ในสายตาคนทั่วไปมักคิดว่าการเป็นทายาทธุรกิจนั้นแสนจะสบายง่ายดายกว่าการเปิดธุรกิจใหม่ของตัวเอง เพราะมีรุ่นพ่อรุ่นแม่ปู่ย่าตายายปูทางสร้างกิจการเอาไว้ให้ แต่ใครจะรู้บ้างว่า การเป็นทายาทรับไม้ต่อธุรกิจครอบครัวมีความ ยาก และต้องรับ แรงกดดัน ไม่ต่างจากการเปิดธุรกิจใหม่เลยสักนิด ทั้งโลกธุรกิจที่หมุนเร็วและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา รวมถึงต้องประคองธุรกิจของครอบครัวให้ไปต่อหรือต่อยอดธุรกิจเดิมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ลองมาฟังวิธีคิด 3 ทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ในวันที่ต้องเข้ามาสืบทอดกิจการครอบครัวจากเวทีสัมมนา ฮาวทู…DO FAMILY BUSINESS ธุรกิจครอบครัว…ทำมั่วๆ ไม่ได้ พวกเขาและเธอมีมุมมองและบริหารธุรกิจท่ามกลางความท้าทายต่างๆ อย่างไรจนสามารถนำพาธุรกิจครอบครัวให้เติบโตไปไกลกว่าเดิม
ต่อยอดข้าวเกรียบปักษ์ใต้รุ่นพ่อสู่ตลาดโลก
คุณวราภรณ์ วังวิวัฒน์ ผู้จัดการฝ่ายส่งออก และ OEM บริษัท มโนห์ราอุตสาหกรรมอาหาร จำกัด (ผลิตภัณฑ์ข้าวเกรียบมโนห์รา) เล่าถึงจุดกำเนิดกิจการครอบครัวว่า ย้อนกลับไปเมื่อปี 2506 คุณพ่อเริ่มทำข้าวเกรียบขายในจังหวัดสงขลา ก่อนจะใส่โบกี้รถไฟเพื่อมาขายที่กรุงเทพฯ บริเวณวัดมหาธาตุ หลังมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งการทำธุรกิจในช่วงแรกค่อนข้างยากลำบากมาก เพราะเครื่องมือยังไม่ทันสมัย อีกทั้งทุนทรัพย์ก็ยังมีไม่มาก
กระทั่งกิจการค่อยๆ เติบโตมาอย่างต่อเนื่อง จนปัจจุบันข้าวเกรียบแบรนด์มโนห์ราอยู่ในตลาดมาเป็นเวลากว่า 57 ปี และส่งไม้ต่อมาสู่ทายาทรุ่น 2 โดยคุณวราภรณ์ เล่าว่า ได้เริ่มเข้ามาช่วยกิจการของครอบครัวตั้งแต่เด็ก เริ่มจากการนำขนมไปขายเพื่อน ครู ที่โรงเรียน เป็นการฝึกทักษะการขาย พอโตขึ้นก็จะแพ็คข้าวเกรียบ จัดบิล และตามพี่ทีมขายไปดูแลลูกค้า จนปัจจุบันเข้ามาทำงานกับมโนห์ราเต็มตัว ตำแหน่งแรก คือ Marketing Trainee ต้องไปเยี่ยมลูกค้าตามต่างจังหวัด ตรวจตลาดกับเซลล์ในกรุงเทพฯ ก่อนจะขยับมาดูแลด้านตลาดส่งออก
“คุณพ่อเป็นนักปั้นที่ดี รู้ว่าลูกชอบเรียนอะไร และปลูกฝังลูกด้วยการเดินทางตรวจโรงงานก่อนนอนทุกวัน เพราะสมัยก่อนบ้านกับโรงงานอยู่ใกล้กัน จนกลายเป็นความเคยชิน ทำจนเป็นความสนุก ไม่รู้สึกว่าถูกบังคับว่าหลังจากเรียนจบต้องทำงานที่บริษัทเท่านั้น แต่เป็น Passion ที่อยากทำ และเมื่อโตขึ้นก็อยากพัฒนาปรับปรุงให้ดีขึ้น”
คุณวราภรณ์ บอกถึงวิธีการถ่ายทอดการทำธุรกิจครอบครัวในแบบของคุณพ่อ และทำให้ในวันที่ต้องเข้ามารับผิดชอบธุรกิจของครอบครัวเต็มตัว สิ่งที่อยากทำอย่างแรกเลยคือ การปรับปรุงในส่วนของการเปิดบิลการขาย เพราะจากประสบการณ์ที่เคยเจอมาตั้งแต่เด็กสมัยคุณพ่อจะใช้วิธีการเขียน เนื่องจากสมัยนั้นสินค้ายังน้อย แต่ปัจจุบันสินค้ามากขึ้น ความผิดพลาดก็มีมากขึ้นตามไปด้วย
