กลายเป็นประเด็นร้อนที่ส่อเค้าสร้างความปั่นป่วนให้ผู้ชมทีวีและอุตสาหกรรม จากกรณีศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาประกาศ “เรียงช่อง” ปี 2558 ของ กสทช.ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวี เป็นคำสั่งไม่ชอบด้วยกฏหมาย ขณะนี้คดีอยู่ชั้นอุทธรณ์ นัดไต่สวนในวันที่ 25 สิงหาคมนี้ หากคำพิพากษาศาลปกครองกลางสูงสุดยืนตามศาลชั้นต้น จะส่งผลให้ลำดับช่องของทีวีดิจิทัลในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเกิดความสับสนอีกครั้ง
แม้คู่คดีฟ้องร้องศาลปกครอง คือ กสทช. กับ โครงข่ายทีวีดาวเทียม,เคเบิลทีวี แต่ฝ่ายที่ได้รับผลกระทบเต็มๆ คือช่องทีวีดิจิทัล หมายเลขช่องที่ประมูลมาไร้ความหมาย ส่งผลกระทบสร้างความสับสนต่อผู้ชมจนหาช่องไม่เจอ และอาจมีการฟ้องร้องกันไปมาไม่จบเป็นมหากาพย์
เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม ในประชุมกลุ่มย่อย (focus group) การกำหนดหมวดหมู่และจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ครั้งที่ 2 ที่หอประชุม กสทช. จึงเกิดปรากฏการณ์แม่ทัพผู้บริหารช่องทีวีดิจิทัลทุกช่องรวมตัวแสดงพลังสนับสนุนแนวทางประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ของ กสทช. นำทัพโดย คุณสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมดิจอตอลทีวี, คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม GMM 25, คุณถกลเกียรติ วีรวรรณ One 31, คุณสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ช่อง 33, คุณวัชร วัชรพล ไทยรัฐทีวี 32, คุณนวมินทร์ ประสพเนตร โมโน 29 เพื่อแก้ปัญหา “เดดล็อค” การเรียงช่อง
โดย กสทช.เสนอออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ ให้ทีวีดาวเทียม, เคเบิ้ลทีวี เรียงช่องแบบบอกรับสมาชิกในหมายเลข 1-10 ได้เอง แต่ห้ามเอาช่องทีวีดิจิทัลไปออกซ้ำ และต้องคงหมายเลขช่องทีวีดิจิทัล 11-36 ไว้ดังเดิมในทุกโครงข่าย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันที่ทีวีดิจิทัลต้องจ่ายค่าประมูลในมูลค่าสูงลิบ
ช่องทีวีให้ความเห็นที่ประชุมในทิศทางเดียวกันว่า ทีวีดิจิทัลเป็นสื่อหลักของชาติ มีความสำคัญต่อสังคมและความมั่นคงของชาติ ที่ต้องทำให้ผู้ชมเข้าถึงง่ายที่สุด หมายเลขช่องที่ได้มาก็เกิดจากเงื่อนไขการประมูล การมีประกาศ “เรียงช่อง” ก็เพื่อมาช่วยแก้ปัญหาคนดูหาช่องไม่เจอ เพราะเลขช่อง ในโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีไม่ตรงกับเลขที่ประมูลได้ ซึ่งเคยเกิดขึ้นเมื่อ 5 ปีที่แล้ว กว่าจะสร้างการจดจำหมายเลขช่องให้ผู้ชมได้ต้องใช้เวลาและเงินทุนมหาศาล หากเกิดการเปลี่ยนแปลงอีกย่อมผลกระทบต่อผู้ชมและความเสียหายต่อผู้ประกอบการแน่นอน
แนวคิดและข้อเสนอของ กสทช. ในการยกหมายเลข 1-10 ให้โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเพื่อยุติปัญหานี้ ดูเหมือนจะเป็นทางออกที่ประนีประนอม แต่ในที่ประชุมก็ยังมีการถกเถียงแสดงความเห็นอ้างสิทธิ์และความเสียหายของผลประโยชน์แต่ละฝ่าย โดยเฉพาะประเด็นการห้ามประเภทรายการคู่แข่งของช่องทีวีดิจิทัลออกอากาศในหมายเลขดังกล่าว เพราะถือเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมกับช่องทีวีดิจิทัลที่จ่ายเม็ดเงินในการประมูลมา ในขณะที่โครงข่ายต้องการจัดเรียงโดยอิสระ
