การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ได้เป็นเพียง Fear Factor ของคนทั้งโลก เนื่องจากสร้างผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนอย่างใหญ่หลวง แต่ยังได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ องค์กรธุรกิจอย่างไม่เคบปรากฏมาก่อน และสร้างความเสียหายรุนแรงในรอบร้อยปี หลากหลายประสบการณ์บริหารธุรกิจในอดีตที่แม่ทัพนายกองขององค์กรเคยเผชิญมา จะนำมาแก้ปัญหา หรือต่อกรกับโรคระบาดครั้งนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหลายสถานการณ์เกิดขึ้นเป็น “ครั้งแรก”
นอกจากนี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการธุรกิจติดตามอย่างใกล้ชิด คือพิษสงของโรคโควิดระบาดยังได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อพฤติกรรมและวิถีชีวิตของผู้บริโภคซึ่งจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป จนมีนิยามวิถีชีวิตปกติใหม่ หรือ New Normal เกิดขึ้นในวงกว้าง หนึ่งในหมวดหมู่ธุรกิจที่เผชิญผลพวงไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคเปลี่ยน คือ “ธุรกิจค้าปลีก” ทำให้องค์กรต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ พลิกคัมภีร์เพื่อรับมือกับโลกการช้อปปิ้งในอนาคต
หากเอ่ยชื่อ “สยามพิวรรธน์” ภาพจดจำคือการเป็นเจ้าของศูนย์การค้า สยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน และพันธมิตรเจ้าของไอคอนสยาม ที่ทุกศูนย์การค้ายืนหนึ่งอยู่ในใจของผู้บริโภค(Top of Mind) เพราะแต่ละศูนย์ได้สร้างปรากฏการณ์ให้เกิดในวงการค้าปลีกไทยผงาดและเป็นที่รู้จักในเวทีโลก โดยฝีไม้ลายมือของแม่ทัพหญิงเก่งอย่าง “คุณชฎาทิพ จูตระกูล” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด
แต่หากมองให้ลึกกว่ามิติดังกล่าว คุณชฎาทิพ เล่าว่า “สยามพิวรรธน์ หมายถึง การพัฒนาสยามอย่างไม่หยุดยั้ง” เพราะนับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทในปี 2502 หนึ่งในปณิธานหลักของบริษัทคือ การพัฒนาโครงการให้เป็นรูปแบบธุรกิจเพื่อส่วนรวมที่สร้างคุณค่าต่อผู้คน ชุมชนสังคมและประเทศชาตินั่นเอง และการไม่หยุดพัฒนาธุรกิจค้าปลีก ความมุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง กลายเป็นปรากฏการณ์ไปสู่โมเดลโลกธุรกิจค้าปลีกแห่งอนาคตด้วย
“ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เราได้ใช้กลยุทธ์ที่เรียกว่า ร่วมกันรังสรรค์ หรือ Co-creation และการสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย (Creating Shared Values) ซึ่งเป็นโมเดลธุรกิจที่มุ่งเน้นการพัฒนาคนจากภูมิปัญญาไทยและความคิดสร้างสรรค์ส่งต่อประโยชน์ให้กับคนจำนวนมากในสังคมไทยและทั่วประเทศตั้งแต่ต้นน้ำสู่ปลายน้ำ เป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน และสร้างความเท่าเทียมให้เกิดขึ้นในสังคมทั้งสิ้นนี้ได้ถูกฝังอยู่ใน DNA ของธุรกิจ และเป็นสิ่งที่เราทำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลานาน”
