บริการ 5G เชิงพาณิชย์เริ่มต้นขึ้นแล้วในประเทศไทย พร้อม ๆ กับความท้าทายของผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ต้องหาทางนำ “ความพิเศษ” ของเครือข่าย 5G ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของสปีดที่เร็วขึ้นกว่า 4G ถึง 20 เท่า ความหน่วงที่ต่ำกว่า 4G ประมาณ 10 เท่า และการรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์ IoT ได้มากกว่า 1 ล้านชิ้นในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร มาใช้ให้เห็นผลเป็นรูปธรรม
นั่นจึงเป็นอีกครั้งที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมออกมายอมรับว่า การปั้นบริการบนเครือข่าย 5G ครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย โดยผู้ที่ให้เหตุผลของความ “ไม่ง่าย” ครั้งนี้มาจากทางกลุ่มทรู ที่มองว่า สถานการณ์ของ 5G ในไทย เป็นช่วงของการเร่งสร้าง Ecosystem และการเร่งสร้างความต้องการใช้งานให้เกิดขึ้น มากกว่าการเร่งทำกำไรนั่นเอง
คุณพิรุณ ไพรีพ่ายฤทธิ์ หัวหน้าคณะทำงานและกรรมการยุทธศาสตร์ 5G บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ให้ทัศนะต่อการเปิดให้บริการ 5G ในครั้งนี้ว่า การจะสร้างบริการ 5G ให้เกิดขึ้นได้จริงต้องมีการทำงานร่วมกันกับทุกฝ่าย เพื่อสร้างความต้องการใช้งานให้เกิดขึ้นทั้งในฝั่งของคอมซูเมอร์ และภาคธุรกิจ โดยในปัจจุบัน อุปกรณ์ที่รองรับการใช้งาน 5G ในประเทศไทยมีแล้วกว่า 30,000 ชิ้น และพบว่าตัวเลขนี้มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว
พร้อมกันนั้น คุณพิรุณ ยังได้ยกกรณีของจีนแผ่นดินใหญ่ที่มีการลดราคาโทรศัพท์มือถือที่รองรับ 5G ลงในช่วงที่ผ่านมา เพื่อสร้างความต้องการในประเทศให้เกิดขึ้น โดยในปัจจุบัน จะพบว่าสามารถหาซื้อได้ที่ราคาหลักหมื่นต้น ๆ ได้แล้ว จากที่ก่อนหน้านี้มีแต่รุ่นราคา 30,000 – 40,000 บาทขึ้นไป
Covid-19 ช่วยดัน 5G
แต่การลดราคาอุปกรณ์เพียงอย่างเดียวไม่ช่วยให้ 5G เกิดขึ้นได้ เพราะการมีสถานการณ์สำคัญอย่างการแพร่ระบาดของ Covid-19 ก็อาจเป็นอีกหนึ่งจุดที่ทำให้ทุกภาคส่วนได้มองเห็นความสำคัญของเครือข่าย 5G อย่างเป็นรูปธรรม
โดยคุณอาณัติ เมฆไพบูลย์วัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ (ร่วม) บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้กล่าวถึงงานวิจัยของ Ericsson ที่พบว่า ในช่วงการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 นั้น พบการใช้บริการของแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพิ่มขึ้นอย่างมาก เช่น แอปพลิเคชันสำหรับการทำงานระยะไกล, แอปพลิเคชันด้าน e-Wallet, แอปพลิเคชันด้านการศึกษา, แอปพลิเคชันด้านสุขภาพ, และที่ลืมไม่ได้ก็คือแอปพลิเคชันในกลุ่มบันเทิง เช่น โซเชียลมีเดีย, เกม, บริการสตรีมมิ่งต่าง ๆ เป็นต้น
