HomePR News“กรุ๊ปเอ็ม”สรุป 7 กลุ่มธุรกิจ พร้อมแนวทางการตลาด ในวันที่ประเทศไทยกำลังฟื้นจากโควิด [PR]

“กรุ๊ปเอ็ม”สรุป 7 กลุ่มธุรกิจ พร้อมแนวทางการตลาด ในวันที่ประเทศไทยกำลังฟื้นจากโควิด [PR]

แชร์ :

จากสถานการณ์แพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทยที่กำลังมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ตั้งแต่เริ่มการผ่อนปรนมาตรการป้องกันและไม่พบจำนวนผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น ภาคธุรกิจกลับมาเปิดดำเนินการ ขณะที่ประชาชนก็ทยอยกลับมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น จึงนับว่าเป็นสัญญาณดีต่อแบรนด์และนักการตลาดที่จะกลับไปเข้าถึงผู้บริโภคได้อีกครั้ง ส่งผลให้การแข่งขันทางธุรกิจจะเข้มข้นขึ้นกว่าเดิม ดั้งนั้นการเตรียมความพร้อมและการวางแผนกลยุทธ์ที่เหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญในการยืนหยัดสู่ความเป็นผู้นำตลาด

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กรุ๊ปเอ็ม ประเทศไทย (GroupM) กลุ่มเอเยนซี่ผู้เชี่ยวชาญทางด้านบริหารจัดการการลงทุนด้านสื่อชั้นนำระดับโลกในเครือ ดับบลิวพีพี (WPP) จับมือกับเอเยนซี่ในเครือได้แก่ มายด์แชร์ มีเดียคอม เวฟเมคเกอร์ ได้ทำการรวบรวมข้อมูลจากพันธมิตรสื่อและบริษัทผู้นำวิจัยนับตั้งแต่เริ่มมีการประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพื่อวิเคราะห์และเผยถึงโอกาสสำหรับภาคธุรกิจในช่วงการฟื้นตัวต่อจากนี้ ผ่านบทความ GroupM POV – Coronavirus Situation in Thailand 100 Days and Beyond  และได้ทำการสรุปคำแนะนำสำหรับธุรกิจ 7 กลุ่มดังนี้

1. การท่องเที่ยวและบริการ

มาตรการป้องกันต่าง ๆ เพื่อป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เช่น การประกาศห้ามอากาศยานบินเข้าสู่ประเทศไทยเป็นการชั่วคราว ส่งผลให้เกิดผลกระทบและการเสียโอกาสต่อธุรกิจและอุตสาหกรรมอย่างการท่องเที่ยวและการโรงแรมเป็นอย่างมาก ธุรกิจบริการทั้งในส่วนของการคมนาคมขนส่งและการโรงแรมมีการลดจำนวนพนักงานหรือปิดตัวลงเป็นจำนวนมาก

แต่ในขณะเดียวกันมาตรการคลายล็อคจากภาครัฐ รวมถึงสงครามราคาจากทั้งโรงแรมและสายการบินก็ทำให้ความต้องการด้านการท่องเที่ยวในประเทศกลับมาเติบโตอีกครั้ง  ดั้งนั้นธุรกิจภายใต้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและการโรงแรมควรหันมาให้ความสำคัญกับความต้องการของผู้บริโภคภายในประเทศผ่านการสร้างคุณค่าของธุรกิจและบริการให้แตกต่างจากคู่แข่งด้วยความรวดเร็วและเท่าทันตลาด รวมไปถึงการใช้กลยุทธ์ช่องทางในการสื่อสารทางการตลาด เช่น เสิร์ช หรือการนำเสนอสิ่งที่สามารถทำให้ผู้บริโภคตัดสินใจซื้อได้ทันที

ช่วงเวลานี้ยังเหมาะแก่การนำเสนอรูปแบบการท่องเที่ยวใหม่ ๆ ที่เน้นเรื่องของความปลอดภัยและสุขภาพ นอกจากนี้แบรนด์ยังสามารถนำความรู้เฉพาะทาง เช่น อาหารและเครื่องดื่ม หรือแม้แต่ความเชี่ยวชาญทางด้านความสะอาด มาใช้เพื่อเป็นหนทางในการขยายตลาดสินค้าหรือบริการ

นอกจากนี้แบรนด์ยังควรที่จะติดตามสถานการณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวขาเข้าประเทศ โดยเฉพาะเรื่องมาตรการใหม่อย่าง Travel Bubble ที่สามารถเป็นโอกาสทางธุรกิจในอนาคต

