ในยุค COVID-19 ธุรกิจจำเป็นต้องลดการลงทุน และลดต้นทุนการดำเนินงานทุกทาง แต่ขณะเดียวกันต้องเพิ่มประสิทธิภาพด้านผลประกอบการ ด้วยเหตุนี้เองจึงเห็นธุรกิจร้านอาหาร และร้านเครื่องดื่ม ต่างชะลอการเปิดสาขาใหม่ออกไปก่อน และสร้างช่องทางการขายใหม่ของแบรนด์ตนเองที่ไม่ใช่ในรูปแบบสาขา เพื่อเพิ่ม Touch Point เข้าถึงผู้บริโภค และเพิ่มโอกาสการขายให้มากขึ้น
ดังเช่น “Blue Bottle Coffee” เชนกาแฟที่ปัจจุบันมีกว่า 90 สาขาทั้งในสหรัฐ ญี่ปุ่น เกาหลี และฮ่องกง เปิดช่องทางการขายรูปแบบตู้กดอัตโนมัติที่ไม่ใช้เงินสด (Cashless Vending Machine) “Blue Bottle Coffee Quick Stand” เพื่อจำหน่าย “เมล็ดกาแฟคั่วบด” และ “กาแฟกระป๋อง” นำร่องติดตั้งจุดแรกใน “ย่านชิบูย่า” ของโตเกียว ซึ่งเป็นย่านการค้าใหญ่ที่มีทั้งธุรกิจ ร้านค้า และผู้คนหนาแน่น
นับเป็นครั้งแรกของ Blue Bottle Coffee ที่ขายสินค้าผ่านตู้อัตโนมัติ โดยสินค้าในตู้กด ขณะนี้มีกาแฟกระป๋อง 3 รสชาติ ในราคา 640 เยน และเมล็ดกาแฟคั่ว Bella Donovan ซึ่งเป็นสูตรที่ขายดีของ Blue Bottle โดยเป็นสูตรที่ blend ระหว่างกาแฟจากเอธิโอเปีย และกาแฟจากอินโดนีเซีย
ทาง Blue Bottle Coffee กล่าวถึงแผนในอนาคตว่า หาก 2 ตู้ที่ติดตั้งในย่านชิบูย่าประสบความสำเร็จ ได้การตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดี จะพิจารณาดำเนินการขยายจุดติดตั้งในพื้นที่อื่นๆ
3 เหตุผล “Blue Bottle Coffee” ตัดสินใจขยายช่องทางการให้บริการจาก “ร้าน” สู่ “ตู้กดอัตโนมัติ”
หากวิเคราะห์เหตุผลที่ “Blue Bottle Coffee” เลือกเปิดช่องทางการขายรูปแบบ Vending Machine มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ
1. Blue Bottle Coffee พบว่าในช่วง COVID-19 ยอดขาย “เมล็ดกาแฟ” เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
เนื่องจากคนอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้อัตราการบริโภคกาแฟในบ้าน (Home Consumption) เพิ่มขึ้นตามมา ดังนั้นการทำตู้กดอัตโนมัติ จึงช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และตอบโจทย์ความสะดวก – รวดเร็ว
2. เพิ่มโอกาสการขายมากขึ้น ด้วยงบลงทุน และต้นทุนที่น้อยลง
เป็นที่ทราบกันดีว่าการทำธุรกิจในช่วงเวลานี้ ความท้าทายอยู่ที่ทำอย่างไรที่จะควบคุมต้นทุน เช่น ต้นทุนคงที่ (Fixed Cost), ต้นทุนผันแปร (Variable Cost) และบริหารกระแสเงินสด โดยหลายธุรกิจพยายามหาโมเดลการขายรูปแบบใหม่สำหรับแบรนด์ตัวเองที่ไม่เคยทำมาก่อน โดยที่มีเงื่อนไขอยู่ที่ว่าไม่ต้องลงทุนมาก แต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการขายได้ดีขึ้น
