HomeBrand Move !!137 ปี ไปรษณีย์ไทยเริ่มจาก “ซอง”โตด้วย “กล่อง”ขอไปต่อกับดิจิทัลและไลฟ์สไตล์ 5 เรื่องใหม่ของ ปณท

137 ปี ไปรษณีย์ไทยเริ่มจาก “ซอง”โตด้วย “กล่อง”ขอไปต่อกับดิจิทัลและไลฟ์สไตล์ 5 เรื่องใหม่ของ ปณท

แชร์ :

นับจากเปิดบริการไปรษณีย์ รับฝาก ส่งจดหมายหรือหนังสือ เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2426 มาถึงวันนี้ครบรอบ 137 ปีของ “ไปรษณีย์ไทย” ที่เริ่มจาก “ซอง”จดหมาย เติบโตได้ด้วย “กล่อง”พัสดุในยุคอีคอมเมิร์ซ ภายใต้การนำทัพของ “ก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร” กรรมการผู้จัดการใหญ่ คนแรกที่ไม่ใช่ลูกหม้อไปรษณีย์ไทย ได้บอกเล่าเส้นทางไปต่อ ด้วยการนำ ปณท เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ผู้คนมากขึ้น พร้อมขับเคลื่อนด้วยดิจิทัล

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

จากยุคกรมไปรษณีย์ไทย มาถึงบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) แต่ DNA “การบริการ” ยังเหมือนเดิม ตอกย้ำ “ไปรษณีย์ไทยเป็นมากกว่าการส่งของ” นอกจากบทบาทการนำจ่ายจดหมายและพัสดุ บุรุษไปรษณีย์ยังทำได้ทุกอย่าง อ่านได้จากเรื่องเล่าที่แชร์ในโลกออนไลน์ ทั้งช่วยจับงูขวางหน้าประตูบ้าน นำจ่ายเสร็จก็แวะช่วยลูกค้าแพ็คของส่ง ลงไปช่วยดำนาก็มี

หรือกรณี จ่าหน้าซอง/กล่องพัสดุ ไม่ชัดเจน ชื่อไม่มี ที่อยู่ไม่ครบ แต่พี่บุรุษไปรษณีย์ก็ส่งถึงมือผู้รับได้ไม่ตกหล่น  นี่ก็เป็นอีกทักษะที่ฝึกฝนจดจำลูกค้ามาตั้งแต่การนำจ่ายซอง เพราะทุกคนในแต่ละครัวเรือนต้องได้รับเอกสาร ตั้งแต่เริ่มเรียน ทำงาน จดหมายจากราชการ นั่นเป็นข้อมูลพื้นฐานที่ทำให้บุรุษไปรษณีย์รู้จักคนในชุมชนจากการ “อ่านซอง” นั่นเอง  มาถึงการส่งกล่องพัสดุ ในอีคอมเมิร์ซบูม ไม่ใช่ว่าทุกคนในครอบครัวจะเป็นนักช้อปออนไลน์และมีชื่ออยู่หน้ากล่อง เป็นธรรมดาที่ธุรกิจขนส่ง “หน้าใหม่” จะไม่รู้จักคนในพื้นที่ดีเท่าบุรุษไปรษณีย์คนเดิม

วันนี้เส้นทางไปต่อของไปรษณีย์ไทย จึงมี Asset ที่เป็นจุดแข็ง ทั้งที่ทำการไปรษณีย์ 1,460 แห่ง และที่ทำการไปรษณีย์อนุญาตอีกรวม 10,000 จุด  บุรุษไปรษณีย์ทั่วประเทศกว่า 40,000 คน ยังคงรักษา DNA ด้านบริการและสร้างประโยชน์ในเชิงเศรษฐกิจให้ผู้ประกอบการไทย

5 เรื่อง “ไปรษณีย์ไทย” ปรับสู่ยุคดิจิทัล ขออยู่ในไลฟ์สไตล์ผู้คน   

ท่ามกลางการแข่งในตลาดขนส่งพัสดุมูลค่า 66,000 ล้านบาทในปีนี้ มี “ผู้เล่น” หน้าใหม่เข้ามาชิงเค้ก ใช้เกมหั่นราคา หวังสร้างมาร์เก็ตแชร์ในตลาด ไปรษณีย์ไทยก็ต้องปรับตัว เสริมศักยภาพการแข่งขันทั้งกลุ่มธุรกิจไปรษณียภัณฑ์ดั้งเดิมประเภทจดหมาย ไปสู่รูปแบบดิจิทัล  พร้อมเพิ่มเซอร์วิสใหม่ ใช้ประโยชน์จาก Asset ที่มีอยู่สร้างรายได้ให้มากขึ้น  และนำ ปณท  เข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของลูกค้า คุณก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร กรรมการผู้จัดการใหญ่ ไปรษณีย์ไทย สรุป 5 เรื่องใหม่ที่จะได้เห็นหลังจากนี้

