เป็นข่าวดังสะท้านสังคม เมื่อมีภาพจากกล้องวงจรปิด “ครูจุ๋ม” ครูอนุบาล แห่งโรงเรียนสารสาสน์วิเทศราชพฤกษ์ ลงโทษเด็ก ด้วยความรุนแรง จนกลายเป็นคำถามถึงมาตรฐานการเรียนการสอนในระดับเด็กเล็กของโรงเรียนต่างๆ ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนชื่อดังในเครือ “สารสาสน์” ที่นับว่าเป็นหนึ่งในโรงเรียนเอกชน ผู้ปกครองคาดหวังสูงลิ่ว แปรผันกับค่าเทอมที่แต่ละครอบครัวทุ่มเทเพื่อให้ลูกได้รับการบ่มเพาะอย่างดีที่สุด และนี่คือเรื่องราวของ “เครือสารสาสน์ฯ” แบรนด์ด้านการศึกษาที่โด่งดังคู่สังคมมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา
1. ก่อตั้งโดยลูกชาวนา “พิบูลย์ ยงค์กมล”
โรงเรียนสารสาสน์ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกในปี 2507 โดย “อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล” ลูกชาวนาที่ที่บ้านมีลูกถึง 9 คน แต่ด้วยความที่รักการศึกษาขวนขวายเรียนจนกระทั่งจบชั้นมัธยมปีที่ 6 และต่อมาก็ได้เป็นครูที่โรงเรียนเปรมฤดีอยู่ 2 เทอม ก่อนที่จะค้นพบว่าตัวเองรักอาชีพครู จนพยายามสอบวุฒิ มศ.8 และสอบเข้า มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร เพื่อเรียนครูอย่างที่ตั้งใจ
หลังจากสอนอยู่ที่โรงเรียนเปรมฤดีอยู่ 9 ปี อาจารย์พิบูลย์ก็ลงขันร่วมกับเพื่อนครูคนละ 10,000-30,000 บาท เพื่อเปิดโรงเรียนของตัวเอง ย่านสาธุประดิษฐ์ โดยในครั้งนั้นเขาเองลงทุนไปราว 20,000 บาท เช่าที่ดิน 2 ไร่ 1 งาน เปิด “โรงเรียนสารสาสน์พิทยา”
ก่อนที่ 5 ปีต่อมา ปี 2512 อาจารย์พิบูลย์ชักชวนพี่สาวมาซื้อที่ดินของกรมธนารักษ์ พื้นที่ 4 ไร่ 44 ตารางวา และลงทุนเปิดโรงเรียนแห่งที่สองในเครือ ภายใต้ชื่อ “โรงเรียนสารสาสน์พัฒนา”
2. โรงเรียน 2 ภาษา (Bilingual) แห่งแรกของไทย
ชื่อเสียงของ “สารสาสน์” ดีขึ้นตามลำดับ กระทั่งปี 2536 อาจารย์พิบูลย์ได้ก่อตั้งการเรียนการสอน “สองภาษา” (Bilingual) ไทย-อังกฤษ ขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยมีจุดเริ่มต้นจากครอบครัวของนักเรียนชาวอเมริกันครอบครัวหนึ่ง ซึ่งมาอาศัยอยู่ในประเทศไทย อาจารย์พิบูลย์ให้คุณแม่ของครอบครัวนี้สอนภาษาอังกฤษให้กับครูในโรงเรียน และเปิดค่ายสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียน ต่อมาก็พัฒนาเป็น Bilingual Program ในโรงเรียน “โรงเรียนสารสาสน์พิทยา” ซึ่งในตอนนั้นอาจารย์พิบูลย์มีอายุ 60 ปีแล้ว
ก่อนที่ต่อมาจะแยกโปรแกรม Extra นี้ออกมาเป็น “โรงเรียนสารสาสน์เอกตรา”
3. หลักสูตรตั้งแต่เด็กเล็ก – ปริญญาตรี และโท
หลักสูตรของ “สารสาสน์ฯ” มี ตั้งแต่ระดับชั้นเตรียมอนุบาล – อนุบาล – ประถมศึกษา – มัธยมศึกษาปีที่ 6 และในช่วงที่กระแสการเรียนสายอาชีวะเติบโต ทางเครือสารสาสน์ยังได้เปิดโรงเรียนสายอาชีวะศึกษา โดยปัจจุบันใช้ชื่อสถาบันการศึกษาแตกต่างกันไป เช่น วิทยาลัยเทคโนโลยีสารสาสน์, วิทยาลัยเทคโนโลยีบริหารธุรกิจยานนาวา และวิทยาลัยเทคโนโลยีสารสาสน์บริหารธุรกิจกาญจนบุรี
นอกจากนี้ยังได้ขยายการเรียนการสอนให้ครอบคลุมถึงระดับปริญญาตรี และปริญญาโท โดยจัดตั้งสถาบันเทคโนโลยีแห่งสุวรรณภูมิ เปิดสอนคณะบริหารธุรกิจ, คณะศึกษาศาสตร์และศิลปศาสตร์, คณะวิศวกรรมศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี และคณะนิติรัฐประศาสนศาสตร์ ขณะที่หลักสูตรปริญญาโท เปิดสอนหลักสูตรบริหารธุรกิจมหาบัณฑิต, รัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต
ทั้งนี้ หลักสูตรที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในเครือสารสาสน์ คือ หลักสูตรเด็กเล็ก จนถึงประถมศึกษา ผู้ปกครองส่วนใหญ่ที่ให้ลูกหลานเข้าเป็นนักเรียนโรงเรียนในเครือฯ เนื่องจากอยากปูพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษให้กับบุตรหลาน ก่อนที่จะสอบเข้าโรงเรียนอื่นในระดับชั้นมัธยมต่อไป