ทั้งนี้ โครงการที่สยามพิวรรธน์ริเริ่มปลูกฝังแนวคิดการส่งต่อประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่ผู้คนเป็นวงกว้าง สร้างความยั่งยืนในทุกมิติ มีการพัฒนาและต่อยอดให้เกิดความสำเร็จร่วมกัน ไม่ใช่เป็นเพียงการทำกิจกรรมเพียงครั้งคราวแล้วจบไป อีกทั้งการขับเคลื่อนธุรกิจ สยามพิวรรธน์ยังร่วมมือกับทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน เพื่อที่จะสร้างรูปแบบธุรกิจต่างๆ ของการค้าปลีกที่ได้มีโอกาสใช้ธุรกิจและสถานที่ของสยามพิวรรธน์เป็นเวทีของการนำเสนอสินค้าและบริการในหลากหลายประเภท ตลอดจนช่วยพัฒนาธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อยแบบครบวงจร ตั้งแต่การให้ความรู้เรื่องการขายและการตลาดสมัยใหม่ สร้างกระบวนการในการเรียนรู้การทำธุรกิจและออมเงิน ให้แก่ผู้ประกอบการ เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมทั้งหาพันธมิตรจากสถาบันการเงินต่างๆ มาให้ความรู้เรื่องการออมและการลงทุน ผลักดันให้ Local Hero เติบโตไปสู่การเป็น Global Hero ต่อยอดสู่การค้าขายในเวทีโลก
หากเจาะแนวคิดโครงการที่สยามพิวรรธน์ได้ริเริ่มเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาผู้ประกอบการรายย่อย มีมากมาย ดังนี้
1. ไอคอนคราฟต์ (ICONCRAFT): พื้นที่แห่งแรงบันดาลใจและสนับสนุนส่งเสริมผลงานจากช่างฝีมือไทยทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุด โดยสยามพิวรรธน์ เนรมิตพื้นที่ 2,500 ตารางเมตร(ตร.ม.) ชั้น 4 และ ชั้น 5 ณ ไอคอนสยามเป็นแห่งแรก ภายใต้ความมุ่งมั่นที่จะสร้างพื้นที่แห่งแรงบันดาลใจที่รวมผลงานจากช่างฝีมือไทยทั่วประเทศที่ใหญ่ที่สุด พร้อมเชิดชูภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทยในมุมมองใหม่ลงบนงานหัตถศิลป์
ทั้งนี้ โครงการ ไอคอนคราฟต์ เป็นเสมือนประตูแห่งโอกาสให้กับช่างฝีมือและผู้ประกอบการรายย่อยมากกว่า 500 ราย ได้ก้าวเข้าสู่การทำธุรกิจแบบโมเดิร์นเทรด มีโอกาสเรียนรู้การสร้างแบรนด์ การตลาด ตลอดจนการจัดการด้านการเงินต่างๆ ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการเพียง 2 ปี ผู้ประกอบการหลายรายสามารถขยายธุรกิจจนได้รับการติดต่อให้ไปวางขายในต่างประเทศได้
จากความสำเร็จที่เกิดขึ้น สยามพิวรรธน์ จึงขยายโครงการ ไอคอนคราฟต์ ไปยังบริเวณชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The creative inspiration platform for Thai craftsmen, to love, enjoy and be proud of modern Thai-ness” โดยได้นำเสนอผลงานของสุดยอดช่างฝีมือไทยจาก 77 จังหวัดทั่วประเทศกว่า 500 แบรนด์ ผ่านการนำเสนอใน 4 ด้าน ได้แก่
– Take Pride in Creative Craftsmen การบอกเล่าของดีของไทยผ่านความคิดสร้างสรรค์ของดีไซน์เนอร์รุ่นใหม่ ผสานกับองค์ความรู้จากอดีต และพัฒนาต่อยอดเกิดงานสมัยใหม่ จนเป็นศูนย์กลางงานนวัตศิลป์และงานคราฟต์ไทยแบบร่วมสมัยที่ไม่เคยมีที่ไหนมาก่อน
– Support Thai Craft Community (Support & Co-Creation) การสนับสนุนและทำงานร่วมกันกับคอมมูนิตี้คนรักงานคราฟต์ สร้างกระบวนการในการเรียนรู้การทำธุรกิจอย่างครบวงจรให้แก่ผู้ประกอบการ การส่งเสริมกลุ่มบุคคลพิเศษผู้พิการผู้ด้อยโอกาสทั่วไทยได้แสดงความสามารถ หรือนำผลิตภัณฑ์มาวางจำหน่ายอีกด้วย
– Celebrate Thai Craftsmen Stories (Craft Hero) เชิดชูความคิดสร้างสรรค์ของสุดยอดช่างศิลป์ ผู้อุทิศทั้งชีวิตเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาหัตถกรรมท้องถิ่น พร้อมส่งต่อเทคนิคคราฟต์มืออันล้ำค่าที่สร้างแรงใจให้นักออกแบบรุ่นใหม่นำไปต่อยอดงานทำมือไทยให้เท่ บอกเล่าเอกลักษณ์ไทยในบริบทที่แตกต่าง ต่อยอดสู่การค้าขายในเวทีโลก และ
