ปฏิเสธไม่ได้ว่า ธุรกิจครอบครัว หรือ Family Business นับเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและระดับโลก โดยจะเห็นว่าธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่มีชื่อเสียงในโลก ส่วนใหญ่ล้วนมีกำเนิดมาจากธุรกิจครอบครัวแทบทั้งสิ้น อีกทั้งหลายรายยังสามารถขยายอาณาจักรจนเติบใหญ่มาหลายชั่วอายุคน ส่วนในประเทศไทยนั้น มีธุรกิจครอบครัวคิดเป็นสัดส่วน 80% ของธุรกิจทั้งหมด และ 1 ใน 3 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมาจากธุรกิจครอบครัว
แต่สิ่งหนึ่งที่แตกต่างออกไปคือ อัตราการอยู่รอดของธุรกิจครอบครัวไทยกลับน้อยลงเรื่อยๆ โดยเฉพาะเมื่อส่งต่อกิจการมาถึงรุ่นที่ 3 ทำให้หลายกิจการค่อยๆ ล่มสลายจากโลกธุรกิจไปอย่างน่าเสียดาย ส่งผลให้หนึ่งในธนาคารที่มีรากฐานจากธุรกิจครอบครัวมากว่า 80 ปีอย่าง ธนาคารยูโอบี เล็งเห็นความสำคัญ และเสริมแกร่งธุรกิจครอบครัวให้สามารถส่งต่อกิจการไปยังรุ่นต่อไปได้อย่างสตรองกว่าเดิม
3 สิ่งที่ธุรกิจครอบครัวต้องคำนึง หากอยากไปต่อ
คุณแอนดี้ เฉี่ย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจ wholesale banking ธนาคารยูโอบี (ไทย) บอกว่า กว่า 80 ปีที่ดำเนินธุรกิจ ธนาคารยูโอบีตระหนักถึงความสำคัญของธุรกิจครอบครัวมีผลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพราะหากพิจารณาข้อมูลธุรกิจในเมืองไทย พบว่า ธุรกิจครอบครัวคิดเป็นร้อยละ 80 ของจีดีพี โดย 1 ใน 3 ของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ยังมาจากธุรกิจครอบครัว และกว่าร้อยละ 80 ของลูกค้าของฝ่ายพาณิชย์ธนกิจยังเป็นธุรกิจครอบครัว
แต่ปัจจุบันธุรกิจครอบครัวต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ๆ รอบด้าน ทั้งสภาวะเศรษฐกิจ การแข่งขันที่รุนแรง และเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีการพัฒนาตลอดเวลา รวมถึงความกังวลในการวางแผนส่งไม้ต่อให้กับทายาทในรุ่นถัดไปเพื่อบริหารธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ธุรกิจครอบครัวจึงต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ให้ได้
“สิ่งที่ธุรกิจครอบครัวต้องคำนึงถึงคือ การเข้าใจจุดแข็งขององค์กรและทีมบริหาร พร้อมทั้งผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จำเป็น ด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่เปิดกว้างต่อการสร้างสรรค์ รวมถึงกำหนดทิศทางขององค์กรให้สอดคล้องไปกับค่านิยมหลักของครอบครัว และได้รับความร่วมมือจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลักที่เป็นสมาชิกในครอบครัว”
สอดคล้องกับผลสำรวจของ PWC global NextGen ปี 2561 ที่ระบุว่า สิ่งที่ธุรกิจครอบครัวควรทำ 3 อันดับแรก 1. มีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เหมาะกับยุคดิจิทัล 2. สามารถดึงดูด บริหารพัฒนาทักษะที่สำคัญของทีมงานที่มีความสามารถ เพื่อให้เติบโตไปกับองค์กร และ 3. ปรับเปลี่ยนองค์กรสู่การบริหารธุรกิจที่มีมาตรฐาน และทันสมัย
ขณะเดียวกัน ยังต้องมุ่งมั่นรักษามรดกและค่านิยมอันดีงามที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น และเคารพการตัดสินใจของผู้บริหารรุ่นก่อน รวมไปถึงสร้างการยอมรับและไว้วางใจจากผู้บริหารรุ่นก่อน เพื่อให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้อย่างราบรื่น ควบคู่กับการบริหารทรัพยากรบุคคลด้วยใจ นำคุณค่าขององค์กรมาปรับใช้ในการทำงานและเข้าใจธุรกิจอย่างลึกซึ้ง ตั้งแต่พฤติกรรมของลูกค้า สายการผลิต และภาพรวมการแข่งขันในตลาด
จาก Pain Point สู่ โซลูชั่นครบวงจร”
