นับจากการตั้ง บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด เพื่อออกอากาศทีวีเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อปี 2495 นั่นคือจุดเริ่มต้นของ อสมท ในปัจจุบัน ตลอด 68 ปี องค์กรผ่านการปรับตัวมาหลายครั้ง จาก “สังคมอุดมปัญญา” ในยุคสื่อวิทยุโทรทัศน์ทรงอิทธิพล ท่ามกลาง Media Landscape เปลี่ยน กระแส Disruption ถาโถม อสมท ที่เคยกำไร ต้องเผชิญปัญหา “ขาดทุน” มาแล้ว 5 ปี เส้นทางไปต่อหลังจากนี้จึงต้อง “พลิกโฉม” มุ่งสู่ The New Digital Journey กับเป้าหมายสร้างแหล่งรายได้ใหม่
ปี 2563 เป็นปีที่ อสมท ต้องเจอกับความท้าทายอีกครั้ง เมื่อรายได้จากสัมปทาน ช่อง 3 และทรูวิชั่นส์ สิ้นสุดลงในปีนี้ นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่เคยสูงถึงปีละ 700 ล้านบาทหายไป ในจังหวะเดียวกับ รายได้หลักจาก “ทีวีและวิทยุ” ถดถอย จากการแข่งขันของทีวีดิจิทัล ที่มีช่องจำนวนมาก และพฤติกรรมการเสพสื่อของคนรุ่นใหม่ใช้เวลากับสื่อออนไลน์มากกว่าสื่อดั้งเดิม อสมท จึงต้องทรานส์ฟอร์มเข้าสู่ Digital Services เพื่อสร้างโอกาสหารายได้ใหม่
วางยุทธศาสตร์ 3 เส้นทางหลัก
หลังนั่งเป็นแม่ทัพ อสมท ตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 และกำลังจะเกษียณอายุ 60 ปี จบวาระการบริหารในวันที่ 29 สิงหาคม 2563 คุณเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) สรุปวิสัยทัศน์การขับเคลื่อนองค์กรให้เป็น “Trusted Content & Platform” ที่วางไว้ตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งและยุทธศาสตร์ที่ อสมท จะก้าวต่อไปในช่วง 1-2 ปีจากนี้
สิ่งที่เริ่มทำเมื่อเริ่มเข้ามาบริหาร อสมท คือ วางกระบวนการทรานส์ฟอร์ม องค์กรสู่ดิจิทัล ทั้งในฝั่งคอนเทนท์และแพลตฟอร์ม เพิ่มหน่วยธุรกิจใหม่ คือ สายงานธุรกิจดิจิทัลและแพลตฟอร์ม เพื่อปรับรูปแบบธุรกิจขององค์กรให้ตอบโจทย์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันมารับชมข้อมูลข่าวสารและคอนเทนท์ทางสื่อออนไลน์มากขึ้น
ทศวรรษใหม่ของ อสมท หลังจากมีทีมงานดิจิทัล ทั้งบุคลากรเดิม อสมท และสรรหาเข้ามาใหม่รวม 30 คน จึงพร้อมประกาศขับเคลื่อนธุรกิจเทคโนโลยี ภายใต้แนวคิด “The New Digital Journey” ด้วย 3 เส้นทางใหม่ ประกอบด้วย Digital Content, Digital Entertainment, และ Digital Solutions เพิ่มการผลิตคอนเทนท์ ให้มีความหลากหลายมากขึ้น ขยายช่องทาง Entertainment ไปอยู่บน ดิจิทัล แพลตฟอร์มของพันธมิตรใหม่ๆ รวมถึงการเปิดตัว Digital Solutions ผ่านแพลตฟอร์มที่ อสมท พัฒนาขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการ และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในยุค New Normal
