ลำพังแค่อยู่ในสมรภูมิศึก “ร้านกาแฟ” ธุรกิจ Red Ocean ก็สาหัสอยู่แล้ว เพราะผู้เล่นในตลาดมีทุกระดับตั้งแต่ร้านริมถนน เชนยักษ์ระดับโลก กระทั่งมหาเศรษฐีติดอันดับฟอร์บสของไทย เมื่อต้องมาเจอกับ โควิด-19 เขย่าเศรษฐกิจโลกเข้าไปอีก Class Cafe แบรนด์น้องใหม่ ขอใช้คาถาฮิต “วิกฤติคือโอกาส” ใส่ Speed ปรับธุรกิจพลิกจากยอดขายที่ตกฮวบให้เพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า มากกว่าก่อนโควิดด้วยซ้ำ
ในสนามการแข่งขันยุคใหม่ “เทคโนโลยี” ราคาถูกลงไปจนถึงเปิดให้ใช้งานฟรี อย่างแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ ทำให้ช่องว่างของคำว่า “ทุน” แคบลง วันนี้ “ปลาเล็ก” หรือ “ปลาใหญ่” จึงไม่สำคัญ แต่ “ปลาเร็ว” คือคนที่รอด!
สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น ธุรกิจรายเล็ก มักมีคำถามว่าจะผ่านวิกฤตินี้ไปได้อย่างไร มาฟังมุมคิดเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสของ คุณมารุต ชุมขุ่นทด ผู้ก่อตั้ง Class Cafe แบรนด์ร้านกาแฟต้นกำเนิดจากโคราชที่มาสร้างชื่อให้คนกรุงได้รู้จักในรูปแบบ Hybrid ธุรกิจ SMEs วิถี Startup ในงานสัมมนา “ชีวิตวิถีใหม่ ธุรกิจท้องถิ่นปรับตัวอย่างไรให้รุ่ง” ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
ปี 2020 กับมหาวิกฤติถาโถม
Class Cafe เริ่มต้นในปี 2013 ปูพรมเปิดสาขาในพื้นที่อีสาน ยึดเมืองใหญ่ไว้หมด เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ด้วยโมเดลระดมทุนแบบสตาร์ทอัปมาขยายธุรกิจร้านกาแฟ ปีนี้มี 30 สาขา เมื่อต้องเจอกับโควิด คุณมารุต บอกได้คำเดียว “อ่วม”
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2020 เรียกได้ว่าธุรกิจเข้าสู่ภาวะวิกฤติโดยสมบูรณ์แบบ เริ่มเดือนกุมภาพันธ์กับเหตุการณ์ Terminal21 เขย่าขวัญเมืองโคราช บ้านเกิดของ Class Cafe ที่มีสาขาอยู่ถึง 12 แห่ง ด้วยรูปแบบเป็นคาเฟ่ขนาดใหญ่ เปิด 24 ชั่วโมง เมื่อเกิดเหตุการณ์เมืองเงียบ ยอดขายวูบทันที แน่นอนว่ากระทบทั้งบริษัทเพราะพื้นที่โคราชเป็น 50% ของพอร์ตโฟลิโอรายได้
ณ จุดนี้ต้องเปลี่ยน Mindset ใหม่ทุกอย่าง เพื่อรับมือกับสถานการณ์ โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัย เพราะ Class Cafe มีพื้นที่โคเวิร์กกิ้ง สเปซ ที่เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง นับเป็นช่วงที่มีผลกระทบแรงมาก ไม่เพียงแค่นั้นการจะฟื้นได้ สังคมชุมชนต้องไปด้วยกัน จึงออกมาทำแคมเปญ Korat Strong รณรงค์ให้เมืองกลับมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม แคมเปญใช้เวลา 4 สัปดาห์ทุกอย่างกลับมาปกติ ธุรกิจกำลังจะได้หายใจอีกครั้ง เดือนมีนาคม ก็ต้องเจอกับมหาวิกฤติระดับโลก Covid-19
มาตรการ Lockdown ที่ประกาศออกมาในวันที่ 22 มีนาคม กลายเป็นหมัดน็อกธุรกิจ เมื่อหน้าร้านถูกปิด ธุรกิจรีเทลทุกประเภท รายได้เริ่มลดลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ 50-80% ไปกระทั่งเป็นศูนย์
Speed สำคัญ ตัดใจปิดทันที 12 สาขา