คุณวราภรณ์ บอกว่า โชคดีที่คุณพ่อเป็นคนหัวสมัยใหม่ และเปิดใจรับเรื่องเทคโนโลยีพอสมควร เพราะไม่ใช่แค่เซลล์ขายได้แล้วจบ แต่หลังการขายมักจะคุยกันเสมอถึงการทำงานที่จะทำให้เกิดความสะดวก เซลล์ออกไปขายสินค้า รับเงินเข้าบริษัท ระบบเอกสาร ระบบคอมพิวเตอร์ ระบบสรรพากร ที่เกิดขึ้นหลังการขายเสร็จสิ้น ต้องมี คุณพ่อจึงนำคอมพิวเตอร์สมัยยุคดอส จอเขียวมาใช้ในสำนักงาน ดังนั้น เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแปลงบางอย่างจึงไม่ยากเกินไปในการนำเสนอกับท่าน หากทำแล้วเกิดประโยชน์กับบริษัท ท่านก็ค่อนข้างเปิดใจยอมรับได้ง่าย
แม้คุณพ่อจะเป็นคนหัวสมัยใหม่และเปิดใจรับในเทคโนโลยี แต่หากเทียบกับการทำงานในบริษัทอื่น คุณวราภรณ์มองว่า การเป็นทายาทที่เข้ามาสานต่อธุรกิจครอบครัวมีความ “กดดัน” มากกว่า เพราะนั่นคือเงินของเรา จึงต้องมีความรอบคอบในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่ในองค์กรให้คุ้มค่ามากที่สุด ทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด เพราะมีสิ่งที่ต้องแก้ไขทุกวัน เนื่องจากปัจจุบันรายละเอียดของการทำงานเพิ่มมากขึ้น จึงต้องหาผู้เชี่ยวชาญมาร่วมงานมากขึ้นด้วย
“สิ่งที่ท้าทายของทายาทไม่ว่าจะเจนเนอเรชั่นไหนก็ตาม ทุกบริษัทต้องการความยั่งยืน ต้องการยอดขายที่เติบโต ดังนั้น ต้องมีการปรับโหมดการทำงาน และความรับผิดชอบ เพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมาย เจนเนอเรชั่นนี้เป็นยุคที่รวมระหว่างคนรุ่นเก่าที่มีความซื่อสัตย์และภักดี กับคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพ”
แม้จะต้องเผชิญกับความกดดันมากมาย แต่วันนี้เธอก็สามารถนำพาแบรนด์ข้าวเกรียบมโนราห์โบยบินสู่ตลาดโลกได้อย่างสง่างาม โดยคุณวราภรณ์บอกว่า หัวใจสำคัญมาจาก 3 เรื่องหลักคือ ความอดทน ทำด้วยใจรักด้วยความใส่ใจ เมื่อเจอปัญหาอย่าเพิ่งทิ้ง รวมถึงต้องสื่อสารให้คนที่จะเดินไปด้วยกันไปในเป้าหมายเดียวกัน
“การทำธุกิจเหมือนการปลูกต้นไม้ ถ้าเราปลูกจากเมล็ดมันจะแข็งแรง แต่พอโตจะตัดกิ่งทอดใบอย่างไรให้ต้นไม้สวยงาม รดน้ำใส่ปุ๋ยอย่างไรให้ออกดอกออกผลเติบโตเป็นร่มเงาให้คนอื่นได้ต่อไป” คุณวราภรณ์ ย้ำท้ายถึงเป้าหมายท้าทายที่คนรุ่นลูกต้องสืบทอดกิจการให้เติบโตต่อไปเช่นกัน
จากร้านทองเล็กๆ รุ่นปู่สู่ห้างขายทองในมือทายาทรุ่น 3