“วางเป้าหมายให้ Digital Content ของ อสมท ก้าวสู่ Top 5 ภายใน 2 ปี รวมถึงการหาพันธมิตรใหม่ๆ ในธุรกิจ Non Broadcast เพื่อขยายโอกาสการเติบโตให้ อสมท ซึ่งจะเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ใหม่ๆ ในช่วงที่สื่อดั้งเดิมถดถอย”
เปิด 4 แพลตฟอร์ม Digital Solutions
จากยุควิทยุโทรทัศน์ ที่ อสมท ทำมา 68 ปี เมื่อเกิด Digital Disruption วันนี้ธุรกิจของ อสมท ต้องพลิกโฉมสู่ Digital Solutions ด้วยเช่นกัน เปิดตัวกลุ่มแรกด้วย 4 แพลตฟอร์ม เพื่อสร้างโอกาสและยกระดับให้คนไทย 4 ด้าน
1. The Master แพลตฟอร์มด้านความรู้ รวบรวมกูรูในสาขาต่าง ๆ ทั้งด้านการตลาด เศรษฐกิจ การทำธุรกิจ ด้านภาษา และจะเพิ่มด้านอื่นๆ เข้ามาอีก ด้วยแนวคิด “Think Like The Master” ซึ่งจะมาให้ความรู้ เคล็ดลับและทางลัดสู่ความสำเร็จ
ผู้สนใจ สามารถติดตามเรียนรู้แนวคิดจากกูรูตัวจริงเกี่ยวกับแนวโน้มของโลกในปัจจุบัน และการรับมือสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงในอนาคต ผ่านมุมมองระดับ Master ข้อมูลเบื้องต้นดูและฟังได้ฟรี แต่หากต้องการข้อมูลแบบ Exclusive เฉพาะด้าน ความรู้เชิงลึก สมัครเป็นสมาชิกรายเดือน เพื่อติดตาม บทความ Podcast คลิปวิดีโอ e-book รวมทั้งคอร์สเรียนออนไลน์ ผ่านแพลตฟอร์ม The Master ที่จะเริ่มในไตรมาส 4 ปี 2563
2. The Shot แพลตฟอร์มขายลิขสิทธิ์ Footage ทั้ง วิดีโอ ภาพนิ่ง และกราฟฟิก ที่ถ่ายทำโดยช่างภาพระดับมืออาชีพ เป็นการส่งเสริมครีเอทีฟ อีโคโนมี่ ในประเทศไทย รูปแบบเดียวกับ Getty Images และ Shutterstock
เฟสแรกแพลตฟอร์ม The Shot จะเปิดตัวด้วย Footage ของช่างภาพข่าวและสารคดีที่มีประสบการณ์และทักษะทางเทคนิคระดับสากลของ อสมท ซึ่งเป็นสถานีทีวีแห่งแรกของประเทศ ที่มีคลังภาพเหตุการณ์สำคัญของไทยและวิดีโอสำคัญจำนวนมาก ซึ่งหาจากที่ไหนไม่ได้
แพลตฟอร์มนี้จะเป็น Hub ของภาพถ่ายและ Footage ทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน ซึ่งช่างภาพมืออาชีพสามารถเข้าร่วมเป็น Partners กับ The Shot by MCOT ได้ เริ่มในไตรมาส 4 ปี 2563 ส่วนเฟสสองปีหน้า จะเปิดให้คนทั่วไปเข้ามาร่วมเป็นพาร์ทเนอร์ เพื่อสร้างโอกาสหารายได้จากภาพถ่ายและวิดีโอ
ส่วนกลุ่มผู้ซื้อจะเป็น บริษัทสื่อ ที่ต้องการภาพข่าว เหตุการณ์ ไปใช้งาน รวมทั้งบริษัทโฆษณา ที่สามารถเลือกซื้อ Footage ไปใช้ผลิตคอนเทนท์โดยไม่ต้องถ่ายใหม่ จึงช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย
3. แรงใจ แอปพลิเคชัน เป็นแพลตฟอร์มหางาน Labor Job Marketplace ที่จะช่วยให้แรงงานทั่วประเทศ ได้มีงานทำ ซึ่งยังเป็นช่องว่างในตลาดหางาน ที่ส่วนใหญ่เป็นแพลตฟอร์มหางานของคนทำงานออฟฟิศ ยังไม่มีแพลตฟอร์มระดับแรงงาน
