เส้นทางของสองพี่น้อง “เชษฐโชติศักดิ์” เริ่มต้นค่ายเพลง Rose Sound ในปี 2519 ด้วยเงิน 50,000 บาท นั่นคือจุดเริ่มต้นของ RS ที่วันนี้ (18 ส.ค.2563) มีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (มาร์เก็ตแคป) 17,310 ล้านบาท ตลอดเส้นทาง 4 ทศวรรษของการปรับตัว จากปลาเล็กที่ต้องดิ้นร้นอยู่รอด สู่ปลาเร็ว และยุคใหม่ “ปลาฉลาด” กวาดเรียบทุกโอกาสต่อยอด วันนี้ “เฮียฮ้อ สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์” สร้างสตอรี่ใหม่ให้อาณาจักร RS GROUP กับเป้าหมายรายได้ “หมื่นล้าน” ในเวลาอีกไม่นาน
หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย “เฮียฮ้อ” ได้ฤกษ์ Open House อาณาจักรใหม่ RS GROUP อาคารสำนักงานใหม่ 3 ตึก พื้นที่ 16 ไร่ บนถนนประเสริฐมนูกิจให้ได้ยลโฉม (ส่วนบ้านหลังใหม่ของเฮียฮ้อ 15 ไร่ รั้วติดกับออฟฟิศกำลังก่อสร้าง) พร้อมอัพเดท 4 ธุรกิจ คอมเมิร์ซ เพลง วิทยุ ทีวี ของ RS ให้ฟัง
4 ทศวรรษ RS วันนี้ยุค “ปลาฉลาด”
หากย้อนดูจุดเริ่มต้นของ RS ตั้งแต่ค่ายเพลง Rose Sound ในปี 2519 ถือเป็นปฐมบทของอาณาจักร RS ที่ก้าวเข้าสู่ธุรกิจเพลง ภายใต้ อาร์.เอส. ซาวด์ ในปี 2525 กับศิลปินในสังกัด วงอินทนิน, คีรีบูน,ฟรุตตี้, ซิกซ์เซ้นส์, บรั่นดี และเรนโบว์ จากนั้นปี 2535 ย้ายสู่อาณาจักรย่านลาดพร้าว 15 เปลี่ยนชื่อเป็น อาร์.เอส โปรโมชั่น 1992 ด้วยจุดยืนบริษัทบันเทิงครบวงจร
คุณสุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) เล่าถึงการเดินทาง 4 ทศวรรษ ในนาม RS จากจุดเริ่มต้นไอคอนทางดนตรี ก้าวสู่งานด้านภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ วาไรตี้ กีฬาระดับโลก เจ้าของสื่อวิทยุ ทีวี และธุรกิจคอมเมิร์ซ เป็น“การเดินทางผ่านความสำเร็จและการปรับตัว” มาตลอดเส้นทาง สรุปมาได้ 3 ช่วงสำคัญ
1. ยุคเริ่มต้น “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” ยุคนั้น RS ยังเป็น “ปลาเล็ก” กลยุทธ์ก็ต้องหาทางรอด ไม่ให้ถูกกินไปก่อนที่จะโต นั่นคือวิธีคิด ของเฮียฮ้อ ในช่วงวัยรุ่นที่เริ่มทำธุรกิจด้วยวัย 19 ปี
2. ยุคปลาเร็วกินปลาช้า มาในปี 2535 อาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992 ก้าวสู่อาญาจักรย่านลาดพร้าว 15 เริ่มเป็นบริษัทใหญ่ การปรับตัวจึงต้องเป็นปลาเร็ว จึงเป็นช่วงที่ RS ขยายธุรกิจบันเทิงครบวงจร
