เป็นเรื่องเป็นราวขึ้นมาอีกครั้งกับปัญหา “ทีวีดิจิทัล” ปั่นป่วนอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ถือกำเนิดในปี 2557 กับ 24 ช่องชนะประมูล ผ่านมา 7 ปี มี 9 ช่อง ต้องเดินออกจากสนามก่อนสิ้นสุดใบอนุญาต 15 ปี แต่วิบากกรรมยังไม่จบ กับมหากาพย์ศึก “เรียงช่อง” ชิงตำแหน่งเบอร์ต้นๆ บนรีโมท ปะทุรอบใหม่ เมื่อศาลปกครองสูงสุดใกล้มีคำตัดสิน หลังจาก กสทช. แพ้คดียกแรกในชั้นศาลปกครองกลาง ที่ว่าประกาศเรียงช่อง 1-36 บนโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม “ทำไม่ได้”
หลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาคดีเรียงช่อง เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2562 ให้เพิกถอนประกาศ กสทช.ได้อุทธรณ์คดีที่ศาลปกครองสูงสุด โดยมีนัดพิจารณาคดีครั้งแรก เมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2563 (ก่อนนัดฟังคำพิพากษา) ซึ่งเป็นคดีของทรูวิชั่นส์ ฟ้องประกาศเรียงช่อง หลังจากนั้นจะเป็นการนัดพิจารณาคดีของโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม (ฟ้องร้องเรื่องเดียวกัน) คาดกันว่าคำพิพากษาทั้ง 2 คดีน่าจะออกมาในเร็วๆ นี้ เป็นอันสิ้นสุดเรื่องเรียงช่องที่กินเวลามา 5 ปี
แต่สิ่งที่ทีวีดิจิทัล เป็นกังวล คือ หากศาลปกครองสูงสุด ตัดสินยืนตามศาลปกครองกลาง นั่นหมายถึงเบอร์ช่องทีวีดิจิทัล “อาจ” ถูกเปลี่ยนหมายเลขบนโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม คือ ไม่ได้จัดเรียงไว้เลข 1-36 เหมือนปัจจุบัน เพราะเป็นสิทธิของโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ที่จะจัดเรียงช่อง อย่างไรก็ได้
นี่จึงเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจของฝั่ง ทีวีดิจิทัล เพราะหากเบอร์ช่องเปลี่ยน ย่อมส่งผลถึงการจดจำหมายเลขช่องใหม่ของผู้ชม หากหาช่องเดิมไม่เจอ ก็หมายถึงเรตติ้งที่จะหายไป แน่นอนว่าสินค้า แบรนด์ และเอเยนซี่ คงต้องชะลอการใช้งบโฆษณาไปก่อน จนกว่าจะเห็นเรตติ้งใหม่ที่ชัดเจน
คำถามว่าทำไมโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม จึงสำคัญกับ ทีวีดิจิทัล ก็เพราะทุกวันนี้การดูทีวีของครัวเรือนไทย ผ่าน 3 โครงข่าย คือ
1.โครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน (ดูได้ 1-36 ช่อง มาแทนเสาก้างปลาที่เดิมดูได้ 6 ช่อง ในยุคทีวีแอนาล็อก)
2.โครงข่ายเคเบิลทีวี เช่น ทรูวิชั่นส์ เคเบิลท้องถิ่นทั่วประเทศมีผู้ประกอบการ 350 ราย (มีช่องทีวีดิจิทัลและช่องเคเบิลกว่า 100 ช่อง)
3.โครงข่ายทีวีดาวเทียม มีทั้งจานดำ (ระบบ C Band) จานทึบ (KU Band) เช่น PSI, Infosat, IPM (มีช่องทีวีดิจิทัลและช่องทีวีดาวเทียมกว่า 100 ช่อง)