กลุ่มช่องทีวียังชี้ประเด็นอีกว่า การเข้ามาประมูลช่องทีวีดิจิทัล เพราะประกาศ must carry ที่ กสทช.ให้ความมั่นใจว่าจะให้ทุกโครงข่ายนำช่องทีวีดิจิทัลไปออกอากาศระหว่างการขยายพื้นที่ออกอากาศทีวีภาคพื้นดิน พร้อมออก ประกาศ “เรียงช่อง”ตามหมายเลขที่ได้จากการประมูล และย้ำว่าทั้งสองประกาศนี้ทั้ง must carry และ เรียงช่อง เป็นเรื่องเดียวกัน มีความหมายสำคัญอย่างยิ่งต่อธุรกิจทีวีดิจิทัล และการเข้าถึงของผู้ชม
เมื่อการเปลี่ยนผ่านการรับชมทีวีภาคพื้นดินของทีวีดิจิทัลไม่เป็นไปตามแผนของ กสทช. ประกาศทั้งสองฉบับนี้ยิ่งต้องคงไว้คู่กันตลอดอายุใบอนุญาต เพราะหากไม่มีประกาศสองฉบับนี้ผู้ประกอบการจะไม่เข้าประมูลช่องทีวีดิจิทัลแน่นอน
ประเด็นที่น่าสนใจจากวงประชุม คือการยิงคำถามว่า โครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิลทีวีเกิดความเสียหายอย่างไรจากประกาศเรียงช่อง จึงเป็นเหตุให้เกิดการฟ้องร้องครั้งนี้ ในเมื่อโครงข่ายก็ได้ประโยชน์จากการมีช่องรายการจากทีวีดิจิทัลที่แข่งขันกันด้วยคุณภาพ ช่วยสร้างมูลค่าให้โครงข่ายด้วยซ้ำ และเทคโนโลยีระบบดิจิทัลในปัจจุบันก็ทำให้โครงข่ายทั้งทีวีดาวเทียมและเคเบิลสามารถมีช่องรายการได้อย่างไม่จำกัด หรือแม้แต่การส่งสัญญานดาวเทียมตามกฎ must carry ช่องทีวีดิจิทัลก็เป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายเอง
โครงข่ายมีวิธีที่สามารถใช้เทคโนโลยีดึงสัญญานมาออกอากาศได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเช่าช่องสัญญานดาวเทียม (transponder) แต่อย่างใด
การเรียงช่องตามประกาศฉบับปัจจุบันจึงไม่มีใครเป็นผู้เสียประโยชน์ แต่การยกเลิกประกาศเรียงช่องต่างหากที่จะเปิดให้มีการแสวงหาผลประโยชน์จากความเดือดร้อนของทีวีดิจิทัลและสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การหาทางออกของปัญหานี้ มีแนวโน้มยังไม่จบง่ายๆ เพราะในฝั่งของคู่กรณี ตัวแทนโครงข่ายทีวีดาวเทียมและเคเบิล แสดงความเห็นยืนกรานเดินหน้าฟ้อง ประกาศเรียงช่อง รวมไปถึง must carry แม้ กสทช.เสนอทางออก ยกช่อง 1-10 ให้สามารถจัดเรียงช่องบอกรับสมาชิกเองแล้วก็ตาม และโครงข่ายยังต้องการเข้าไปจัดเรียงช่องในพื้นที่ประมูลของช่องที่คืนใบอนุญาตที่ว่างลงเพิ่มเติมนอกเหนือจาก 1-10 อีกด้วย และไม่เห็นด้วยที่ กสทช.จะเร่งออกประกาศเรียงช่องฉบับใหม่ ต้องการให้รอคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อน
สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เห็นว่า หากสถานการณ์เดินไปถึงจุดนั้น และศาลพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จะเกิดความเสียหายในฝั่งของทีวีดิจิทัล ที่กระทบต่ออุตสาหกรรมหากนับไปจนจบอายุใบอนุญาตมูลค่าโฆษณาถึงแสนล้าน แม้ว่าจะมีการหยิบยกประเด็นเรื่องการยกช่อง 1-10 ขึ้นมาเป็นข้อพิจารณา แต่ความเสียหายจากฟากฝั่งทีวีดิจิทัลยังคงมีอยู่ และเป็นความเสียหายที่ยากแก่การเยียวยาในภายหลัง
เมื่อเกิดความปั่นป่วนผู้ชมไม่สามารถรับชม หรือหาช่องทีวีดิจิตอลไม่เจอ ก็จะเป็นโอกาสของเทคโนโลยีการรับชมใหม่ทางออนไลน์อย่าง OTT ที่เติบโตพร้อมเทคโนโลยี 5 G แบบเบ็ดเสร็จ จะเกิดความเสียหายมหาศาลเกินกว่าจะเยียวยาได้ และอาจถึงจุดล่มสลายของทีวีดิจิทัล สื่อหลักของชาติในที่สุด หากเป็นเช่นนั้นทีวีดิจิทัลก็ต้องเดินไปถึงจุดที่ต้องฟ้องร้อง กสทช.ต่อศาลปกครองอีกครั้งไม่จบสิ้นเช่นกัน
การแสดงความเห็นกลุ่มย่อยในครั้งนี้ กสทช.รับข้อเสนอและความเห็นของทุกฝ่าย และจะมีความคืบหน้าผลการพิจารณาเรื่องนี้ภายใน 1 สัปดาห์