การพัฒนาแอป “แรงใจ” ที่มีกลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงาน ปัจจุบันต้องเจอกับปัญหาตกงานตัวเลขน่าจะอยู่หลักล้านคนในช่วงโควิด เป็นกลุ่มเดียวกับฐานผู้ฟังคลื่นลูกทุ่งมหานคร FM95 คลื่นลูกทุ่งอันดับหนึ่งของประเทศไทยที่มีฐานผู้ฟังอยู่ทั่วประเทศ ครอบคลุมผู้ฟังกลุ่มแรงงานจากหลากหลายสาขาอาชีพ การสื่อสารจึงให้สื่อหลักวิทยุ ที่เป็น Core Business ของ อสมท มาเป็นช่องทางประชาสัมพันธ์
รูปแบบการทำงานแพลตฟอร์มแรงใจ เป็นจับคู่แรงงานกับนายจ้าง กลุ่มผู้ประกอบการ ที่มีความต้องการหาแรงงาน โดยผู้ต้องการหางาน เข้ามากรอกประวัติและประเภทงานที่ต้องการผ่านแอปและเว็บไซต์แรงงาน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ส่วนนายจ้าง ก็เข้ามาโพสต์ประกาศหาแรงงาน หากตรงกับผู้สมัครระบบจะส่งข้อความเตือนผ่านแอปและ SMS เพื่อให้มาสัมภาษณ์งาน รูปแบบการหารายได้ เมื่อนายจ้างประกาศหางาน และหาคนได้แล้ว จึงเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเป็นราย transaction และหากมีผู้ใช้งานจำนวนมาก อสมท จะมีรายได้จากการโฆษณาผ่านแพลตฟอร์มดังกล่าวอีกทาง
4. ShopMania E-Commerce เป็นแหล่งรวมสินค้ายอดนิยมคัดสรรจากท้องถิ่นต่างๆ เพื่อสร้างโอกาสพัฒนาธุรกิจของคนไทยและส่งเสริม SMEs นำมาขายผ่านอีคอมเมิร์ซ ทั้งสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าเพื่อสุขภาพและความงามที่ได้มาตรฐาน จำหน่ายในราคาส่งตรงจากผู้ผลิตไทย นอกจากนี้ยังมีช่องทางจำหน่ายผ่าน Home Shopping จาก ShopmaniaTV อีกด้วย
ShopMania อีคอมเมิร์ซจึงเป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการช่วยผู้ประกอบการไทยในต่างจังหวัดสามารถเข้าถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ โดยมีทีมงานทั่วประเทศคอยคัดสรรกลุ่มสินค้ายอดนิยมเข้าร่วมจำหน่าย และเปิดรับสินค้าจากคนทั่วไป
จับมือ YDM ให้บริการ Digital Services
การให้บริการ แพลตฟอร์ม Digital Solutions โดยเฉพาะ ShopMania E-Commerce อสมท ได้ร่วมมือเป็นพันธมิตรกับ บริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) ยักษ์ใหญ่ทางด้านดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง โซลูชั่น เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ รวมทั้งให้บริการ Digital Services เต็มรูปแบบให้กับผู้ประกอบการ และ SMEs ที่เข้ามาจำหน่ายสินค้าในแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นบริการแบบ B2B