ปัจจุบันการติดตั้งอุปกรณ์โครงข่ายต่างๆ เพื่อดูทีวีของครัวเรือนไทย ดูผ่านโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน ด้วยการติดตั้งกล่อง (set top box) และจอทีวีที่มี Digital Tuner Built-in (ดูทีวีดิจิทัลได้เลยไม่ต้องติดตั้งกล่อง) มีสัดส่วนเพียง 20% และดูผ่านโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม 80%
นั่นจึงเป็นคำตอบว่า หากยกเลิกประกาศเรียงช่องและมีการเปลี่ยนหมายเลขช่องทีวีดิจิทัลใหม่ ไม่ใช่เลขเดิม 1-36 บนโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ซึ่งมีผู้ชม 80% เป็นแพลตฟอร์มที่ใช้ดูทีวีมากที่สุด ก็ต้องไปจำเลขช่องใหม่
ช่วงแรกคงต้องมีผลต่อเรตติ้งและโฆษณาแน่นอน หากหาช่องไม่เจอ ซึ่งช่องผู้นำเรตติ้ง ที่คนดูติดตามอยู่แล้ว ก็มีปัญหาน้อยหน่อย เพราะผู้ชมคงตามหาเองว่าอยู่หมายเลขอะไร แต่ช่องเล็กเรตติ้งต่ำ คนจำเลขไม่ได้ ก็กระทบมากหน่อย หากคนดูไม่ได้กดหาช่อง
นับเป็นปัญหาที่ “ทีวีดิจิทัล” กังวล และ กสทช. เองได้เรียกทั้ง ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัล โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม มาหารือ (Focus Group) ไปแล้ว เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2563 เพื่อหาแนวทาง จัดทำประกาศเรียงช่องใหม่ โดยยกหมายเลข 1-10 ให้โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียมจัดช่องเอง ย้ายช่องทีวีสาธารณะ ช่อง 5 ช่อง 11 ไทยพีบีเอส และทีวีรัฐสภา จากหมายเลข 1-3 และหมายเลข 10 ไปอยู่ที่ 11-14 ส่วนช่องทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจที่ประมูลมา ปัจจุบันเหลือ 15 ช่อง ก็ให้คงไว้ที่หมายเลข 16-36 เหมือนเดิม
แต่แนวทางนี้ก็ยังหาข้อสรุปไม่ได้ เพราะฝ่าย ทรูวิชั่นส์และโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม 2 โจทย์ที่ฟ้อง กสทช. คนละคดีแต่เรื่องเดียวกัน ขอให้รอศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาออกมาก่อน ค่อยมาหารือกันว่าจะเรียงช่องใหม่อย่างไร คงต้องจับตาปัญหานี้ว่าจะมีบทสรุปออกมาแบบไหน
ย้อนที่มาประกาศเรียงช่อง
– การเปิดประมูลทีวีดิจิทัล ช่องธุรกิจ 24 ช่อง ในเดือนธันวาคม 2556 มีประกาศ หลักเกณฑ์ของ กสทช. อยู่ 2 ฉบับ ที่เป็นแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาประมูล คือ ประกาศ Must Carry สาระสำคัญคือให้โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ต้องนำช่องทีวีดิจิทัล ไปออกอากาศบนโครงข่าย ซึ่งเป็นช่องทางที่เข้าถึงผู้ชมทีวี 80% ของครัวเรือนไทย เรียกว่าแจ้งเกิดทีวีดิจิทัลทันที ไม่ต้องรอติดตั้งโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน (Mux)