Class Cafe มีสาขาอยู่ในโคราช ขอนแก่น อุดรธานี บุรีรัมย์ นครปฐม ระยอง กรุงเทพฯ ยึดทำเลสำคัญ สยามสแควร์ สามย่านมิตรทาวน์ จากเดิมที่คิดว่าอยู่ใน Safe Zone เพราะไม่ใช่ธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด แต่หลายทำเลก็โดนเต็มๆ อย่าง สยามสแควร์ นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไปเยอะ อุดรธานี โคราช ก็เช่นกัน
เมื่อได้รับผลกระทบหนัก จึงต้องคิดแบบสตาร์ทอัป ที่ขึ้นชื่อว่าเป็น ปลาเร็ว เพราะในสถานการณ์นี้ Speed มีความสำคัญอย่างมาก เมื่อรู้ว่าวิกฤติเกิดแล้วและรับมือไม่ไหว ต้องตัดใจเร็ว ด้วยการปิดสาขากรุงเทพฯ ทั้ง 12 สาขา ภายใน 2 สัปดาห์หลังประกาศ Lockdown (ปัจจุบันเปิดให้บริการแล้ว) และกลับมาโฟกัสในพื้นที่ที่ไม่ได้รับผลกระทบหรือกระทบน้อยกว่า
“เราตัดสินใจอยู่ในสมรภูมิที่แข็งแรงและแบรนด์แกร่งก่อน คือเมืองใหญ่ในอีสาน เลือกเปิดสาขาใหม่ใน ขอนแก่น ก็ถือว่าใสถูกทาง เพราะทำยอดขายได้สูสีกับสาขาที่ปิด แต่ต้องบอกว่า Business Model ช่วงโควิดค่อนข้างยาก เพราะ Class Cafe เป็นการดื่มกาแฟกึ่งลักชัวรี่ ที่ต้องได้ประสบการณ์และบรรยากาศในร้าน”
สร้างบิสซิเนสโมเดลใหม่
สถานการณ์โควิดทำให้ Class Cafe เปลี่ยน Business Model เริ่มจากผลิตภัณฑ์ กาแฟแก้ว เป็น กาแฟขวด แก้ไขปัญหาหน้าร้านปิด เมื่อหน้าร้านไม่ได้ก็ต้องเข้าสู่เซอร์วิส “เดลิเวอรี่” เพิ่มเติมด้วยเครื่องดื่มบรรจุขวด เพื่อเข้าไปอยู่ในตู้เย็นของครัวเรือนต่าง ๆ ก็พบว่าที่ได้รับการตอบรับที่ดี กาแฟขวด 1 ขวดเท่ากับปริมาณ กาแฟ 7 แก้ว ปัจจุบันยังทำยอดขายได้วันละ 1,000 ขวด นั่นเท่ากับ 7,000 แก้ว เป็นบิซสิเนสใหม่ที่เข้ามาในช่วงโควิด แม้วันนี้ปลดล็อกดาวน์แล้วก็ยังทำต่อไป เพราะเป็นอีกช่องทางสร้างรายได้
“เราเปลี่ยนตัวเองจากขายกาแฟแก้วมาเป็นขวด เพื่อเข้าไปอยู่ในรถเข็นและตู้เย็นของลูกค้าให้ได้ ในเชิงธุรกิจต้องมองว่าลูกค้าอยู่ที่ไหนเราต้องอยู่ที่นั่น และคนที่เขาขายของได้ทำอย่างไร เราต้องเป็นคนนั้นให้ได้ มองทุกอย่างให้บวก วิ่งเข้าหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นพลังบวก จากนั้นขับเคลื่อนไปข้างหน้า”
ไม่เพียงแค่นั้นการถูก Lockdown ช่วงโควิด ลูกค้าหน้าร้านหายไป 100% ทำให้ Class Cafe เร่งสปีดพัฒนาช่องทางการขายผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เข้าไปอยู่ในทุกผู้ให้บริการ Food Delivery ใช้โซเชียลแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ไลน์ ไอจี มาเป็นช่องทางการสื่อสาร นอกจากนี้ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ได้เข้ามาช่วยทำระบบเพย์เมนต์หลังบ้านผ่าน Class Cafe App ตอบโจทย์ Contactless และ Cashless ด้วยบริการ Grab & Go ในช่วงโควิด และจะพัฒนาต่อไปหลังจากนี้
เรียกว่า Class Cafe ใช้เวลาทรานส์ฟอร์มตัวเองสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้วยสปีดที่เร็วมาก เดิมเป็นแผนที่วางไว้ว่าจะทำในอีก 1 ปี แต่โควิดทำให้เกิดเร็วขึ้นภายใน 3 เดือน เพื่อให้ลูกค้ามีประสบการณ์ที่ดี และบริการเดลิเวอรี่เป็นสิ่งที่ต้องทำไม่งั้นไม่รอด
