HomeDigitalหมดยุคปล่อยกู้อย่างเดียว รู้จัก 4 อาวุธลับดันกสิกรไทยเป็น Regional Digital Banking ในปี 2024

หมดยุคปล่อยกู้อย่างเดียว รู้จัก 4 อาวุธลับดันกสิกรไทยเป็น Regional Digital Banking ในปี 2024

แชร์ :

การประกาศวิสัยทัศน์ของธนาคารกสิกรไทยสู่การเป็น Regional Digital Bank ภายในปี 2024 อาจเป็นเรื่องท้าทายสำหรับหลายคน และการจะก้าวไปบนสู่จุดหมายดังกล่าวก็ยังมีภารกิจอีกหลายข้อให้ลงมือทำ หนึ่งในนั้นคือการทรานสฟอร์มธนาคารสู่แนวคิดของการเป็น Tech Company ภายใต้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลังของ กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG 

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

โดยที่ผ่านมา หนึ่งใน Milestone ที่ธนาคารกสิกรไทยทำได้สำเร็จอาจเป็นการถูกจัดอันดับเป็น 1 ใน 20 ธนาคารที่ดีที่สุดในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกประจำปี 2020 ของ IDC Financial Insight ที่ประเมินจากธนาคารทั้งหมดใน 10 ประเทศ ได้แก่ จีน, ออสเตรเลีย, อินเดีย, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, สิงคโปร์, เกาหลีใต้, ไต้หวัน และไทย

แต่ภารกิจในการทรานสฟอร์มธนาคารกสิกรไทยให้กลายเป็น Tech Company ยังเพิ่งเริ่มต้น โดยในระหว่างนี้จนถึงปี 2024 สิ่งที่ KBTG และธนาคารกสิกรไทยจะทำร่วมกันถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจทีเดียว ซึ่งจะมีอะไรบ้างนั้น เราอยากชวนไปติดตามกัน ดังนี้

1.ปั้น KBTG เป็น Flagship ด้าน Tech Company 

จากการเปิดเผยของคุณกระทิง – เรืองโรจน์ พูนผล ประธานกสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป หรือ KBTG พบว่า ปัจจุบันทีมงานของ KBTG มีการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจนมีตัวเลขแตะ 2,500 คนแล้ว (รวมพนักงานเอาท์ซอร์ส) และคาดว่าปลายปีนี้จะมีตัวเลขทะลุ 3,000 คน ซึ่งนักพัฒนาเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการขับเคลื่อนธนาคารกสิกรไทยสู่การเป็น Regional Digital Banking

แต่นอกจากการสร้างทีมนักพัฒนาในประเทศไทยแล้ว KBTG ยังมีบริษัทนักพัฒนาในต่างแดนอีก 2 แห่งได้แก่ กสิกร วิชั่น อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด (Kasikorn Vision Information Technology)  หรือ K Tech จดทะเบียนในเขตหลัวหู เมืองเซินเจิ้น สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยเป็นบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงินหรือฟินเทค ที่บริษัท กสิกร วิชั่น จำกัด ถือหุ้น  100% ด้วยทุนจดทะเบียน 300 ล้านหยวน หรือประมาณ 1,300 ล้านบาท และมีพนักงานทั้งสิ้น 300 คน

อีกประเทศหนึ่งที่มีการลงทุนด้านนักพัฒนาก็คือ เวียดนาม โดย KBTG ได้ตั้ง Development Center เพื่อเป็นแหล่งรวมนักพัฒนาด้าน AI อีกประมาณ 100 คน ทั้งสามแกนนี้ถือเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อป้อนให้กับธนาคารกสิกรไทย โดยอยู่ภายใต้งบประมาณด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) 5,000 ล้านบาทต่อปี

2.วางสถาปัตยกรรมการพัฒนาแบบแยกโมดูล

การไปแข่งกับสถาบันการเงินในระดับภูมิภาค อาวุธอีกข้อที่ธนาคารกสิกรไทยจำเป็นต้องมีเพื่อเป็นธนาคารที่ทั้งใหญ่และเร็วก็คือ การคิดแบบ Digital First

ด้วยเหตุนี้ การพัฒนาเทคโนโลยีของ KBTG และบริษัทลูกทั้งในจีนแผ่นดินใหญ่ – เวียดนาม จะอยู่ในลักษณะของ Modular หรือแยกฟังก์ชันการทำงานออกเป็นส่วน ๆ เพื่อให้ธนาคารสามารถนำฟังก์ชันเหล่านี้ไปเชื่อมกับ API ของพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งแนวคิดนี้จะทำให้การเคลื่อนตัวของธนาคารกสิกรไทยในตลาดการเงินระดับภูมิภาคทำได้สะดวกขึ้น

3.แยกบริษัทออกไปสร้าง Innovation แล้วค่อยกลับมารวมกับยานแม่

เมื่อเป็น Tech Company ก็ต้องมีนวัตกรรม แต่พื้นฐานของการสร้างนวัตกรรมในองค์กรในอดีตอาจหมายถึงการแยกออกไปตั้งเป็นบริษัทลูก เพื่อความคล่องตัวในการพัฒนา

