มาตรการ Lockdown ปิดห้างจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบเต็มๆ กับธุรกิจที่มีหน้าร้านในห้าง รวมทั้งขนมหวานแบรนด์ดัง After You สรุปตัวเลขไตรมาส 2 “ขาดทุน” 3 ล้านบาท หรือลดลง 105% นับเป็นการขาดทุนงวดรายไตรมาสครั้งแรก ตั้งแต่เข้าตลาดหลักทรัพย์ในเดือนธันวาคม 2559
นับจาก After You เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ในวันที่ 23 ธันวาคม 2559 ในนาม บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด (มหาชน) หรือ AU ด้วยราคา IPO ที่ 4.50 บาท เปิดขายวันแรกราคาบวกไปกว่า 200% ปิดที่ 13.50 บาท กลายเป็นร้านขนมหวานมูลค่า “หมื่นล้าน” ในชั่วข้ามคืน ราคาหุ้น AU เคยทำ All Time High ที่ 15.40 บาท ในช่วงสิ้นปี 2560
ก่อนเข้าตลาด After You เป็นธุรกิจทำกำไรมาต่อเนื่อง ปี 2557 รายได้ 311 ล้านบาท กำไรสุทธิ 45 ล้านบาท ปี 2558 รายได้ 414 ล้านบาท กำไรสุทธิ 57 ล้านบาท After You จึงจัดเป็นหนึ่งในหุ้น Growth Stock หลังเข้าตลาดและกำไรยังต่อเนื่อง
- ปี 2559 รายได้ 608 ล้านบาท กำไรสุทธิ 98 ล้านบาท
- ปี 2560 รายได้ 735 ล้านบาท กำไรสุทธิ 128 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 880 ล้านบาท กำไรสุทธิ 147 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้ 1,205 ล้านบาท กำไรสุทธิ 237 ล้านบาท
โควิดทำขาดทุนงวดรายไตรมาสครั้งแรก
สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นในประเทศไทย และนำไปสู่มาตรการ Lockdown ทำให้ After You ต้องเจอกับการ “ขาดทุน” รายไตรมาสเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เข้าตลาดในเดือนธันวาคม 2559 เมื่อตัวเลขผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2563 ทำรายได้ 144 ล้านบาท ลดลง 54% ขาดทุน 3 ล้านบาท หรือลดลง 105% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนที่ทำกำไร 63 ล้านบาท
ขณะที่ครึ่งปีแรก 2563 ทำรายได้ 363 ล้านบาท ลดลงจาก 599 ล้านบาท หรือ 39% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนกำไรสุทธิอยู่ที่ 10 ล้านบาท ลดลงจาก 123 ล้านบาท หรือ 92% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน
สาเหตุที่ทำให้รายได้ลดลง จนทำให้ไตรมาส 2 ขาดทุน มาจากตั้งแต่วันที่ 22 มีนาคม ถึง 16 พฤษภาคม 2563 After You ต้องปิดให้บริการนั่งในร้าน เปิดให้บริการเฉพาะสั่งกลับบ้าน และสั่งซื้อผ่านบริการส่งอาหาร (ฟู้ด เดลิเวอรี่) หลังมาตรการปลดล็อกดาวน์ให้เปิดห้างได้ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2563 After You กลับมาเปิดให้บริการนั่งรับประทานในร้าน
ช่วงโควิด After You จึงได้ลดค่าใช้จ่ายการขายและจัดจำหน่าย รวมทั้งคุมค่าใช้จ่ายจากการจ้างพนักงานชั่วคราว (Part-time) และลดจำนวนงานประจำสาขาด้วยการให้พนักงานสลับวันทำงาน และลดค่าใช้จ่ายเงินเดือนพนักงานประจำสำนักงานด้วยการให้ลาโดยไม่รับค่าแรง (Leave Without Pay) รวมไปถึงการต่อรองผู้ให้เช่าสถานที่เพื่อขอลดค่าเช่าในช่วงปิดให้บริการบางสาขา และขอต่อระยะเวลาการลดค่าเช่าไปถึงไตรมาส 3 ปี 2563