– Inspired by creative craft product & activity ส่งต่อแรงบันดาลใจจากยอดฝีมือช่างคราฟต์ไทยด้วยกิจกรรมเวิร์คช้อป และงานอินสตอลเลชั่น (Installation) ที่ให้ทุกคนได้เป็นส่วนหนึ่งของงานคราฟต์ และทำงานคราฟต์ด้วยตนเอง
2. Ecotopia: อีโค่คอมมูนิตี้ตอบรับวิถีชีวิตยุคใหม่ (New Normal) ด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อความยั่งยืน ความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสมดุลด้านสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน และตอบสนองไลฟ์สไตล์อีโค่ของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการมีสุขภาพดีและสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างยั่งยืน
สยามพิวรรธน์ เนรมิตโครงการ Ecotopia บนชั้น 3 สยามดิสคัฟเวอรี่ เมืองแห่งคนรักษ์โลกผ่านความเชื่อที่ว่า “เราสร้างโลกให้ดีขึ้นได้ด้วยกัน” ซึ่งถือเป็นอีโค่คอมมูนิตี้ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่พร้อมให้ทุกคนมาเริ่มเปลี่ยนแปลงตนเองและสร้างปรากฎการณ์รักษ์โลกไปด้วยกันบนใจกลางเมือง ตอบรับไลฟ์สไตล์ Sustainable Living ในทุกมิติ
พื้นที่แห่งนี้ยังเต็มไปด้วยสินค้าที่ดีต่อสุขภาพและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ และรีไซเคิลได้ และเป็นพื้นที่เปิดโอกาสให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมโคครีเอทอย่างสร้างสรรค์เพื่อโลกเพื่อเรา “Together, We Co-Crate a Better World” รวมไปถึงการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อรณรงค์สร้างจิตสำนึกด้านอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมตลอดทั้งปี
3. สุขสยาม: เวทีสร้างโอกาสในการดำเนินธุรกิจและพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการท้องถิ่นสู่ความยั่งยืน เมืองสุขสยาม เป็นเมืองค้าปลีกรูปแบบใหม่ ณ ชั้น G ไอคอนสยาม ที่เปิดตัวมาภายใต้แนวคิด ‘Co-Creation’ หรือการร่วมรังสรรค์ และ Creating Shared Values หรือการสร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย
นี่ยังเป็นครั้งแรกของวงการค้าปลีกที่รวบรวมผู้ประกอบการท้องถิ่น และช่างฝีมือกว่า 3,000 ราย จากทุกจังหวัดทั่วประเทศมานำเสนอสุดยอดผลิตภัณฑ์ไทย จนเกิดระบบนิเวศทางการค้า (commercial ecosystem) ที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยสุขสยาม ได้ช่วยต่อยอดการพัฒนาสินค้าของแต่ละชุมชนให้ดียิ่งขึ้น ทั้งยังเป็นเวทีในการเรียนรู้กลไกการค้าปลีกและค้าส่ง สู่ต่างประเทศ การตลาดรูปแบบใหม่ อย่างครบวงจร (Omni Channel) ที่ผ่านมาสุขสยามได้ผลักดันให้ธุรกิจขนาดเล็กหลายรายประสบความสำเร็จจนได้มีโอกาสไปทำธุรกิจในต่างประเทศ มีรายได้ที่ดีขึ้นมากและมีเงินทุนที่จะพัฒนาธุรกิจต่อไป
“โครงการเหล่านี้คือเครื่องพิสูจน์ให้เห็นถึงความสำเร็จของโมเดลธุรกิจที่เราเชื่อว่าการร่วมกันรังสรรค์ สร้างคุณค่าสมประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย คือหัวใจหลักที่จะพัฒนาคนและสร้างสมดุลของระบบนิเวศทางการค้า ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่จะทำให้ทุกคนในสังคมสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน” คุณชฎาทิพ ทิ้งท้าย