– อีกประกาศ คือ เรียงช่อง ฉบับแรกปี 2556 สาระสำคัญ คือ ให้โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม เรียงช่อง ทีวีดิจิทัล ไว้ที่หมายเลข 11-46 หรือต้องบวก 10 จากหมายเลขทีวีดิจิทัลปกติ โดยให้หมายเลข 1-10 โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียมจัดเรียงช่องได้เอง
– ประกาศ Must Carry และ เรียงช่อง ทั้ง 2 ฉบับ เรียกความสนใจจากผู้ประมูลทีวีดิจิทัล เพราะเห็นว่า ช่องจะได้ไปออกอากาศบนโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ที่เข้าถึงครัวเรือนไทย 80% ทันที และเรียงช่องอยู่ในตำแหน่ง 11-46 เรียกว่ายังอยู่เบอร์ต้นๆ ทำให้ผู้ประกอบการแข่งขันกันประมูลทีวี 24 ช่อง จากราคาขั้นต้น กสทช. กำหนดไว้ 15,950 ล้านบาท มีการแข่งเคาะประมูลราคารวมพุ่งไป 50,862 ล้านบาท
– หลังจากทีวีดิจิทัล เริ่มออกอากาศในเดือนเมษายน 2557 การเรียงช่อง บนโครงข่ายทีวีดิจิทัลภาคพื้นดิน (แทนเสาก้างปลา) หมายเลข 1-36 ส่วนโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม หมายเลข 11-46 เริ่มเป็นปัญหา ทีวีดิจิทัล แจ้งกับ กสทช.ว่าผู้ชมสับสนกับหมายเลขช่องที่ไม่เหมือนกัน วันที่ 23 กันยายน 2558 กสทช.จึงออกประกาศเรียงช่องใหม่ (ยกเลิกประกาศเรียงช่อง ปี 2556) โดยให้โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม เรียงช่องทีวีดิจิทัลไว้ที่หมายเลข 1-36 เหมือนโครงข่ายทีวีภาคพื้นดิน คือเป็นหมายเลขเดียวกัน ไม่ว่าจะดูจากช่องทางไหน
– วันที่ 2 ธันวาคม 2558 หลังประกาศเรียงช่อง ปี 2558 มีผลบังคับใช้ ทรูวิชั่นส์และโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ฟ้องร้อง กสทช. ว่าประกาศเรียงช่องใหม่ ไม่เป็นธรรม โดยฟ้องคนละคดี แต่เนื้อหาเดียวกัน
– เดือนกันยายน 2562 ศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษา คดีเรียงช่อง ให้ กสทช. “แพ้คดี” ศาลให้ เพิกถอน ประกาศเรียงช่อง ปี 2558 เพราะเห็นว่าข้อกำหนดให้โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม จัดเรียงช่อง “ทีวีดิจิทัล” ไว้ที่หมายเลข 1-36 เป็นการสร้างภาระให้กับโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม เป็นการใช้ดุลพินิจของ กสทช. โดยไม่เป็นธรรม จากนี้คงต้องรอลุ้นว่าศาลปกครองสูงสุด จะมีคำพิพากษาออกมาอย่างไร คาดว่าจะออกมาในเร็วๆ นี้
วิบากกรรม “ทีวีดิจิทัล” ยังไม่จบ
– ต้องเรียกว่าเป็นวิบากกรรมของ “ทีวีดิจิทัล” แม้ผ่านมา 7 ปี นับจากเริ่มในปี 2557 หรือเกือบครึ่งทางของใบอนุญาต 15 ปี ที่จะจบในปี 2572 แต่มีหลายช่องไปต่อไม่ไหว ในยุค คสช. ต้องออกมาตรา 44 เปิดทางให้คืนใบอนุญาต ปิดสถานีไปแล้ว 9 ช่อง จาก 24 ช่อง วันนี้เหลือช่องธุรกิจที่ยังดำเนินการอยู่ 15 ช่อง ก็ยังต้องมาเจอปัญหาใหม่ เมื่อคดีที่โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ฟ้องร้อง กสทช. เรื่องประกาศเรียงช่อง 1-36 ศาลปกครองกลาง พิพากษาให้ กสทช. แพ้ ต้องยกเลิกใช้ประกาศเรียงช่อง