โดย YDM มีบริการ Digital Media Solution, Digital Media Planning, Digital Production, Social Media Management และ Data Management Service ช่วยผู้ประกอบการพัฒนาตั้งแต่ เว็บไซต์ การเข้าสู่ช่องทางอีคอมเมิร์ซ การผลิตสื่อคอนเทนท์ วิเคราะห์ดาต้าและคอนซูเมอร์ อินไซต์ โดย อสมท มีสื่อสนับสนุน ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เพื่อร่วมกันขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซและโฮมช้อปปิ้ง ShopMania
“ธุรกิจดิจิทัล แพลตฟอร์ม จะเป็นก้าวใหม่ของ อสมท ที่จะสร้างแหล่งรายได้ใหม่แทนเม็ดเงินจากสัมปทานที่ทุกสัญญาสิ้นสุดลงในปีนี้”
“คอนเทนท์ข่าว” เข้าสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม
ในฝั่ง Core Business กลุ่มคอนเทนท์ข่าวของ อสมท ก็ได้ปรับตัวสู่ดิจิทัล แพลตฟอร์มเต็มรูปแบบ เริ่มที่ 3 แบรนด์หลัก
– เว็บไซต์ mcot.net ปรับคาแรคเตอร์ให้แตกต่างจากสำนักข่าวไทยออนไลน์ โดยพัฒนา MCOT Digital พลิกแบรนด์สู่การเป็นแพลตฟอร์ม BACKBONE ขยายฐานผู้ชมตอบโจทย์คนเมือง เติมภาพลักษณ์ของให้มีความชัดเจนมากขึ้นด้วย Creative Content พร้อมทำแคมเปญพิเศษคอนเทนท์ออนไลน์ เอาใจ สายกิน สายช้อป นักรีวิว โดยจะผนึกกำลังพันธมิตร Food Story, Retty Thailand, และ spoonwalk
– สำนักข่าวไทย ซึ่งถือกำเนิดพร้อมการก่อตั้ง องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย (อ.ส.ม.ท.) ในปี 2520 กว่า 43 ปีของ สำนักข่าวไทย จึงเป็นแบรนด์คอนเทนท์ข่าวที่แข็งแกร่งและมีความน่าเชื่อถือ บนโรดแมปมุ่งสู่เส้นทางดิจิทัล จึงพลิกโฉม “สำนักข่าวไทย” เป็นสำนักข่าวออนไลน์เต็มรูปแบบ ด้วยกลยุทธ์ More Reach, More Impact ปรับทัพคนข่าวดิจิทัลเข้าถึงผู้ชมทั่วโลก เพิ่มความทันสมัย และเข้าถึงผู้ชมมากขึ้นในชื่อ “MCOT Online News” วางตำแหน่งให้เป็นสำนักข่าวออนไลน์ระดับนานาชาติ ด้วย VDO Content ภาษาอังกฤษ และการนำเสนอบทวิเคราะห์ Exclusive Contents ซึ่งมีสำนักข่าวต่างประเทศ เช่น China Media Group เป็นพันธมิตรหลัก นอกเหนือจาก Asia Vision และ OANA เป้าหมายคือ การขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ ให้กับสำนักข่าวต่างประเทศ
– ชัวร์ก่อนแชร์ รายการที่มีแบรนด์แข็งแกร่ง จากการตรวจสอบกระแสข่าวปลอม (Fake News) ทั้งในไทยและต่างประเทศ ด้วยข้อเท็จจริงที่สังคมอยากรู้ ให้เท่าทันสื่อ ผ่านมุมมองของนักวิชาการชั้นนำและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ตลอด 5 ปี ทำมาแล้ว 1,700 คลิป มีผู้ชมกว่า 77 ล้านวิว ยังคงเน้นการสร้างสรรค์คอนเทนท์รูปแบบ “Innovative Learning” เพื่อเข้าถึงระดับเยาวชนมากขึ้น
เสริมทัพ Entertainment ด้วยแอป 9 Entertain เปิดโปรเจกต์เกม
