นับเป็นการตอกย้ำการเปลี่ยนเส้นทางธุรกิจ จาก “สื่อ” สู่ “พาณิชย์” ของ RS ว่ามาถูกทาง เพราะท่ามกลางการดิ้นร้นอยู่รอดของ “ทีวีดิจิทัล” จากเม็ดเงินโฆษณาขาลง แต่ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” นำทัพ RS ฝ่าวิกฤติโควิด-19 โชว์รายได้ธุรกิจพาณิชย์ไตรมาส 2 สูงสุดในรอบ 5 ปี ตั้งแต่เริ่มต้นในปี 2558
อย่างที่รู้กันว่าโควิด-19 เป็นวิกฤติใหญ่ในปีนี้ กระทบทุกอุตสาหกรรมและกำลังซื้ออย่างหนัก หากดูกลุ่มสื่อ เม็ดเงินโฆษณาครึ่งปีแรก 2563 “นีลเส็น” สรุปมูลค่า 51,213 ล้านบาท ติดลบ 13% ลดลงกว่า 7,700 ล้านบาทเทียบปีก่อน ทุกสื่อสาหัส แต่ที่หนักสุดก็ “ทีวี” มีมูลค่า 29,193 ล้านบาท ติดลบ 15% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เม็ดเงินหายไปเกือบ 5,000 ล้านบาท เจ้าของทีวีดิจิทัลวันนี้ ส่วนใหญ่จึงยัง “บาดเจ็บ” เว้นแต่ “เฮียฮ้อ” แห่ง RS ที่เปลี่ยนธุรกิจสื่อสู่พาณิชย์เต็มตัวแล้ว
แม้ภาพรวมเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 2563 ยังได้รับผลกระทบหนักจากสถานการณ์โควิด และรายได้ธุรกิจสื่อทีวี ยังอยู่ในอาการถดถอย แต่ บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ยังโชว์กำไรสุทธิ 108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากธุรกิจพาณิชย์มีรายได้และกำไรสูงขึ้น
รายได้ธุรกิจพาณิชย์สูงสุดรอบ 5 ปี
ไล่เรียงรายได้อาร์เอส จากการขายและบริการไตรมาส 2 ปี 2563 มีจำนวน 833 ล้านบาท ลดลงจากไตรมาสเดียวกันปีก่อน 7.5% และลดลงจากไตรมาส 1 ปีนี้ 15.4% แบ่งได้ดังนี้
– ธุรกิจพาณิชย์ ซึ่งมีรายได้จากการจัดจำหน่ายสินค้าแบรนด์ของอาร์เอสเอง และสินค้าจากพันธมิตร ผ่านช่องทางสื่อในเครือ ทั้ง ช่อง 8 ทีวีดาวเทียม วิทยุ สื่อออนไลน์ รวมถึงจำหน่ายผ่านโมเดิร์นเทรดทั่วประเทศ รวมทั้งร่วมมือกับทีวีดิจิทัลช่องอื่นๆ เพื่อขายสินค้าผ่านทีวีช้อปปิ้ง
รายได้ธุรกิจพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2563 อยู่ที่ 568 ล้านบาท เป็นรายได้รายไตรมาสสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่อาร์เอสเริ่มธุรกิจพาณิชย์ในปี 2558 หรือในรอบ 5 ปี หากเทียบไตรมาสเดียวกันปีก่อนเพิ่มขึ้น 8.2% และ 17.2% เทียบไตรมาสแรกปีนี้
แม้กำลังซื้อผู้บริโภคชะลอตัวลงจากสถานการณ์โควิด แต่อาร์เอส ใช้กลยุทธ์เพิ่มช่องทางการขายใหม่ๆ เข้ามาสร้างรายได้ ปัจจุบันธุรกิจพาณิชย์มีฐานลูกค้าเท่ากับ 1.4 ล้านราย โดยนำระบบ Predictive Dialing System (PDS) เข้ามาบริหาร วิเคราะห์ข้อมูลฐานลูกค้า พัฒนาคอลเซ็นเตอร์ให้เกิดประสิทธิภาพ นำเสนอผลิตภัณฑ์กลุ่มดูแลสุขภาพ และโปรโมชั่นที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างแม่นยำ โดยเฉพาะการจัดแคมเปญ RS Mall Mid Year Super Sale ทำให้รายได้จากกลุ่มลูกค้าโทรเข้า (inbound customer) และลูกค้าเดิมที่บริษัทโทรออก (outbound customer) เติบโตสูง
ไตรมาส 2 ธุรกิจพาณิชย์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 70% ขยับเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ 60%