– ก่อนถึงวันที่ ศาลปกครองสูงสุด มีคำพิพากษาคดีนี้ ตลอดเดือนสิงหาคม 2563 จึงมีความเคลื่อนไหว ของ กสทช. เรียก ทีวีดิจิทัล โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม และทรูวิชั่นส์ เข้ามาหารือ (Focus Group) เพื่อหาทางออกจัดทำประกาศเรียงช่องใหม่ โดย กสทช. เสนอให้ หมายเลข 1-10 โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม จัดเรียงช่องเอง แล้วขยับช่องทีวีสาธารณะ ไปอยู่หมายเลข 11-15 ขณะที่ช่องทีวีดิจิทัล ประเภทธุรกิจที่ประมูลมา เหลืออยู่ 15 ช่อง “อยู่ตำแหน่งเดิม” ง่ายๆ ก็คือ ทีวีดิจิทัล อยู่ที่หมายเลข 11-36
– แต่การหารือ ยกแรกวันที่ 4 สิงหาคม 2563 ทุกฝ่ายยังหาข้อสรุป “ไม่ได้” เมื่อฝั่ง ทีวีดิจิทัล บอกว่า หมายเลข 1-10 ที่โครงข่ายโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม จัดเรียงเอง ต้องไม่มีช่องทีวีดิจิทัล มาออกซ้ำ เพราะจะได้เปรียบคนช่องอื่นที่มีตำแหน่งเดียว และต้องไม่เป็นช่อง “คู่แข่ง” ของทีวีดิจิทัลที่ออกอากาศปัจจุบัน
– ท่าทีล่าสุดของทีวีดิจิทัลเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2563 ออกในนาม สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล(ประเทศไทย) ย้ำว่า “ประกาศเรียงช่อง ปี 2558” คือหัวใจสำคัญในการประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิทัล และเป็นหัวใจในการเข้าถึงสื่อสาธารณะของผู้ชมทีวี หากต้องมีการเปลี่ยนแปลงประกาศเรียงช่อง ปี 2558 ย่อมเกิดความเสียหายมหาศาลต่ออุตสาหกรรม ซึ่งจะเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลยื่นฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองอีกครั้งอย่างแน่นอน
– ฝั่งโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม แย้งว่า ปัจจุบัน ทีวีดิจิทัล ก็มีคอนเทนท์ ทุกประเภท ทั้ง ข่าว ละคร วาไรตี้ ภาพยนตร์ต่างประเทศ การกำหนดให้ห้ามนำช่องที่เป็นคู่แข่ง มาไว้ที่เลข 1-10 ก็ไม่สามารถนำช่องรายการใดๆ มาออกอากาศได้เลย เพราะคงเข้าข่ายคู่แข่งช่องทีวีดิจิทัลทั้งหมด
– สิ่งที่เคเบิลและทีวีดาวเทียม ต่อสู้เรื่องเรียงช่อง ก็ต้องการหมายเลข 1-10 เป็นช่องที่จัดเรียงเอง เพื่อสร้างความแตกต่างในแต่ละโครงข่าย เพราะเคเบิลเองก็ต้องหารายได้จากค่าสมาชิก แน่นอนว่าหมายเลข 1-10 เป็นตำแหน่งที่ดีที่สุดของโครงข่าย กดเลขง่ายบนรีโมทใคร ๆ ก็อยากได้ตำแหน่งนี้ หากเป็นช่องที่แต่ละโครงข่ายเป็นเจ้าของเองด้วย เมื่อผู้ชมเข้าถึงง่าย ก็มีโอกาสหารายได้จากโฆษณาตามมา และช่องทีวีช้อปปิ้ง ที่มีรายได้จากการขายสินค้าก็สนใจอยู่ในตำแหน่งนี้
