โรงหนังเป็นอีกธุรกิจที่ได้รับผลกระทบหนักจากโควิด-19 แม้ภาครัฐปลดล็อกดาวน์ให้กลับมาเปิดตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน หลังต้องปิดไปนานกว่า 2 เดือน แต่อุปสรรคใหญ่คือ “คอนเทนท์” ดึงผู้ชมเข้าโรง หนังฟอร์มยักษ์ฝั่งฮอลลีวู้ดเจอโรคเลื่อนไปตามๆ กัน ยอดขายตั๋วหนังจึงหล่นวูบ ทำเอาค่ายใหญ่ Major Cineplex ต้องพลิกกลยุทธ์หารายได้ใหม่ในฝั่ง Non-Movie เปิดพื้นที่โรงหนังจัดสารพัดอีเวนท์แข่งศูนย์ประชุม ล่าสุดกับ “งานแต่ง”
อาการธุรกิจโรงหนังในวิกฤติโควิดเป็นอย่างไร ดูได้จากผลประกอบการ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” หลังต้องปิดบริการทุกสาขาตั้งแต่วันที่ 18 มีนาคม จากมาตรการล็อกดาวน์ป้องกันการแพร่ระบาดโควิด ทำให้ไตรมาสโชว์ ขาดทุน 255 ล้านบาท จากปกติย้อนหลังไป 5 ปี เมเจอร์ทำกำไรปีละ 1,200 ล้านบาท
ส่วนสถานการณ์หลังภาครัฐปลดล็อกดาวน์ให้โรงหนังกลับมาเปิดได้ในวันที่ 1 มิถุนายน ยังคงต้องมีมาตรการเว้นระยะห่าง ทำให้จำนวนที่นั่งในโรงเปิดให้ใช้ได้ (seat available) แค่ 25% ปัจจุบันได้รับการผ่อนปรนให้ใช้ที่นั่งได้ 75% ของพื้นที่ในโรง แต่อัตราการขายตั๋วหนังได้หลังปลดล็อกดาวน์แล้วเมเจอร์ ยังทำได้ราว 20%
การฟื้นตัวของธุรกิจโรงหนังไม่ใช่แค่เพียงมาตรการปลดล็อกให้กลับมาเปิดได้เท่านั้น แต่โรงหนังเป็นธุรกิจที่ต้องพึ่งพาคอนเทนท์ หรือ “ภาพยนตร์” ที่เข้าฉาย ซึ่งฮอลลีวู้ด เป็นเจ้าตลาด สถานการณ์โควิดทำให้หนังฟอร์มยักษ์จากฮอลลีวู้ด ประกาศเลื่อนฉายหลายเรื่อง เพราะการติดเชื้อในสหรัฐและฝั่งยุโรปยังสาหัสอยู่ การนำหนังต้นทุนสูงออกฉายจึงเป็นความเสี่ยง ล่าสุด Mulan ที่เดิมมีแผนเข้าโรง ก็เจอโรคเลื่อนเช่นกัน
ธุรกิจโรงภาพยนตร์ เมื่อไม่มี “หน้าหนัง” ฟอร์มใหญ่มาฉาย หรือหนังที่เข้าโรงไม่ได้รับความนิยม นั่นเท่ากับการสูญเสียรายได้ เพราะการขายตั๋วหนังคิดเป็นสัดส่วนรายได้ 74% ของเมเจอร์
ในสถานการณ์นี้ธุรกิจโรงหนังจึงต้องพลิกกลยุทธ์เพื่อสร้างโอกาสหารายได้ในช่วงเวลาที่ยังต้องอยู่กับโควิดไปอีกระยะ คุณนรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) บอกว่าโอกาสการหาช่องทางเพิ่มรายได้ของเมเจอร์ หลังจากนี้มี 3 เรื่องหลักๆ คือ การสร้างรายได้จากธุรกิจ Non-Movie ,การสร้างรายได้ประจำจากการขายบัตรสมาชิก M Pass จ่ายรายเดือน และการผลิตหนังไทยให้มากขึ้น เพื่อลดความเสี่ยงจากไม่มีหนังฮอลลีวู้ดออกฉาย มาไล่เรียงกันที่ละเรื่อง