– ธุรกิจสื่อ รายได้ไตรมาส 2 ปีนี้อยู่ที่ 221 ล้านบาท ลดลง 15.7% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันปีก่อน และลดลง 41.2% เทียบไตรมาสแรกปีนี้ การลดลงเป็นไปตามอุตสาหกรรมสื่อในไตรมาส 2 จากภาวะการแข่งขันด้านราคาที่สูงขึ้นมาก และการหดตัวของงบโฆษณาจากผลกระทบโควิด-19 การปรับตัวของอาร์เอส ใช้วิธีการบริหารคอนเทนท์ให้เกิดประสิทธิภาพต่อยอดสร้างรายได้ใหม่ ด้วยการขยายไปในตลาดต่างประเทศและแพลตฟอร์มออนไลน์ (OTT) ทำให้รายได้ธุรกิจสื่อใกล้เคียงปี 2562
“ทีวี” ภาพรวมโฆษณาสื่อทีวีดิจิทัล เดือนมิถุนายน 2563 ลดลง 27% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน “ช่อง 8” เน้นการบริหารต้นทุน ด้วยการนำละครเก่ามาฉายใหม่ และรายการกลุ่มกีฬาที่ไม่สามารถจัดรายการสดได้ แม้เรตติ้งลดลง แต่ช่วยให้ยังมีกำไร
“วิทยุ” อุตสาหกรรมสื่อวิทยุเดือนมิถุนายนลดลง 36% เทียบปีก่อน ส่วนคลื่น Coolfahrenheit ของ อาร์เอส มีรายได้ลดลงตามไปด้วย เพราะไม่สามารถจัดกิจกรรม Cool Outing และ อิ๊ง Eat All Around โดยต้องเลื่อนไปไตรมาส 3 จากสถานการณ์โควิด
“เพลง” รายได้หลักมาจากการฟังเพลงผ่านออนไลน์ จึงปรับกลยุทธ์รูปแบบ Music Marketing ทำให้การบริหารต้นทุนดีขึ้น และสามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากการบริหารลิขสิทธิ์เพลงผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ แต่การงดจัดกิจกรรมและคอนเสิร์ตจากสถานการณ์โควิด ทำให้รายได้ธุรกิจเพลงจากการบริหารศิลปินและลิขสิทธิ์เพลงลดลง
“กำไร” ไตรมาส 2 เพิ่มขึ้น 14%
ไตรมาส 2 ปีนี้ อาร์เอสมีกำไรสุทธิ 108 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 14% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน จากรายได้ธุรกิจพาณิชย์สูงสุดเป็นประวัติการณ์ แต่หากเทียบไตรมาส 1 ปี 2563 ลดลง 41% จากรายได้ธุรกิจสื่อลดลง และไม่สามารถจัดกิจกรรมได้ในช่วงโควิด
การเข้าสู่ธุรกิจพาณิชย์เต็มตัว อาร์เอส วางบิสซิเนส โมเดลเป็น Entertainmerce (Entertainment + Commerce) ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกแพลตฟอร์ม ทั้งทีวี วิทยุ ออนไลน์ ผ่าน RS Mall และ Coolanything ช่วงครึ่งปีหลัง 2563 จะพัฒนาช่องทางออนไลน์ให้เข้าถึงและตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง ผ่านแอปพลิเคชั่นและเว็บไซต์ Coolism ที่มีผู้ฟังกว่า 2 ล้านรายต่อเดือน รวมถึงเว็บไซต์ RS Mall ที่มีผู้ใช้กว่า 4 แสนราย
การนำเสนอสินค้ารูปแบบใหม่ที่ผสานเข้ากับเนื้อหารายการ (Branded Content) ผ่านช่อง 8 และการออกสินค้าใหม่ของ “ไลฟ์สตาร์” ให้หลากหลายสู่ตลาดกลุ่มลูกค้าฐานกว้าง (Mass Market) เพิ่มขึ้น
ส่วนทีวีดิจิทัล ช่อง 8 โฟกัสการบริหารคอนเทนท์ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ มากขึ้น โดยรายการหลักทั้งละครไทย และกลุ่มกีฬามวย ได้เริ่มกลับมาออกกาศในไตรมาส 3 แล้ว
การสร้าง “นิวไฮ” ในธุรกิจพาณิชย์ของอาร์เอส ได้อีกครั้งในไตรมาส 2 ท่ามกลางสถานการณ์โควิด นับเป็นบทพิสูจน์เส้นทางการปรับตัวขององค์กร 40 ปี ที่มุ่งหาโอกาสจากบิสซิเนส โมเดลใหม่อยู่ตลอดเวลา RS ของเฮียฮ้อ วันนี้จึง “ไม่ต้องพูดถึง การฟื้นตัว แต่พูดการเติบโต”