HomeBig Featuredย้อนดูจุดเปลี่ยน “อสมท” ในวันที่รายได้ “วิทยุ” แซง “ทีวี” จากธุรกิจกำไรพลิกขาดทุนมาแล้ว 5 ปี

ย้อนดูจุดเปลี่ยน “อสมท” ในวันที่รายได้ “วิทยุ” แซง “ทีวี” จากธุรกิจกำไรพลิกขาดทุนมาแล้ว 5 ปี

แชร์ :

จากองค์กรที่เคยมีรายได้ 6,000 ล้าน กำไรกว่า 1,700 ล้านบาท วันนี้ “อสมท” กลายเป็นอีกหนึ่งรัฐวิสาหกิจในตลาดหลักทรัพย์ที่เผชิญปัญหา “ขาดทุน” ต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปี ธุรกิจทีวี ที่เป็นรายได้หลักปีละเกือบ 4,000 ล้านบาทก่อนยุคทีวีดิจิทัล ลดลงเหลือ 679 ล้านบาทในปีที่ผ่านมาและเป็นครั้งแรกที่ “วิทยุ” ขึ้นมาแซง หนทางกลับมาหาคำว่า “กำไร” ยังห่างไกล เมื่อรายได้สัมปทานหายไปอีกก้อน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

อสมท ไม่ต่างจากธุรกิจฟรีทีวีรายอื่น เมื่อเข้าสู่ยุค “ทีวีดิจิทัล” ในปี 2557 มีคู่แข่งขันมากขึ้น ซ้ำยังถูกถาโถมด้วย Digital Disruption ธุรกิจฟรีทีวีที่เคยอู้ฟู่กับเม็ดเงินโฆษณา 6 หมื่นล้านบาท เพียง 6 ช่อง ในยุคแอนะล็อก เมื่อมีช่องใหม่เพิ่มขึ้นมีอีก 4 เท่า เม็ดเงินย่อมถูกแชร์ไป แล้วยังมีสื่อออนไลน์เข้ามาแย่งทั้งผู้ชมและงบโฆษณาไปอีก

เจ้าของฟรีทีวีที่เคยมั่งคั่งในยุคแอนาล็อกวันนี้ “รวยลดลง” ทุกช่อง  อสมท ก็เช่นกัน ก่อนยุคทีวีดิจิทัล เป็นหนึ่งในธุรกิจสื่อที่รายได้และกำไรเติบโตมาต่อเนื่อง ราคาหุ้น MCOT เคยทำสถิติสูงสุดที่ 56.75 บาท เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2556  ราคาปัจจุบันอยู่ที่ 4.88 บาท (ข้อมูลวันที่ 20 ก.ค.2563) มูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) หายไปกว่า 3 หมื่นล้านบาท สะท้อนถึงการแข่งขันธุรกิจสื่อทีวียุคนี้ที่ยังไม่เห็นทางออก

5 ปีขาดทุนอ่วม รายได้สัมปทานหาย

ธุรกิจสื่อ อสมท ก่อนยุคทีวีดิจิทัล มีแหล่งรายได้หลัก จากโทรทัศน์ ช่อง 9, วิทยุ และรายได้จากสัมปทาน (ทรูวิชั่นส์และช่อง 3)  โดยรายได้และกำไร ที่ อสมท ทำสถิติไว้สูงสุด คือ ปี 2555 รายได้ 5,938  ล้านบาท กำไร 1,768 ล้านบาท  มาในปี 2556 รายได้ 5,984 ล้านบาท กำไร 1,528 ล้านบาท หลังจากนั้นเมื่อเริ่มเข้าสู่ยุคทีวีดิจิทัล ในเดือนเมษายน 2557  รายได้และกำไร อสมท  ลดลงไปถึงจุดที่ขาดทุนต่อเนื่องมาแล้ว 5 ปี

