COVID-19 ทำให้ทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์ รวมทั้งธุรกิจโรงภาพยนตร์ทั่วโลกได้รับผลกระทบอย่างหนัก ทั้งหนังที่อยู่ระหว่างการถ่ายทำ ต้องหยุดกองถ่ายทำชั่วคราว ขณะที่หนังที่มีกำลังเข้าฉาย เป็นอันต้องเลื่อนออกไป เช่น หนังฟอร์มยักษ์อย่าง “Mulan” ของค่ายดิสนีย์ ที่ล่าสุดกำหนดเข้าฉายใหม่ วันที่ 21 สิงหาคม และ “Tenet” ของค่าย Warner Bros. เลื่อนฉายเป็นวันที่ 12 สิงหาคม
มีการคาดการณ์กันว่ารายได้ Box Office ทั่วโลกจะหายไปจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์จำนวนมหาศาล
กลางเดือนมีนาคม รายได้ Box Office ทั่วโลก หายไปจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ราว 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
ในเดือนพฤษภาคม รายได้หายไปอีก 10,000 ล้านเหรียญสหรัฐ!!
หลังจากอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วโลกต้องหยุดชะงักไป แต่แล้วช่วงเดือนกรกฏาคม – สิงหาคม “โรงภาพยนตร์” เริ่มกลับไปเปิดให้บริการ โดยทาง “เกาหลี” ตัดสินใจนำหนังฟอร์มยักษ์ “Train to Busan: Peninsula” ภาคต่อจากเรื่อง “Train to Busan” มาเข้าโรงภาพยนตร์ ด้วยคาดหวังว่าเรื่องนี้จะสร้างกระแสให้อุตสาหกรรมภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์กลับมาคึกคัก
“Train to Busan: Peninsula” เป็นผลงานการกำกับของ “Yeon Sang-ho” ผู้กำกับ “Train to Busan” ในปี 2016 หนังซอมบี้ที่ประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในเกาหลี และตลาดโลก และ “Seoul Station” อนิเมชั่นต้นเรื่องก่อนจะเกิดเหตุการณ์ Train to Busan
จากความสำเร็จของ Train to Busan ได้สร้างกระแส “K-Zombie” ดังทั่วโลก นำมาสู่การสร้างภาคต่อ “Peninsula” งบการสร้างอยู่ที่ 16 ล้านเหรียญสหรัฐ สูงกว่า Train to Busan ที่ใช้งบ 8.5 ล้านเหรียญสหรัฐ
โดยยังคงใช้พล็อตเรื่องเป็น Zombie แต่เป็นเรื่องราว 4 ปีหลังจากเกิดเหตุการณ์ Train to Busan และใช้ทีมนักแสดงชุดใหม่ นำโดย Gang Dong-won
ด้วยกระแส K-Zombie ทีมผู้สร้าง และทีมนักแสดง ทำให้วงการภาพยนตร์ และคนดูทั่วโลกต่างรอคอย
เริ่มจากที่เกาหลีใต้ เข้าฉายในวันที่ 15 กรกฎาคมที่ผ่านมา และทยอยเข้าโรงฉายในแต่ละประเทศ โดยฉายในประเทศแถบเอเชียก่อน ในช่วง 5 วันแรกของการเข้าฉาย ทำรายได้ 20.82 ล้านเหรียญสหรัฐใน 5 ประเทศ
– เกาหลีใต้ ทำรายได้ 13.2 ล้านเหรียญสหรัฐ
– ไต้หวัน 4.7 ล้านเหรียญสหรัฐ
– เวียดนาม ทำรายได้ 1.17 ล้านเหรียญสหรัฐ
– มาเลเซีย 955,000 เหรียญสหรัฐ
– สิงคโปร์ 795,000 เหรียญสหรัฐ
นอกจากนี้มาจากโรงภาพยนตร์ Imax จำนวน 45 โรง ทำรายได้ช่วงสุดสัปดาห์ 750,000 ล้านเหรียญสหรัฐ
สำหรับประเทศไทย เริ่มฉายวันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ซึ่งทั้งผู้ประกอบการธุรกิจโรงหนัง ต่างคาดหวังว่าเรื่องนี้ จะเป็นแม่เหล็กดึงคนไทยกลับมาดูหนังโรงมากขึ้น
จาก Train to Busan และ Parasite ถึง Peninsula บทพิสูจน์ “K-Movie” ในตลาดโลก
เป็นที่ทราบกันดีว่าเกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ผนึกกำลังกันใช้พลัง “Soft Power” ไม่ว่าจะเป็น “K-Content” หรือ “K-Entertainment” ประกอบด้วย K-Pop, K-Series, K-Movie, K-Variety Show, K-Comic, K-Animation “K-Beauty” และ “K-Food” ส่งผลต่อเนื่องให้ “K-Goods” ประเภทต่างๆ ได้รับความนิยม และการยอมรับ
ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ “K-Wave” ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีขยายไปทั่วโลก เพื่อสะท้อนกลับไปที่การ “สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ” และ “การขยายการลงทุนของกลุ่มทุนเกาหลีต่างๆ” ในต่างประเทศ
ทุกวันนี้อิทธิพล “ความเป็นเกาหลี” หรือ “Koreanization” แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการเปิดรับคอนเทนต์ต่างๆ ทั้งซีรีส์, รายการวาไรตี้, เพลง, ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมอาหาร นำไปสู่การแผ่ขยายของ “ทุนเกาหลี” ที่เข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ
ทำให้ “เกาหลีใต้” กลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในด้าน “Hard Power” ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การทหาร รวมถึงการพัฒนาด้านเทคโนโลยี – การผลิต และด้าน “Soft Power”