ครึ่งปีหลังเร่งขยายสาขาร้านกาแฟ Mikka
แนวโน้มช่วงครึ่งปีหลัง 2563 แม้สถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้นไม่พบผู้ติดเชื้อใหม่ แต่กำลังซื้อยังไม่ฟื้นตัวและนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่กลับมา After You ได้วางแผนฟื้นรายได้และลดค่าใช้จ่ายไว้หลายด้าน
– ขยายร้านกาแฟ หลังจากไตรมาสแรกปีนี้ After You ได้เปิดร้านกาแฟขนาดเล็ก Mikka (มิกก้า) 3 สาขา ไตรมาส 2 เปิดเพิ่มอีก 1 สาขา ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยมีเป้าหมายขยายสาขาเพิ่มตามอาคารสำนักงาน รวมถึงเพิ่มจุดบริการ Mikka ในร้าน After You ในสิ้นปีนี้ 40-50 สาขา และขยายร้านกาแฟในจุดต่างๆ เพิ่มอีก 100 สาขาในปี 2564
– ออกสินค้าใหม่ ครึ่งปีแรก After You ได้ออกสินค้าใหม่ตามฤดูกาล 4 เมนู ได้แก่ คากิโกริ มะยงชิด, คากิโกริ ข้าวเหนียวมะม่วง, คากิโกริ มะม่วงน้ำปลาหวาน และคากิโกริ ทุเรียน ครึ่งปีหลังยังมีสินค้าใหม่ออกมากระตุ้นตลาดอีก
– ชะลอเปิดสาขาใหม่ สถานการณ์โควิด ทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง จากการห้ามเดินทางข้ามประเทศ และกำลังซื้อในประเทศไทยลดลงจากภาวะเศรษฐกิจซบเซา After You จึงชะลอการเปิดสาขาใหม่ และเน้นการออกบูธจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น จนกว่าสถานการณ์โควิดในประเทศจะปกติ
– ออกสินค้าใหม่ To-Go วางขายในโมเดิร์นเทรดมากขึ้น หลังจากสินค้าแป้งแพนเค้กสำเร็จรูปมีกระแสตอบรับดี ช่วงไตรมาส 2 จึงออกสินค้าแป้งแพนเค้กสำเร็จรูปใหม่โฮลวีท มาทำตลาดเพิ่มเติม และจะออกผลิตภัณฑ์ใหม่กลุ่ม To-Go กระจายเข้าโมเดิร์นเทรดเพื่อเข้าถึงลูกค้าได้สะดวกมากขึ้น ปัจจุบันมีวางขายเฉพาะ วิลล่ามาร์เก็ต เดอะมอลล์ และท็อปส์ เท่านั้น
– เปิดแฟรนไชส์ หลังจากการเดินทางระหว่างประเทศกลับสู่ปกติ ช่วงครึ่งปีหลังจะเปิดแฟรนไชส์ที่ฮ่องกง ภายใน 1-2 เดือน ปัจจุบันสาขาฮ่องกงได้ก่อสร้างและตกแต่งเสร็จเรียบร้อยแล้ว
ส่องแหล่งรายได้ 4 ธุรกิจ After You
1. ร้านขนมหวาน สัดส่วนรายได้ 91%
– สินค้าปรุงสดขายในสาขาจำนวน 41 สาขา ภายใต้แบรนด์ After You และ Maygori
– สินค้าซื้อกลับบ้านที่ขายตามสาขาและสั่งซื้อผ่านฟู้ด เดลิเวอรี่
– การขายเครื่องดื่มและขนมหวานในสาขา 4 สาขา แบรนด์ Mikka
2. การขายสินค้าและวัตถุดิบ สัดส่วนรายได้ 3%
– สินค้าสำเร็จรูป หรือกึ่งสำเร็จรูป แบ่งเป็นช่องทางขายออนไลน์และขายผ่านสำนักงานใหญ่ การรับจ้างผลิตสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของบริษัทหรือของลูกค้า
3. การขายและจัดงานนอกสถานที่ สัดส่วนรายได้ 6%
– บริการจัดเลี้ยงในงานแต่งงานและงานในโอกาสพิเศษ
– การออกบูธขายสินค้าตามสถานที่ต่างๆ (pop-up store)
4. ค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ สัดส่วนรายได้ 0.3%
– รับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมแรกเข้าจากการขายแฟรนไชส์ที่ฮ่องกง และค่าธรรมเนียมแรกเข้า Mikka