1. มุ่งหน้าไปสู่ดิจิทัล (Digitalization) สร้างบริการใหม่ ตู้อัจฉริยะ iBox

จากช่วงโควิด-19  ผู้คนต้องอยู่บ้าน หยุดการเดินทาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อ ไปรษณีย์ไทย จึงเข้าไปให้บริการรับและจัดส่งพัสดุกล่องยาในโรงพยาบาลกว่า 100 แห่ง เพื่อส่งให้ผู้ป่วยโรค NCDs หรือกลุ่มโรคกลุ่มไม่ติดต่อ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน เพื่อลดการเดินทางมาโรงพยาบาลของผู้ป่วย

ปัจจุบันเห็นดีมานด์ในกลุ่มนี้ ทั้งจากฝั่งโรงพยาบาลและผู้ป่วย จึงได้พัฒนาตู้อัจฉริยะรับของ iBox สำหรับจ่ายยา ให้ผู้ป่วยโรค NCDs  ปัจจุบันมีความร่วมมือกับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)  1,000 แห่ง นำตู้ iBox ไปติดตั้งในชุมชน รวมทั้งที่ทำการไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศ  เพื่อใช้เป็นจุดรับยา ในบางจุดสามารถให้บริการ 24 ชั่วโมง

ขั้นตอนเมื่อโรงพยาบาลจ่ายยา ปณท จะนำส่งไปที่ iBox ใกล้ที่อยู่ที่ผู้ป่วยระบุไว้ แล้วแจ้งเตือนไปที่แอปพลิเคชั่น ไปรษณีย์ไทย เพื่อให้ผู้ป่วยมารับยาที่ตู้ iBox  ช่วง 3 ปีนี้จะติดตั้งราว 30,000 ตู้ ทั่วประเทศ ให้บริการทั้งการรับจดหมาย พัสดุ ยา  ตู้ iBox ยังช่วยเพิ่มชั่วโมงบริการในที่ทำการ ปณท โดยไม่ต้องเพิ่มคน

2. ติดตั้ง IoT ตู้แดง ปณท  22,000 ตู้

ในยุคที่ใครๆ ก็จับมือ Collaboration  ปณท  ก็ทำเช่นกัน  โดยให้พันธมิตร บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เข้ามาพัฒนาระบบ IoT ตู้ไปรษณีย์ 22,000 ตู้ทั่วประเทศ ด้วยการติดเซ็นเซอร์ในตู้ ปณท ดูว่าตู้ไหนมีคนมาหย่อนจดหมาย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปไขตู้และนำมาจัดส่ง ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ต้องแวะไปไขทุกตู้ ทั้ง เช้า กลางวัน เย็น  บางตู้ก็ไม่มีจดหมายมาหย่อนไว้  เมื่อมีเซ็นเซอร์จะช่วยประหยัดเวลาและลดจำนวนบุคคลไขตู้เก็บจดหมายลงได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ไปทำงานด้านอื่นแทน โดย CAT จะเป็นผู้วางระบบเซ็นเซอร์ตู้ไปรษณีย์ทั่วประเทศเริ่มติดตั้งเดือนกันยายนนี้ ครบ 22,000 ตู้ภายใน 3 ปี พร้อมดูแลระบบ จัดเส้นทางให้เจ้าหน้าที่เปิดตู้  โดยเก็บค่าดูแลต่ำกว่า 100 บาทต่อตู้ต่อเดือน

3. เปิดบริการช่วยเก็บภาษีให้ อปท.

นอกจากนี้ ปณท จะเข้าไปทำงานร่วมกับ องค์กรส่วนปกครองท้องถิ่น (อปท.) เพื่อช่วยจัดเก็บภาษีต่างๆ  โดย ไปรษณีย์ไทย เป็นผู้ออกจดหมายลงทะเบียนตอบรับไปให้ผู้เสียภาษี เพื่อให้มาจ่ายภาษีที่ ปณท. ใกล้บ้าน เริ่มจากภาษีที่ดิน ที่เริ่มเก็บปีแรก  โดยสามารถจ่ายได้ทั้งที่ธนาคารกรุงไทย หรือที่ ปณท  โดย กรุงไทยจะเข้ามาทำระบบเพย์เมนต์ให้กับไปรษณีย์ไทย บริการนี้ ปณท จะได้ค่าจ้างจากการส่งจดหมายให้กับ อปท. ในแง่ประชาชนก็มีสถานที่สะดวกจ่ายภาษี