– ส่วนทรูวิชั่นส์ ซึ่งเป็นโครงข่ายเคเบิล ค้าน กสทช. ที่เตรียมจัดทำประกาศ เรียงช่องใหม่ ก่อนมีคำตัดสินของศาลปกครองสูงสุด และเห็นว่าการหารือในเวที Focus Group มีหลายประเด็น “จำกัดสิทธิ” ผู้ประกอบการโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม เช่น การห้ามนำช่องทีวีดิจิทัล ไปออกอากาศซ้ำในตำแหน่งอื่น (ในกรณีนี้คิดง่ายๆ ว่า เมื่อเป็นโครงข่ายของทรูวิชั่นส์เอง ก็ควรต้องส่งเสริมธุรกิจทีวีดิจิทัล ในเครือ CP อย่างช่อง TNN และ True4U ให้มีตำแหน่งช่องที่ดีเข้าถึงง่าย ซึ่งก็ต้องเป็นเบอร์ต้นๆ )
ทางออกเรียงช่อง “ถอยคนละก้าว”
– การต่อสู้เรื่องเรียงช่อง ที่กินเวลายาวนานถึง 5 ปี เมื่อศาลปกครองกลาง มีคำพิพากษาแล้วว่า ให้ยกเลิก ประกาศเรียงช่อง ปี 2558 ของ กสทช. สรุปคือ โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม สามารถนำช่องทีวีดิจิทัล 1-36 มาไว้ในแพลตฟอร์ม ตามประกาศ Must Carry แต่ไว้ในตำแหน่ง “ช่องไหนก็ได้” ตามความเหมาะสม สุดท้ายคงต้องรอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่ก็ถือได้ว่า “ยกแรก” โครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม “ชนะ” ไปแล้ว
– มาถึงเวลานี้ การเรียงช่องทีวีดิจิทัล คงต้องถอยคนละก้าว เพราะในฝั่งโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม เป็นธุรกิจที่ต้องลงทุนสร้างโครงข่ายเอง จึงต้องการจัดเรียงช่อง หมายเลข 1-10 ที่เข้าถึงง่าย เพื่อมีโอกาสทำธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาเคเบิลท้องถิ่นที่เคยมีผู้ประกอบการ 350 ราย มาถึงวันนี้ก็ปิดตัวไปแล้ว 50% โครงข่ายทีวีดาวเทียมเอง จำนวนช่องก็ลดลงจากเดิมที่มีกว่า 200 ช่อง ซึ่งก็เป็นผลจากการแข่งขันและเทคโนโลยี ดิสรัปชั่นด้วยเช่นกัน
– อันที่จริงโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม ได้จัดเรียงช่องทีวีดิจิทัล 1-36 มาแล้ว 7 ปี ช่องที่เหลืออยู่ 19 ช่องวันนี้ก็มีฐานผู้ชมจดจำเบอร์ช่องได้แล้ว การเปลี่ยนเลขช่อง โดยเฉพาะช่องธุรกิจ 16-36 หากไม่อยู่ตำแหน่งเดิม ผู้ชมก็สับสน และเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียมได้เช่นกัน
– ไม่ว่าศาลปกครองสูงสุด จะตัดสินเรื่องเรียงช่องออกมาอย่างไร ทีวีดิจิทัล เคเบิลและทีวีดาวเทียม ก็ยังต้องเดินไปด้วยกัน เพราะเคเบิลและทีวีดาวเทียมก็ต้องการ “ช่องทีวีดิจิทัล” เพื่อให้บริการผู้ชม ส่วนทีวีดิจิทัล ก็ต้องการเข้าถึงโครงข่ายที่ครอบคลุมครัวเรือนไทยทั่วประเทศ 80%
และวันนี้ “คู่แข่ง” สำคัญของทั้งทีวีดิจิทัล รวมทั้งโครงข่ายเคเบิลและทีวีดาวเทียม คือ OTT ที่ล้วนเป็นแพลตฟอร์มต่างประเทศ ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. และเป็นคู่แข่งขันโดยตรงที่เข้ามาแย่งผู้ชมไปมากขึ้นเรื่อยๆ