ในสถานการณ์โควิด-19 ใช่ว่าจะมีแต่วิกฤติ แต่หากพลิกเป็นโอกาสได้เช่นกัน Buzzebees เทค คอมปะนี ใช้เวลา 3 เดือนช่วงล็อกดาวน์ พัฒนาเซอร์วิสใหม่ E-Commerce Solution Platform ออกมาให้บริการแก้ Pain Point ธุรกิจ SMEs ที่ต้องเร่งปรับตัวเข้าสู่การค้าออนไลน์ในยุค New Normal
ช่วงประกาศมาตรการล็อกดาวน์จากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งแบรนด์ขนาดใหญ่ ธุรกิจขนาดกลาง หรือแม้แต่ผู้ประกอบการรายย่อย ต้องรับมือกับสถานการณ์หน้าร้านถูกปิด ส่งผลให้ยอดขายตกต่ำเป็นประวัติการณ์ บางรายขาดสภาพคล่องทางการเงิน เป็นเหตุให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องรีบปรับตัวและกลยุทธ์เข้าสู่ “อีคอมเมิร์ซ” ที่ยังเป็นธุรกิจเติบโตก้าวกระโดด
หากดูข้อมูลของ Priceza ได้ประเมินว่าการเติบโตของธุรกิจอีคอมเมิร์ซในปี 2563 ซึ่งเป็นปีที่คนไทยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใช้บริการออนไลน์มากขึ้น รวมถึงการช้อปปิ้งออนไลน์จากผลกระทบโควิด โดยคาดการณ์ไว้ว่ามูลค่าตลาดรวมอีคอมเมิร์ซ จะเติบโต 35% หรือประมาณ 2.2 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 1.63 แสนล้านบาท ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวตอบโจทย์ผู้บริโภค หาโอกาสจากเม็ดเงินมหาศาลในตลาดนี้
คลอดบริการใหม่ “อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น” ใน 3 เดือน
คุณณัฐธิดา สงวนสิน ผู้ร่วมก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ บริษัท บัซซี่บีส์ จำกัด กล่าวว่าจากจุดเริ่มต้นของ “บัซซี่บีส์” เมื่อ 8 ปีก่อน ในฐานะผู้ออกแบบพัฒนาแพลตฟอร์ม CRM Privilege ที่ปัจจุบันเป็นผู้นำตลาดครองสัดส่วนกว่า 90% มีลูกค้าทั้งแบรนด์องค์กร กว่า 120 ราย และร้านค้า ร้านอาหาร รวมถึงผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่บน Eco-System ของ Buzzebees กว่า 2,000 ราย
“ช่วงล็อกดาวน์ผู้ประกอบการไม่สามารถทำธุรกิจได้ปกติ แบรนด์ใหญ่คงไม่มีปัญหาเพราะเข้าสู่อีคอมเมิร์ซหมดแล้ว แต่เอสเอ็มอี ที่ยังไม่มีช่องทางค้าขายออนไลน์กระทบหนัก เราเห็นโอกาสตรงนี้ จึงใช้เวลา 3 เดือน พัฒนาบิสซิเนส โมเดล ใหม่ อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น แพลตฟอร์ม ออกมาให้บริการเจาะกลุ่มธุรกิจขนาดกลางก่อนขยายไปรายเล็กต่อไป”
สำหรับบริการ อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น ของ “บัซซี่บีส์” มีดังนี้
– ลูกค้ากลุ่มเป้าหมายกลุ่มแรก ธุรกิจขนาดกลาง (รายได้ต่อปี 50 ล้านบาทขึ้นไป)
– แก้ Pain Point กลุ่มธุรกิจที่ต้องนำสินค้าไปอยู่บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่แต่ละรายเอง โดยเฉพาะ 4 มาร์เก็ตเพลสรายใหญ่ Lazada ,Shopee, JD Central และร้านค้า Official Store ใน LINE OA ดังนั้นหากมีสินค้า 1,000 รายการ นั่นหมายถึงต้องขึ้นถึง 4,000 ครั้งใน 4 แพลตฟอร์ม
– บริการ อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น จะให้บริการเป็นผู้ช่วยธุรกิจ ทำหน้าที่รวบรวมและดูแลระบบนำสินค้าไปขึ้นบนอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ บริหารสต๊อกในแต่ละแพลตฟอร์ม หากสินค้าถูกขายไป ก็จะตัดสต๊อกอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ประกอบการบริการสินค้าคงคลังได้แบบเรียลไทม์ โดยนำสินค้ามาขึ้นที่บัซซี่บีส์แพลตฟอร์มเดียว
