HomeBrand Move !!เปิดสูตรรอด “อีเวนท์-คอนเสิร์ต” กับ Friendship Economy ธุรกิจแบบเพื่อนฝูงร่วมกันลงทุนแล้วแบ่งรายได้

เปิดสูตรรอด “อีเวนท์-คอนเสิร์ต” กับ Friendship Economy ธุรกิจแบบเพื่อนฝูงร่วมกันลงทุนแล้วแบ่งรายได้

แชร์ :

แม้ภาครัฐผ่อนปรนให้ทุกธุรกิจกลับมาดำเนินการได้ปกติแล้ว แต่มาตรการ Social Distancing ในกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก ยังเป็นข้อจำกัดให้ไม่สามารถกลับไปทำธุรกิจแบบเดิมได้ จากการเว้นระยะห่าง  4 ตารางเมตรต่อคน ในกิจกรรมประชุม อีเวนท์  คอนเสิร์ต ทำให้ธุรกิจนี้ต้องดิ้นหาทางรอด สู่โมเดลใหม่ กับกลยุทธ์ Friendship Economy เพราะหลักคิดแบบเดิมไปได้ยาก และเพื่อต่อลมหายใจในวิกฤติโควิดนี้

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อุตสาหกรรม MICE การประชุม สัมมนา จัดแสดงนิทรรศการ รวมทั้งอีเวนท์และคอนเสิร์ต มูลค่ากว่า 2 แสนล้านบาท เป็นกลุ่มท้ายๆ ที่ได้รับการปลดล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดดำเนินการได้ แต่ยังต้องเว้นระยะห่าง นั่นทำให้ธุรกิจกลุ่มนี้ ไม่สามารถกลับไปสู่รูปแบบเดิมได้ เมื่อสถานการณ์โควิด-19  ยังไม่สิ้นสุดและอาจต้องรอเวลาอีกนับปีจนกว่าจะมีวัคซีนป้องกัน การทำธุรกิจจึงต้องคิดนอกกรอบ

“อีเวนท์และคอนเสิร์ตวันนี้ เมื่อกลับไปเหมือนเดิมไม่ได้ ก็ต้องหาทางออกใหม่ ปลดล็อกจากโควิด และคืนชีวิตให้ธุรกิจนี้”  คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เจ้าพ่อธุรกิจอีเวนท์ ประสบการณ์ 30 ปี ให้มุมมอง

คุณเกรียงไกร กาญจนะโภคิน

เปิดโมเดลรอด Friendship Economy

อย่างที่รู้กันว่าธุรกิจอีเวนท์และคอนเสิร์ตปีนี้ “สาหัส”  ช่วง Lockdown  ทุกอย่างต้องหยุดหมด และเป็นกิจการสุดท้ายที่ได้รับการผ่อนปรน การกลับมาทำคอนเสิร์ต ในยุค New Normal รูปแบบออนกราวด์เดิม  ก็ไม่สามารถมีคนดูเท่าเดิมได้ การเว้นระยะห่างจำนวนผู้ชมจึงทำได้เพียง 1 ใน 4  เท่านั้น

หากจะไปต่อต้องหา Business Model ใหม่  คุณเกรียงไกร  บอกว่าได้เสนอแนวคิดการทำคอนเสิร์ต ในยุคโควิดกับผู้ประกอบการทั้งซัพพลายเชน ไม่ว่าจะเป็น ออร์กาไนเซอร์ผู้จัดคอนเสิร์ต สถานที่ ผู้ให้บริการแสง สี เสียง แพลตฟอร์มเทคโนโลยี และศิลปิน ในรูปแบบ  Friendship Economy หรือ เศรษฐกิจแบบเพื่อนฝูง เป็นการร่วมลงทุนของแต่ละส่วนงาน และแบ่งรายได้ร่วมกัน (Revenue Sharing)  

รูปแบบการจัดคอนเสิร์ตเดิม “ผู้จัด” ต้องลงทุนเช่าสถานที่ ระบบ และจ้างศิลปินมาแสดง หารายได้จากการขายบัตร แต่อย่างที่รู้การจัดคอนเสิร์ตแบบ New Normal มีความเสี่ยง จากการถูกจำกัดจำนวนที่นั่ง โอกาสขาดทุนจึงมีสูง แต่การทำธุรกิจแบบ Friendship Economy ผู้ประกอบการแต่ละด้านลงทุนในส่วนที่ตัวเองมี โดยไม่ต้องมีการจ้างแบบเดิม คือ Hall ลงทุนสถานที่จัดงาน  ออร์กาไนเซอร์ลงทุนระบบ ศิลปิน ทำหน้าที่แสดงคอนเสิร์ตโดยไม่ต้องจ้าง แต่ทั้งหมด คือ “เพื่อนฝูง” ที่มาทำธุรกิจร่วมกันและแบ่งรายได้กัน โดยไม่มีใครต้องแบกรับต้นทุนอยู่รายเดียว ในสถานการณ์ที่ยังมีความเสี่ยงขณะนี้

“วันนี้หากไม่ร่วมมือกัน สถานที่จัดงานก็ยังว่างอยู่ ศิลปิน นักร้อง ที่ต้องหยุดงานมาตั้งแต่ถูกล็อกดาวน์ กว่า 5 เดือนแล้ว ก็ยังยากที่จะจัดคอนเสิร์ตแบบเดิมได้”

