หากกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของแอปพลิเคชันที่ Google พัฒนาขึ้นมาให้เราใช้งานกันทุกวันนี้ อาจต้องยอมรับว่า หลาย ๆ ตัวมาจากนโยบายของ Google ที่ให้เวลาพนักงาน 20% ไปทำโปรเจ็คได้ตามที่ต้องการ โดยหนึ่งในตัวอย่างของแอปพลิเคชันที่เกิดมาจากจุดเริ่มต้นดังกล่าว และเราคนไทยรู้จักกันดีก็คือ “Gmail”
โดยแรกเริ่มเดิมที Gmail เป็นโปรเจ็คส่วนตัวของ Paul Buchheit พนักงาน Google รุ่นบุกเบิกที่ต้องการใส่เสิร์ชเอนจิ้นลงไปในบริการอีเมล และเขาก็พบว่ามันเวิร์กทีเดียว อีกทั้งวิศวกรคนอื่น ๆ ของ Google ก็เห็นด้วยกับเขา
แต่จะทำอย่างไรให้บริการอีเมลน้องใหม่ที่พ่วงบริการเสิร์ชเป็นที่ต้องการในยุค 2003 – 2004 ที่มีคู่แข่งยักษ์ใหญ่อย่าง Hotmail, Yahoo Mail อยู่เต็มไปหมด
ผลก็คือ Google ตัดสินใจแถมพื้นที่เก็บข้อมูลใน Gmail ให้มากถึง 1GB ซึ่งมากกว่าบริการอีเมลในยุคเดียวกันอย่างมาก (บริการ Hotmail – Yahoo Mail ในยุคนั้นให้พื้นที่ 2MB) แถมการเปิดตัว Gmail อย่างเป็นทางการก็คือวันที่ 1 เมษายน ซึ่งเป็นวัน April’s Fool ด้วย ซึ่งในยุคนั้น เป็นการเปิดตัวที่เป็นตำนาน เพราะมีคนไม่เชื่อว่ามันคือบริการที่ Google เปิดให้คนทั่วไปได้ใช้งานจริง ๆ (ยุคแรก ๆ ต้องมี Invitation จึงจะเข้าใช้งานได้)
จาก Gmail ถึง Files
ตัดภาพกลับมาที่ยุคปัจจุบัน สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ การแข่งขันของโลกดิจิทัลได้เปลี่ยนไปชนิดหน้ามือเป็นหลังมือ ปฏิเสธไม่ได้ว่าทุกวันนี้ แอปพลิเคชันต่าง ๆ เกิดขึ้นมากมายเต็มไปหมด และในบาง Category ก็มีคู่แข่งรออยู่นับพัน
แนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชันจึงต้องเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบัน เราเริ่มพบว่า แอปพลิเคชันหลาย ๆ ตัวของ Google มีจุดเริ่มต้นที่ต่างออกไป
หนึ่งในนั้นคือ Files By Google ที่พัฒนาขึ้นจาก Pain Point ที่ว่า โทรศัพท์มือถือที่ใช้งานกันในประเทศอย่างอินเดีย, ไนจีเรีย, บราซิล ฯลฯ ซึ่ง Google เรียกประเทศกลุ่มนี้ว่า “The Next Billion Users” นั้น ไม่ได้มีหน่วยความจำมากนัก
Files By Google จึงถูกออกแบบให้มาพร้อมฟีเจอร์ที่ช่วยในการค้นหาไฟล์, ลบไฟล์ขยะ, โอนไฟล์ให้กันแบบไม่ต้องใช้แบนด์วิธ หรือจัดการไฟล์ขนาดใหญ่ ๆ เป็นหลัก โดยปัจจุบัน แอปพลิเคชันดังกล่าวมีผู้ใช้งานราว 150 ล้านคน
อย่างไรก็ดี เพื่อทำความเข้าใจกับผู้ใช้งานกลุ่มนี้มากขึ้น ทีมงานในโครงการ The Next Billion Users จึงได้มีการทำวิจัยเพิ่มเติมใน 7 ประเทศกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ บังกลาเทศ, บราซิล, อินเดีย, อินโดนีเซีย, เม็กซิโก, ไนจีเรีย และปากีสถาน และพบว่า ในประเทศเหล่านี้ มีวัฒนธรรมการแชร์โทรศัพท์มือถือระหว่างคนในครอบครัว หรือเพื่อนฝูงจนเป็นเรื่องธรรมดาสามัญ และทำให้ทีมงานของ Google พบว่ามีความเสี่ยงหลายอย่างเกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น
- ลูกขอยืมไปเล่นเกม และกดลบข้อมูลสำคัญของพ่อแม่ไป
- ญาติพี่น้องขอยืมใช้โทรศัพท์ และเมื่อใช้เสร็จ แทนที่จะคืน พวกเขาก็เริ่มสำรวจโทรศัพท์นั้น ๆ ต่อว่ามีอะไรบ้าง
