ไวรัส Covid-19 เขย่าโลกกลายเป็นวิกฤติรุนแรง ทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้ติดลบ 6.2% ลึกสุดนับจากสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อกว่า 75 ปีก่อน แน่นอนว่าในไทยหนักว่าต้มยำกุ้ง หลายสถาบันการเงินรวมทั้งแบงก์ชาติ คาดจีดีพีปีนี้ -8.1% หลังสาหัสจาก Lockdown ในไตรมาส 2 ข่าวดีคือน่าจะผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว แม้ต้องทำใจว่าระลอก 2 มีแน่แต่เชื่อว่ารับมือได้ สิ่งที่ต้องรอให้ไหว คือเศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นตัวได้คงเป็นปี 2565
สถานการณ์โควิดทั่วโลกจำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ยังเพิ่มขึ้น แม้ประเทศไทยไม่มีผู้ติดเชื้อใหม่ในประเทศ แต่การที่เศรษฐกิจพึ่งพารายได้จากต่างประเทศ โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เมื่อหลายประเทศยังปิดน่านฟ้าเฝ้าระวังการติดเชื้อดังนั้นทิศทางเศรษฐกิจไทยในอีก 1-2 ปีข้างหน้ายังมีความไม่แน่นอนสูง ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ระบาดระลอก 2 ทั่วโลก แต่ทุกประเทศรู้ว่าคงไม่สามารถอยู่กับตัวเลขผู้ติดเชื้อเป็นศูนย์ได้ หากเศรษฐกิจไม่ขับเคลื่อน แต่ต้องอยู่บนความคาดหวังว่าจะผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปให้ได้
เพื่อให้เห็นภาพชัดเศรษฐกิจไทยครึ่งปีหลังและทิศทางการฟื้นตัวจากโควิด ธนาคารกสิกรไทย จัดสัมมนา The Wisdom เปิดวิสัยทัศน์สู่บรรทัดฐานใหม่ของเศรษฐกิจและการลงทุน The Symbol of Your Vision: The Vision for the NEXT Normal เพราะเศรษฐกิจหลังโควิดจะไม่เหมือนเดิม ทั้งรูปแบบการทำธุรกิจ การลงทุน การใช้ชีวิต และการบริโภคของประชาชน โดย ดร.ดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มาสรุปทุกแง่มุม พร้อมประเมินแนวโน้มที่คนไทยต้องเผชิญหลังจากนี้
เศรษฐกิจโลกดิ่งสุดหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
– เริ่มกันที่ตัวเลขเศรษฐกิจปี 2020 ต้องบอกว่าจีดีพี “สาหัส” ทั่วโลก จากวิกฤติโควิด โดย World Bank ได้ออกบทวิเคราะห์คาดการณ์ว่าปี 2020 จะอยู่ที่ –6.2% เป็นปีที่เศรษฐกิจโลกจะหดตัวลึกมาก นับตั้งแต่สิ้นสุดยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ปี 1945 ที่จีดีพีขณะนั้น -15% ดังนั้นโควิดจึงยังไม่ใช่เหตุการณ์ทำให้ติดลบมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลก
– เศรษฐกิจโลกต่ำสุดอยู่ในไตรมาส 2 จากผลกระทบโควิดที่กลายเป็น “ไวรัสเขย่าโลก” สาเหตุที่หดตัวทั้งโลก เพราะต้องปิดเมือง (Lockdown) ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ท่องเที่ยวต่างประเทศหายไปทั่วโลกจากปิดน่านฟ้าของหลายประเทศ World Bank ประเมินว่าแม้ตัวเลขไตรมาส 3 จะดูดีกว่าไตรมาส 2 แต่เศรษฐกิจโลกถึงสิ้นปี 2021 ก็ยังไม่กลับไปปกติเหมือนก่อนโควิด และต้องใช้เวลาถึงปี 2022
ไทยสาหัสแรงกว่าต้มยำกุ้ง พ้นจุดต่ำสุดแล้ว
– เดิมแบงก์ชาติ ประเมินเศรษฐกิจไทยก่อนโควิด ปีนี้เติบโต 3.8% อัพเดทตัวเลขล่าสุดคาดการณ์ –8.1% ซึ่งก็เกิดจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์นั่นเอง หากเปรียบกับวิกฤติต้มยำกุ้งปี 2540 โควิดถือว่าแรงกว่ามาก เพราะกวาดทั้งกระดาน กระทบหมด
– สำหรับเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 2 ถือว่าต่ำสุดแล้ว ช่วงที่ลงแรงคือเดือนเมษายน-มิถุนายน เพราะมาตรการ Lockdown จากการคาดการณ์โดยนักวิเคราะห์ของสถาบันต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ หลังจากนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัว
– หากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและตัวเลขคาดการณ์เศรษฐกิจโลก ไทยร่วงแรงกว่าสาเหตุก็เพราะพึ่งพาเศรษฐกิจโลกในสัดส่วนสูง โดยเฉพาะการท่องเที่ยว เมื่อน่านฟ้ายังไม่เปิดและต่างชาติยังงดเดินทาง ธปท.จึงคาดการณ์นักท่องเที่ยวต่างชาติปี 2563 จะลดลงเหลือ 8 ล้านคน หรือหายไป 80% เมื่อเทียบกับปีก่อน ที่มีจำนวน 38 ล้านคน
– ไตรมาส 2 รัฐบาลมีมาตรการ Lockdown เศรษฐกิจจึงได้รับผลกระทบรุนแรง แต่ก็เชื่อว่าไตรมาสต่อไป น่าจะดีขึ้นแม้ไม่มาก แต่ถึงอย่างไร ปี 2563 จีดีพียังคง -8% ส่วนปีหน้าน่าจะ -5% ซึ่งก็ยังไม่ปกติ และคงต้องใช้เวลาราว 2 ปี หรือในปี 2565 ที่จะกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง
– ณ จุดนี้ เชื่อว่าไทย “พ้นจุดต่ำสุด” ไปแล้ว แต่ต้องบอกว่า Second Wave เป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น และถือเป็นความเสี่ยง ซึ่งก็ต้องดูว่าจะระบาดมากน้อยแค่ไหน เห็นได้ว่าประเทศที่เกิดระลอก 2 ทั้งในจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นระลอก 2 ขนาดเล็ก และเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อไป ประเทศไทยก็เช่นกันหากเป็นระลอก 2 ขนาดเล็กก็สามารถจำกัดวงได้ ซึ่งกรมควบคุมโรคบอกว่าระบบติดตามโรค ตรวจสอบคัดกรอง สามารถรองรับผู้ติดเชื้อใหม่ได้วันละ 20-30 ราย และอย่าไปยึดติดกับผู้ติดเชื้อใหม่เป็นศูนย์ราย หากมีผู้ติดเชื้อจำนวนไม่มากเศรษฐกิจยังเดินหน้าต่อได้ และระบบสาธารณสุขของไทยยังรับมือได้
หนี้เสียยังคุมได้-เติมสภาพคล่อง
– ภาวะหนี้เสีย (NPL) ของสถาบันการเงินต่างๆ ปัจจุบันอยู่ที่ 3% วิกฤติโควิดที่เกิดขึ้น หาก NPL ปรับเพิ่มขึ้นถือเป็นเรื่องปกติ หรือกลับไปที่ 4-5% เหมือนช่วง 10 ปีก่อนก็ยังเป็นเรื่องปกติ ปัจจุบันฐานะธนาคารพาณิชย์ไทยแข็งแกร่งและรับมือ NPL ได้ดี เพราะมีเงินกองทุนสูงถึง 18% สูงกว่ามาตรฐานกำหนดไว้ที่ 12%
– สิ่งที่ต้องทำขณะนี้ สนับสนุน “มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ” (Soft Loan) ช่วยเศรษฐกิจไทยให้ไปต่อ เพราะวิกฤติครั้งนี้เป็นเรื่องสภาพคล่องในทุกกลุ่มผู้ประกอบการและบุคคลธรรมดา โดยเฉพาะ SMEs มาตรการซอฟต์โลนของแบงก์ชาติวงเงิน 5 แสนล้านบาท ปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ปล่อยไปได้แค่ 1 แสนล้านบาท หรือ 20% ของวงเงิน โดยกำลังดูเงื่อนไขต่างๆ ร่วมกับสมาคมธนาคารไทยและหน่วยงานรัฐ เพื่อเร่งปล่อยให้เร็วขึ้น
ระลอก 2 ไทยรับมือได้ ไม่ชัตดาวน์
– ปัจจุบันหลายประเทศ กังวลเรื่องการระบาดระลอก 2 ซึ่งไม่ได้ดูที่จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่ แต่ดูมาตรการว่าต้องปิดเมือง (ล็อกดาวน์) ที่จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดหรือไม่ หากเกิดลักษณะนี้ ก็แน่นอนว่าไตรมาส 3 คงไม่ดีกว่าไตรมาส 2 แต่หากให้ประเมินสถานการณ์ ประเทศไทยโอกาสชัตดาวน์ระลอก 2 มีน้อย เพราะความสามารถด้านสาธารณสุขไทยรองรับผู้ป่วยติดเชื้อใหม่ได้วันละ 20-30 คน ปัจจุบันจึงยังอยู่ในการควบคุม โดยต้องเพิ่มการตรวจคัดกรองให้เร็ว หลายประเทศที่เข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ยังมีผู้ติดเชื้อใหม่ แต่ไม่มาก ในประเทศไทยหากเป็นการระบาดขนาดย่อย ยังสามารถดูแลได้
– หากประเมินบนสถานการณ์ปัจจุบัน ประเทศไทยจะเข้าสู่ช่วงหลังโควิด และเศรษฐกิจพ้นติดลบได้ในปี 2565 เพราะวัคซีนน่าจะมาปลายปี 2564 แต่การเข้าสู่หลังโควิด กลับมาปกติปี 2565 ต้องเตรียมการไว้ล่วงหน้าว่าจะฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างไร เพราะครั้งนี้ต่างจากวิกฤติปี 2540 ที่เกิดขึ้นในไทยและเอเชีย แต่โควิดวิกฤติทั้งโลก ทุกประเทศถูก Reset ใหม่หมด ดังนั้นจึงต้องวางหมากให้ดี เพื่อก้าวกระโดดไปข้างหน้า คือต้องดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บหนักจนไปต่อไม่ได้ ประเทศไทยยังมีจุดแข็งหลายเรื่องต้องวางยุทธศาสตร์ฟื้นเศรษฐกิจ เพื่อกลับมาเติบโตให้เร็วอีกครั้ง