3. ยุคปลาฉลาดกินทุกปลา กระแส Disrupt ที่เกิดขึ้นตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา RS ไม่รอและปรับตัวก่อนเสมอ เมื่อปี 2557 ทีวีดิจิทัลเปลี่ยนภูมิทัศน์สื่อฟรีทีวีล้นตลาด RS ก็ปรับตัวเองทันทีในปี 2558 สร้างธุรกิจคอมเมิร์ซ พลิกจากสื่อทีวีขาลงมาขายสินค้า ยุคนี้จึงต้องเป็น “ปลาฉลาด” ต่อยอดทุกโอกาสที่มีผ่านโมเดลธุรกิจ Entertainmerce (Entertainment+Commerce) วันนี้ปลาใหญ่หรือปลาเล็กไม่สำคัญ เพราะปลาฉลาดกินเรียบ
“วิสัยทัศน์ที่ชัดเจนของ RS คือ มุ่งมั่น เรียนรู้ เพื่อพัฒนา ปรับเปลี่ยนตัวเอง สร้างการเปลี่ยนแปลง และขับเคลื่อนด้วย Passion ที่จะเป็นผู้ชนะอยู่ตลอดเวลา ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คน ใช้ธุรกิจบันเทิงต่อยอดธุรกิจคอมเมิร์ซ เพื่อไปสู่เป้าหมายรายได้ 10,000 ล้าน ในเวลาไม่นาน”
การพลิกจากธุรกิจสื่อและบันเทิงสู่คอมเมิร์ซ ชัดเจนว่า RS ไม่ต้องเผชิญกับปัญหาขาดทุน เหมือนทีวีดิจิทัลที่กำลังเจอในขณะนี้ แม้วิกฤติโควิด RS ครึ่งปีแรกทำรายได้ 1,823 ล้านบาท กำไรสุทธิ 295 ล้านบาท ปีนี้เป้าหมายรายได้น่าจะแตะ 4,200-4,300 ล้านบาท สัดส่วนรายได้จากคอมเมิร์ซ 65% ทีวี 20% วิทยุ 10% และ เพลง 5%
ธุรกิจคอมเมิร์ซบุกตลาด Pet Food – รังนก
ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอ รายได้ RS มาจากธุรกิจคอมเมิร์ซ RS Mall 65% ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มขายสินค้า ผ่านช่องทางทีวีช้อปปิ้งใช้พื้นที่ 50% ของช่อง 8 และเป็นพันธมิตรขายสินค้ากับทีวีดิจิทัล ทั้งเวิร์คพอยท์, อมรินทร์ทีวี และไทยรัฐทีวี ระบบเทเลเซลส์ 500 คน และแพลตฟอร์มออนไลน์ ปัจจุบันมีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 1.4 ล้านราย ที่มีการซื้อซ้ำมากกว่า 2 ครั้งต่อปี
ปีนี้จะใช้เทคโนโลยี Voice Analytics มาวิเคราะห์น้ำเสียงและถ้อยคำของลูกค้า เพื่อดูความสนใจและนำเสนอสินค้าใหม่ๆ ผ่านคอลล์เซ็นเตอร์
ในฝั่งโปรดักท์ธุรกิจคอมเมิร์ซ ดูแลโดย ไลฟ์สตาร์ สินค้าที่ RS พัฒนาเองในกลุ่มเริ่มจาก สินค้าความงามและสุขภาพ (Health & Beauty) มี 3 แบรนด์หลัก S.O.M, มาจีค (Magique) รีไวฟ์ (Revive) ทุกแบรนด์จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาทำตลาดต่อเนื่อง
ไตรมาส 4 ปีนี้ ไลฟ์สตาร์ จะขยายธุรกิจใหม่ในกลุ่ม Pet Food อาหารสุนัขและอาหารแมว ซึ่งมีมูลค่ากว่า 40,000 ล้านบาท เติบโตปีละ 10% จากแนวโน้มสังคมสูงวัยและคนโสด ที่นิยมเลี้ยงสุนัขและแมวมากขึ้น โดยมีการพัฒนาสินค้า Pet Food ร่วมกับสัตวแพทย์และจ้างโรงงานผลิต OEM เจาะเซ็กเมนต์ไฮเอนด์ ช่องทางการขายผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ผ่านทีวีดิจิทัล จากนั้นจะขายสู่ร้านค้าปลีกทั่วไป