- พ่อแม่สามารถยึดโทรศัพท์ลูกไปตรวจสอบได้โดยไม่ต้องขออนุญาต ซึ่งพ่อแม่มองว่าพวกเขามีสิทธิที่จะทำได้
ทีมวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ผู้ใช้งาน (ทั้งหญิง – ชาย – ทรานเจนเดอร์) ใน 7 ประเทศที่กล่าวมา มีการจัดการ “บางอย่าง” กับข้อมูลบนโทรศัพท์ของตัวเองก่อนจะให้คนอื่นยืมใช้ เพื่อป้องกันไม่ให้คนอื่นล่วงรู้พฤติกรรมการเสิร์ชของตัวเอง ยกตัวอย่างเช่น แกล้งเสิร์ชหาเรื่องอื่น ๆ อีก 5 – 6 หัวข้อ เพื่อให้ระบบเสิร์ชเอนจินดันหัวข้อที่ตัวเองคิดว่าไม่เหมาะสม หรือไม่อยากให้คนอื่นรู้ลงไปอยู่ข้างล่าง ไม่แสดงผลขึ้นมาอีก
หรือผู้หญิงบางคนในประเทศกลุ่มเป้าหมายก็เลือกที่จะไม่โพสต์ภาพตัวเอง (แม้จะสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายทุกส่วน) ซึ่งแตกต่างจากซีกโลกตะวันตกที่ภาพผู้หญิงสวมเสื้อผ้าน้อยชิ้นเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไปในแอปพลิเคชันต่าง ๆ
นอกจากนี้ทีมวิจัยยังพบว่า หากผู้หญิงในประเทศกลุ่มเป้าหมายถูกกลั่นแกล้งทางอินเทอร์เน็ต มีเพียง 15% ที่จะรีพอร์ตให้แพลตฟอร์มทราบ โดย 23% เลือกที่จะลบโพสต์ทิ้ง และอีก 43% เลือกที่จะบอกครอบครัวให้รู้
พัฒนาฟีเจอร์ Safe Folder เพิ่ม
ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่ายังมีความไม่เท่าเทียมกันอีกมากอยู่ในตลาดที่ Google เรียกว่า The Next Billion Users และนั่นทำให้บริษัทตัดสินใจทำบางอย่างเพิ่มเติมให้กับ Files นั่นคือฟีเจอร์ชื่อ Safe Folder สำหรับเป็นที่เก็บข้อมูลสำคัญ โดยก่อนจะเข้าถึงได้ ต้องใส่ PIN (รหัส 4 หลัก) ก่อน
ภายใน Safe Folder สามารถจัดเก็บเอกสาร, รูปภาพ, วิดีโอ และไฟล์เสียงสำคัญได้ อีกทั้งยังไม่อนุญาตให้ผู้ใช้ถ่ายภาพหน้าจอหรือใช้การบันทึกหน้าจอเพื่อบันทึกเนื้อหาที่อยู่ภายในโฟลเดอร์อีกด้วย
นอกจากนี้โฟลเดอร์จะถูกล็อคทันทีที่ผู้ใช้สลับไปใช้แอปพลิเคชันอื่น และผู้ใช้จะต้องใส่รหัส PIN ทุกครั้งเมื่อกลับเข้ามาใช้งาน
อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องของข้อมูลที่ไม่อยากให้ใครเห็นแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่อ่อนไหวไม่แพ้กันก็คือแอปพลิเคชันที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม ซึ่งทางทีมพัฒนาของ Google เผยว่า อาจมีการพัฒนาต่อยอดให้กับ Files ในอนาคตให้สามารถเก็บแอปพลิเคชันได้ด้วยก็เป็นได้
จะเห็นได้ว่า ตลาดแอปพลิเคชันในปัจจุบันที่ถูกเบอร์ใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งเอาไว้แทบทุกเซกเมนต์แล้วนั้น โอกาสการเติบโตของแอปพลิเคชันรายใหม่ ๆ จึง “ต้องแตกต่าง” ส่วนการจะสร้างความแตกต่างอย่างไรนั้น บางที การให้ความสำคัญกับ Pain Point ของผู้ใช้งาน หรือไม่ก็ทำให้พวกเขาสะดวกสบายในการใช้งานมากขึ้นอย่างที่ Google ใช้ในการสร้าง Files ก็เป็นทางเลือกที่น่าสนใจทีเดียว
สำหรับใครที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน และอยากทดลองใช้ Files บ้าง Google บอกว่าสามารถดาวน์โหลดมาใช้งานได้ ใน Google Play Store โดยจะต้องเป็นเครื่องที่ใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 5.0 (Lollipop) ขึ้นไปเท่านั้น