หลังจากสร้างปรากฏการณ์เปิดคลินิกเสริมความงามจนโด่งดังและปลุกกระแส “สวยด้วยมือแพทย์” ที่เข้าถึงง่าย เริ่มในปี 2544 แต่เมื่อกิจการขยายตัวไปอย่างมาก ในทางธุรกิจ “วุฒิศักดิ์ คลินิก” กลับเผชิญหน้ากับปัญหาหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงทีมผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น และปรับตัวเข้าสู่การขยายไลน์โปรดักท์สินค้าเพื่อความงาม ไม่ยึดติดกับการเป็น “คลินิก” ซึ่งมีต้นทุนสูง บริหารงานยากกว่า แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ทางธุรกิจดีขึ้น จนกระทั่งนำไปสู่ … การยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอเข้าฟื้นฟูกิจการ ตามกฎหมายล้มละลาย ในวันที่ 27 เมษายน ที่ผ่านมา และจะดำเนินการไต่สวนคำร้องในวันที่ 31 สิงหาคม 2563
สำหรับรายละเอียดของคำร้อง ตามที่ทนายเกิดผล แก้วเกิด ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กของเขา มีดังนี้
เปลี่ยนผู้บริหาร – ขายหุ้น – ปรับโมเดลธุรกิจ
สำหรับประวัติการก่อตั้งของวุฒิศักดิ์ คลินิกนั้น ถือกำเนิดโดยผู้ร่วมก่อตั้ง 3 คน ประกอบด้วย นายแพทย์วุฒิศักดิ์ ลิ่มพานิช, คุณพลภัทร จันทร์วิเมลือง และคุณณกรณ์ กรณ์หิรัญ ในช่วงแรก คุณณกรณ์ ทำหน้าที่ CEO ของบริษัท ซึ่งสร้างความคึกคักให้กับวงการคลินิกความงามอย่างมาก ด้วยการสร้างแบรนด์ ใช้พรีเซนเตอร์ที่เป็นดารา มาพร้อมกับโปรโมชั่นอัดแน่น แต่ต่อมาก็เปลี่ยนเป็น คุณพลภัทร มาดำรงตำแหน่งแทน ก่อนจะเปลี่ยนกลับมาเป็น คุณณกรณ์อีกครั้งหนึ่ง
การเปลี่ยนแปลงสำคัญของ “วุฒิศักดิ์ คลินิก” คือ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2557 บริษัท อีฟอร์แอลเอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ได้ลงทุนในบริษัท ดับบลิวซีไอ โฮลดิ้ง จำกัด (WCIH) สัดส่วน 60% ด้วยมูลค่าสูงถึง 3,500 ล้านบาท โดย WCIH เข้าซื้อหุ้นทั้งหมด 100% ของบริษัท วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG) จากนั้นเดินหน้าขายแฟรนไชส์ อย่างไรก็ตามการดำเนินธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์มีปัญหายุ่งยากมากมาย จนเกิดการฟ้องร้องกันเกิดขึ้น
ในระยะหลัง “วุฒิศักดิ์ คลินิก” พยายามจะลดบทความเป็น “คลินิก” ลง เนื่องจากต้นทุนด้านบุคลากรทางการแพทย์ และการบริหารจัดการสูง คงเหลือไว้แต่สาขาที่ทำรายได้จริงเท่านั้น แล้วหันไปพัฒนาสินค้ากลุ่ม Beauty Product ไปจนถึง“วุฒิศักดิ์ คอสเมติค” เพื่อให้สามารถวางขายทั่วไป ได้ง่ายขึ้น รวมทั้งบริการด้านความงามอื่นๆ ที่เปิดร้านสาขา และฝึกฝนพนักงานได้ง่ายกว่าคลินิก เช่น บริการทำเล็บ ด้านการบริหารก็ดึง คุณกวิน สัณฑกุล มือดีที่เชี่ยวชาญการบริหารพื้นที่สาขาต่าง และบริหารพนักงานมาทำหน้าที่ CEO เพื่อหวังสร้างรายได้และความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้ง
เปิดรายได้ “วุฒิศักดิ์คลินิก”
ตรวจสอบกรมพัฒนาธุรกิจการค้า “วุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป” มีรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มขาดทุนตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา
- ปี 2556 รายได้ 3,498 ล้านบาท กำไร 414 ล้านบาท
- ปี 2557 รายได้ 2,922 ล้านบาท กำไร 71 ล้านบาท
- ปี 2558 รายได้ 2,584 ล้านบาท กำไร 149 ล้านบาท
- ปี 2559 รายได้ 1,623 ล้านบาท ขาดทุน 528 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 481 ล้านบาท ขาดทุน 664 ล้านบาท
จากการรายงานผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ บริษัท อีฟอร์แอลเอม จำกัด (มหาชน) หรือ EFORL ผู้ถือหุ้น บริษัทวุฒิศักดิ์ คลินิก อินเตอร์กรุ๊ป จำกัด (WCIG) ระบุว่าในปี 2561 “วุฒิศักดิ์ คลินิก” มีรายได้ 364 ล้านบาท ลดลง 71% จากปีก่อนหน้า และปี 2562 รายได้ลดลงเหลือ 161 ล้านบาท ลดลง 55% จากปีก่อนหน้า
ด้านจำนวนสาขา วุฒิศักดิ์ คลินิก เคยมีสาขามากสุดในปี 2559 จำนวน 120 สาขา มาในปี 2560 มีสาขาลงทุนเองและแฟรนไชส์ลดลงเหลือ 116 สาขา ปี 2561 ลดลงมาอยู่ที่ 74 แห่ง และปี 2562 จำนวนสาขาลงทุนเองและแฟรนไชส์ เหลือ 49 แห่ง
สาเหตุที่รายได้และจำนวนสาขาลดลง มาจากการเปลี่ยนรูปแบบการบริหารงานจากการเป็นเจ้าของสาขา (Company Owned) เป็นรูปแบบแฟรนไชส์ จึงรับรู้รายได้ในรูปแบบสิทธิการใช้เครื่องหมายการค้า อีกทั้งตลาดธุรกิจความงามมีการแข่งขันด้านราคาสูง มีการเกิดขึ้นของโรงพยาบาลเฉพาะทางด้านความงามและศัลยกรรมและโรงพยาบาลหลายแห่งเริ่มขยายธุรกิจโดยเริ่มเปิดศูนย์ผิวพรรณ ศูนย์ศัลยกรรมความงาม และศูนย์ Anti Aging มากขึ้น ทำให้หลายสาขาของวุฒิศักดิ์ ต้องปิดตัวลง
ด้วยปัญหาที่สะสมมานาน บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่เผชิญหน้ากับวิกฤติ Covid-19 ก็ทำให้ “วุฒิศักดิ์ คลินิก” ต้องยื่นต่อศาลล้มละลาย เพื่อขอเข้าสู่แผนฟื้นฟูกิจการ เจ้าหนี้ทั้งในส่วนของคู่ค้า และลูกค้าที่ซื้อคอร์สต่างๆ ไว้ ก็คงต้องเข้าสู่การดำเนินการทางกฎหมายต่อไป