HomeDigitalเพราะเทคโนโลยีมีค่ามากกว่าที่คิด เปิดเส้นทางขยะจากถังสีฟ้าของดีแทคกลับสู่การเป็น”ทองคำ”

เพราะเทคโนโลยีมีค่ามากกว่าที่คิด เปิดเส้นทางขยะจากถังสีฟ้าของดีแทคกลับสู่การเป็น”ทองคำ”

แชร์ :

เชื่อว่าตอนนี้เราอาจได้เห็นการออกมารณรงค์ให้คนไทยคัดแยกขยะ โดยเฉพาะขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นภายใต้การสนับสนุนของแบรนด์ต่าง ๆ โดยหนึ่งในไอเท็มที่พบได้บ่อยมากในช่วงนี้ก็คือถังสีฟ้าที่มาพร้อมสโลแกน “ทิ้งให้ดี” ของดีแทคที่กระจายอยู่ทั่วไป

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แต่หากลงลึกไปที่ข้อมูลเบื้องหลังการจัดเก็บขยะ อาจพบสิ่งที่ชวนอึ้งมากไปกว่านั้น เพราะข้อมูลของฝ่ายสื่อสารองค์กรและความยั่งยืนของดีแทคบอกว่า เฉพาะแค่ขยะอิเล็กทรอนิกส์จากการดำเนินธุรกิจด้านการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท ในปี 2019 ก็มีมากถึง 167,255 ชิ้น หรือคิดเป็น 79% ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดที่บริษัทเก็บได้แล้ว ขณะที่อีก 21% เป็นการรวบรวมจากผู้ใช้งานทั่วไป หรือคิดเป็นจำนวน 46,221 ชิ้น รวมทั้งสิ้นในปี 2019 บริษัทมีขยะอิเล็กทรอนิกส์จากโครงการดังกล่าวมากถึง 213,476 ชิ้น

โดยทั่วไปแล้ว การจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของประเทศไทยยังไม่มีการจัดการที่ดีนัก เห็นได้จากข้อมูลของสำนักสิ่งแวดล้อมพบว่า กว่า 50% ของผู้ใช้งานเลือกที่จะขายซากขยะเหล่านั้นให้กับผู้รับซื้อของเก่า ซึ่งพ่อค้ารับซื้อของเก่ามักจะนำขยะไปแยกชิ้นส่วน โดยเลือกเฉพาะส่วนที่มีมูลค่าเพื่อนำไปขายต่อได้ และกำจัดซากขยะที่เหลือด้วยการทิ้งปะปนกับขยะทั่วไป ซึ่งเป็นการกำจัดขยะที่ไม่ถูกต้อง ส่งผลต่อสุขภาพอนามัยทั้งในระยะสั้นและระยะยาว และก่อปัญหามลพิษต่อแหล่งน้ำ พื้นดิน และอากาศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แล้วขยะอิเล็กทรอนิกส์เกือบสองแสนชิ้นจากดีแทคจัดการอย่างไร

สำหรับการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ของดีแทคที่มีเกือบสองแสนชิ้นต่อปีนั้น ได้รับการเปิดเผยจากคุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ว่า ได้มีการจับมือกับบริษัทที่ให้บริการรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ตามมาตรฐานสากล ชื่อ Tes มาตั้งแต่ 8 ปีที่แล้ว ทำให้ในแต่ละปี นอกจากได้กำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกวิธีแล้ว ยังสามารถคืนโลหะมีค่าและวัตถุดิบสำคัญกลับเข้าสู่กิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ได้ 96-98% ของจำนวนขยะที่เก็บได้ด้วย

ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล บริษัทได้ตั้งเป้าหมายว่า จะต้องไม่ทิ้งซากขยะอิเล็กทรอนิกส์ในอนาคตเป็นขยะฝังกลบ (ZERO Landfill) ให้ได้ภายในปี 2565

เรียนรู้จากดีแทค เลือกผู้กำจัดขยะอย่างไรให้ได้มาตรฐาน

สำหรับบริษัทที่สนใจนโยบายในลักษณะเดียวกัน แต่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร คุณอรอุมาได้เล่าเส้นทางกระบวนการจัดหาบริษัทรีไซเคิลเอาไว้ดังนี้