“การไม่ตั้งรับแต่เราบุกไปในพื้นที่ใหม่ ทั้งโปรดักท์และดิจิทัลแพลตฟอร์มทำให้เกิด Engagement และเข้าหาลูกค้าได้มากขึ้น แม้หน้าร้านปิดทำให้ตัวเลขยอดขายหายไป 80% แต่เมื่อทุกสาขาทำทรานส์ฟอร์มได้สมบูรณ์ ยอดขายแต่ละสาขากลับมาเพิ่มเป็น 4 เท่า ดีกว่าก่อนโควิดและช่วงโควิด”
เลิกโฟกัสสาขา หันมาปั้น Class Agent
สถานการณ์โควิดผ่านมาแล้ว 6 เดือน แต่คาดว่าการกลับสู่ภาวะปกติต้องใช้เวลาอีกปีครึ่ง การต้องอยู่ท่ามกลางปัญหาหากจะไปต่อได้ต้องมองเป็นเรื่อง Positive ปรับตัวทุกด้านให้เร็ว
คุณมารุต บอกว่า Class Cafe อยู่ในธุรกิจที่ยากมาตั้งแต่ต้น เพราะร้านกาแฟวันนี้ คือ Red Ocean แต่ทุกวิกฤติเป็นโอกาสได้ การมี สาขาน้อย ก็เป็นจุดแข็งได้ นั่นทำให้ธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มได้เร็วมากเมื่อเทียบกับคู่แข่งที่มีเป็น 1,000 สาขา จึงเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ข้อดีของรายเล็ก คือ คิดได้แล้วทำเลย “คิด ทำ ไม่เวิร์ก เลิก คิดใหม่วนไปแบบนี้”
หลังจากปรับตัวทำโปรดักท์ใหม่แบบขวดแล้วได้ต่อยอดด้วยการสร้าง Class Agent ขายสินค้าของ Class Cafe ในแต่ละพื้นที่ ปัจจุบันมีแล้ว 14 เอเยนต์ ตัวเลขยอดขายเติบโตได้ดี โมเดลนี้กำลังจะเป็นอนาคตใหม่ของเรา วิกฤติที่เจอทำให้เรียนรู้ว่าไม่จำเป็นต้องมีสาขาจำนวนมากอีกต่อไป เมื่อมีความพร้อมเรื่องดิจิทัลแพลตฟอร์มและเอเยนต์
วันนี้เราเลิกคิดเรื่องจำนวนสาขาแล้ว ธุรกิจเราไม่ใช่ธุรกิจเปิดสาขา แต่มองโอกาสการสร้าง Class Agent เพราะมีคนตกงานจำนวนมาก มีร้านค้าที่ขายของไม่ได้เยอะ จึงเห็นโอกาสดึงมาเป็น Agent และทำงานร่วมกัน
เมื่อมองวิกฤติเป็นโอกาส เปิดกว้างทำบิสซิเนส โมเดลใหม่ๆ Class Cafe วันนี้คงไม่จำกัดตัวเองเป็นแค่ร้านกาแฟ แต่เริ่มเห็นโอกาสใหม่ๆ ทั้งการนำสินค้านวัตกรรมใหม่ IoT หรือจะเป็นหม้อทอดไร้น้ำมัน ที่กำลังได้รับความนิยมมาขาย ล้วนเป็นสิ่งที่ต่อยอดสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซได้ดี หลังจากได้เข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์มเรียบร้อยแล้ว และโปรไฟล์ของลูกค้าก็เป็นกลุ่มเดียวกัน
อีกธุรกิจที่จะเปิดตัวในเดือนสิงหาคมนี้ คือการร่วมมือกับสตาร์ทอัป พัฒนาแฟลตฟอร์มจ้างงาน รูปแบบใหม่ทำให้เกิดการจ้างงานในช่วงวิกฤติ เพราะตลาดแรงงานทุกระดับกำลังได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพื่อช่วยให้คนมีรายได้
“วันนี้ทุกคนที่ยังมีกำลังต้องร่วมมือกัน ช่วยให้ผู้บริโภคมีช่องทางหารายได้ เพราะหากเงินในกระเป๋าลูกค้าลดลงไปเรื่อยๆ ท้ายที่สุดก็จะกระทบกับทุกธุรกิจ เมื่อคนขาดรายได้ ธุรกิจก็อยู่ไม่ได้ เมืองอยู่ไม่ได้เช่นกัน”
ไม่ว่าต้องอยู่ท่ามกลางวิกฤติและถูกมรสุมถาโถมแค่ไหน ทุกสถานการณ์ยังมีคนที่ขายของได้เสมอ นั่นเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องหาโอกาสให้เจอและทำให้ตัวเองไปอยู่ในกลุ่มของคนที่ขายของได้ อย่าท้อแท้และใช้วิกฤติเชิงรุก เปลี่ยนเกมและก้าวไปหาโอกาส