HomeCOVID-19ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียนยังมีหวัง! ผู้บริโภคยังอยากซื้อบ้าน แต่ขอคิดเยอะขึ้น

ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอาเซียนยังมีหวัง! ผู้บริโภคยังอยากซื้อบ้าน แต่ขอคิดเยอะขึ้น

แชร์ :

ถึงตอนนี้สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยจะเริ่มดีขึ้น จนหลายกิจกรรมสามารถกลับมาดำเนินการได้ปกติอีกครั้ง แต่ต้องยอมรับว่า หลังการมาของวิกฤตโควิด สร้างความบอบช้ำให้ธุรกิจอย่างมาก ทั้งยังก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงมากมายทั้งในด้านสภาพเศรษฐกิจ พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภค และกำลังซื้อ ส่งผลให้การทำธุรกิจจากนี้ไปต้องปรับตัวและเริ่มต้นคิดโมเดลใหม่ๆ เพื่อให้สอดรับกับความปกติใหม่ หรือ New Normal ที่จะเกิดขึ้น เพราะไม่เช่นนั้นอาจจะสูญเสียฐานลูกค้าที่สร้างมายาวนานไปให้กับคู่แข่งที่สามารถปรับตัวได้เร็วกว่าในชั่วพริบตา

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เป็นหนึ่งในธุรกิจที่บอบช้ำอย่างหนักจากพิษโควิด-19 โดย ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ ได้จัดทำผลสำรวจ Consumer Sentiment Study H2 2020 เพื่อสะท้อนถึงความต้องการและพฤติกรรมการตัดสินซื้ออสังหาริมทรัพย์ของผู้บริโภค 4 ประเทศในภูมิภาคอาเซียนในช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมาเพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัวรับมือกับความต้องการของผู้บริโภคหลังจากนี้ได้อย่างเท่าทันต่อไป

อสังหาฯ ยังไม่ตาย แต่ “ผันผวน”

คุณกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทยของ ดีดีพร็อพเพอร์ตี้ กล่าวว่า “แม้ภาคธุรกิจและสังคมของหลายประเทศจะเริ่มกลับมาเข้าสู่ภาวะปกติ แต่อย่าลืมว่าเรายังคงอยู่กันภายใต้บททดสอบที่ไม่สามารถวัดผลได้ และเราอาจจะได้เห็นคลื่นการหยุดชะงักอีกครั้งหากมีการระบาดรอบใหม่ รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงต้องอาศัยเวลาในการฟื้นตัว หลังจากสิ้นสุดมาตรการพักชำระหนี้ของธนาคาร ซึ่งจะเข้าสู่สนามทดสอบของจริง เพราะตัวเลขคนว่างงานที่ยังสูงขึ้นต่อเนื่องจะส่งผลต่อสถานะทางการเงินที่เปราะบางของประชากรในแต่ละประเทศด้วย ดังนั้น การสร้างความต่อเนื่องในการฟื้นตัวและเสถียรภาพให้กับธุรกิจถือเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากที่ผู้ประกอบการทุกอุตสาหกรรมต้องนำมาพิจารณา แม้จะต้องเผชิญภาวะขาดสภาพคล่องแต่ต้องมั่นใจว่าจะสามารถประคองธุรกิจไปต่อด้วยกลยุทธ์ที่รอบคอบ”

แม้ตลาดอสังหาฯ ทั่วทั้งภูมิภาคอาเซียนจะยังคงมีความ ผันผวน แต่ผู้บริโภคยังคงมี ความต้องการที่จะซื้อที่อยู่อาศัย จากผลสำรวจ Consumer Sentiment Study ล่าสุดของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ชี้ให้เห็นสัญญาณบวกของตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีแนวโน้มจะโตแบบค่อยเป็นค่อยไป เนื่องจากยังเห็นผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่ต้องการบ้านเพื่ออยู่อาศัยเองยังไม่พับแผนซื้อ แต่ใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจ เนื่องจากความผันผวนสูงของตลาดจากการระบาดของโควิด-19

จากผลสำรวจพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังพิจารณาที่จะซื้ออสังหาฯ อยู่ โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่กับพ่อแม่มีแนวโน้มที่จะซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเองในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 และปี 2564 แต่จะเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นในการตัดสินใจซื้ออสังหาฯ เนื่องจากความผันผวนสูงของตลาดจากการระบาดของโควิด-19 โดยตลาดอสังหาฯ ที่คึกคักที่สุดแห่งหนึ่งในภูมิภาค พบว่า ชาวสิงคโปร์มากกว่าครึ่ง (55%) มองว่าความไม่แน่นอนของราคาอสังหาฯ มีผลต่อการตัดสินใจซื้อบ้าน โดยผู้บริโภคหวังจะเห็นราคาบ้านที่ถูกลง ขณะที่ผู้ประกอบชะลอการขายอสังหาฯ เพื่อรอรับผลตอบแทนที่ดีกว่าในภายหลัง การสำรวจถึงพฤติกรรมผู้บริโภคยังพบว่า 42% ค่อนข้างให้ความสนใจในเรื่องราคาเป็นพิเศษ และ 82% ของผู้ทำแบบสำรวจสนใจบ้าน/คอนโดฯ ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อยลงถ้าหากได้ราคาดี อย่างไรก็ดี ภายในปีหน้า ผู้บริโภค 40% ตั้งใจซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มผู้บริโภคที่ปัจจุบันเป็นผู้เช่า (60%) และผู้ที่ยังอยู่อาศัยกับพ่อแม่ (76%)

ขณะที่ผลสำรวจของประเทศมาเลเซีย เผยภาพรวมชาวมาเลเซีย 52% มีความตั้งใจที่จะซื้อเพื่อการอยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังและหลังโควิด-19 และซื้อเพื่อลงทุน 42% โดยอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ คือ หลังการประกาศขยายเวลาล็อกดาวน์ในประเทศส่งผลให้ผู้บริโภควัยทำงานครอบคลุมทั้งกลุ่มมิลเลนเนียล (อายุระหว่าง 22-29 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่) และกลุ่มผู้เช่าในปัจจุบันเริ่มสนใจซื้อบ้านเพราะต้องการความเป็นส่วนตัวมากขึ้น โดยผลสำรวจพบกลุ่มผู้เช่า (51%) และคนที่ยังอาศัยอยู่กับครอบครัว (44%) ยังเดินหน้าซื้อบ้านและมองว่าการระบาดของโควิด-19 ไม่เป็นอุปสรรคในการซื้อบ้าน นอกจากนี้ผลการสำรวจยังแสดงให้เห็นว่าปัญหาที่ชาวมาเลเซียเผชิญ นอกจากความผันผวนของราคาและความล่าช้าในการซื้อบ้านแล้ว ยังมีในเรื่องของการเข้าเยี่ยมชมบ้านตัวอย่าง เนื่องจากต้องการเข้าชมโครงการจริงมากกว่าการดูผ่านออนไลน์

ด้านชาวอินโดนีเซีย ประมาณ 60% ตัดสินใจชะลอการซื้อขายอสังหาฯ ออกไปชั่วคราว เนื่องจากต้องการเก็บเงินไว้ก่อนในช่วงนี้ และจะกลับมาซื้ออสังหาฯ ต่ออย่างแน่นอนในช่วง 2 ไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ไปจนถึงปีหน้า อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามากกว่า 3 ใน 4 ของผู้ตอบแบบสอบถามจะพิจารณาความสามารถในการผ่อนชำระของตัวเองเป็นอย่างดี แต่รายได้ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญในการซื้ออสังหาฯ โดยพบว่า 51% มีเงินดาวน์ไม่เพียงพอ ขณะที่ 46% มีความกังวลเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอน ซึ่งเป็นอุปสรรคในการขอสินเชื่อ

ส่วนผู้บริโภคชาวไทย 75% ชะลอการซื้อขายอสังหาฯ และ 79% มองว่าราคาอสังหาฯ เป็นอุปสรรคสำคัญในการซื้อบ้าน อย่างไรก็ตาม พบว่า ผู้บริโภคถึง 63% ให้ความสนใจและพิจารณาซื้อบ้านผ่านการประมูล เนื่องจากผู้ซื้อที่มีความพร้อมมองว่า อสังหาฯ มือสองที่เปิดให้ประมูลเหล่านี้มักอยู่ในทำเลที่หาโครงการใหม่เปิดตัวได้ยาก หรือหากมีก็จะมีราคาที่สูงมากจากราคาต้นทุนที่ดินในปัจจุบัน ทำให้โครงการเหล่านี้ตอบโจทย์ทั้งในเรื่องของทำเลและราคาที่เอื้อมถึงได้ง่ายมากกว่า และหากมองในอนาคตก็มีแนวโน้มเติบโตมากยิ่งขึ้นด้วย

