HomeBrand Move !!ไร้ท์แมน-YDM ชี้ทางออกธุรกิจอีเวนท์ ยุคนี้ต้องมีโลก 2 ใบ ทั้งออนไลน์และออนกราวน์

ไร้ท์แมน-YDM ชี้ทางออกธุรกิจอีเวนท์ ยุคนี้ต้องมีโลก 2 ใบ ทั้งออนไลน์และออนกราวน์

แชร์ :

ตัวอย่างอาคารจัดแสดงงานอีเวนท์ในรูปแบบเวอร์ชวล

ไวรัส Covid-19 สร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับหลาย ๆ อุตสาหกรรม หนึ่งในนั้นคืออุตสาหกรรม MICE หรืออุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดประชุมสัมมนา งานแสดงสินค้า เทรดแฟร์ งานนิทรรศการ ฯลฯ ที่ไม่อาจจัดในลักษณะเดิมได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขด้าน Social Distancing ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าเสียดาย เหตุเพราะที่ผ่านมา ตัวเลขจาก TCEB ระบุว่า อุตสาหกรรม MICE สามารถดึงดูดนักเดินทางต่างชาติได้เป็นอย่างมาก และทำรายได้เข้าประเทศได้ไม่ต่ำกว่าปีละสองแสนล้านบาทเลยทีเดียว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่ทางออกของอุตสาหกรรม MICE ก็มีอยู่ โดยล่าสุด มีการจับมือกันระหว่างบริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ผู้ให้บริการในธุรกิจออกแบบงานอีเวนท์, ธีมปาร์ค, งานนิทรรศการ กับบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการด้าน Digital Marketing และ Data Analytics พร้อมด้วย วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัว Virtual Solution เพื่อเป็นพื้นที่จัดอีเวนท์แบบเวอร์ชวล เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงานที่มากขึ้น

เล่าง่าย ๆ คือ Virtual Solution จะเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรม MICE ที่จากเดิมอยู่ในรูปของการจัดอีเวนท์ตามสถานที่ต่าง ๆ ให้ขึ้นมาอยู่บนโลกเวอร์ชวลด้วยอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะทำให้เกิดภาพของงานอีเวนท์แบบผสมผสาน (Hybrid) นั่นคือมีทั้งการจัดงานที่สถานที่จริง และการจัดงานบนพื้นที่ออนไลน์ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าร่วมได้

(จากซ้ายไปขวา) ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉายจาก CAMT, คุณกัมพล นิสิตสุขเจริญ จากไร้ท์แมน และคุณธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ จาก YDM Thailand

สำหรับข้อดีของการจัดงานในลักษณะเวอร์ชวล ตามการเปิดเผยของคุณกัมพล นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด มองว่า สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายให้กับผู้จัดงานได้มากถึง 80% เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการจัดงานแบบในอดีต อีกทั้งยังสามารถรองรับผู้เข้าร่วมงานได้มากขึ้น เพราะไม่มีข้อจำกัดด้านสถานที่จัดงาน สถานที่จอดรถ หรือระบบขนส่งมวลชนอีกต่อไป

ในแง่ของการต่อยอดสู่การทำ Digital Marketing ก็พบว่ามีข้อดีเช่นกัน โดยคุณธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด เผยว่า การจัดอีเวนท์แบบเวอร์ชวลนั้น ช่วยให้ผู้จัดงานเข้าใจพฤติกรรมของผู้เข้าชมงานได้ดียิ่งขึ้น และสามารถเก็บข้อมูลได้ว่าลูกค้าให้ความสนใจบูธไหนเป็นพิเศษ (ดูจากเวลาที่ใช้ไปในบูธนั้น ๆ) ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ เป็นประโยชน์ต่อทางผู้จัดงานในการทำการตลาดดิจิทัลในอนาคต เพราะจะทำให้การทำ Re-Targeting ทำได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

นอกจากนั้น คุณธนพลยังกล่าวด้วยว่า การเก็บ Data ผู้เข้าชมงานนั้น เป็นการปฏิบัติตามพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA อย่างแน่นอน

พัฒนาคอนเทนต์เวอร์ชวลฝีมือคนไทย

ส่วนบทบาทของทาง CAMT หรือวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น จะเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาคอนเทนต์สามมิติเข้ามาช่วยในการจัดอีเวนท์ โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วรวิชญ์ จันทร์ฉาย คณบดีวิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMT) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางวิทยาลัยฯ มีส่วนช่วยในการพัฒนาโซลูชั่นบนโลกเสมือนจริง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ซื้อและผู้ขายในงานอีเวนต์ – งานนิทรรศการ ผ่านการนำเทคโนโลยี 3D และภาพ 360° มาช่วยเพิ่มประสบการณ์ และออกแบบการใช้งานระบบให้ง่ายต่อการใช้ในทุกวัย รวมถึงการให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับสินค้าและบริการที่ครบถ้วนเหมือนการไปเที่ยวชมงานจริง

“นอกจากนั้นยังมีเทคโนโลยี Virtual Sales ที่ให้ผู้ซื้อสามารถติดต่อกับตัวแทนขายผ่านการ Chat และ VDO Call รวมถึงระบบวิเคราะห์ข้อมูลที่จะช่วยให้ผู้ขายสามารถบริหารจัดการลูกค้าได้ง่ายยิ่งขึ้นอีกด้วย”

โดยงานอีเวนท์แรกที่จะจัดขึ้นภายใต้แนวคิดดังกล่าวคืองาน Motor Show ครั้งที่ 41 ในระหว่างวันที่ 15-26 ก.ค. นี้ ซึ่งนอกจากจะจัดงานที่สถานที่จริงแล้ว ผู้สนใจยังสามารถเข้าชมผ่านทางเว็บไซต์ www.virtualsolution.asia ได้เช่นกัน ซึ่งในส่วนนี้อาจต้องลองไปติดตามกันว่า รูปแบบการนำเสนอรถยนต์ รวมถึงพริตตี้ ซึ่งเป็นสีสันของงาน Motor Show จะทำออกมาได้อย่างไร รวมถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการวิดีโอคอลกับเซลล์ และปิดการขายจะสร้างสิ่งใหม่ให้กับวงการได้มากน้อยแค่ไหนด้วย

นอกจากงาน Motor Show แล้ว ยังมีอีกหลายงานที่กำลังเตรียมจัดในรูปแบบดังกล่าว เช่น Virtual Design Nation Fair 2020, งาน Virtual Architect Forum (ร่วมกับสภาสถาปนิก), งาน Virtual Architect Expo ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์, งาน Virtual AIC Forum ( Agritech and Innovation Center) โดยศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม ฯลฯ เรียกว่าจากนี้ไป เราคงได้เห็นการรจัดอีเวนท์ในรูปแบบเวอร์ชวลเพิ่มขึ้นมาอีกหลายงานเลยทีเดียว ซึ่งข้อดีของการเกิดการจัดงานในลักษณะเวอร์ชวลนอกจากลดความเสี่ยงด้านโรคระบาด ประหยัดค่าใช้จ่าย และเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงตัวงานโดยไม่จำกัดเรื่องสถานที่และเวลาแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้สร้างคอนเทนต์ 3D ได้นำเสนอธีมงานที่แหวกแนว หรือมีความคิดสร้างสรรค์ได้มากขึ้น ซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่จะทำให้แรงงานในตลาด 3D ได้เติบโต และมีโอกาสพัฒนาฝีมือ สร้างคอนเทนต์รูปแบบใหม่ ๆ ออกมาได้อีกทางหนึ่งด้วยนั่นเอง


แชร์ :

You may also like