หากย้อนกลับไปเมื่อ 20-30 ก่อน “ใบปริญญา” มีความสำคัญอย่างมากต่อการทำงาน เพราะมักใช้เป็นเอกสารในการคัดเลือกคนเข้าทำงานในบริษัท แม้จะผ่านประสบการณ์ทำงานมาอย่างโชกโชน แต่หากขาดใบปริญญา โอกาสจะเข้าทำงานกับองค์กรธุรกิจในฝัน ก็แทบจะถูกปิดประตูใส่กลอนตั้งแต่ยังไม่ได้เปิดด้วยซ้ำ ในสมัยก่อนจึงมีคำพูดที่คุ้นเคยกันดีว่า ให้เรียนสูงๆ เข้าไว้ ต่อไปจะได้เป็นเจ้าคนนายคน และทำให้พ่อแม่บางคนถึงกับทุ่มเททุกอย่างเพื่อส่งลูกเรียนให้ได้ใบปริญญา
แต่ในโลกปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว มีองค์ความรู้และงานใหม่ๆ เกิดขึ้นมากมาย ทำให้ต้องเติมความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา เพราะลำพังองค์ความรู้เดิมในระบบการศึกษาอาจไม่เพียงพอกับสายงานที่ตลาดต้องการได้ ในขณะเดียวกันหลายครั้งองค์กรยังพบว่า เมื่อรับคนเข้ามาทำงานโดยเฉพาะเด็บจบใหม่ ยังไม่สามารถลงมือทำงานได้จริง ส่งผลให้หลายองค์กรธุรกิจเริ่มไม่ได้สนใจใบปริญญา แต่มองหาสิ่งที่เรียกว่า “ทักษะ” หรือ “ความสามารถพิเศษ” มาเป็นตัวชี้วัดและพิจารณารับคนเข้าทำงานมากขึ้น
สู่ยุค “ทักษะชีวิต” ที่แรงงานยุคนี้ต้องมีเพื่อรอด
คุณอริญญา เถลิงศรี กรรมการผู้จัดการ SEAC (Southeast Asia Center) ศูนย์พัฒนาและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตแห่งภูมิภาคอาเซียน บอกว่า โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูงมาก องค์ความรู้ใหม่จะต้องเกิดขึ้นตลอดเวลาเพื่อให้สอดรับสถานการณ์ หลักสูตรและวิชาการที่สอนในสถาบันการศึกษาต่างๆ จึงต้องปรับให้ทัน เพื่อสร้างและพัฒนา “กำลังคนคุณภาพ” ให้พร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงอย่างทันท่วงที เพราะปัจจุบันใบปริญญาอาจไม่ได้เป็นเครื่องการันตี 100% ว่า คุณคือผู้สมัครที่เพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติที่เหมาะสมและจะถูกเลือก
จะเห็นได้จากเจ้าพ่อนักประดิษฐ์คนดังอย่าง Elon Musk เจ้าของธุรกิจที่สร้างนวัตกรรมเปลี่ยนโลกอย่าง Tesla และ SpaceX ได้เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในปี ค.ศ. 2014 และมีการกล่าวในทวิตเตอร์อยู่บ่อยครั้งถึงการรับคนเข้าทำงานในบริษัทของเขา โดยมีใจความสำคัญว่า “เขาไม่ได้สนใจใบปริญญา แต่กลับมองหาเอกสารหรือใบการันตีความสามารถพิเศษที่สามารถพิสูจน์ได้ หรือเรียกง่ายๆ นั่นคือ Portfolio” ไม่เพียงแค่นั้น เพราะหากดูผู้ทรงอิทธิพลที่สามารถผลักดันธุรกิจให้มีมูลค่ามหาศาลและสร้างปรากฏการณ์พลิกโลก หลายคนก็ไม่ได้เรียนจบมหาวิทยาลัย แต่กลับประสบความสำเร็จมากมายไม่ว่าจะเป็น Bill Gates แห่งอาณาจักร Microsoft หรือ Larry Ellison ผู้ก่อตั้ง Oracle รวมถึง Richard Branson ผู้ก่อตั้ง Virgin Group หรือแม้กระทั่ง Steve Jobs สุดยอดซีอีโอผู้ล่วงลับแห่ง Apple
ดังนั้น “ทักษะ” จึงเปรียบเสมือน “อาวุธสำคัญ” แห่งโลกการทำงานในปัจจุบันและอนาคตในการสร้าง “กำลังคนคุณภาพ” ที่จะผลักดันองค์กรให้เกิดการเติบโตและสามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจและสังคมในแต่ละประเทศได้อย่างยั่งยืน ซึ่งทักษะในที่นี้ ไม่ใช่แค่การมี Technical Skill ในการทำงานเท่านั้น แต่คนยุคใหม่ต้องพร้อมทั้งทักษะ Hard Skills หรือ ความรู้เชิงเทคนิค และ Hyper-relevant Skills หรือ ความรู้และทักษะที่สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน หรือเรียกง่ายๆ ว่า ทักษะชีวิต ที่จะนำไปสู่โอกาสมากมายในการทำงาน