ที่มาของสินค้า Pet Food ก็มาจากเฮียฮ้อ เองที่เป็นคนเลี้ยงสุนัข และพร้อมจ่ายในทุกเรื่องทั้งการดูแล อาหาร และของใช้ต่างๆ เรียกว่าบางสิ่งราคาสูงกว่าของใช้คนด้วยซ้ำ แต่ทาสสุนัขและแมวพร้อมเพย์
อีกสินค้าใหม่ คือ รังนก ที่มีมูลค่าตลาดกว่า 20,000 ล้านบาท เติบโตทุกปีเช่นกัน เป็นตลาดที่ ดีมานด์มากกว่าซัพพลาย และยังมีสินค้า FMCG อีกหลายตัวที่กำลังศึกษาเพื่อพัฒนาออกมาทำตลาดอย่างต่อเนื่อง
“วันนี้ RS มีดาต้าเบสลูกค้า 1.4 ล้านราย ที่ซื้อสินค้าซ้ำ เป็นคนอายุ 40 ปี ขึ้นไป เป็นกลุ่มกำลังซื้อสูง สินค้าที่พัฒนาออกมาจึงโฟกัสไปที่ความต้องการของกลุ่มนี้ก่อน แต่ละโปรดักท์หากได้ลูกค้า 10% ของฐานลูกค้าที่มีก็อยู่ได้แล้ว”
รุกธุรกิจเพลง ฟื้นค่าย Rose Sound
จุดเริ่มต้นของ RS คือค่ายเพลงแรก Rose Sound วันนี้ เฮียฮ้อ พร้อมกลับสู่ธุรกิจเพลงอีกครั้งกับบิสซิเนส โมเดลใหม่ Music Star Commerce จากการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ ศิลปิน และสอดคล้องกับธุรกิจคอมเมิร์ซของ RS โดยให้ศิลปินแพลตฟอร์มต่อยอดขายสินค้า จะเปิดตัวธุรกิจเพลงเต็มรูปแบบในเดือนตุลาคม 2563 ผ่าน 3 ค่ายเพลง
- Rsiam ค่ายเพลงลูกทุ่ง ที่จะยกระดับให้เป็นมากกว่าเพลงลูกทุ่ง มีแนวเพลงสากลมากขึ้น ทั้งศิลปินเดิมและศิลปินใหม่
- Kamikaze ค่ายเพลงวัยรุ่น กลุ่มศิลปินใหม่ ไม่ใช่ Kamikaze เมื่อ 5-10 ปีก่อน
- Rose Sound เพลงที่เหมาะกับยุคนี้ ศิลปินใหม่หมด (ไม่ได้ย้อนไปดึงศิลปินเก่า อายุ 40-50 ปี สมัย Rose Sound กลับมาร้องเพลงใหม่)
การฟื้นค่ายเพลง Rose Sound อีกครั้งเพื่อตอกย้ำการกลับมาของไอคอนทางดนตรี ค่ายเพลงแรกในการเริ่มต้นธุรกิจของ RS เฮียฮ้อย้ำว่าหัวใจสำคัญของการกลับมาทำธุรกิจเพลงคือจังหวะที่พร้อม “เรารู้ว่าเมื่อไหร่ควรทำ ควรหยุด ควรช้า และควรเร็ว”
ธุรกิจเพลงในยุคแรกทำรายได้ให้ RS สัดส่วน 95% เมื่อถูกโดนกระแส Disrupt สัดส่วนเริ่มลดลงเรื่อยๆ ปัจจุบันอยู่ที่ 5% หากย้อนไป 10 ปีก่อน ยุคอินเทอร์เน็ตบูม ศิลปินคนหนึ่งจะเป็นนักร้อง ค่ายเพลงแทบไม่มีความหมาย เพราะพวกเขาสามารถใช้สื่อออนไลน์นำเสนอผลงานและสร้างตัวเองบนโลกโซเชียลมีเดียได้เอง