2. ยานยนต์

จากสถิติของเดือนพฤษภาคมพบว่ายอดขายของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยลดลงถึง 54% โดยสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยคาดการณ์ว่าผลกระทบของไวรัสโควิด-19 จะทำให้ความต้องการในการซื้อยานพาหนะลดลงและส่งผลให้ยอดขายของปี 2563 มีแนวโน้มลดลง 30%-50%

งานบางกอกอินเตอร์เนชั่นแนลมอเตอร์โชว์ครั้งที่ 41 มียอดการจองรถในปีนี้ 22,791 คัน จากเป้าที่ตั้งไว้ 30,000 คัน ซึ่งเป็นยอดที่ลดลงอย่างมากเมื่อเทียบยอดจอง 49,278 คัน ในปีก่อนหน้า โดยงานในปีนี้มีการถอนตัวจากสองแบรนด์ดังอย่าง Mercedes-Benz และ Harley Davison

3. อสังหาริมทรัพย์

ส่วนธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 มีผลให้ความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมกลุ่มคนไทยฐานะปานกลางและชาวต่างชาติลดลง ถ้านับแค่กลุ่มนักลงทุนต่างชาติเพียงอย่างก็เป็นสัดส่วนถึง 35% ของส่วนแบ่งการตลาด

แต่ในทิศทางกลับกันสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรรระบุว่าบ้านในกลุ่ม High-end และอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบออฟฟิศกำลังได้รับความสนใจเพิ่มมากขึ้นจากนักลงทุน โดยมีการคาดการณ์ว่ากลุ่มธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีแนวโน้นที่จะหันมาให้ความสำคัญกับโครงการบ้านเดี่ยวและทาวน์โฮมเพิ่มขึ้น

ดังนั้นนักการตลาดในกลุ่มธุรกิจยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์ต้องเพิ่มความสำคัญในการทำการตลาดแบบ Always On คำนึงถึงการสร้างภาพลักษณ์และคุณค่าของแบรนด์ต่อผู้บริโภคและสังคม เพื่อเป็นการสร้างการจดจำในระยะยาว โดยที่แบรนด์ต้องจะปรับกลยุทธ์ผ่านการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อที่จะเข้าหาผู้บริโภคบนเจอร์นีที่เปลี่ยนไป

4. ธนาคาร

ในช่วงของการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ธนาคารและสถาบันการเงินในประเทศไทยได้ปรับเวลาการให้บริการใหม่ทั้งหมด รวมถึงเพิ่มการแนะนำและสนับสนุนให้ลูกค้าผู้ใช้บริการหันไปใช้ช่องทางดิจิทัลในการทำธุรกรรม ส่งผลให้ยอดผู้ทำการเปิดบัญชีออนไลน์รายใหม่เพิ่มขึ้น 3.8%  อีกทั้งยังมีธนาคารที่เริ่มพัฒนาระบบการให้บริการทางออนไลน์และเปิดตัวแอพพลิเคชั่นใหม่ออกมาอีกด้วย

5. สินค้าเทคโนโลยี

สินค้าประเภทเทคโนโลยีแม้จะได้รับผลกระทบจากการที่ผู้บริโภคไม่สามารถออกไปใช้บริการที่ร้านในช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน แต่อย่างไรก็ตามผู้บริโภคยังสามารถติดต่อกับแบรนด์ผ่านระบบต่าง ๆ อาทิ call center เว็ปไซต์ หรือแอพพลิเคชั่น ซึ่งส่งผลให้พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ยังมีความต้องการเทคโนโลยีและบริการสื่อต่าง ๆ อยู่เช่นเดิม โดยพบว่าบริการเทคโนโลยีทางด้านสื่อบันเทิง Video Streaming อย่าง Netflix หรือ WeTV มีจำนวนผู้ใช้และผู้ติดตามเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม

การที่ผู้บริโภคเริ่มมีความคุ้นเคยกับความสะดวกสบายจากแพลตฟอร์มดิจิทัล แบรนด์และนักการตลาดต้องแน่ใจว่าแพลตฟอร์มหรือเทคโนโลยีของตัวเองจะได้รับการพัฒนาให้ผู้บริโภคใช้งานได้ง่ายขึ้น

การสื่อสารทางการตลาดสำหรับสินค้าในกลุ่มนี้ต้องอาศัยการสื่อสารแบบผสมผสานระหว่างสื่อทั้งแบบออฟไลน์และออนไลน์แบบ Always On ในเรื่องของนวัตกรรมและความสะดวกสบายจะดึงดูดความสนใจจากผู้บริโภค นอกจากนี้การใช้เสิร์ชร่วมกับการตลาดแบบเน้นผล (Performance based) เพื่อช่วยเพิ่มการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายสำหรับลูกค้าของกลุ่มสินค้านี้ได้