  • พิจารณาจากนโยบายการจัดซื้อจัดหาสินค้าและบริการของบริษัท โดยต้องมีการประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ อาทิ ธรรมาภิบาล การบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม
  • ผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์จะต้องลงนามในเอกสารว่าด้วยข้อตกลงในการปฏิบัติธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ หรือ Agreement of Responsible Business Conduct และต้องแสดงใบอนุญาตประกอบกิจการประเภท 106 ออกโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยระบุประเภทกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกำจัดหรือรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์
  • ผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ต้องมีใบรับรองมาตรฐาน NIST 800-88R1 ซึ่งเป็นมาตรฐานการกำจัดข้อมูลต่าง ๆ ที่ยังอาจคงค้างอยู่ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้กันมากที่สุดทั่วโลก

นอกจากนั้น ดีแทคยังมีหน่วยงานกำกับดูแลห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Sustainability Management) ทำหน้าที่ตรวจประเมินบริษัทผู้ให้บริการรีไซเคิลเหล่านี้เป็นประจำทุกปี เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทผู้ให้บริการที่ได้รับคัดเลือกมานี้ยังคงรักษามาตรฐานกระบวนการรีไซเคิล มีการพัฒนาระบบการทำงานและเทคโนโลยีอยู่เสมอ

เปิดเส้นทางขยะเทคโนโลยีสู่การกลับมาใหม่ในรูปของทองคำ

สำหรับขยะเทคโนโลยีเหล่านี้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแล้ว จะผ่านขั้นตอนอะไรบ้าง คุณกรวิภา ชัยประทีป หัวหน้าฝ่ายการขายและการตลาดของเทส ซึ่งเป็นผู้รับกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ให้กับดีแทคบอกเล่าว่า

“เมื่อเทสรับซากโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์เสริมต่างๆ จากโครงการ “ทิ้งให้ดี” มาถึงยังโรงงานแล้ว เทสจะทำการตรวจนับและชั่งน้ำหนัก เพื่อรายงานจำนวนและน้ำหนักและสถานที่รับเพื่อแจ้งให้ดีแทคทราบและยืนยันว่าได้รับอุปกรณ์เป็นที่เรียบร้อย”

“จากนั้นจะนำเข้าพื้นที่จัดเก็บและจะทำการคัดแยกวัสดุตามประเภทหลัก ๆ เช่น โทรศัพท์มือถือ แบตเตอรี่ หูฟัง สายชาร์ตแบตเตอรี่ พาวเวอร์แบงค์ เป็นต้น เพื่อนำวัสดุหลักดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการแกะแยก เช่น โทรศัพท์มือถือ หลังการแกะแยกจะทำการบรรจุวัสดุตามแต่ละประเภท วัสดุทั้งหมดจะถูกนำส่งออกไปยังโรงงานของเทสที่สิงคโปร์ เพื่อทำลายหน่วยความจำในเครื่อง และสกัดเป็นโลหะมีค่า ได้แก่ ทองคำ ทองแดง พาราเดี้ยม เหล็ก อลูมิเนียม ลิเทียม และวัสดุประเภทพลาสติก เพื่อนำไปใช้ในกระบวนการผลิตสินค้าใหม่ต่อไป”

ทั้งนี้ 96-98% ของขยะทั้งหมดที่ดีแทคเก็บได้สามารถนำเข้าสู่กระบวนกำจัดที่ถูกต้อง และช่วยลดการใช้ทรัพยากรทางธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัด ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือลดคาร์บอนฟุตพรินต์ รวมทั้ง ไม่ทิ้งเศษซากขยะเป็นขยะฝังกลบเลย หรือ Zero Landfill ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555

คุณอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ (ที่ 3 จากซ้ายมือ)ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและความยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอคเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ถ่ายภาพร่วมกับทีมผู้บริหารจากเทส

สำหรับอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มาจากหน่วยงานภายในดีแทค อย่างศูนย์บริการดีแทคและสำนักงาน ส่วนใหญ่เป็นเครื่องโทรศัพท์มือถือสำหรับทดลองใช้ อุปกรณ์เสริมที่ตกรุ่น เป็นต้น ดีแทคจะมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบจำนวนและสภาพของอุปกรณ์โดยเฉพาะ หากยังมีสภาพดี ก็จะนำกลับมาใช้ซ้ำในกิจกรรมต่าง ๆ ตามความเหมาะสม ส่วนที่เสื่อมสภาพถาวรแล้ว ก็จะเข้ากระบวนการกำจัดและรีไซเคิลต่อไป

คุณอรอุมา กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า โครงการ “ทิ้งให้ดี” ของดีแทค ต้องการเป็นทางออกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน ให้สามารถทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ประเภทมือถือและอุปกรณ์เสริมที่ใช้งานไม่ได้แล้วอย่างถูกวิธี ปลอดภัยต่อเพื่อนร่วมโลกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง


แชร์ :

You may also like