1.ปั้นรายได้ Non-Movie เปิดพื้นที่อีเวนท์-งานแต่ง
ปัจจุบันเมเจอร์ มีโรงภาพยนตร์ในประเทศไทย 162 สาขา 773 โรงภาพยนตร์ จำนวนที่นั่ง 1.83 แสนที่นั่ง ถือเป็น Asset ที่สามารถนำมาหาทางสร้างรายได้ใหม่ และใช้ประโยชน์ให้มากกว่าการเป็นโรงหนัง เดิมได้ใช้พื้นที่โรงทำกิจกรรมอีเวนท์ต่างๆ มาแล้ว
แต่ปีนี้จะขยายรายได้ในฝั่ง Non-Movie ให้มากขึ้น เพื่อใช้เป็นสถานที่จัดงานต่างๆ เช่นเดียวกับศูนย์ประชุม รูปแบบที่เปิดใช้งานไปแล้ว คือ การจัดประชุมสัมมนาขององค์กรต่างๆ ที่อยู่ในพื้นที่ต่างจังหวัด ในรูปแบบ live streaming ผ่านโรงหนัง ที่เคยจัดไปแล้ว คือ ธนาคาร ใช้จัดประชุมสัมมนาพนักงานสาขาพร้อมกัน ประชุมเสร็จก็ดูหนังต่อเพื่อความบันเทิง
ต่อด้วยการให้บริการ Live Concert จากเกาหลีและญี่ปุ่น ที่เคยจัดไปแล้วใช้พื้นที่โรงหนัง 3 โรง จำนวน 2,000 ที่นั่ง ขายบัตรที่นั่งละ 1,200 บาท โดยเตรียมจัดอีก 10 คอนเสิร์ต
ที่เตรียมเปิดตัวเร็วๆ นี้ คือ การใช้พื้นที่โรงหนังจัดงานแต่งงาน ซึ่งโรงภาพยนตร์เมเจอร์ มีหลายขนาด สามารถเลือกได้ตามจำนวนแขกร่วมงาน โดยมีค่าใช้จ่ายสถานที่หลักหมื่น ลูกค้าสามารถใช้บริการจัดเลี้ยง (Catering)ของบลูโอ หรือจะจ้างเคเทอริ่งรายอื่นก็ได้ หลังพิธีแต่งงานเสร็จ สามารถจัด After Party ด้วยการดูภาพยนตร์ ถือเป็นความแตกต่างจากสถานที่จัดงานแต่งงานอื่นๆ
นอกจากนี้กำลังดึงกิจกรรมอื่นๆ เข้ามาใช้พื้นที่ในโรงภาพยนตร์เพิ่มเติม เช่น การถ่ายทอดสดกีฬารายการต่างๆ การสร้างรายได้จาก Non-Movie เป็นการใช้ประโยชน์จาก Asset โรงภาพยนตร์ที่มีอยู่ให้เกิดรายได้มากที่สุด ในช่วงที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์ยังต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด แต่หลายบริการที่พัฒนาขึ้นในช่วงนี้มีโอกาสไปต่อไประยะยาว แม้จบโควิดไปแล้ว
2.ขายบัตรสมาชิก M Pass 1 ล้านใบ
กลยุทธ์โปรโมชั่นเป็นสิ่งสำคัญกระตุ้นผู้ชมออกมาดูหนัง ที่ผ่านมา เมเจอร์ได้ออกบัตรสมาชิก M Pass Student สำหรับนักเรียน นักศึกษา อายุไม่เกิน 23 ปี จ่ายรายเดือนเดือนละ 200 บาท ดูหนังได้แบบบุฟเฟต์กี่เรื่องก็ได้ ค่าเฉลี่ยพบว่าอยู่ที่ 3 เรื่องต่อเดือน ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มนี้กว่า 1 แสนราย
