เอไอเอสเปิดตัวเลขขยะอิเล็กทรอนิกส์จากรายงาน The Global E-Waste Monitor 2020 ของมหาวิทยาลัยสหประชาชาติ (United Nation University, UNU) พบแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง จาก 53.6 ล้านเมตริกตันในปี 2019 มีโอกาสพุ่งขึ้นเป็น 74.7 ล้านเมตริกตันในปี 2030 โดยทวีปเอเชียเป็นทวีปที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงที่สุดกว่า 24.9 ล้านเมตริกตัน แต่พบว่ามีการกำจัดอย่างถูกวิธีเพียง 17.4% ที่เหลืออีกกว่า 82.6% ไม่สามารถติดตามได้
ความน่าสนใจของรายงานฉบับนี้คือ มีการเปิดเผยว่า 3 ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงสุดนั้นมี “ประเทศไทย” รวมอยู่ด้วย โดยไทยผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์มากถึง 0.6 ล้านเมตริกตัน อยู่ในอันดับสองของภูมิภาครองจากอินโดนีเซีย (ผลิตขยะอิเล็กทรอนิกส์ 1.6 ล้านเมตริกตัน) และฟิลิปปินส์ตามมาเป็นอันดับสามด้วยปริมาณขยะ 0.4 ล้านเมตริกตัน
จากรายงานดังกล่าว ไม่แปลกหากในระยะหลัง จะเห็นภาพขององค์กรขนาดใหญ่ลงมาใส่ใจและหาวิธีสร้างความตระหนักในเรื่องการจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์กันมากขึ้น โดยจากการเปิดเผยข้อมูลของเอไอเอสเองพบว่า ตั้งแต่ปี 2016 ที่ผ่านมา บริษัทมีการจัดเก็บขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่เกิดจากโครงข่ายและการดำเนินธุรกิจ รวมไปถึงการรับจากคนไทยทั่วประเทศ ไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผ่านกระบวนการที่ได้รับมาตรฐานระดับโลก ดังต่อไปนี้
- ปี 2016 – 1,303 ตัน
- ปี 2017 – 1,308 ตัน
- ปี 2018 – 1,233 ตัน
- ปี 2019 – 803 ตัน
อย่างไรก็ดี สิ่งที่เอไอเอสพบมากไปกว่านั้นก็คือ โครงการดังกล่าวจะไม่สามารถสำเร็จไปมากกว่านี้ได้ หากไม่มีการสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยคุณสมชัย เลิศสุทธิวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอไอเอส เผยว่า ที่ผ่านมา ช้อปของเอไอเอสมีการเปลี่ยนจากขวดน้ำพลาสติกเป็นน้ำบรรจุกล่องกระดาษ ซึ่งแม้จะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่บอร์ดบริหารก็ให้การสนับสนุน หรือนโยบายจัดการกับอุปกรณ์เครือข่ายที่หมดอายุการใช้งานก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมที่เคยนำไปประมูลขายให้กับบริษัทรับซื้อที่ให้ราคาดีที่สุด ก็เปลี่ยนเป็นให้บริษัทรับซื้อเสนอแผนเข้ามาว่า จะรีไซเคิลอย่างไร แล้วเอไอเอสก็เลือกบริษัทที่มีความสามารถในการรีไซเคิลที่มีประสิทธิภาพที่สุดแทน ซึ่งปัจจุบันก็คือบริษัท TES
ขณะที่คุณนัฐิยา พัวพงศกร หัวหน้าแผนกงานพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน เอไอเอส กล่าวเสริมว่า นอกจากการสร้างจิตสำนึกจากภายในองค์กรแล้ว การสร้างความตระหนักในการทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างถูกต้องกับคนไทยก็เป็นสิ่งที่ต้องเร่งสร้างตั้งแต่วันนี้ เนื่องจากการมาถึงของเทคโนโลยีเครือข่าย 5G จะทำให้เกิดการใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในอนาคตอันใกล้ (เช่น อุปกรณ์ IoT) ด้วยเหตุนี้ หากคนไทยไม่มีความตระหนักในเรื่องการทิ้ง e-Waste อย่างถูกต้องก็จะทำให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมมีความรุนแรงมากขึ้นในอนาคตอย่างแน่นอน
ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีค่า 5 คะแนน
นั่นจึงนำไปสู่การเปิดตัวแคมเปญใหม่ “เอไอเอส E-Waste ทิ้งรับพอยท์” โดยทุกครั้งที่ผู้บริโภคมีการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ 5 ประเภท ได้แก่ โทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต, แบตเตอรี่มือถือ, สายชาร์จ, หูฟัง และพาวเวอร์แบงก์มาทิ้งที่เอไอเอสช้อปใกล้บ้าน จะสามารถรับคะแนน AIS Points 5 คะแนนต่อขยะหนึ่งชิ้นด้วย
โดยขั้นตอนในการรับคะแนนนั้น เริ่มจากการแจ้งกับพนักงานว่าต้องการนำขยะอิเล็กทรอนิกส์มาทิ้ง นำขยะหย่อนลงถัง และสแกน QR Code เพื่อรับ AIS Points จากแท็บเล็ตของพนักงาน ซึ่งจะแสดงผลจำนวน AIS Point ที่ได้รับทันทีผ่าน Notification โดยลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดรวม AIS Point ได้ที่แอปพลิเคชัน My AIS (ลูกค้า 1 หมายเลขสามารถรับ AIS Points ได้สูงสุด 10 คะแนนต่อวัน ระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 1 กันยายน 2563 ถึง 31 ตุลาคม 2563)
ทั้งนี้ ก่อนจะนำขยะอิเล็กทรอนิกส์ไปทิ้ง ทางเอไอเอสมีคำแนะนำด้วยว่า ควรมีการจัดการดังต่อไปนี้
- ลบข้อมูลและภาพออกจากโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต
- ทำการ Format เครื่อง หรือกลับไปตั้งค่าเริ่มต้นจากโรงงาน Factory Reset
- ถอดเมมโมรี่การ์ดออกก่อนทิ้งทุกครั้ง
- หากโทรศัพท์มือถือ/แท็บเล็ต แบตเตอรี่มือถือ และพาวเวอร์แบงก์ มีลักษณะผิดปกติ เช่น บวม หรือ เปลี่ยนสี ให้นำไปแช่น้ำทิ้งไว้ ประมาณ 5 ชั่วโมง เพื่อลดประจุพลังงาน และนำใส่ถุงหรือห่อกระดาษก่อนนำไปทิ้ง
ปัจจุบันโครงการ คนไทยไร้ E-Waste ของเอไอเอส มีภาคีเครือข่ายทั่วประเทศรวมกว่า 52 องค์กร ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ที่จะร่วมสร้างการตระหนักรู้ สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง และเป็นจุดยุทธศาสตร์ในการรับทิ้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งมีอยู่รวมกันกว่า 2,000 จุดทั่วประเทศ