สร้างกำลังคนคุณภาพ ด้วย Hard Skills และ Hyper-relevant Skills
ในปัจจุบัน Hard Skills และ Hyper-relevant Skills มีความสำคัญมากต่อชีวิตการทำงาน โดยคุณอริญญา บอกว่า ทักษะเหล่านี้ จะเกิดประสิทธิภาพได้ดีที่สุดเมื่อทำงานควบคู่ไปด้วยกัน เป็นเพราะ Hard Skills ทำให้คุณได้สัมภาษณ์งาน แต่คุณจะได้งานและรักษางานจนกระทั่งเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้ จำเป็นต้องมี Hyper-relevant Skills ดังนั้น นอกจากการมี Skill ในสายงานที่ตอบโจทย์กับตลาดแล้ว ยังต้องมีทักษะการทำงานเป็นทีมได้ รู้แพ้รู้ชนะ สื่อสารกับคนอื่นรู้เรื่อง แสดงออกและเสนอความคิดได้ รวมทั้งมีระบบความคิดที่สมเหตุสมผล การเพิ่มเติมทักษะอยู่ตลอดเวลาทั้ง Upskill และ Reskill จึงเป็นเคล็ดลับสำคัญ สำหรับนักศึกษาที่กำลังจะเข้าตลาดแรงงาน รวมไปถึงคนที่อยู่ในระบบการทำงานแล้ว
หลักสูตร Non-Degree ทางออกใหม่สำหรับนักศึกษาและคนทำงาน
นอกจากการอัพเดทความรู้ให้สามารถปรับใช้กับการทำงานจริงแล้ว สิ่งสำคัญของการเติมความความรู้ใหม่ให้สามารถอยู่รอดได้คือ การรู้จักต่อยอดตัวเองและเน้นเพิ่มเติมทักษะที่จำเป็นเข้าไปให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพราะโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงรวดเร็วและมีความไม่แน่นอนสูง องค์ความรู้ใหม่เกิดขึ้นตลอดเวลา วิชาการที่เรียนอยู่วันนี้อาจล้าสมัยในอีก 2 – 3 ปีข้างหน้า หลายอาชีพกำลังจะหายไป บ้างถูกแทนที่ด้วยปัญญาประดิษฐ์ (AI) อาชีพใหม่ก็ไม่อาจคาดเดาว่าเป็นอะไร หลากหลายธุรกิจต้องปรับ รวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตก็ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
ในขณะเดียวกัน สถาบันการศึกษาก็ต้องพร้อมปรับตัว มองภาพใหม่ของการศึกษา ไม่ยึดติดกับการสอนเฉพาะเนื้อหาทางวิชาการแต่ต้องมองไปถึงทักษะการใช้ชีวิต รวมไปถึงกระตุ้นการเรียนรู้ด้วยตัวเองและตลอดชีวิต เพื่อความอยู่รอดในสังคมปัจจุบัน โดยคุณอริญญา มองว่า หลักสูตรประกาศนียบัตร (Non-Degree) จะเป็นทางออกที่เข้ามาตอบความต้องการนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะอัดแน่นไปด้วยทักษะเชิงเทคนิคความรู้และทักษะชีวิต สอนให้ผู้เรียนมี Learning Mindset ใหม่ๆ ที่สามารถปรับตัวให้เข้าได้กับทุกสถานการณ์ พร้อมส่งเสริมและพัฒนากำลังคนให้มีคุณภาพและมีทักษะครบถ้วนตามความต้องการของตลาดแรงงานผ่านการจัดรูปแบบการเรียนรู้ที่ตอบรับรูปแบบใหม่ของกรใช้ชีวิตที่มีคล่องตัว ทันสมัย และตรงกับความต้องการของผู้เรียนที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ เรียนรู้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (E-Learning) ระบบออนไลน์ (Online Learning) แบบห้องเรียน (Classroom Learning) และรูปแบบอื่นๆ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อลดปัญหาแรงงานไม่มีคุณภาพ ลดอัตราคนว่างในอนาคต เน้นผลิต “คน” ที่ตรงกับความต้องการ