4. จับมือพันธมิตร ปั้นแบรนด์ร้านกาแฟ Post Cup

ปัจจุบันมีที่ทำการไปรษณีย์ไทยทั่วประเทศกว่า 1,400 แห่ง ซึ่งเป็นสถานที่อยู่ในชุมชน  ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์สร้างรายได้เพิ่ม เป้าหมายของ ปณท  คือต้องการเข้าไปอยู่ในไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคมากขึ้น จึงอยู่ระหว่างพูดคุยกับพาร์ทเนอร์ เพื่อเปิดให้บริการร้านกาแฟ ในที่ทำการ ปณท  โดยเจรจากับพันธมิตร 2 ราย หนึ่งในนั้น คือ  ซีพี ออลล์ ที่เสนอให้นำ Bellinee’s ร้านเบเกอรี่อบสดและเครื่องดื่ม เข้ามาให้บริการ

แต่โจทย์ของ ปณท ต้องการร่วมกับพันธมิตรพัฒนาร้านกาแฟแบรนด์ Post Cup ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็นอีกธุรกิจของ ปณท ที่จะมีรายได้จากการขายสินค้าและแฟรนไชส์ในอนาคต เพราะหากให้พื้นที่เช่ากับแบรนด์อื่น ก็จะได้แต่ค่าเช่า

“การทำแบรนด์ร้านกาแฟเอง เพื่อต้องการทำให้คนของเราเก่งขึ้น ที่ทำการไปรษณีย์ก็ได้เปิดชั่วโมงการทำงานมากขึ้น มีโอกาสสร้างรายได้จากการขายสินค้า เพราะธุรกิจขนส่งกำไรบางลงเรื่อยๆ จากการแข่งขันสูง”

5. เปิดบริการ 7 วัน เริ่มทดลองทำงานวันอาทิตย์

การเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ทำให้ธุรกิจขนส่งพัสดุ มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง และเปิดให้บริการแบบไม่มีวันหยุด  ปณท เองก็ต้องปรับตัวเช่นกัน ปัจจุบันมีสาขาที่เปิดบริการวันหยุดและ 24 ชั่วโมงอยู่จำนวนหนึ่ง

ขณะนี้กำลังเตรียมทดลองให้สาขา ปณท  ทำงานวันอาทิตย์ จากเดิมที่เป็นวันหยุด เพื่อให้บริการทั้ง 7 วัน โดยพนักงานที่มาทำงานจะได้เงินพิเศษ (โอที) และหยุดสลับวันกัน โดยจะหารือกับสหภาพแรงงาน เพื่อกำหนดรูปแบบการทำงานที่ทุกคนยอมรับได้ หากสามารถทำงานวันอาทิตย์ได้เพิ่มอีก 1 วัน ก็เท่ากับมีรายได้เพิ่มขึ้น ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเองก็มีความต้องการใช้บริการส่งของทุกวัน

“การทำงานวันอาทิตย์ที่ปัจจุบันเป็นวันหยุด จะช้าจะเร็วก็ต้องทำ ปีนี้น่าจะเห็น เพราะรายได้ ปณท ลดลงเรื่อยๆ จึงต้องหาช่องทางเพิ่มรายได้”

ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมา ปณท มีรายได้ประมาณ 12,000 ล้านบาท กำไร 865 ล้านบาท สถานการณ์โควิด-19 ทำให้ยอดไปรษณีย์ส่งต่างประเทศลดลง และการแข่งขันสูงจากธุรกิจขนส่งในตลาดแข่งขันตัดราคา ทำให้รายได้ทั้งปีนี้ จะต่ำกว่าเป้าหมายที่เดิมก่อนโควิดวางไว้  30,000 ล้านบาท  โดยรายได้หลักมาจากขนส่งกล่องพัสดุ 50%  ซองกับแสตมป์  30% และบริการอื่นๆ 20%

วันนี้ ไปรษณีย์ไทย องค์กร 137 ปี ยังเผชิญความท้าทายอีกมาก จากบทบาทรัฐวิสาหกิจที่ให้บริการสังคม ไม่ใช่บริษัทที่มุ่งกำไร แต่ต้องหารายได้ดูแลองค์กร การทำงานจึงต้องปรับตัวให้เร็วและเปลี่ยนให้ทันสถานการณ์การแข่งขัน


แชร์ :

You may also like