การทำ “ตู้กดอัตโนมัติ” ของ Blue Bottle Coffee ครั้งนี้ เชื่อว่าทางแบรนด์ ต้องการพัฒนาให้เป็น “ช่องทางการขาย” ที่สามารถรุกขยายได้เร็ว เข้าถึงย่านการค้า แหล่งชุมชน ตามสถานที่ต่างๆ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินลงทุน และต้นทุนดำเนินงานมากเหมือนกับการเปิดสาขาที่ต้องมีค่าเช่าสถานที่ ค่าพนักงาน ค่าน้ำค่าไฟ ฯลฯ
3. Touch Point สร้างแบรนด์ และเข้าถึงผู้บริโภคได้ตลอด 24 ชั่วโมง
เชื่อว่าเหตุผลที่ “Blue Bottle Coffee” เลือกเปิดโมเดลช่องทางการขายใหม่แบบ “ตู้อัตโนมัติ” ในประเทศญี่ปุ่นเป็นตลาดแรก เพราะญี่ปุ่น ได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่ง “Vending Machine” ไม่ว่าไปสถานที่ไหน มองไปทางไหน ก็จะเจอกับเครื่องจำหน่ายอัตโนมัติเหล่านี้ โดยเฉพาะตู้เครื่องดื่ม
บทบาทของ “ตู้กดอัตโนมัติ” ไม่เพียงแต่เป็น “ช่องทางขาย” ที่สำคัญเท่านั้น ในเวลาเดียวกันยังทำหน้าที่เป็น Touch Point ด้านแบรนด์ดิ้งเช่นกัน เพราะใครที่ผ่านมาไปมา จะเห็นโลโก้ และสินค้าแบรนด์ ทำให้เกิดการย้ำจำแบรนด์
นอกจากนี้ ยังเป็นการทลาย “ข้อจำกัด” ชั่วโมงการขาย และการหาโลเกชั่นที่ตั้งของธุรกิจร้านคาเฟ่ โดยหนึ่งในวัตถุประสงค์หลักของการพัฒนาโมเดลการขายรูปแบบตู้อัตโนมัติครั้งนี้ “Blue Bottle Coffee” ต้องการนำเสนอเครื่องดื่มกาแฟคุณภาพสูง ให้กับผู้บริโภคได้ทุกเวลาอย่างไม่มีข้อจำกัดด้าน “เวลาเปิด-ปิดร้าน”
ดังนั้นเมื่อ “ตู้จำหน่ายอัตโนมัติ” กลายเป็นตัวช่วยธุรกิจที่ทำให้แบรนด์ไม่มีข้อจำกัดด้าน “เวลา” ก็ย่อมเพิ่มโอกาสการขายที่เพิ่มขึ้น ในต้นทุนธุรกิจที่น้อยลง
ทั้งนี้ “Blue Bottle Coffee” ก่อตั้งขึ้นในปี 2000 โดย “James Freeman” นักดนตรีฟรีแลนซ์ และหลงใหลในกาแฟ ขณะเดียวกันเขาต้องการสร้างเครื่องดื่มกาแฟคุณภาพสูง ที่ให้ทั้งความสดของเมล็ดกาแฟคั่วเสร็จใหม่ๆ และรสชาติกาแฟอย่างแท้จริง
ที่ผ่านมา “Blue Bottle Coffee” ได้ระดมทุนจากนักลงทุนมากมาย เพื่อนำมาขยายธุรกิจ และในปี 2017 “เนสท์เล่” (Nestlé) หนึ่งในยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหาร-เครื่องดื่มระดับโลก และเป็นเจ้าของแบรนด์กาแฟสำเร็จรูป “เนสกาแฟ” (Nescafé) และเครื่องชง-กาแฟแคปซูล “เนสเพรสโซ” (Nespresso) เข้าถือหุ้นใหญ่ 68% ใน “Blue Bottle Coffee” ด้วยมูลค่า 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยที่เปิดทางให้ผู้บริหาร Blue Bottle Coffee ยังสามารถดำเนินกิจการได้อย่างอิสระเหมือนที่ผ่านมา
ปัจจุบัน “Blue Bottle Coffee” มีสาขาในสหรัฐอเมริกาประมาณ 72 สาขา, ญี่ปุ่น 18 สาขา, เกาหลี 6 สาขา, ฮ่องกง 1 สาขา โดยโลเกชั่นสาขา เน้นขยายตามเมืองใหญ่ของประเทศนั้นๆ