แอร์บัส เปิดตัวเครื่องบินพาณิชย์ต้นแบบจำนวนสามรุ่น ซึ่งเป็นเครื่องบินรุ่นที่ไม่ปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศครั้งแรกในโลก โดยจะสามารถนำมาให้บริการได้ภายในปี 2578 นี้ โดยแต่ละแนวคิดมีวิธีการนำเสนอที่ต่างกันเพื่อที่จะสามารถนำเที่ยวบินปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์บินให้บริการได้ แอร์บัสได้คิดค้นเทคโนโลยีหลากหลายรูปแบบและการปรับด้านอากาศพลศาสตร์เพื่อให้รองรับความพยายามและมุ่งมั่นที่จะเป็นผู้นำเรื่องการใช้พลังงานที่ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในอุตสาหกรรมการบิน
เครื่องบินทั้งสามแนวคิดนี้จะนำไฮโดรเจนมาเป็นแหล่งพลังงานหลัก ซึ่งเป็นพลังงานทางเลือกที่แอร์บัสเชื่อมั่นว่าเป็นเชื้อเพลิงสะอาดสำหรับใช้กับการขนส่งทางอากาศ และคาดว่าน่าจะเป็นโซลูชันที่จะทำให้อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ รวมถึงอุตสาหกรรมอื่นๆ อีกมากมายบรรลุเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Climate neutral)
“สิ่งนี้ถือได้ว่าเป็นช่วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ภาคการบินพาณิชย์ที่เราตั้งใจขอรับหน้าที่เป็นผู้นำทางสู่ยุคเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในอุตสาหกรรมการบิน แนวคิดที่เราได้แถลงในวันนี้จะทำให้คนทั้งโลกได้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่เราได้ขับเคลื่อนวิสัยทัศน์อันแน่วแน่ เพื่ออนาคตของการบินที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์” นายกิลโยม โฟว์รี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแอร์บัส กล่าว “ผมเชื่อเหลือเกินว่าการใช้ไฮโดรเจนกับเครื่องบินพาณิชย์ ทั้งรูปแบบเชื้อเพลิงสังเคราะห์และแหล่งพลังงานหลัก มีศักยภาพในการลดผลกระทบด้านสภาพอากาศของการบินได้เป็นอย่างมาก”
เครื่องบินพาณิชย์ต้นแบบที่ปล่อยมลภาวะเป็นศูนย์ทั้งสามลำซึ่งมีรหัสชื่อ “ZEROe” จะประกอบไปด้วย
เครื่องบินแบบเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน (Turbofan) (บรรทุกผู้โดยสารตั้งแต่ 120 ถึง 200 คน) สามารถบินข้ามทวีปได้ด้วยระยะทางกว่า 2,000 ไมล์ทะเล และขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์กังหันก๊าซแบบดัดแปลงโดยใช้ไฮโดรเจนผ่านการสันดาปแทนน้ำมันเครื่องบิน ไฮโดรเจนเหลวจะถูกเก็บและจ่ายผ่านตัวถังที่อยู่ด้านหลังแผงกั้นแรงดันท้าย
เครื่องบินแบบเครื่องยนต์เทอร์โบพร็อป (Turbo prop) (บรรทุกผู้โดยสารจำนวนไม่เกิน 100 คน) ใช้เครื่องยนต์เทอร์โบพร็อปแทนเครื่องยนต์เทอร์โบแฟน และขับเคลื่อนด้วยการสันดาปไฮโดรเจนในเครื่องยนต์กังหันก๊าซแบบดัดแปลง ซึ่งสามารถเดินทางด้วยระยะทางมากกว่า 1,000 ไมล์ทะเล ถือได้ว่าเป็นทางเลือกที่สมบูรณ์แบบเหมาะแก่การบินในระยะสั้น
เครื่องบินแบบ “blended-wing body” ที่ตัวถังของเครื่องกับปีกผสานเป็นชิ้นเดียวกัน (บรรทุกผู้โดยสารจำนวนไม่เกิน 100 คน) เป็นแนวคิดที่ปีกเครื่องบินผสมผสานรวมเข้ากับลำตัวเครื่องบิน มีลักษณะเป็นสามเหลี่ยม สามารถเดินทางด้วยระยะทางเช่นเดียวกับแนวคิดการออกแบบเครื่องยนต์แบบเทอร์โบแฟน ลำตัวที่กว้างเป็นพิเศษทำให้เกิดทางเลือกหลายช่องทางในการจัดเก็บและการจ่ายไฮโดรเจน รวมถึงทางเลือกของรูปแบบห้องโดยสาร
“แนวคิดเหล่านี้จะช่วยให้เราคิดค้นและพัฒนาการออกแบบและรูปแบบของเครื่องบินพาณิชย์ที่ไม่ปล่อยมลภาวะในสภาพอากาศและปลอดการปล่อยมลพิษเป็นครั้งแรกของโลก ซึ่งเราตั้งเป้าไว้ว่าจะนำเข้าสู่การบริการได้ภายในปี 2578” นายกิลโยม โฟว์รี่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทแอร์บัส กล่าว “การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคที่ใช้ไฮโดรเจนเป็นแหล่งพลังงานหลักในเครื่องบิน จำเป็นต้องอาศัยการดำเนินการขั้นเด็ดขาดด้วยความร่วมมือของระบบอุตสาหกรรมการบินทั้งระบบ ซึ่งต้องอาศัยการสนับสนุนจากภาครัฐและพันธมิตรในอุตสาหกรรม เพื่อให้เราสามารถก้าวผ่านความท้าทายนี้ที่จะทำการใช้พลังงานหมุนเวียนและไฮโดรเจนเพื่ออนาคตที่ยั่งยืนของอุตสาหกรรมการบินขยายวงกว้างขึ้น”
ในการรับมือกับความท้าทายนี้ ท่าอากาศยานต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการใช้ยานพาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฮโดรเจน ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานของระบบเติมเชื้อเพลิงเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของการใช้งานในแต่ละวัน การให้การสนับสนุนจากรัฐบาลจะเป็นกุญแจสำคัญที่จะทำให้บรรลุความมุ่งหวัง ด้วยการสนับสนุนเงินทุนเพื่อพัฒนางานวิจัยและเทคโนโลยี กระบวนการในการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalisation) และกลไกที่จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการใช้พลังงานที่ยั่งยืน รวมไปถึงการต่ออายุการใช้งานของฝูงบิน และทำให้สายการบินสามารถปลดระวางเครื่องบินรุ่นเก่าที่ไม่ค่อยเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
หมายเหตุสำหรับสื่อมวลชน: เพื่อเป็นการประเมินและตรวจสอบความถูกต้องของเครื่องบินแนวคิดใหม่นี้ และประเมินว่าแนวคิดเหล่านี้สามารถพัฒนาสู่การผลิตเพื่อใช้งานจริงในอนาคตได้หรือไม่ แอร์บัสจะมุ่งเน้นไปที่จำนวนเทคโนโลยีหลายรูปแบบ กราเซีย วิทธินี ประธานเจ้าหน้าที่สายงานเทคโนโลยี และฌอง-บริซ ดูมองต์ รองประธานบริหารฝ่ายวิศวกรรม ของแอร์บัส จะเผยถึงแผนกลยุทธ์ด้านเทคโนโลยีของแอร์บัสสำหรับปี 2563-2568 รูปแบบออนไลน์ ในวันที่ 21 กันยายน 2563 เวลา 19.00 น. (ตามเวลาประเทศไทย) บนช่องทางสื่อโซเชียลต่างๆ ของแอร์บัส