มีการศึกษาจาก Oxford Economics พบว่า “กลุ่มชนชั้นกลาง” ของญี่ปุ่นกำลังลดน้อยลงเรื่อย ๆ หลังพบความเปลี่ยนแปลงอย่างมากในตลาดแรงงาน ระบบสวัสดิการและภาษี ขณะที่กลุ่มครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำอาจมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น
ผู้ที่เปิดเผยผลการศึกษานี้คือคุณชิเงโตะ นากาอิ (Shigeto Nagai) นักเศรษฐศาสตร์ชาวญี่ปุ่นที่บอกว่า หลังจากฟองสบู่แตกในยุค 1990 สิ่งที่เกิดกับตลาดแรงงานญี่ปุ่นคือครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำเพิ่มขึ้น ขณะที่ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางและรายได้สูงนั้นหดตัวลง
Nagai ยังได้ย้อนไปถึงช่วงปี 1991 – 2001 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนญี่ปุ่นเรียกว่า Lost Decade หรือช่วงเวลาสิบปีแห่งความสูญเสีย กับตัวเลขการเติบโตของประเทศที่ชะงักงัน และเริ่มเห็นภาพการถดถอยทางเศรษฐกิจต่างจากชาติอุตสาหกรรมอื่น ๆ อีกทั้งยังมีวิกฤติสินเชื่อและสภาพคล่องเข้ามาทำให้ปัญหารุนแรงมากขึ้นด้วย
โดยเขาชี้ว่า แม้ความเหลื่อมล้ำในญี่ปุ่นจะไม่ได้กระจายตัวในวงกว้าง แต่สัดส่วนของครอบครัวที่มีรายได้ต่ำก็กำลังเพิ่มขึ้น และกลายเป็นค่าใช้จ่ายให้ครอบครัวที่มีรายได้ปานกลางต้องแบกรับ ซึ่งทำให้คุณ Nagai ออกมาเตือนว่า สภาพเช่นนี้จะทำให้กลุ่มชนชั้นกลางค่อย ๆ ถูกกัดกร่อนไปทีละน้อย และอาจหายไปได้ในที่สุด
สำหรับปัจจัยที่นำไปสู่สถานการณ์เช่นนี้มี 3 ด้าน หนึ่งในนั้นคือระบบการจ้างงานของญี่ปุ่นที่เน้นการจ้างงาน – ดูแลกันตลอดชีพ ซึ่งในยุคหนึ่งสมัยหนึ่งมันอาจเป็นระบบการจ้างงานที่ดูดี แต่ไม่ใช่สำหรับสถานการณ์ปัจจุบันอีกต่อไป โดยคุณ Nagai บอกว่า การจ้างงานในลักษณะดังกล่าวกำลังทำให้คนญี่ปุ่นตกงานมากขึ้นเนื่องจากบริษัทไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายได้ไหว อีกทั้งการขึ้นเงินเดือนพนักงานในลักษณะดังกล่าวก็ไม่ได้อิงจากความสามารถอย่างแท้จริง
ปัจจัยที่สองคือเรื่องของการจ้างงานแบบพาร์ทไทม์ที่เพิ่มขึ้น โดยเป็นความพยายามของบริษัทญี่ปุ่นเองที่ต้องการเปลี่ยนการจ้างงานจากพนักงานประจำเป็นการจ้างพนักงานพาร์ทไทม์เข้ามาแทน เนื่องจากต้นทุนถูกกว่า
Nagai กล่าวว่า สถานการณ์นี้เริ่มเห็นมาตั้งแต่ช่วงยุค 2000 หลังบริษัทในญี่ปุ่นเริ่มเห็นการเติบโตของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีค่าแรงถูกมาก ประกอบกับมีกลุ่มชาวญี่ปุ่นที่ต้องการทำงานในลักษณะนี้ได้อยู่ นั่นคือกลุ่มแม่บ้านที่อยากกลับมาทำงาน แต่ติดว่าไม่สามารถทำงานฟูลไทม์ได้เพราะต้องดูแลลูก ๆ หรือผู้สูงอายุที่เงินหลังการเกษียณไม่เพียงพอที่จะเลี้ยงตัวให้อยู่อย่างสุขสบายได้นั่นเอง
ด้วยเหตุนี้ทำให้สำนักงานสถิติของญี่ปุ่นพบตัวเลขกลุ่มพนักงานพาร์ทไทม์เพิ่มขึ้นถึง 2.1% ในปี 2019 ขณะที่พนักงานประจำนั้นเพิ่มขึ้นเพียง 0.5% เท่านั้น
การเพิ่มขึ้นของพนักงานพาร์ทไทม์สะท้อนว่า แม้จะมีคนที่มีงานทำเพิ่มขึ้น แต่รายได้ที่พวกเขาได้รับนั้น “น้อยกว่า” การเป็นพนักงานประจำมาก ซึ่งการที่แม่บ้าน หรือผู้สูงอายุมารับทำงานพาร์ทไทม์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้สัดส่วนของครอบครัวรายได้ต่ำเพิ่มสูงขึ้นในญี่ปุ่นด้วย
ปัจจัยข้อสุดท้ายคือเรื่องของเงินเฟ้อต่ำกว่าที่คาดการณ์ ทำให้ค่าแรงเพิ่มขึ้นช้าตามไปด้วย โดยมีความพยายามจากธนาคารกลางของญี่ปุ่นในการทำให้อัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 2% แต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ ซึ่งครัวเรือนที่เป็นชนชั้นกลางไม่ได้รับประโยชน์จากข้อนี้เช่นกัน
เมื่อกลุ่มชนชั้นกลางลดลงเรื่อย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือคนที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอยน้อยลง (โดยญี่ปุ่นพบตัวเลขการจับจ่ายใช้สอยลดลงหลังจากประกาศใช้นโยบายภาษีใหม่เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา และเมื่อมาเจอกับไวรัส Covid-19 ระบาด มีตัวเลขจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นพบว่า ยอดขายในตลาดค้าปลีกลดลง 12.3% เมื่อเทียบกับปี 2019 เลยทีเดียว)
จากภาพทั้งหมดที่กล่าวมา คำแนะนำจากนักเศรษฐศาสตร์จึงเป็นการบอกว่า ญี่ปุ่นควรต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจ้างงานครั้งใหญ่ รวมถึงสวัสดิการ และระบบการคิดภาษีได้แล้ว ไม่เช่นนั้น คนวัยทำงานหนุ่มสาวของญี่ปุ่นอาจถูกสตาร์ทอัพต่างชาติจ่ายเงินเดือนแพง ๆ เพื่อซื้อตัวไปทำงานมากขึ้นเรื่อย ๆ
ไม่เพียงเท่านั้น ในแง่ของการบริหารธุรกิจ คุณ Nagai มองว่าการที่ญี่ปุ่นไม่มีกระบวนการยื่นฟื้นฟูกิจการแบบ Chapter 11 เพื่อให้กิจการที่ประสบปัญหาได้มีโอกาสลุกขึ้นสู้อีกครั้งทำให้บริษัทญี่ปุ่นไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง หรือทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ด้วย
ส่วนจะเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่นั้นยังเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่า ธรรมเนียมปฏิบัติเรื่องการจ้างงานก็ฝังรากลึกในสังคมญี่ปุ่นมานานเช่นกัน