 “ราคา” ปัจจัยเร่งการตัดสินซื้ออสังหาฯ 

จากผลสำรวจยังพบอีกว่า ข้อมูลราคา, ทำเลที่ตั้ง และความปลอดภัยในพื้นที่ เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคในอาเซียนส่วนใหญ่นิยมค้นหามากที่สุด โดยส่วนใหญ่นิยมค้นหาผ่านอินเทอร์เน็ต อาทิ เว็บไซต์ของโครงการ, เว็บไซต์สื่อกลางซื้อ-ขายอสังหาฯ เพื่อเลือกชมโครงการบ้านที่หลากหลาย หรือบางกลุ่มนิยมใช้นายหน้า เนื่องจากประหยัดเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ และนายหน้าบางรายอาจจะมีข้อเสนอพิเศษ

ชาวอินโดนีเซียส่วนใหญ่ตั้งใจที่จะซื้อเพื่อลงทุน จึงพิจารณาจากราคา, ทำเลที่ตั้ง, ประเภทของอสังหาฯ, ความปลอดภัยของทำเล และแผนการพัฒนาโครงการและสาธารณูปโภคในอนาคตของทำเลนั้น ๆ ทั้งนี้เองชาวอินโดนีเซียต้องการทราบข้อมูลด้านเอกสารทางกฎหมายและขั้นตอนการดำเนินการ รวมถึงรีวิวเกี่ยวกับนายหน้า/ผู้พัฒนาโครงการเมื่อจะตัดสินใจซื้อ-เช่ามากกว่าชาวไทย

ชาวไทยพิจารณาเรื่องราคา/ยูนิตมาอันดับแรก ถัดมา คือ ขนาดที่อยู่อาศัย, รูปแบบโครงสร้าง, ภาษีและมาตรการของภาครัฐที่ออกมาช่วย โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบที่อยู่อาศัย และมองหาผลตอบแทนค่าเช่า/การทำกำไรในอนาคต

นอกจากนี้ ยังพบข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับมุมมองและปัจจัยที่ผู้บริโภคใช้พิจารณาหากต้องการซื้อบ้าน หลังจากเผชิญการระบาดของโควิด-19 โดยพบว่า ชาวมาเลเซียพิจารณาเรื่องการระบายอากาศและแสงธรรมชาติมาเป็นอันดับแรก ถัดมาเป็นเรื่องการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต มองหาบ้านที่เป็นได้ทั้งออฟฟิศและฟิตเนส และความหนาแน่นโครงการที่ลดลง โดยเฉพาะกลุ่มวัยเกษียณที่ต้องการหลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด

ชาวสิงค์โปร์จะพิจารณาให้ความสำคัญกับทำเลที่อยู่ใกล้ร้านอาหารและห้างสรรพสินค้าเป็นพิเศษ รองลงมาคือในเรื่องของการระบายอากาศและแสงธรรมชาติ มีความต้องการพื้นที่ใช้สอยมากขึ้น และสนใจระบบบ้านอัจฉริยะที่ตอบโจทย์เรื่องประหยัดพลังงานหากต้องใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้าน ดังเช่นสถานการณ์ที่ผ่านมา

“หากพิจารณาภาพรวมตลาดอสังหาฯ ของทั้งภูมิภาคในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า มูลค่าอสังหาฯ เองมีความผันผวนตลอดเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ยิ่งทำให้ตลาดอสังหาฯ มีความผันผวนมากขึ้น อย่างไรก็ดีหากพิจารณาจากผลการสำรวจของเราจะเห็นว่าภาคอสังหาฯ ในภูมิภาคนี้มีแนวโน้มการกลับมาเริ่มต้นใหม่ได้จากความต้องการซื้อของผู้บริโภคที่ยังคงมีอยู่ ประกอบกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่เริ่มปล่อยสินค้าใหม่ ๆ หรือโครงการที่ถูกพักขายก่อนหน้าออกมาสู่ตลาด ควบคู่กับการเร่งขายโครงการเก่าพร้อมโปรโมชันน่าสนใจเพื่อกระตุ้นการตัดสินใจของผู้ซื้อที่มีความพร้อม รวมทั้งสถาบันทางการเงินหลายแห่งก็มีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์สินเชื่อกู้ซื้อบ้านและอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อกู้ซื้อบ้าน ยิ่งทำให้แนวโน้มตลาดอสังหาฯ ฟื้นตัวขึ้นได้” คุณกมัลภัทร กล่าวเสริม

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like