ตามที่กล่าวข้างต้นว่าหนึ่งใน Soft Power ด้าน “K-Content” คือ “ภาพยนตร์เกาหลี” เป็น Major Player ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์โลก โดยพยายามตีตลาดต่างประเทศ ทั้งในแถบเอเชีย และตลาดโลก
สำหรับประเทศไทย หนังเกาหลีเริ่มได้รับความสนใจเมื่อกว่า 10 – 20 ปีที่แล้ว เช่น II Mare, The Classic, My Sassy Girl, Christmas in August, Wanee & Junah, Tae guk gi, Oldboy, A Tale of Two Sisters ฯลฯ
กระทั่งในปี 2016 วงภาพยนตร์เกาหลีได้สร้างปรากฏการณ์ “K-Zombie” กับการเปิดตัวเรื่อง “Train to Busan” เป็นที่พูดถึงในวงกว้างอีกครั้ง กับการเปิดตัวเรื่อง “Train to Busan” ที่สามารถกวาดรายได้กว่า 93 ล้านเหรียญสหรัฐ (ในเกาหลี 2.1 ล้านเหรียญสหรัฐ และต่างประเทศ 91 ล้านเหรียญสหรัฐ)
จากนั้นในปี 2019 สปอตไลท์ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ระดับโลกได้ส่องมาที่ “วงการภาพยนตร์เกาหลี” โดยเฉพาะกับความสำเร็จเรื่อง “Parasite” (ชนชั้นปรสิต)
สถิติที่น่าสนใจสำหรับอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี
– ในปี 2019 มูลค่าการส่งออกภาพยนตร์เกาหลีใต้ อยู่ที่ 37.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
– ปี 2019 อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ติดอันดับ 5 ที่ทำรายได้ Box Office สูงสุดในตลาดโลก อยู่ที่ 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (อันดับ 1 สหรัฐอมริกา 11.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ / อันดับ 2 จีน 9.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ / อันดับ 3 ญี่ปุ่น 2.4 ล้านเหรียญสหรัฐ / อันดับ 4 สหราชอาณาจักร 1.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ)
– ปี 2019 นับเป็นปีทองของ “วงการภาพยนตร์เกาหลี” ในตลาดโลก โดยเฉพาะปรากฏการณ์ “Parasite” (ชนชั้นปรสิต) หนังเสียดสีสังคมเกาหลี ที่คว้าหลายรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เวทีต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นรางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติที่เมืองคานส์, รางวัลลูกโลกทองคำ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม และคว้า 4 รางวัลใหญ่จากเวทีออสการ์ ทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ผู้กำกับยอดเยี่ยม, บทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม, ภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม และอีกหลายรางวัลจากสถาบันต่างๆ
ภาพยนตร์ Parasite สามารถทำรายได้รวม ทั้งในประเทศ และต่างประเทศกว่า 257 ล้านเหรียญสหรัฐ ถึงวันนี้ยังคงติดหนึ่งในท็อปหนังเกาหลีที่ทำเงินสูงสุด
– ปี 2020 การกลับมาของภาคต่อ Train to Busan: Peninsula หนังเรื่องนี้ถูกซื้อไปฉายใน 185 ประเทศทั่วโลก และเป็นภาพยนตร์ที่ได้รับการคัดเลือกอย่างเป็นทางการจากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติคานส์
“ความกลัวที่เกิดขึ้นในเรื่อง Train To Busan คือความกลัวในการเผชิญหน้ากับไวรัสที่ไม่มีใครรู้จัก แต่สำหรับ Peninsula เป็นความกลัวอีกรูปแบบหนึ่งที่แตกต่างกัน และสิ่งหนึ่งที่เปลี่ยนไปจากเมื่อ 4 ปีก่อน คือ การพัฒนาของ Digital Effects ของอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี
เมื่อแรกเริ่มที่วางโครงเรื่อง ตอนนั้นเรากังวลถึงความเป็นไปได้ว่าจะสร้างฉากขนาดใหญ่อย่างที่ปรากฏในเรื่องได้อย่างไร แต่วันที่การถ่ายทำเริ่มต้น ความกังวลเหล่านั้นหายไป เพราะเราเชื่อว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลี ได้พัฒนาไปอย่างมาก” Yeon Sang-ho ผู้กำกับ Peninsula กล่าวถึงพัฒนาการของวงการภาพยนตร์เกาหลีในปัจจุบัน
ต้องลุ้นกันว่าที่สุดแล้ว เมื่อ “Trian to Busan: Peninsula” เข้าฉายทั้งในกว่า 180 ประเทศแล้ว จะทำรายได้ที่เท่าไร และผลตอบรับจากผู้ชมเป็นอย่างไร แต่การที่หลายประเทศให้ความสนใจ นับเป็นอีกหนึ่งหลักไมล์สำคัญที่สะท้อนให้เห็นว่า “อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีใต้” ได้รับการยอมรับในระดับโลกแล้วจริงๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์ใช้ Soft Power สร้างแบรนด์ดิ้งประเทศ การเติบโตทางเศรษฐกิจ กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