในคดีดำ ฟฟ 21/2563 ทำให้นกแอร์ได้รับการพักชำระหนี้ทันที (Automatic Stay)

ที่ผ่านมาสายการบินนกแอร์เผชิญปัญหา “ขาดทุน” มาต่อเนื่อง และได้รับผลกระทบอย่างหนักจากสถานการณ์โควิดในปีนี้ โดยช่วง 6 ปีที่ผ่านมานกแอร์ขาดทุกปี

  • ปี 2556 รายได้ 11,315 ล้านบาท กำไร    1,066 ล้านบาท
  • ปี 2557 รายได้ 12,157 ล้านบาท ขาดทุน    410 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 13,387 ล้านบาท ขาดทุน    424 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 16,938 ล้านบาท ขาดทุน 2,795 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 20,376 ล้านบาท ขาดทุน 1,854 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 19,740 ล้านบาท ขาดทุน 2,786 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 19,969 ล้านบาท ขาดทุน 2,051 ล้านบาท

ในปี 2562 นกแอร์ รายงานว่ามีจำนวนผู้โดยสาร 8.25 ล้านคน จำนวนเที่ยวบิน 61,881 เที่ยวบิน อัตราการบรรทุกผู้โดยสาร 87% มีจำนวนเครื่องบิน 24 ลำ นกแอร์มีเส้นทางบินในประเทศ 41 เส้นทาง และ 4 เส้นทางบินประจำระหว่างประเทศ ได้แก่ เมียนมา เวียดนาม จีน และญี่ปุ่น

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2563 นกแอร์ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยว่าสายการบินนกสกู๊ต ซึ่งบริษัทย่อยร่วมถือหุ้น 49.65% ได้เลิกกิจการ จากปัญหาขาดทุนต่อเนื่องและได้รับผลกระทบจากโควิด

แม้จะเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ แต่นกแอร์ก็ได้ประกาศผ่านเฟซบุ๊กแล้วว่ายังคงให้บริการตามปกติ

“นกแอร์”แจงเร่งฟื้นฟูกิจการก่อนโควิดจบ

คุณวุฒิภูมิ จุฬางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) ได้ชี้แจงเรื่องการขอฟื้นฟูกิจการว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดสำหรับการแก้ปัญหาสภาพคล่องทางการเงินชั่วคราว เพื่อให้กิจการดำเนินการต่อไปได้ตามปกติ

“การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการครั้งนี้ นกแอร์ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายที่จะเลิกหรือเป็นบุคคลล้มละลายแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้ามยังต้องการดำเนินกิจการต่อไป”

ปัญหาปัจจุบันของนกแอร์ ไม่ได้เกิดจากปัจจัยพื้นฐานทางธุรกิจ แต่เกิดจากปัจจัยหลายอย่างรวมถึงสถานการณ์โควิด ที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อธุรกิจทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก จนเกิดอุปสรรคในการดำเนินกิจการ การปรับโครงสร้างภายใต้กระบวนการฟื้นฟูที่มีกฎหมายรองรับและให้ความคุ้มครองทุกฝ่าย จะช่วยให้นกแอร์ประกอบกิจการได้ปกติในระหว่างที่อยู่ในกระบวนการฟื้นฟู

การยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการในช่วงนี้ เพราะเห็นว่าขณะนี้ประชาชนและนักท่องเที่ยวยังเดินทางไม่มากนักจากสถานการณ์โควิด จึงเห็นว่าบริษัทสามารถฟื้นฟูกิจการได้อย่างคล่องตัวและรวดเร็วกว่าภาวะปกติ โดยตั้งเป้าหมายว่าจะต้องฟื้นฟูกิจการให้สำเร็จก่อนการระบาดโควิดจะยุติลง นั่นหมายถึงนกแอร์จะมีความสามารถให้บริการนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติและประชาชนทั่วไปได้อย่างดี

คุณวุฒิภูมิ จุฬางกูร

สำหรับแนวทางการฟื้นฟูนกแอร์มีดังนี้
– ปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อแก้ไขหนี้สินที่มีอยู่ให้เสร็จสิ้น อย่างเป็นธรรมและสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้
– การบริหารจัดการกิจการเพื่อให้สามารถชำระหนี้ได้ตามแผนฟื้นฟู เช่น ปรับปรุงเครือข่ายเส้นทางบินและปรับฝูงบิน การปรับปรุงกลยุทธ์ด้านการพาณิชย์และความสามารถในการหารายได้ การปรับโครงสร้างองค์กร ปรับลดค่าใช้จ่าย
– นกแอร์ ได้เสนอให้ บริษัทแกรนท์ ธอนตัน สเปเชียลิสท์ แอ็ดไวซอรี่ เซอร์วิสเซส จำกัด ร่วมกับ คุณปริญญา ไววัฒนา คุณไต้ ชอง อี คุณเกษมสันต์ วีระกุล คุณวุฒิภูมิ จุฬางกูร และคุณชวลิต อัตถศาสตร์ กรรมการบริษัท เป็นผู้ทำแผนฟื้นฟู


แชร์ :

You may also like