แต่มากไปกว่านั้นคือ การระบาดของ Covid-19 ทำให้ประเทศไทยได้ทดสอบการให้บริการ 5G ในด้านสาธารณสุขด้วย เช่น การนำหุ่นยนต์เข้าไปให้บริการในโรงพยาบาลและสั่งการผ่านผู้ควบคุมระยะไกลเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์, การสร้างโรงพยาบาลต้นแบบทางการแพทย์ฉุกเฉิน ไปจนถึงบริการที่แพทย์สามารถให้คำปรึกษาทางไกลได้
แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในสถานะ “เริ่มต้น” เท่านั้น
เร่งสร้างความต้องการทั้งคอนซูเมอร์ – ธุรกิจ
หลังจากนี้ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจำเป็นต้องมีการขับเคลื่อนความต้องการในฝั่งคอนซูเมอร์ให้เกิดขึ้นด้วยเช่นกัน โดยคุณพิรุณมองว่า หากทั้งสองฝ่ายมองเห็นภาพไม่ชัด ก็จะไม่เข้าใจว่า สปีดที่เร็วขึ้น ฯลฯ ของสัญญาณ 5G นั้นทำประโยชน์ได้อย่างไรบ้าง และนั่นคือความท้าทายของผู้ให้บริการโทรคมนาคมที่ต้องเผชิญนับจากนี้
โดยคุณพิรุณให้ทัศนะในส่วนนี้ว่าเป็นสถานการณ์เหมือนไก่กับไข่ นั่นคือผู้บริโภคก็รอว่า ถ้ามีคอนเทนต์น่าสนใจมากพอก็จะหันมาใช้บริการ ในขณะที่ผู้ผลิตคอนเทนต์ก็รอว่าเมื่อไรมีผู้บริโภคมากพอ ก็จะลงมาผลิตคอนเทนต์ คนกลางอย่างผู้ให้บริการโทรคมนาคมจึงต้องเป็นคนช่วยสร้างให้ตลาดดังกล่าวเกิดขึ้น
ด้วยเหตุนี้ จึงมีการเปิดตัวคอนเทนต์ VR (Virtual Reality) เข้ามาเสริมทัพ ผ่านทางบริการ TrueID โดยคอนเทนต์ในช่วงแรกที่มีให้บริการในช่องทางดังกล่าวประกอบด้วย คอนเทนต์บันเทิงอย่าง DancingwithIceParis, ShowMetheMoney, บ้านผี 360 หรือคอนเทนต์ด้านการท่องเที่ยวแบบ Unseen รวมถึงเปิดให้ผู้ใช้บริการในเครือข่ายได้ใช้สัญญาณ 5G ฟรีจนถึงสิ้นปี โดยไม่ต้องเปลี่ยนซิม (แต่ต้องมีอุปกรณ์ที่รองรับ 5G แล้วเท่านั้น)
หรือในส่วนของ AR (Augmented Reality) ที่ทางกลุ่มทรูได้มีการเปิดตัว True 5G AR App เพื่อนำ AR มาสร้างประสบการณ์ใหม่ในโลก Content และ Commerce โดยในช่วงแรกจะให้ลูกค้าของทรูแลกสิทธิพิเศษต่าง ๆ ผ่านแอปดังกล่าวด้วย
ขณะที่ฟากธุรกิจ จะมีการเสริมยุทธศาสตร์ด้านพื้นที่การให้บริการ โดยเน้นไปที่โรงพยาบาล ห้างสรรพสินค้า สถานศึกษา มหาวิทยาลัย โรงงาน แหล่งท่องเที่ยว และสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินทั้ง 22 สถานี หรือหากเป็นส่วนของพื้นที่ที่มีความต้องการเฉพาะ เช่น โรงงานอุตสาหกรรม ก็สามารถนำคลื่น 26GHz ซึ่งเป็นคลื่น High Band มาให้บริการได้ด้วย
เชื่อ iPhone 12 ตัวดัน 5G เกิด
คุณพิรุณยังได้กล่าวทิ้งท้ายถึงการเปิดตัว iPhone 12 ของค่าย Apple ในช่วงปลายปีนี้ด้วยว่า จะเป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนตลาด 5G ให้เติบโตอย่างเป็นรูปธรรม เหตุเพราะกลุ่มผู้ใช้ iOS นั้น ส่วนใหญ่เป็นผู้ใช้ระดับไฮเอนด์ ซึ่งมีกำลังซื้อสูง และคนกลุ่มนี้ หากใช้ iPhone จนคุ้นเคยแล้ว น้อยมากที่จะเปลี่ยนใจกลับมาใช้ฝั่งแอนดรอยด์ สถานการณ์ในตอนนี้จึงเป็นช่วงที่ผู้บริโภครอการเปิดตัวของสมาร์ทโฟนรุ่นดังกล่าว เพื่อจะได้สัมผัสประสบการณ์ 5G บน iOS นั่นเอง