6. สินค้าอุปโภคบริโภค

สินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือน และอาหาร อยู่ในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ เพราะสินค้าหมวดหมู่นี้เป็นส่วนหนึ่งของปัจจัยในการดำรงชีวิต โดยในช่วงที่ผ่านมาได้เกิดเทรนด์และกิจกรรมการอยู่บ้านใหม่ ๆ เช่น การทำอาหารกินเองที่บ้าน ซึ่งทำให้ร้านค้าปลีกรวมถึงร้านสะดวกซื้อได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบของการบริการเพื่อความสะดวกสบายของผู้บริโภค เช่น ทั้งการสั่งสินค้าผ่านระบบออนไลน์ บริการส่งสินค้าถึงที่บ้าน

แบรนด์ในกลุ่มของสินค้าอุปโภคบริโภค ของใช้ในครัวเรือน และอาหาร ควรรักษามาตรฐานการสื่อสารทางการตลาดทั้งรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาและเพิ่มความต้องการซื้อจากผู้บริโภค ทั้งนี้นักการตลาดควรคำนึงถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปผ่านการใช้อีคอมเมิร์ซ ควบคู่ไปกับการร่วมมือกับแพลตฟอร์มการค้าขายออนไลน์อื่น ๆ

กลยุทธ์การขายสินค้าที่มีแพ็คเกจขนาดเล็กลงเพื่อเจาะกลุ่มคนหนุ่มสาวที่ยังไม่มีครอบครัวยังคงเป็นโอกาสที่น่าสนใจในช่วงนี้ แต่สิ่งสำคัญคือแบรนด์ต้องวางกลยุทธ์การสื่อสารเพื่อสร้างความมั่นใจของผู้บริโภคต่อในเรื่องคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้า โดยต้องแน่ใจว่าผู้บริโภคสามารถตรวจสอบข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้าได้

7. สินค้าความงามและแฟชั่น

สิ่งที่คล้ายกันสำหรับสินค้าและผลิตภัณฑ์ในสองอุตสาหกรรมนี้คือเรื่องระยะเวลาที่จำกัด เช่น วันหมดอายุของสินค้าความงาม ฤดูกาลหรือช่วงเวลาที่อยู่ในเทรนด์ของสินค้าแฟชั่น มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดทำให้แบรนด์เสียโอกาสในการขายเนื่องจากช่วงที่ห้างร้านปิด ผู้คนจึงไม่จำเป็นต้องแต่งตัวออกไปนอกบ้าน ความท้าทายของแบรนด์และนักการตลาดคือจะทำอย่างไรจึงจะสามารถจำหน่ายสินค้าที่ยังคงเหลือคงคลังให้ได้ก่อนที่จะสินค้าจะหมดอายุหรือล้าหลังจนเกินไป

ในขณะที่สถานการณ์ในประเทศไทยมีสัญญาณที่ค่อย ๆ คลี่คลาย ผู้บริโภคเริ่มทยอยออกมาใช้ชีวิตตามปกติ แต่นักการตลาดยังต้องไม่ลืมว่าผู้บริโภคยังคงมีความระมัดระวังในการใช้เงินและอาจจะไม่ได้กลับไปซื้อสินค้าในหมวดหมู่นี้มากเช่นเดิม

นอกเหนือจากการขายหน้าร้าน แบรนด์ควรที่จะปรับตัวตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เริ่มคุ้นชินกับความสะดวกสบายในการหาสินค้าผ่านการเสิร์ชที่นำผู้บริโภคไปสู่การซื้อทางออนไลน์ผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และช่องทางการขายออนไลน์ของแบรนด์เอง

สำหรับแบรนด์ความสวยความงาม เครื่องสำอาง และสกินแคร์ นักการตลาดสามารถใช้ฐานข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่มีอยู่นำมาวิเคราะห์และคาดการณ์เพื่อสร้างโอกาสสำหรับในการขายในครั้งต่อไป

กลุ่มผู้บริโภคในภูมิภาคต่าง ๆ ยังคงให้ความสนใจกับคำแนะนำจาก Micro Influencer ที่เป็นคนท้องถิ่น โดยผลิตภัณฑ์ขนาดเล็กที่วางขายในร้านสะดวกซื้อหรือร้านโชห่วย ยังคงได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้บริโภควัยรุ่น และต่างจังหวัด

จากผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคมีความสนใจเกี่ยวกับการป้องกันปัญหาสุขภาพมากขึ้น ดังนั้นแบรนด์สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ หันไปพัฒนาผลิตสินค้าใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพมากกว่าการขายระยะสั้น เช่น การขยายสินค้าประเภทหน้ากาก หรือการทำโปรโมชั่น


แชร์ :

You may also like