สสว. เร่งเพิ่มศักยภาพศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร (SME One-Stop Service Center: OSS) ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ จับมือสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ ยกระดับความรู้บุคลากรช่วยเอสเอ็มอีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตไปสู่มาตรฐาน GMP/HACCP พร้อมเป็นตัวเชื่อมหน่วยงานในท้องถิ่นยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ฟื้นฟูผู้ประกอบการหลังวิกฤติโควิด-19
นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม เปิดเผยว่า ขณะนี้ สสว. ได้เร่งยกระดับศูนย์ให้บริการเอสเอ็มอีครบวงจร (SME One – stop Service Center : OSS) หรือ สสว. OSS center ที่กระจายอยู่ทั่วประเทศให้มีประสทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น เนื่องจาก สสว. OSS center มีบทบาทและภารกิจค่อนข้างมากและหลากหลาย โดยมีแนวทางการบริหารงานแบบกลุ่มจังหวัด กล่าวคือ ให้บริการครอบคลุมครบ 77 จังหวัด และปรับบทบาทหน้าที่ให้สอดคล้องกับภารกิจเชิงรุกมากขึ้น เพื่อพัฒนากลไกด้านการส่งเสริมเอสเอ็มอี ให้สามารถเข้าถึงกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี และผู้ประกอบการเอสเอ็มอี รวมทั้งเศรษฐกิจชุมชน เพิ่มขึ้นตามนโยบายของรัฐบาลและยุทธศาสตร์ที่ 2 ของ สสว. ซึ่งจะช่วยสร้างความเข้มแข็งยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจฐานราก
ทั้งนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพของศูนย์ OSS ดังกล่าว จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรของสสว. OSS center เพิ่มขึ้น ล่าสุด สสว. ได้ร่วมมือกับสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จัดฝึกอบรมบุคลากรศูนย์ OSS ทั่วประเทศภายใต้หลักสูตรข้อกำหนด GMP/HACCP เพื่อยกระดับทักษะเจ้าหน้าที่ให้มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในการรับรองมาตรฐานจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI) การอบรมครั้งนี้ มุ่งหวังว่าบุคลากรสสว. OSS center ทั่วประเทศ จะสามารถให้คำแนะนำปรึกษากับผู้ประกอบการได้อย่างมีมาตรฐานและมีความน่าเชื่อถืออย่างมืออาชีพ
สสว. OSS center ยังมีภารกิจสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการกลุ่มไมโครเอสเอ็มอี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าส่งเสริมให้สามารถเข้าถึงโครงการพัฒนาต่างๆ ของภาครัฐ และเสริมสร้างการรวมกลุ่มในพื้นที่ อันจะเป็นการสร้างโอกาสทั้งด้านการพัฒนาศักยภาพ และการขยายตลาด ผ่านการให้คำปรึกษาเชิงลึก เช่น กิจกรรม SME Coach ที่จะมีผู้เชี่ยวชาญเข้าไปให้คำปรึกษา เพื่อยกระดับไมโครแอสเอ็มอีให้สามารถเติบโตขยายธุรกิจต่อไป
นอกจากนี้ สสว. มีแผนที่จะพัฒนาบทบาทของ สสว. OSS center ให้สามารถสร้างเครือข่ายกับหน่วยงานในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นกลุ่มเศรษฐกิจชุมชนและฐานราก ซึ่งถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญ ที่จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในพื้นที่กันมากขึ้น เช่น องค์การบริหารส่วนตำบาล (อบต.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (กทบ.) ทั้งนี้ ได้นำร่องโครงการแรก ผ่านการส่งเสริมการตลาดออนไลน์บนแอพพลิเคชั่นไลน์ “ตลาด กทบ สสว.” หรือ @villagefundmarket ซึ่งได้ช่วยเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าออนไลน์ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง และทดสอบตลาดให้กับกลุ่มผู้ประกอบการที่อาจจะไม่คุ้นเคยกับช่องทางการจำหน่ายบนออนไลน์หรือแฟลตฟอร์มอิเล็กทรอนิค
โดย สสว. จะเข้าไปสนับสนุนด้านการสร้างแพลตฟอร์มให้ผู้สนใจเข้ามาเลือกซื้อสินค้าและขายในตลาดออนไลน์ เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพ โดยการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกผ่าน สสว. OSS center ในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นช่องทางในการให้บริการเอสเอ็มอีด้านต่างๆ และช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมกิจกรรมภายใต้โครงการของ สสว.
“สสว. OSS center นี้ ถือเป็นตัวแทนที่สำคัญของ สสว. ในการช่วยเหลือให้เอสเอ็มอี และไมโครเอสเอ็มอี สามารถฝ่าวิกฤติเศรษฐกิจในยุคโควิด-19 ครั้งนี้ ซึ่งหากสถานการณ์ทุกอย่างกลับเข้าสู่สภาวะปกติในช่วงครึ่งปีหลัง ภาคธุรกิจต่างๆ กลับมาดำเนินการตามปกติ สสว. OSS center ในฐานะตัวแทนของ สสว. จะต้องมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปฟื้นฟูเศรษฐกิจในภูมิภาค และเข้าไปทำงานอย่างใกล้ชิดกับผู้ประกอบการ เพื่อให้เข้าถึงช่องทางการให้บริการเอสเอ็มอีในด้านต่างๆ และประชาสัมพันธ์ให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าร่วมกิจกรรมโครงการของ สสว. และมาตรการช่วยเหลือต่างๆ ตามนโยบายของรัฐบาล” นายวีระพงศ์ กล่าวว่า