รายได้ อสมท

  • ปี 2557 รายได้ 4,454 ล้านบาท  กำไร 481 ล้านบาท
  • ปี 2558 รายได้ 3,839 ล้านบาท  กำไร 43 ล้านบาท
  • ปี 2559 รายได้ 2,891 ล้านบาท ขาดทุน 757 ล้านบาท
  • ปี 2560 รายได้ 2,736 ล้านบาท ขาดทุน 2,543 ล้านบาท
  • ปี 2561 รายได้ 2,562 ล้านบาท ขาดทุน 378 ล้านบาท
  • ปี 2562 รายได้ 2,968 ล้านบาท ขาดทุน 458 ล้านบาท
  • ปี 2563 (Q1) รายได้  467 ล้านบาท ขาดทุน 878 ล้านบาท

ปี 2560 อสมท ขาดทุนกว่า 2,500 ล้านบาท มาจากการบันทึกรายจ่ายจากการด้อยค่าใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง มูลค่ากว่า 1,703 ล้านบาท (หากไม่รวม ขาดทุน 726 ล้านบาท) เช่นเดียวกับไตรมาสแรกปีนี้ที่ขาดทุนไปแล้วกว่า 800 ล้านบาท จากการด้อยค่าของสินทรัพย์

ความท้าทายของ อสมท ในปีนี้ นอกจากสถานการณ์โควิด-19  กระทบเม็ดเงินโฆษณาแหล่งรายได้หลักหายไปแล้ว ปี 2563 รายได้จากการร่วมดำเนินกิจการ (สัมปทาน) ที่เคยได้จาก ทรูวิชั่นส์ ก็สิ้นสุดไปแล้วในปี 2562 และไตรมาสแรกปีนี้ ก็เป็นไตรมาสสุดท้าย ที่ อสมท มีรายได้จากสัมปทาน ช่อง 3 แอนะล็อก เพราะได้สิ้นสุดสัญญาไปแล้วเมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 โดยรายได้จากสัมปทานคิดเป็นสัดส่วนราว 22% ของ อสมท

ธุรกิจทีวีร่วงแรง เรตติ้งตกผู้ผลิตย้ายช่อง

สถานการณ์ อสมท ที่มาถึงจุด “ขาดทุน” หนัก สาเหตุหลักก็มาธุรกิจทีวี จากการลงทุนสูงในช่วงที่เข้าประมูลทีวีดิจิทัลปี 2557  คือ MCOT HD 30  และ MCOT Family 14  ใช้เงินลงทุนไปราว 3,000 ล้านบาท เพื่อดำเนินการทั้ง 2 ช่อง

แต่การลงทุนสูงกลับสวนทางกับการสร้างรายได้ของธุรกิจทีวี ที่ลดลงนับจากปี 2557 เป็นต้นมา ปัจจัยหลักก็มาจากการแข่งขันจำนวนช่องทีวีเพิ่มมา 24 ช่อง นอกจากเจ้าของฟรีทีวี แอนะล็อก รายเดิมเข้าประมูลแล้ว ยังมีคอนเทนท์ โปรวายเดอร์ ที่เคยผลิตรายการให้ช่อง 9 อสมท ก็เข้าประมูลเป็นเจ้าของช่องด้วย

เมื่อผู้ผลิตรายการมีช่องทีวีดิจิทัล เป็นของตัวเองแล้ว ก็ย้ายรายการที่เคยอยู่ในฟรีทีวี ไปอยู่ช่องตัวเอง ช่อง 9 จึงเสียแม่เหล็กสร้างเรตติ้ง จากผู้ผลิตดังอย่างกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่เคยทำซิทคอม รายการประกวดร้องเพลงชื่อดัง The Star ก็เป็นเจ้าของทีวีดิจิทัล 2 ช่อง (ช่องวันและจีเอ็มเอ็ม25) นอกจากนี้ ผู้ผลิตรายการวาไรตี้ หลายรายเริ่มทยอยย้ายรายการไปอยู่ในทีวีดิจิทัลช่องใหม่ อย่างเช่น โพลีพลัส ผู้ผลิตข่าวบันเทิง ดาวกระจาย หรือผู้ผลิตที่ยังอยู่อย่าง “ทีวีบูรพา” ก็ลดจำนวนรายการลง หลังจากเรตติ้ง ช่อง 9 เริ่มถดถอย เพราะทำให้ขายโฆษณาได้ยากขึ้น