ทายาทรุ่น 3 ผู้ก้าวผ่านคำสาป 3 รุ่น รุ่นหนึ่งสร้าง รุ่นสองขยาย รุ่นสามล่มสลาย ได้อย่างสง่างาม จากโรงงานทำทองเล็กๆ จนกลายเป็นห้างขายทอง ออโรร่า ที่อยู่ในศูนย์การค้าชั้นนำมากมายกว่า 200 สาขา โดย คุณอนิพัทย์ ศรีรุ่งธรรม กรรมการบริหารฝ่ายการตลาด บริษัท ออโรร่าดีไซน์ จำกัด เล่าว่า ออโรร่า ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2500 โดยเริ่มต้นจากอากงเปิดร้านทองเล็กๆ โดยตอนนั้นใช้ชื่อว่า “ซุ่ยเซ่งเฮง” จากนั้น ทายาทรุ่นที่ 2 อย่างคุณประสิทธิ์ ศรีรุ่งธรรม เริ่มเข้ามารับช่วงต่อ และพัฒนามาเป็นห้างขายทอง (Chain Retail) พร้อมเปลี่ยนชื่อเป็น “ออโรร่า” และปัจจุบันทายาทรุ่น 3 ได้เข้ามาสานต่อกิจการ โดยมีการนำระบบต่างๆ เข้ามาเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานมากขึ้น
“สมัยคุณพ่อทำเองทุกอย่าง แต่พอขยายสาขามากขึ้น รายละเอียดต่างๆ เพิ่มขึ้น ทำให้มีเวลาดูแลน้อยลง แต่ก็ต้องการสร้างมาตรฐานให้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงเริ่มนำระบบ ERP เข้ามาใช้ เพื่อบริหารจัดการหลังบ้านให้มีประสิทธิภาพ ทั้งยังปรับโฉมร้านทองให้ดูทันสมัยแตกต่างจากร้านทองอื่นๆ มากขึ้น และแตกไลน์ธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้นด้วย อาทิ การเปิดขายทองออนไลน์”
คุณอนิพัทย์ บอกถึงวันแรกที่เข้ามารับไม้ต่อธุรกิจของครอบครัวเมื่อ 7 ปีที่แล้ว และมองว่า การทำธุรกิจโดยสานต่อกิจการจากครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่าย โดยสิ่งยากสุดคือ การชนะใจพ่อแม่ ทำให้ท่านเชื่อใจและมั่นใจในการตัดสินใจของเขา โดยวิธีการที่เขาใช้ก็คือ เริ่มจากการทำงานเล็กๆ ให้ท่านเห็นเป็นรูปธรรมก่อน เมื่อสำเร็จจึงค่อยๆ ขยายเป็นงานที่ใหญ่ขึ้น จนท่านเชื่อใจและยอมรับ ซึ่งในช่วง 3-4 ปีแรก เขาบอกว่า นั่งน้ำตาซึมกันเลย บางครั้งต้องกลับไปพักใจ แล้วค่อยกลับมาลุยต่อ ดังนั้น หลายคนที่คิดว่าการดำเนินธุรกิจในครอบครัว เป็นเรื่องง่ายๆ อาจจะต้องเปลี่ยนความคิด
“ผมเชื่อในข้อมูล เชื่อในผลลัพธ์ เชื่อในการลองทำจากสิ่งเล็กๆ ก่อนเพื่อให้ผู้บริหารที่มีส่วนตัดสินใจได้เห็นผลลัพธ์ จากนั้นจึงค่อยไปปรับใช้ในโมเดลที่ใหญ่ขึ้น พอทำบ่อยๆ สิ่งที่เกิดขึ้นจะชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้”
นอกจากการเอาชนะใจพ่อแม่แล้ว คุณอนิพัทย์ บอกว่า การชนะใจลูกค้า และพนักงานเป็นอีกสิ่งสำคัญที่ต้องทำให้ได้ด้วย โดยพนักงานต้องสามารถทำงานได้สะดวกและง่ายขึ้น ขณะที่ลูกค้าก็ต้องรู้สึกดีในผลิตภัณฑ์ ซึ่งสิ่งสำคัญที่ทำให้เขานำพาออโรร่าก้าวพ้นคำสาป 3 รุ่นและเติบโตมาถึงจุดนี้ได้คือ ความอดทน และ เปิดใจรับกับสิ่งใหม่ๆ ด้วยการนำประสบการณ์จากคนรุ่นคุณพ่อคุณแม่มาผสานกับการเรียนรู้ใหม่ๆ ในปัจจุบัน ที่สำคัญ อย่าท้อกับปัญหา เมื่อล้มแล้วให้ลุกขึ้นอย่างรวดเร็ว
