HomeCOVID-19Adobe ชี้ค้าปลีกยังไม่ถึงจุดจบ แม้ Covid-19 จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค-นักการตลาดไปมากก็ตาม

Adobe ชี้ค้าปลีกยังไม่ถึงจุดจบ แม้ Covid-19 จะเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค-นักการตลาดไปมากก็ตาม

แชร์ :

เปิดผลสำรวจพฤติกรรมนักการตลาดและผู้บริโภคจากอะโดบี (Adobe) ในยุค Covid-19 พบว่ามี 69% ของนักการตลาดที่ต้องเปลี่ยนมาทำงานแบบ Work From Home ในขณะเดียวกัน ก็มีมากถึง 1 ใน 3 ที่บอกว่า การทำงานแบบ Work From Home นั้นไม่ตอบโจทย์ และไม่ทำให้พวกเขาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากนัก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ขณะที่ในฝั่งของผู้บริโภคพบว่า การที่ผู้บริโภคต้องเก็บตัวอยู่บ้านมาเป็นเวลานานส่งผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมการซื้อสินค้าและบริการของผู้บริโภค รวมถึงปฏิสัมพันธ์ที่มีต่อแบรนด์ต่าง ๆ เช่นกัน โดยผู้บริโภค 67% มีความกังวลใจเกี่ยวกับผลกระทบโดยรวมของการแพร่ระบาด หรือหากแยกเป็นหมวด เรื่องของสุขภาพถือว่ามาแรงเป็นอันดับหนึ่ง (73%) ตามมาด้วยความกังวลเรื่องหน้าที่การงาน (40%) และภาวะเศรษฐกิจ (36%) ซึ่งคนรุ่น Millennial (72%) มีความกังวลใจมากที่สุดเมื่อเทียบกับคนรุ่น Gen Z (58%) และเบบี้บูม (62%)

โดยการสำรวจครั้งนี้มีการเก็บข้อมูลในช่วงเดือนมิถุนายน 2020 ซึ่งมีนักการตลาดจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วม 1,200 คน มาจากจีน 329 คน อินเดีย 307 คน สิงคโปร์ 270 คน และออสเตรเลีย 294 คน ส่วนในฝั่งผู้บริโภคนั้นพบว่ามีผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 4,001 คน มาจากออสเตรเลีย 1,001 คน ส่วนจีน อินเดีย และสิงคโปร์ ประเทศละ 1,000 คน

สิ่งหนึ่งที่ Adobe พบจากการสำรวจก็คือ ในช่วงที่มีการใช้มาตรการล็อกดาวน์ 52% ของผู้บริโภคบอกว่า มักซื้อของยากขึ้นเพราะสินค้าขาดสต็อก ขณะที่ 43% บอกว่า สินค้ามีการปรับราคาสูงขึ้น นอกจากนั้น ผู้บริโภคที่อยู่ในเมืองใหญ่มักพบความยากลำบากอีกข้อ นั่นคือร้านค้ามีการปรับเวลาในการขาย หรือการจัดส่งสินค้าให้สั้นลง ซึ่งทำให้ไม่สามารถซื้อสินค้าได้อย่างสะดวกเหมือนแต่ก่อน และนั่นอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภคบางส่วน โดย 58% ยอมรับว่าสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์บ่อยขึ้น ขณะที่สามในสี่ (74%) ตั้งใจที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการซื้อสินค้าในอนาคต โดยคนรุ่นใหม่มีความตั้งใจที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการซื้อสินค้าในอนาคตมากกว่าคนรุ่นเก่าซึ่งต้องการคงพฤติกรรมแบบเดิมเอาไว้

ค้าปลีกทั่วไปยังไม่ถึงจุดจบ

ข่าวดีก็คือ ถึงแม้จะเกิดการแพร่ระบาดของ Covid-19 แต่ผู้บริโภค 70% ระบุว่า ต้องการที่จะเลือกซื้อสินค้าประเภท “ของชำ” ด้วยตนเอง ขณะที่ 47% เลือกใช้บริการจัดส่งสินค้าถึงบ้าน และ 17% ใช้วิธีสั่งซื้อทางออนไลน์แล้วไปรับของที่ร้าน

อย่างไรก็ดี ช่องทางที่จะสื่อสารให้ถึงผู้บริโภคเพื่อให้เกิดการจับจ่ายนั้น พบว่าต้องเปลี่ยนไปด้วย โดยคุณไซม่อน เดล กรรมการผู้จัดการประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของ Adobe เผยว่าวิธีการสื่อสารที่จะเข้าถึงคนรุ่นใหม่ได้ดีที่สุดคือ “โซเชียลมีเดีย และแพลตฟอร์มส่งข้อความต่าง ๆ” ขณะที่การสื่อสารด้วยอีเมลนั้นถือว่ามีประสิทธิภาพน้อยที่สุด และคนรุ่นใหม่ถึง 28% ยอมรับว่า ยกเลิกการรับข้อมูลจากร้านค้า หรือแบรนด์ที่ส่งโดยใช้อีเมลแล้ว

คุณไซม่อน เดล

แล้วในมุมของนักการตลาดที่ต้องทำงานในช่วง Covid-19 ต้องการอะไรบ้าง

นอกจากนักการตลาดต้องดูแลแบรนด์แล้ว พวกเขาก็ต้องการการดูแลเช่นกัน โดยสิ่งที่ Adobe พบเพิ่มเติมก็คือ 69% ของนักการตลาดที่ต้องเปลี่ยนมาทำงานแบบ Work From Home นั้น ต้องการการสนับสนุนจากองค์กร เพื่อให้การ Work From Home มีประสิทธิภาพมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น

  • การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เร็วขึ้น 62%
  • การมีพื้นที่ในการทำงานที่ออกแบบมาเฉพาะ 61%
  • การอนุญาตให้พนักงานเข้าถึงเซิร์ฟเวอร์ของบริษัทที่เก็บข้อมูลบางอย่างได้ 42%
  • จอมอนิเตอร์ที่มีขนาดใหญ่ ๆ ไว้ใช้ทำงาน 41%

ขณะที่รูปแบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพในการ Work From Home นั้น โดยมากแล้วคือการใช้ VDO Conference รองลงมาคือการยกหูโทรศัพท์ และการส่งข้อความผ่านแพลตฟอร์มแชท ส่วนอีเมลกลายเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพน้อยที่สุด

เมื่อถามต่อว่า อยากให้การทำงานแบบ Work From Home เกิดขึ้นต่อไปหรือไม่นั้น 3 ใน 4 ของนักการตลาดมองว่า การ Work From Home จะเกิดขึ้นต่อเนื่องไปในอนาคต แม้มาตรการของภาครัฐจะถูกยกเลิกไปแล้ว และจะมีพนักงานจำนวนหนึ่งที่เปลี่ยนมาทำงานจากบ้านในระยะยาวแทน

โดย 90% รู้สึกว่าบริษัทของตนเองนั้น มีการออกแบบการทำงานแบบ Work From Home ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากเปรียบเทียบกับนักการตลาดในสหรัฐอเมริกา พบว่า นักการตลาดใน APAC มีแนวโน้มจะทำงานจากที่บ้านในระยะยาวมากกว่าด้วย

ทั้งนี้ การวิจัยดังกล่าวเชื่อว่าจะนำไปสู่การวางแผนรับมือของบริษัทต่าง ๆ ในการสื่อสาร – ดูแลผู้บริโภค และพนักงานในองค์กรในภาวะวิกฤติ Covid-19 ได้ดียิ่งขึ้น

Source

Source


แชร์ :

You may also like