4. บุกรอบนอกเมือง และต่างจังหวัด ขยายสาขาใหม่ต่อเนื่อง
ถ้านับรวมโรงเรียนในเครือสารสาสน์ มีประมาณ 50 แห่งที่ครอบคลุมทุกระดับชั้นตามที่กล่าวไปในข้อ 3 ซึ่งในจำนวนนี้นับร่วมกับโรงเรียนเปิดใหม่เพิ่มอีก 4 แห่งในปีนี้ ตามที่ระบุในเอกสารแนะนำโรงเรียนในเครือสารสาสน์ปีการศึกษา 2563 ระบุว่า เครือสารสาสน์มีโรงเรียนใหม่เพิ่มขึ้นมาอีก 4 แห่งประกอบด้วย สารสาสน์วิเทศไทรน้อย, สารสาสน์วิเทศปทุมธานี, สารสาสน์วิเทศพัชรมณฑล และ สารสาสน์วิเทศสุโขทัย
สะท้อนให้เห็นการขยายธุรกิจของเครือสารสาสน์ ถึงแม้ว่าสังคมไทยจะเข้าสู่ภาวะสูงวัย เด็กเกิดใหม่น้อยลง แต่เครือสารสาสน์ยังสามารถเปิดสาขาได้เพิ่ม ทั้งในบริเวณรอบนอกใกล้เคียงกรุงเทพ และในต่างจังหวัด โดยใช้ชื่อสถาบันการศึกษาที่แตกต่างกัน อย่างในกลุ่มสารสาสน์วิเทศ ถือเป็นหนึ่งใน sub-brand ของเครือสารสาสน์ จะเน้นขยายในพื้นที่โซนรอบนอกเมือง และต่างจังหวัดเป็นหลัก พร้อมทั้งระบุชื่อตามทำเลที่โรงเรียนสาขานั้นๆ ตั้งอยู่ เช่น สารสาสน์วิเทศสุวรรณภูมิ, สารสาสน์วิเทศสมุทรปราการ, สารสาสน์วิเทศมีนบุรี, สารสาสน์วิเทศบางบัวทอง, สารสาสน์วิเทศสายไหม, สารสาสน์วิเทศสมุทรสาคร, สารสาสน์วิเทศนครราชสีมา, สารสาสน์วิเทศกาญจนบุรี
โดยปัจจุบันมีนักเรียนทั้งสิ้น 94,258 คน, ครูไทย 6,839 คน และครูต่างชาติ 2,352 คน
5. รายได้ของ “สารสาสน์พิทยา”
อาจารย์พิบูลย์ ยงค์กมล มีชื่อเป็นกรรมการบริษัททั้งสิ้น 6 บริษัท รายได้ในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการศึกษามี 4 บริษัท ดังนี้
1.บริษัท คุรุสาสน์ จำกัด
ปี 2559 มีรายได้รวม 39,555,581.09 บาท กำไรสุทธิ 23,895,981.28 บาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 41,742,133.24 บาท กำไรสุทธิ 11,695,825.76 บาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 44,774,089.73 บาท กำไรสุทธิ 10,042,327.4 บาท
2. บริษัท แสงเงินพัฒนาการ จำกัด
ปี 2559 มีรายได้รวม 1,152,478,271.74 บาท กำไรสุทธิ 439,428,019.98 บาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 1,295,260,198.74 บาท กำไรสุทธิ 369,991,613.77 บาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 1,337,991,838.9 บาท กำไรสุทธิ 267,327,781.85 บาท
3. บริษัท ดรุณาพัฒนา จำกัด
ปี 2559 มีรายได้รวม 149,837,655.01 บาท กำไรสุทธิ 70,480,609.92 บาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 178,442,875.54 บาท กำไรสุทธิ 77,199,852.04 บาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 182,965,741,87 บาท กำไรสุทธิ 88,386,457.28 บาท
4. บริษัท เอสวีไอที อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด
ปี 2559 มีรายได้รวม 403,110,27 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,359,636.35 บาท
ปี 2560 มีรายได้รวม 874,653.17 บาท ขาดทุนสุทธิ 3,110,152.37 บาท
ปี 2561 มีรายได้รวม 10,363,225.42 บาท กำไรสุทธิ 9,236,532.9 บาท
จากข่าวการลงโทษนักเรียนอย่างไม่เหมาะสมที่เกิดขึ้นตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา อาจารย์พิบูลย์ต้องส่งจดหมายถึงผู้บริหารและครูในเครือโรงเรยนสารสาสน์ เพื่อกำหนดนดโยบายลงโทษครูและผู้บริหารที่กระทำผิด อย่างไรก็ตามกระแสที่เกิดขึ้น โรงเรียนในเครือสารสาสน์ ต้องเผชิญหน้ากับคำถามจากสังคมถึงคุณภาพของแต่ละสาขา ว่ามีคุณภาพระดับเดียวกัน คุ้มค่ากับเม็ดเงินและความรักความไว้วางใจที่ผู้ปกครองมอบให้หรือไม่ สำหรับธุรกิจการศึกษาที่ “ลูกค้า” คาดหวัง