หารายได้สองทาง Hybrid Concert   

ส่วนรูปแบบการหารายได้จากบิสซิเนส โมเดลใหม่ ด้วยการจัดคอนเสิร์ต คุณเกรียงไกร บอกว่าเป็นแบบ Hybrid Concert คือ ขายบัตรสำหรับชมในฮอลล์  หรือ ออนกราวด์ ปกติ แต่จำกัดจำนวนที่นั่งตามมาตรฐานเว้นระยะห่างที่ภาครัฐกำหนด  ซึ่งจำนวนที่นั่งลดลงจากเดิมเหลือ 1 ใน 4  กลุ่มนี้จะเป็นบัตรราคาแพง เนื่องจากจะได้ประสบการณ์ชมคอนเสิร์ตจริง มีศิลปินแสดงให้ดูตรงหน้า  เป็นผู้ชมที่ไม่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและโควิดพร้อมจ่ายเพื่อประสบการณ์เสพความบันเทิงแบบ Real Live

อีกส่วนเป็นการรับชมผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ Live Streaming บัตรราคาประหยัด แต่มีจำนวนไม่จำกัดในการขาย ซึ่งจะเป็นอีกแหล่งรายได้ที่เข้ามาเสริมจากบัตรออนกราวด์  และรายได้จากสปอนเซอร์

การปรับตัวของธุรกิจอีเวนท์และคอนเสิร์ต เพื่อหาทางอยู่รอดในยุคโควิด ก็ต้องยอมรับว่าท้ายที่สุดแล้วปีนี้ก็ยังได้รับผลกระทบหนักอยู่ดี ภาพรวมของธุรกิจอีเวนท์มูลค่า 13,000 ล้านบาท น่าจะลดลงไปถึง 75-80%  และต้องรอเวลาฟื้นตัวอีกปี หลังมีวัคซีนป้องกันแล้ว

จับมือพันธมิตรจัดคอนเสิร์ตยุค New Normal

หลังภาครัฐปลดล็อกดาวน์กลุ่มธุรกิจบันเทิงแล้ว  อินเด็กซ์ฯ ได้ร่วมมือกับ พันธมิตร ไอคอน สยาม, ทรู ไอคอน ฮอลล์ ศูนย์การจัดประชุมและการแสดง และค่ายเพลง จัดคอนเสิร์ตยุค New Normal รูปแบบ Hybrid Concert  ครั้งแรก ด้วยบิสซิเนส โมเดล Friendship Economy ศิลปินที่จะมาประเดิมเปิดเวที Series 1 ภายใต้ Theme Empire of Dance ได้แก่ King and Queen of Dance  อย่าง เจ-เจตริน วรรธนะสิน และ ติ๊นา-คริสติน่า อากีล่าร์  เริ่มวันที่ 18 กรกฎาคม โดยจะจัดทุกวันเสาร์ นอกจากนี้ยังมีศิลปินอื่นๆ อีกหลายค่ายเพลง อาทิ GMM Grammy, J MIDEE ,SMALLROOM, MUZIK MOVE  และ What The Duck

สำหรับผู้ชม Hybrid Concert  แบบออนกราวด์ ณ สถานที่จริง ทรู ไอคอน ฮอลล์  จำกัดจำนวนคน 900 ที่นั่ง ราคาบัตร ตั้งแต่ 2,500 บาท, 4,000 บาท, 5,000 บาท และ6,000 บาท  ส่วนบัตรรับชมผ่านออนไลน์มี 2 ราคา คือ 600 บาท และ 980 บาท รับของที่ระลึกหูฟัง JBL จำหน่ายบัตรที่ www.way-t.com

ในมุมของศิลปิน คุณวิเชียร ฤกษ์ไพศาล อดีตผู้บริหารค่ายเพลงแถวหน้าของเมืองไทย กล่าวว่าโควิด-19 ทำให้วงการบันเทิงเงียบกริบ ทั้งค่ายเพลง ศิลปิน ซึ่งรายได้หลักของศิลปินและค่ายเพลงอยู่ที่การแสดงดนตรีสด ทั้งคอนเสิร์ตใหญ่ ดนตรีตามผับ โชว์ตัว และอื่นๆ และเมื่อไม่สามารถจัดคอนเสิร์ตรูปแบบเดิมได้ จึงกระทบโดยตรงกับรายได้ของศิลปิน โดยเฉพาะรายได้จากการโชว์ตัว แสดงสด

“วิกฤติโควิด ทำให้วงการบันเทิงต้องปรับตัว เปลี่ยนรูปแบบของการแสดงมาเป็นทั้งออนกราวด์และออนไลน์  เพราะแฟนเพลงยอมจ่ายเงินเพื่อสร้างประสบการณ์การดูคอนเสิร์ต ด้วยโปรดักชั่นแสงสีเสียง พร้อมการมีส่วนร่วมกับผู้ชมอื่น จึงเป็นที่มาของการจัด Hybrid Concert ที่จะช่วยต่อลมหายใจให้กับอุตสาหกรรมดนตรี และอีเวนท์ ทั้งคนเบื้องหน้า และเบื้องหลัง”


แชร์ :

You may also like