วิกฤติดโควิด-19 กระทบหนักอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยเฉพาะธุรกิจการบิน จากมาตรการปิดน่านฟ้าเส้นทางระหว่างประเทศมาตั้งแต่เดือนเมษายน กว่า 5 เดือนที่ต้องหยุด มาถึงวันนี้ก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะเปิดบินปกติได้เมื่อไหร่ ทำให้สภาพคล่องสายการบินลดลง เริ่มลดค่าใช้จ่ายทยอยเลิกจ้างพนักงานไปแล้วหลายสายการบิน สถานการณ์ปัจจุบันจึงต้องขอมาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐ เพื่อต่อลมหายใจโดยด่วน
เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 คณะผู้บริหารระดับสูงของ 7 สายการบินในประเทศไทย ที่นำโดย คุณธรรศพลฐ์ แบเลเว็ลด์ ประธานกรรมการบริหารสายการบินไทยแอร์เอเชีย พร้อมด้วยผู้บริหารสายการบินไทยแอร์เอเชียเอ็กซ์ สายการบินไทยสมายล์แอร์เวย์ สายการบินไทยไลอ้อนแอร์ สายการบินไทยเวียตเจ็ท สายการบินนกแอร์ และสายการบินบางกอกแอร์เวยส์
ได้เข้าพบ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพื่อยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือภาคธุรกิจการบินของประเทศไทย เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมีข้อเสนอ 3 ประเด็น คือ 1. มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) ให้กับผู้ประกอบการสายการบินวงเงิน 24,000 ล้านบาท 2. ขยายระยะเวลาการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินไอพ่น และ 3. การยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบิน เช่น การขึ้นลงของอากาศยาน (Landing fee) ที่เก็บอากาศยาน (Parking fee)
หลังรับหนังสือจากผู้บริหาร 7 สายการบินแล้ว พลเอก ประยุทธ์ กล่าวว่าธุรกิจการบินเป็นธุรกิจสำคัญที่ต่างก็ได้รับผลกระทบจากโควิด เหมือนกันทั่วโลก ภาครัฐจะพิจารณาข้อเสนอจากธุรกิจการบินและหาวิธีการช่วยเหลือ ทั้งนี้ รัฐบาลโดย ศบค. กำลังหามาตรการผ่อนปรนในหลายเรื่อง ทั้งการหาแนวทางปลดล็อคเรื่องการบิน รวมทั้งกำลังเร่งผ่อนคลายเรื่องการท่องเที่ยวในประเทศโดยต้องพิจารณาทั้งต้นทาง กลางทาง และปลายทาง ขณะเดียวกันก็ต้องสร้างความเข้าใจกับต่างประเทศด้วย
“ขอให้ภาคธุรกิจการบินร่วมมือกันให้มากขึ้น ลดการแข่งขันด้านราคา โดยให้แข่งขันกันด้านบริการ ให้จัดระเบียบการดำเนินงานให้ดี ให้คงสภาพการดำเนินงานโดยไม่ให้มีหนี้สินเพิ่ม และไม่ลดการจ้างพนักงาน โดยรัฐบาลจะหามาตรการเสริมต่าง ๆ ช่วยเหลือโดยเร็วต่อไป”
ทางด้าน คุณประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ได้ชี้แจงว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่มีผลกระทบต่อสภาพคล่อง ผ่านธนาคารพาณิชย์ทุกแห่ง โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ภายในเดือนตุลาคมนี้ ส่วนการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมการดำเนินงานของสายการบินนั้น สามารถพิจารณาขยายระยะเวลาการยกเว้นและลดหย่อนค่าธรรมเนียมฯ ขยายออกไปถึงเดือนมีนาคม 2565 ขณะที่เรื่องการขอให้คงภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงเครื่องบินนั้น จะยังคงไว้ตามที่กระทรวงการคลังได้อนุมัติการลดภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเชื้อเพลิงฯ ถึงวันที่ 30 กันยายน 2563
คุณธรรศพลฐ์ กล่าวว่าปัจจุบันทั้ง 7 สายการบินที่มายืนหนังสือขอให้รัฐออกมาตรการช่วยเหลือมีการจ้างงานรวมกัน 20,000 คน หากได้รับการช่วยเหลือก็ได้รับปากว่าจะไม่เลิกจ้างพนักงาน เพราะสินเชื่อซอฟต์โลน ที่ขอไปก็จะนำมาจ่ายเงินเดือนให้พนักงานด้วย และนำมาสร้างสภาพคล่องให้ธุรกิจ เพื่อรอนโยบายรัฐ เปิดน่านฟ้ากลับมาเปิดเส้นทางบินระหว่างประเทศอีกครั้ง