ส่วนแนวทางในการสร้างนวัตกรรมของ KBTG และธนาคารกสิกรไทยนั้นอาจต่างไปเล็กน้อย โดยคุณกระทิงเผยว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากหนังสือชื่อ “Loonshots : How to Nurture the Crazy Ideas That Win Wars, Cure Diseases, and Transform Industries” ที่ผู้เขียนอย่าง Safi Bahcall ได้มีการทำวิจัยด้านการสร้างนวัตกรรมภายในองค์กร และพบว่า ต่อให้มีการตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อให้การพัฒนานวัตกรรมทำได้อย่างรวดเร็ว แต่สุดท้าย นวัตกรรมที่สร้างขึ้น “ควรจะถูกผนวกเข้ากับบริษัทแม่” ที่มีทรัพยากรพร้อมกว่า และศักยภาพของบริษัทแม่นั้น จะเป็นตัวผลักดันให้นวัตกรรมนั้นมีโอกาสประสบความสำเร็จได้มากกว่า และคุณกระทิงก็มองว่าเป็นแนวคิดที่เหมาะกับ KBTG – ธนาคารกสิกรไทย

โดยในระหว่างสร้างนวัตกรรมเพื่อกลับมารวมกับยานแม่ ทาง KBTG ได้แบ่งการสร้างนวัตกรรมออกเป็น 2 ส่วน นั่นคือ Innovation Runway ซึ่งเปรียบเหมือนกับแพลตฟอร์มสำหรับสร้างเครื่องมือด้านเทคโนโลยีให้ธนาคาร – ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ใช้งาน ปัจจุบัน แผนการพัฒนาแพลตฟอร์มดังกล่าวคืบหน้าประมาณ 20% แล้ว และคาดว่าภายในปลายปีนี้จะแล้วเสร็จได้ที่ระดับ 50%

อีกหนึ่งส่วนก็คือ AI Factory ที่เปรียบได้กับโรงงานพัฒนา Innovation ด้าน Data กับการนำเอาข้อมูลแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) มาให้ Data Scientist ของ KBTG ได้ใช้ทดสอบโมเดล AI ต่าง ๆ เช่น ใช้ทำเครดิตสกอร์ ใช้ในการทำโมเดลพยากรณ์ว่าลูกค้ารายนี้จะจ่ายชำระหนี้หรือไม่ เป็นต้น

4.ขยายธนาคารสู่การเป็น Tech Enabler

จากความพร้อมด้านนักพัฒนา อีกหนึ่งภาพที่พบได้มากขึ้นในช่วงหลังของธนาคารกสิกรไทยคือการนำเทคโนโลยีลงไปช่วยอุตสาหกรรมต่าง ๆ มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การเปิดตัวเครื่องมือ Eatable สำหรับธุรกิจร้านอาหาร, การเปิดตัวขุนทองสำหรับแพลตฟอร์ม LINE, การพัฒนาแอปพลิเคชัน CU Nex ให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 40,000 คน และสามารถใช้แอปดังกล่าวในการเลือกตั้งองค์การบริหารสโมสรนิสิตจุฬาฯ และสภานิสิตฯ ในช่วงที่ Covid-19 ระบาดได้

แอปพลิเคชัน CU NEX

นอกจากนั้น KBTG ยังเป็นผู้พัฒนา e-Wallet ให้กับ Grab ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้งานหลักล้านคน และยังมี Contactless Technology ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับอีกหลายอุตสาหกรรม ซึ่งภาพทั้งหมดนี้ถือว่าสร้างความแตกต่างให้กับธนาคารกสิกรไทยได้ดีทีเดียว

“ต่อจากนี้ การใช้เทคโนโลยีจะพบได้มากขึ้น ซึ่งเราต้องไปอยู่ในจุดนั้น ไปช่วยสร้าง Solution ให้เกิดขึ้น จะเป็นแค่ธนาคาร มีหน้าที่แค่ปล่อยกู้ไม่ได้”

“การไปตลาดต่างประเทศ เช่น จีน เราไม่ได้ต้องการไปเป็นผู้ชนะในตลาดนั้น สิ่งที่ KBTG ต้องการคือโฟลว์ (Flow) ของผู้คน มันคือการค้าขายที่จีนวิ่งมาสู่ไทย วิ่งมาสู่ EEC เราเชื่อมั่นว่า หลัง Covid-19 จบลง การค้า – การท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง เอสเอ็มอีไทยจะกลับไปค้าขายกับต่างชาติได้อีกครั้ง ซึ่งเวลาที่ธุรกิจต่าง ๆ เข้ามาที่ไทย หรือคนไทยจะออกไปต่างชาติ เขาต้องการสะพานเชื่อม ยกตัวอย่าง Apple จะเข้ามาทำ Apple Pay หรือ Google จะเข้ามาทำ Google Pay หรือแม้แต่ Ant Financial ก็ต้องมองหาพาร์ทเนอร์ นั่นคือสิ่งที่เราอยากเป็น” คุณกระทิงกล่าวทิ้งท้าย


แชร์ :

You may also like