แต่การหวนคืนสู่ธุรกิจค่ายเพลงอีกครั้ง เพราะวันนี้ RS มีบิสซิเนส โมเดล ที่ชัดเจนแล้วว่า ศิลปินที่จะเลือกเข้าสู่ค่ายเพลงวันนี้ไม่ใช่ว่าร้องเพลงได้เท่านั้น เพราะเพลงเป็นแค่เครื่องมือหนึ่ง เพื่อสร้าง “สตาร์” (ศิลปิน) ที่มีตัวตน มีคาแรคเตอร์ และฐานแฟนคลับที่ชัดเจน เพื่อต่อยอดสู่ Music Star Commerce โดยศิลปินจะเป็นพาร์ทเนอร์ เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้า สร้างธุรกิจร่วมกับ RS ที่เป็นแพลตฟอร์มการขาย
ตัวอย่าง การนำศิลปินดารา มาร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์กลุ่มแฟนคลับ ภายใต้กลยุทธ์ Star Commerce Model เริ่มต้นที่ ใบเตย อาร์สยาม กับแบรนด์ BT Cosmetics Color Collection ที่ประกอบไปด้วยแป้ง Color Palette และ Lipstick ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมจากผู้ผลิตรายใหญ่จากประเทศเกาหลีที่ผลิตสินค้าให้กับแบรนด์เครื่องสำอางระดับโลก ขายผ่านช่องทางออนไลน์และร้านสะดวกซื้อ
ช่อง 8 เสริมผังใหม่-วิทยุ Cool ลุยคอนเสิร์ต
สำหรับธุรกิจสื่อ ทีวีดิจิทัล ช่อง 8 มุ่งหารายได้จาก 4 ช่องทาง คือ มีเดียสปอนเซอร์ 40% อีเวนท์ 10% การขายลิขสิทธิ์ 15% และ Entertainmerce (ขายสินค้า RS Mall) 35%
ครึ่งปีหลังได้เปิดตัวรายการใหม่ “นายจ๋าทาสมาแล้ว” ที่จะช่วยสนับสนุนและเป็นช่องทางขายผลิตภัณฑ์ Pet Food ของไลฟ์สตาร์ เป็นการเชื่อมโยงเข้ากับธุรกิจคอมเมิร์ซของ RS และรายการ “ราคาพารวย” ซื้อลิขสิทธิ์ฟอร์แมทจากสหรัฐฯ ซึ่งออกอากาศอยู่ 43 ประเทศทั่วโลก และเป็นครั้งแรกที่นำเวลาไพร์มไทม์ช่อง 8 มาทำรายการสนับสนุนโมเดลธุรกิจ Entertainmerce เพื่อเปลี่ยนผู้ชมให้เป็นผู้ซื้อสินค้า
ธุรกิจวิทยุคูลลิซึ่ม มีรายได้หลัก 3 ทาง จากวิทยุ Coolfahrenheit สัดส่วน 40% ซึ่งมีฐานผู้ฟังทุกช่องทาง 2 ล้านราย COOLive สัดส่วน 30% เตรียมจัดคอนเสิร์ตและมิวสิค เฟสติวัล 10 งานในปี 2564 มีทั้งศิลปินชั้นนำระดับประเทศและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าเข้าถึงผู้ชมคอนเสิร์ตทั้งหมดกว่า 1 แสนคน
และ COOLanything สัดส่วน 30% ช่องทางขายสินค้าส่วนหนึ่งของโมเดล Entertainmerce เปลี่ยนผู้ฟังให้เป็นลูกค้าผ่านแอปพลิเคชันคูลลิซึ่ม
ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา วันนี้ RS ทรานส์ฟอร์มจากธุรกิจบันเทิงมาสู่คอมเมิร์ซเต็มตัว ด้วยกลยุทธ์ Entertainmerce ที่นำมาใช้ขับเคลื่อนองค์กร นำศักยภาพและ Asset ทั้งหมดของ RS มาต่อยอดสร้างโอกาสทางธุรกิจ แน่นอนว่า “ RS เรียนรู้จากความผิดพลาดและต่อยอดจากความถูกต้องเสมอ” เฮียฮ้อ ย้ำว่าแม้วันนี้ทำได้ดีแล้ว แต่เส้นทางจากนี้เชื่อว่าจะทำได้ดีกว่าที่ผ่านมา