หลายคนอาจมองว่าปัญหาเหล่านี้เป็นปัญหาทั่วไปสำหรับการทำธุรกิจ แต่หากไม่มีการวางแผนอย่างชัดเจน ระยะยาวอาจจะทำให้ธุรกิจครอบครัวพังลงได้ง่าย โดยคุณแอนดี้ บอกว่า จากการทำงานกับลูกค้าธุรกิจครอบครัวมายาวนานและหลากหลายอุตสาหกรรม ทำให้ธนาคารยูโอบีเข้าใจถึงความท้าทายเหล่านี้ และได้นำเอาความต้องการมาออกแบบเป็นโซลูชั่นที่ครบวงจรเพื่อช่วยธุรกิจให้สามารถจัดการความท้าทายในทุกสภาพเศรษฐกิจและสร้างการเติบโตได้อย่างราบรื่นและยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น
“เรามีเครือข่ายสาขาครอบคลุม 19 ประเทศทั่วโลก รวมทั้งตลาดสำคัญของอาเซียน โซลูชั่นของเราช่วยลูกค้าทั้งในเรื่องจัดหาเงินทุนสำหรับซัพพลายเชนในต่างประเทศ ขยายศักยภาพในการเข้าถึงตลาด เชื่อมต่อกับลูกค้าของเราในประเทศต่างๆ เพื่อแชร์วิสัยทัศน์ในการสร้างธุรกิจครอบครัวในโลกสมัยใหม่”
นอกจากโซลูชั่นธุรกิจครอบครัวที่ครบวงจร ธนาคารยูโอบี ยังมีแผนเปิดตัวโครงการ The Business Circle เพื่อเตรียมความพร้อมให้กับผู้บริหารรุ่นต่อไปของครอบครัว โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างเครือข่ายในกลุ่มธุรกิจครอบครัวที่เป็นลูกค้าของธนาคาร ซึ่งอาจกำลังมองหาตลาดใหม่ หรือโอกาสทางธุรกิจในภูมิภาค ผ่านการแบ่งปันความรู้ ความคิด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในคอมมูนิตี้ของยูโอบี ทั้งในเรื่องความเชี่ยวชาญในแต่ละอุตสาหกรรม กลยุทธ์การตัดสินใจทางธุรกิจ และการนำดิจิทัลมาปรับใช้ในองค์กร ซึ่งจะช่วยให้ธุรกิจครอบครัวรับมือกับความท้าทายที่เกิดขึ้นได้
กรณีศึกษา UOB กับการนำความต้องการ ตอบโจทย์ลูกค้าธุรกิจครอบครัว
เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น คุณกัญลิกา บุษปวนิช ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่พาณิชย์ธนกิจ ธนาคารยูโอบี (ไทย) ได้ยกตัวอย่างลูกค้าธุรกิจครอบครัวที่ให้ความไว้วางใจเป็นพันธมิตรทางธุรกิจมาตลอดระยะเวลายาวนานถึง 20 ปี
สำหรับตัวอย่างแรกเป็น ธุรกิจก่อสร้างขนาดกลาง ซึ่งหัวใจของธุรกิจก่อสร้างไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง และใหญ่คือ การส่งมอบตรงต่อเวลาและการมีวงเงินเพียงพอ เพื่อให้สามารถส่งมอบงานให้กับผู้ว่าจ้างได้อย่างตรงเวลา ธนาคารเข้าใจถึงปัญหาและความต้องการตรงนี้ จึงได้จัดวงเงินให้หมุนเวียนขึ้นลงตามวงจรของธุรกิจลูกค้าในการรับงาน ซึ่งจะมีระยะเวลายาวนานต่อเนื่องและอาจจะพร้อมกันทีเดียวหลายโครงการ
ขณะเดียวกัน ยังขยายไปถึงการให้วงเงินสนับสนุนลูกค้าของลูกค้าด้วย เพื่อให้ลูกค้าบริหารต้นทุนและส่งมอบงานได้ตรงเวลาอีกเช่นกัน ทั้งยังเป็นตัวเชื่อมทางธุรกิจให้มีการแนะนำลูกค้าของธนาคารในธุรกิจที่สามารถต่อยอดกันได้ (Business Matching) นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ธนาคารยูโอบีได้รับความไว้วางใจให้เป็นธนาคารหลักสนับสนุนธุรกิจของครอบครัวนี้มาตลอด 20 ปีจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก และทำให้ธุรกิจสามารถขยายไปในทิศทางที่ต้องการ
อีกหนึ่งกิจการคือ ธุรกิจผลิตทองแดงแปรรูปสำหรับใช้ในการผลิตหม้อแปลงไฟฟ้าขนาดใหญ่ โดยรูปแบบธุรกิจมีความเสี่ยงจากความผันผวนจากราคาวัตถุดิบและอัตราแลกเปลี่ยนของเงินตราหลายสกุล ทางธนาคารจึงนำเสนอ Copper Hedging Product เพื่อป้องกันความเสี่ยงของราคาทองแดง ทำให้บริษัทสามารถควบคุมต้นทุนและนำเสนอราคาคงที่ให้กับลูกค้าของบริษัทได้ รวมถึงให้บริการสถานะเงินโอนเข้าและโอนออก ทำให้บริษัทสามารถบริหารสินเชื่อลูกหนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นี่เป็นเพียงตัวอย่างของหัวใจของการทำธุรกิจครอบครัวของธนาคารยูโอบี ที่มาจากการเข้าใจถึงความต้องการลูกค้า และนำมาพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการที่เป็นประโยชน์ จนทำให้ธุรกิจครอบครัวสามารถก้าวข้ามความท้าทายที่ต้องเผชิญและส่งต่อธุรกิจไปยังทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ฟังคลิปเต็มๆ
เว็บไซต์ BrandBuffet ขอขอบคุณ ธนาคารยูโอบี ที่เห็นความสำคัญของ “ธุรกิจครอบครัวไทย”