ธุรกิจทีวี อสมท จึงอยู่ในช่วงขาลงมาตลอด ตั้งแต่เริ่มยุคทีวีดิจิทัล จากเรตติ้งที่ลดลง การแข่งขันของทีวีดิจิทัลช่องใหม่ พฤติกรรมการรับสื่อของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป และการหดตัวของอุตสาหกรรมโฆษณา สะท้อนได้จากรายได้ทีวี ปี 2556 ทำไว้ 3,821 ล้านบาท มาในยุคทีวีดิจิทัลก็ร่วงหนักมาถึงปัจจุบัน

  • ปี 2557  รายได้  2,419  ล้านบาท   -36%
  • ปี 2558  รายได้  1,678  ล้านบาท   -31%
  • ปี 2559  รายได้  1,142  ล้านบาท   -32%
  • ปี 2560  รายได้  1,002  ล้านบาท   -12%
  • ปี 2561  รายได้     771  ล้านบาท   -23%
  • ปี 2562  รายได้     679  ล้านบาท   -12%
  • ปี 2563 (Q1) รายได้ 111 ล้านบาท  -35%

จากธุรกิจทีวีที่เป็นรายได้หลัก สัดส่วนราว 60% ของ อสมท ก็เริ่มลดลงมาต่อเนื่อง ในที่สุดปี 2562 อสมท ตัดสินใจคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัลช่องเด็ก MCOT Family 14 และยังเป็นปีที่กลุ่มธุรกิจทีวี ทำรายได้เป็นอันดับสอง รองจากธุรกิจวิทยุ เป็นครั้งแรก ปัจจุบันทีวี มีสัดส่วน 24% ของรายได้ อสมท หากดูจากผลประกอบการไตรมาสแรก ยังอยู่ในทิศทาง “ขาลง” ต่อไป

รายได้วิทยุ “ยืนหนึ่ง”

อสมท ถือเป็นรัฐวิสาหกิจ ที่ถือครองคลื่นวิทยุมากที่สุดแห่งหนึ่ง จำนวน 62 สถานี ในจำนวนนี้ อยู่ในภูมิภาค 53 สถานี คลื่นวิทยุในกรุงเทพฯ ของ อสมท 6 คลื่น บริหารเอง และอยู่ในกลุ่มผู้นำ ในทุกประเภทของคลื่นวิทยุ ไม่ว่าจะเป็น FM 95  ลูกทุ่งมหานคร FM 96.5  คลื่นความคิด  FM 97.5 Mellow (เดิม Seed FM) FM 99 Active Radio FM 100.5 News Network  และ FM 107 MET 107

“วิทยุ” จัดอยู่ในสื่อดั้งเดิมและมีแนวโน้มเม็ดเงินโฆษณาลดลงเช่นเดียวกับสื่อทีวีและสิ่งพิมพ์  แต่หากเทียบอัตราการลดลงถือว่าน้อยกว่า และได้พัฒนาช่องทางรับฟังไปตลาดพฤติกรรมผู้บริโภคทั้งแอปพลิเคชั่น  มิวสิคสตรีมมิ่ง และ Facebook Live  วิทยุ อสมท ทั้งหมดก็สามารถฟังได้ออฟไลน์ผ่านเครื่องรับและออนไลน์

หากดูตามส่วนแบ่งการตลาดวิทยุส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล)  อสมท  ครองมาร์เก็ตแชร์สูงสุด 12.09% เอ-ไทม์  8.72%  อาร์เอส 3.48% คลื่นวิทยุที่โดดเด่นทั้งผู้ฟังและรายได้สูงสุด คือ  FM 95 MHz  คลื่นลูกทุ่งมหานคร  ในปี 2556 วิทยุ อสมท ทำรายได้สูงสุด  957 ล้านบาท  ก่อนที่จะเริ่มถดถอยในยุคดิจิทัล ดิสรัปชั่น ทั้งอุตสาหกรรมสื่อ แต่อัตราการลดลงยังน้อยกว่าทีวี ย้อนดูได้จากช่วงที่ผ่านมา