ดังเช่นสถานการณ์โควิด-19 ที่สร้างความท้าทายอย่างมาก เพราะห้างต้องปิดหมด ร้านค้าต้องปิดตัว แต่ด้วยความที่ทองคำเป็นทรัพย์สินที่คนไว้ซื้อขาย ทำให้จำเป็นต้องเปิดร้านเพื่อให้ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้บ้าง ออโรร่าจึงต้องปรับช่องทางการขายใหม่มาเป็นออนไลน์ และทางโทรศัพท์มากขึ้น
ทายาทรุ่น 3 ผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงสู่แบรนด์นันยาง
หากพูดถึงแบรนด์รองเท้าในตำนานอย่าง “นันยาง” คงไม่มีใครส่ายหน้าไม่รู้จักรองเท้าผ้าใบพื้นเขียวที่อยู่คู่ความทรงจำของคนไทยมากว่า 67 ปี และถึงตอนนี้ยังครองความนิยมไม่สร่างซา โดย คุณจักรพล จันทวิมล ผู้จัดการทั่วไป บริษัท นันยาง มาร์เก็ตติ้ง จำกัด ทายาทรุ่นที่ 3 เล่าให้ฟังว่า นันยางก่อตั้งขึ้นในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2496 เริ่มมาจากคุณตาทำธุรกิจซื้อมาขายไป และหนึ่งในนั้นก็คือ รองเท้านันยาง ซึ่งแรกเริ่มเป็นการนำเข้าจากประเทศสิงคโปร์ จากนั้นไม่นานประเทศไทยมีนโยบายสนับสนุนให้ผลิตสินค้าใช้ในประเทศ ประกอบกับทางสิงคโปร์กำลังจะเลิกผลิต จึงเป็นจุดเปลี่ยน เริ่มต้นผลิตรองเท้านันยางในประเทศไทยมาถึงทุกวันนี้
โดยคุณจักรพลเริ่มเข้ามารับไม้ต่อกิจการรองเท้านันยางเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว เริ่มจากตำแหน่งเจ้าหน้าที่การตลาด ซึ่งก่อนหน้าจะเข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว คุณจักรพลบอกว่า รู้มาตลอดว่าที่บ้านทำธุรกิจอะไรบ้างจากการเล่าสู่กันฟังจากญาติพี่น้อง แต่ที่บ้านเปิดมาก ไม่บังคับว่าลูกหลานจะทำหรือไม่ แต่ด้วยความผูกพันกับรองเท้านันยางมาตั้งแต่เด็กจนโต จึงทำให้เขาเลือกที่จะสานต่อธุรกิจนี้ให้คงอยู่ต่อไป
ต้องบอกว่าหลังจากเข้ามาสานต่อกิจการของครอบครัว เขาคนนี้ได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ๆ ให้กับแบรนด์นันยางอย่างมาก ซึ่งในการปรับเปลี่ยนไม่ใช่ว่าเป็นทายาทแล้วอยากจะเปลี่ยนอะไรก็สามารถเปลี่ยนได้เลย เพราะอาจจะทำให้ธุรกิจที่ก่อร่างสร้างพังได้ง่ายๆ เช่นกัน โดยคุณจักรพล บอกว่า หัวใจสำคัญของการเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนองค์กรมี 2 ประเด็นคือ 1.การเปลี่ยนอยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของเราหรือไม่ และ 2.เมื่อก้าวขึ้นไปอยู่ในตำแหน่งใหญ่ขึ้นที่สามารถเปลี่ยนเรื่องใหญ่ๆ ได้ ในจุดนี้ต้องดูเป้าหมายที่อยากให้เกิดขึ้นกับธุรกิจก่อน จากนั้นจึงมองถึงวิธีการเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