ปีนี้ได้เปิดขายบัตรสมาชิก M Pass Regular สำหรับผู้ใหญ่อายุ 23 ปีขึ้นไป จ่ายรายเดือน เดือนละ 300 บาท ดูหนังได้แบบบุฟเฟต์ ในกรุงเทพฯ ทุกสาขา (ยกเว้น พารากอน ซีนีเพล็กซ์ และควอเทียร์ ซีเนอาร์ต) และต่างจังหวัดที่ร่วมรายการ วางเป้าหมายบัตร M Pass ทั้ง 2 ประเภท 1 ล้านใบ ในช่วงกลางปีหน้า นั่นเท่ากับว่าจะมีรายได้จากสมาชิกรายเดือนเข้ามาเป็นประจำ
3.สร้างหนังไทยลดความเสี่ยงหนังฮอลลีวู้ด
ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์ต้องพึ่งพาหนังต่างประเทศ หรือ ฮอลลีวู้ด เป็นหลัก ช่วงโควิดแม้ฝั่งเอเชียหลายประเทศมีผู้ติดเชื้อลดลง ธุรกิจกลับมาเปิดปกติ แต่หนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง “เลื่อนฉาย” เพราะการติดเชื้อในสหรัฐและยุโรป ยังมีตัวเลขสูง สตูดิโอผู้ผลิตหนังจึงไม่ต้องการนำหนังออกฉายในช่วงนี้
แต่ก็จะมีโมเดลทดลองนำหนังฟอร์มยักษ์อย่าง “TENET” ของผู้กำกับ คริสโตเฟอร์ โนแลนด์ เข้าฉายในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ โดยเข้าโรงฉายใน 70 ประเทศทั่วโลกซึ่งเป็นประเทศที่สถานการณ์โควิดดีขึ้น โดยยกเว้นจีนบางเมือง และสหรัฐ หากโมเดลนี้มีผลตอบรับดี เชื่อว่าจะมีหนังฮอลลีวู้ดเข้าฉายในช่วงเวลาที่เหลือมากขึ้น เพราะการนำหนังใหม่เข้าฉายในช่วงนี้ อย่างเรื่อง Train to Busan : Peninsula สัปดาห์แรกก็ทำเงินได้ 60 ล้านบาท
กลยุทธ์ระยะยาวที่จะช่วยลดความเสี่ยงการไม่มีหนังฮอลลีวู้ดออกฉาย คือ ต้องสร้างหนังไทยให้มากขึ้น ปัจจุบันบริษัทย่อยของเมเจอร์ อย่างเอ็ม เทอร์ตี้ไนน์, เอ็มวีดี, ทรานส์ฟอเมชั่น ฟิล์ม, ไท เมเจอร์ ได้ลงทุนสร้างหนังไทยมากขึ้นเฉลี่ยปีละ 20 เรื่อง ซึ่งโรงภาพยนตร์ในต่างจังหวัดที่กระจายอยู่ทั่วประเทศ จะช่วยทำให้หนังไทยมีโอกาสทำรายได้มากขึ้น เพราะคนต่างจังหวัดนิยมดูหนังไทย และเป็นอีกโอกาสการสร้างรายได้ของเมเจอร์
อุตสาหกรรมภาพยนตร์มูลค่า “หมื่นล้าน” ในปีนี้ ยังต้องเผชิญความท้าทายจากโควิดที่ยังคงเป็นอุปสรรคให้ฟื้นกลับสู่ปกติได้ยาก แต่ทุกธุรกิจก็ต้องปรับตัวหาโอกาสสร้างรายได้จากวิกฤติที่เกิดขึ้นเช่นกัน