  • ปี 2557  รายได้  929 ล้านบาท  -3%
  • ปี 2558  รายได้  943 ล้านบาท  +2%
  • ปี 2559  รายได้  805 ล้านบาท  -15%
  • ปี 2560  รายได้  747 ล้านบาท  -7%
  • ปี 2561  รายได้  741 ล้านบาท  -0.8%
  • ปี 2562  รายได้  703  ล้านบาท  -5%
  • ปี 2563(Q1) รายได้ 135 ล้านบาท  -18%

มาถึงวันนี้ธุรกิจวิทยุได้แซงหน้าทีวี ขึ้นมาครองรายได้อันดับ 1 ของ อสมท ด้วยสัดส่วนราว 29%  ในยุคที่ผู้บริโภคสามารถเสพความบันเทิงหลากหลายได้จากดิจิทัล แพลตฟอร์ม  แต่การสำรวจล่าสุดของ “นีลเส็น” คนฟังวิทยุเฉลี่ย 14 ชั่วโมง 16 นาทีต่อสัปดาห์  ช่วงโควิด เดือนเมษายน ฟังเพิ่มขึ้นเป็น 15 ชั่วโมง 2 นาทีต่อสัปดาห์  เพิ่มขึ้น 21%

หากดูภาพรวมอุตสาหกรรมสื่อโฆษณาทั้งทีวีและวิทยุเองก็ยังอยู่ในภาวะถดถอย เม็ดเงินโฆษณาหดลงเรื่อยๆ  แม้ทีวียังครองส่วนแบ่งการตลาด 57%  มูลค่า 7 หมื่นล้านบาทในปีนี้ผ่านมา แต่เม็ดเงินอยู่ในกลุ่มเรตติ้งท็อป 5 เป็นหลัก ขณะที่ อสมท ยังต้องลุ้นไต่ให้ติดท็อป 10 ส่วนงบโฆษณาวิทยุ ปี 2562  นีลเส็น รายงานงบโฆษณาวิทยุ อยู่ที่ 4,741 ล้านบาท แนวโน้มก็ลดลงเช่นกัน

เส้นทางสื่อทีวีและวิทยุของ อสมท จึงต้องฝ่าฟันธุรกิจสื่อดั้งเดิมขาลงไปให้ได้  ส่วนสื่อใหม่ก็ต้องพัฒนาต่อไปโดยเฉพาะ แพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ทำมาแล้วหลายปี แต่รายได้ยังคง “น้อยมาก” เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่นๆ

แม้สถานการณ์ในธุรกิจสื่อดูแล้วลำบาก แต่ต้องบอกว่า อสมท ยังมีทรัพย์สิน “ที่ดิน” หลายแปลงในมือที่สามารถพัฒนาต่อ หรือ Diversify ธุรกิจใหม่กระจายความเสี่ยง  โดยที่ดินทำเลทอง ย่านรัชดาภิเษก 50 ไร่  (ราคาประเมิน 5,032 ล้านบาท),ที่ดินที่ตั้งสำนักงานใหญ่ อสมท 20 ไร่,  ที่ดินบางไผ่  พุทธมณฑลสาย 2 พื้นที่ 59 ไร่ และที่ดินหนองแขม 40 ไร่

อีกทั้งยังมีเงินเยียวยาคลื่นความถี่ 2600 MHz อีกก้อน ซึ่ง กสทช. สรุปมาให้ 3,235 ล้านบาท  แต่ยังมีปัญหาการแบ่งกับคู่สัญญา “เพลย์เวิร์ค” และข้อร้องเรียนจากสหภาพแรงงาน อสมท ในการตรวจสอบการพิจารณาเงินเยียวยาให้กับคู่สัญญาว่าถูกต้องหรือไม่

เส้นทางของ อสมท นับจากนี้ยังคงต้องฝ่าอีกหลายคลื่นถาโถม บนธุรกิจสื่อที่ยังมีความเสี่ยง และการเปลี่ยนแปลง “แม่ทัพ” ใหม่ เมื่อ “เขมทัตต์ พลเดช” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ จะเกษียณอายุการทำงานในสิ้นเดือนสิงหาคมนี้


แชร์ :

You may also like