ในฝั่งคอนเทนท์บันเทิง มีแบรนด์หลัก Nine Entertain ข่าวบันเทิง ที่เริ่มในปี 2546 ต่อยอดสู่งาน Nine Entertain Awards ขยายสู่ดิจิทัลแพลตฟอร์ม ปีนี้ปรับโฉมใหม่เปิดตัวแอปพลิเคชัน เพิ่มเติมด้วยแพลตฟอร์ม Entertainment รูปแบบใหม่
– 9 Entertain เตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชันบันเทิงโฉมใหม่ในวันที่ 1 กันยายน 2563 เพิ่มฟีเจอร์ต่างๆ Star Event ที่ให้สิทธิร่วมกิจกรรมพิเศษกับศิลปินดารา ทั้งคอนเสิร์ต ไลฟ์พิเศษ แฟนมีตติ้ง และอีกหนึ่งกิจกรรมในแอป คือ Star Voting & Ranking การโหวตบนสมาร์ท เพื่อลุ้นรับของรางวัลและอินเตอร์แอคทีฟกับผู้ชม นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Live Steam และขายตั๋วต่างๆ
– IRIS Project เป็นการพัฒนาเกมร่วมกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยี โดยเตรียมเปิดตัว เกมไอริส แนว Survival เป็นเกมส่งเสริมการท่องเที่ยวในสถานที่ต่างๆ เพื่อหาทางรอดในการใช้เดินทาง พัฒนาโดยคนไทย และ อสมท เป็นผู้ลงทุน เพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมเกมในประเทศให้เติบโต ส่งเสริมนักพัฒนาเกมรุ่นใหม่ โดยใช้เกมเป็นสื่อสร้างสรรค์ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อสร้างธุรกิจ Non-Broadcast และรองรับนวัตกรรมบันเทิงของคนรุ่นใหม่ รูปแบบอีสปอร์ต
– WHAM แพลตฟอร์ม Music and Art Community รูปแบบ Lifestyle Platform นำเสนอสาระบันเทิงแบบไร้สังกัด จากพันธมิตรดนตรี 6 ค่ายเพลง 3 มหาวิทยาลัยดนตรี เสริมทัพด้วย WHAM 360 Fusion Music รายการเพลงวาไรตี้บน LINE TV ฮิตติดกระแสขึ้นสู่ Trend Twitter ในปี 2564 ร่วมมือกับ TikTok ทำ Challenge และเตรียมเปิดตัว WHAMER ศิลปินอินดี้น้องใหม่ ขยายสู่แพลตฟอร์มระดับอาเซียน เปิดให้ศิลปินมาปล่อยของบนแพลตฟอร์ม
– Little Yak แพลตฟอร์มเนื้อหาและ Community สร้างสรรค์พัฒนาการรอบด้านที่เหมาะสำหรับเด็กและครอบครัว เป็นแหล่งรวมข้อมูลที่ผู้ปกครองต้องรู้ในการเลี้ยงดูลูกยุค New Normal
การวางพื้นฐานทางธุรกิจใหม่ Digital Services ของ อสมท จะใช้เวลาประมาณ 1-2 ปี เพื่อสร้างเม็ดเงินใหม่ๆ มาทดแทนรายได้จากธุรกิจเดิม และคาดหวังให้ธุรกิจนี้มีการขยายและเติบโตมากขึ้นอนาคต ทำให้สัดส่วนรายได้ของ อสมท จะมาจาก 3 แหล่งใหญ่ในอนาคต คือ โทรทัศน์ 35% วิทยุ 30% ธุรกิจดิจิทัล 30% และอื่นๆ 10%
วันนี้ต้องยอมรับว่าธุรกิจทีวีและวิทยุ ที่เคยเป็นรายได้หลักของ อสมท ถดถอยจากการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภค จึงต้องลดความเสี่ยงด้วยแหล่งรายได้ใหม่ในธุรกิจที่เป็นเทรนด์เติบโตในกลุ่มดิจิทัล แพลตฟอร์ม ต่อยอดจาก Core Business คอนเทนท์ข่าวและบันเทิงแบรนด์ที่แข็งแกร่งอยู่แล้ว เพื่อให้ อสมท ฝ่ากระแส Disruption นี้ไปให้ได้