ทว่าสิ่งสำคัญที่เป็นรากลึก (Core Value) ของธุรกิจที่ยังดีอยู่ ต้องรักษาไว้ให้ได้ ส่วนโลกธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา มีเทคโนโลยีใหม่ๆ และการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ เข้ามา เป็นสิ่งที่ธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
“ความยากในการบริหารองค์กรยุคปัจจุบัน คือการ Combination คนรุ่นเก่าในองค์กรตั้งแต่สมัย 20-30 ปีที่แล้ว ซึ่งคนรุ่นนี้จะมีความเก๋า ความภักดี และรู้ขั้นตอนการทำงานดีมาก แต่อาจจะขาดเรื่องเทคโนโลยี และคนรุ่นใหม่ไฟแรง เก่งเทคโนโลยี แต่ขาดความอดทน ขี้เบื่อ สิ่งเหล่านี้จะต้องหาจุดสมดุลเพื่อให้เกิดความพอดีและสามารถเดินไปด้วยกันได้”
การหาจุดสมดุลระหว่างคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ ยังไม่ใช่ความยากเดียวที่คุณจักรพลพบ อีกความท้าทายสำหรับการสืบทอดกิจการต่อจากที่บ้านคือ ต้องแยกคำว่า แฟมิลี่ กับ บิสสิเนส ออกจากกัน เพราะสองคำนี้มีเป้าหมายตรงข้ามกัน ไม่ควรจะมาอยู่ด้วยกัน เพราะการทำงานในครอบครัวย่อมต้องมีปัญหาเกิดชึ้น เป้าหมายของคำว่า แฟมิลี่ คือ การอยู่รวมกันในครอบครัว ต้องการความรัก ความอบอุ่น สามารถยืดหยุ่นได้ในหลายๆ เรื่อง ขณะที่เป้าหมายของโลกธุรกิจคือ กำไร มีกติกาที่ชัดเจน วิธีการทำธุรกิจคือการแก้ปัญหา แต่คนที่ทำงานในธุรกิจคือ แฟมิลี่ ดังนั้น ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนในแฟมิลี่ การตัดสินใจแก้ปัญหาจะยากมาก
“วิธีแก้คือ ต้องทำงานให้เป็นมืออาชีพ อยู่ที่บ้านจะไม่คุยเรื่องงาน เรื่องงานก็คุยที่บริษัทเท่านั้น ต้องแยกระหว่างบ้านกับบริษัทให้ออกจากกัน แต่ก็จะมีรายละเอียดในบริบทที่แตกต่างกันของแต่ละคน”
เมื่อเรียนจบแล้วไม่ควรกลับมาทำงานที่บ้านทันที ต้องไปหาประสบการณ์จากการทำงานข้างนอกเพื่อฝึกให้มีคุณภาพแข่งกับคนที่เป็นมืออาชีพข้างนอกที่จะเข้ามาทำงานในบริษัทเหมือนกัน
นอกจากนี้ คุณจักรพล ยังได้ให้ข้อแนะนำทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อเรียนจบแล้ว ยังไม่ควรกลับมาทำงานที่บ้านทันที ควรเรียนรู้การเป็นลูกน้องและหาประสบการณ์ทำงานนอกครอบครัวในบริษัทใหญ่ๆ ที่มีเงินเดือนอย่างน้อย 2 ปี เพื่อจะได้เห็นโลกธุรกิจภายนอก และเมื่อเข้ามาทำงานในบริษัทแล้ว หากอยู่ในตำแหน่งที่สามารถเปลี่ยนแปลงบางอย่างได้ ให้ Re-structure ในองค์กรของตัวเอง ให้เป็น Professional ให้เกิดความพร้อมเกิดความสามารถ หรือหาบุคคลภายนอกที่เป็น Profession เข้ามาทำงานเพื่อให้บริษัทเข้าสู่โหมดของ Professional เพราะจะทำให้บริษัทไปต่อได้อย่างยั่งยืนมากขึ้น
ฟังคลิปเต็มๆ
เว็บไซต์ BrandBuffet ขอขอบคุณ ธนาคารยูโอบี ที่เห็นความสำคัญของ “ธุรกิจครอบครัวไทย”