– มีออปชั่นเพิ่ม (เลือกใช้บริการได้) ไม่ว่าจะเป็นการดูแลระบบขนส่ง การทำตลาดออนไลน์ ทำโปรโมชั่นแต่ละแพลตฟอร์ม วางระบบเพย์เมนต์ วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค นำข้อมูลมาทำ Big Data และ Machine Learning กลับมาทำ CRM ให้คะแนนลูกค้าในทุกช่องทางที่ลูกค้าซื้อ เพื่อกระตุ้นให้ลูกค้าซื้อซ้ำ
– ค่าใช้จ่ายบริการ อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น มีค่าแรกเข้า 50,000 บาท จากนั้นเก็บรายได้จาก Transaction Fee หรือแบ่งเปอร์เซ็นต์รายได้จากยอดขาย เป็นรูปแบบเดียวกับการขายผ่านช่องทางร้านค้า
– หากทำโมเดลอีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น ในกลุ่มลูกค้าไซซ์กลางได้สำเร็จ สามารถใช้ระบบ Automation กับลูกค้าไซซ์เล็กได้ ทำให้เพิ่มฐานลูกค้าเข้ามามากขึ้นอีก โดยที่ผู้ประกอบการไม่ได้มีต้นทุนมากนัก เพราะเป็นระบบเก็บค่าบริการจากยอดขาย
“อีคอมเมิร์ซ” โอกาสอีกมาก ธุรกิจสร้างรายได้ประจำ
หลังเปิดตัว อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น มาได้ 2 เดือน มีลูกค้าแล้ว 12 ราย เป็นลูกค้าระดับกลางที่มียอดขายต่อปี 50 ล้านบาท มองตลาด SMEs ยังมีโอกาสอีกมาก เพราะปัจจุบันกลุ่มเถ้าแก่ธุรกิจ ขายผ่านมาร์เก็ตเพลส ไม่มากนัก การตลาดออนไลน์ส่วนใหญ่มีเพียงการขายผ่านโซเชียลมีเดีย และไม่มีการทำตลาดออนไลน์กระตุ้นยอดขาย
ถึงสิ้นปีนี้จึงวางเป้าหมายยอดขายของลูกค้าที่มาใช้ อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น ไว้ 100 ล้านบาท โดยจะมีลูกค้าที่ทำยอดขายเดือนละ 5 แสนถึง 5 ล้านบาท หากนับเป็นจำนวนลูกค้าอาจจะอยู่ที่ 40 ราย ลูกค้าที่เข้ามาเริ่มจากกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน ของใช้ในบ้าน เป็นตลาดใหญ่มีผู้ประกอบการจำนวนมาก บางแบรนด์ขายอยู่ในแม็คโคร จากนั้นจะขยายต่อไปยังกลุ่มสินค้าบิวตี้ แกดเจ็ท และอื่นๆ
ประเมินว่าอีก 2 ปี หรือปี 2565 ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่เป็นลูกค้า อีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น จะทำยอดขายรวมได้ 1,500 ล้านบาท เป็นโมเดลที่จะสร้างเป็นรายได้ประจำให้บัซซี่บีส์ ในสัดส่วนที่เท่ากับบริการเดิม CRM Privilege นั่นหมายความว่าจะต้องเติบโตในอัตราก้าวกระโดด มากกว่าปกติที่เติบโตเฉลี่ย 30% ต่อปี
“ระยะยาวบริการอีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น จะเป็นอีกธุรกิจเรือธงทำรายได้หลักให้บัซซี่บีส์ เพราะการขายสินค้าออนไลน์ ยังเป็นทิศทางที่แบรนด์ต่าง ๆ ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ”
ไตรมาส 4 สัญญาณ CRM Privilege ฟื้น
ส่วนธุรกิจหลัก CRM Privilege ปัจจุบันครองตลาดนี้อยู่ 90% เรียกว่าลูกค้าแบรนด์ดังๆ หากเอ่ยชื่อมา ก็เป็นลูกค้าของบัซซี่บีส์ทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็น ซัมซุง Galaxy Gift, เอไอเอส พริวิเลจ, สิงห์ รีวอร์ด , PTT Privilege วันนี้เรียกว่าทุกธนาคาร ประกันภัย ประกันชีวิต สถานีบริการน้ำมัน เป็นลูกค้า CRM Privilege กับบัซซี่บีส์ ที่จะดูแลการตลาด พร้อมจัดหาสินค้าและบริการพริวิเลจให้กับแบรนด์ต่างๆ มีเครือข่ายร้านค้าให้รับแลก (redeem) พ้อยท์สะสมกว่า 20,000 ร้านค้า
CRM Privilege เป็นการตลาดที่ทุกแบรนด์ลงมาเล่น เพราะเห็นผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ชัดเจน แม้ active rate อยู่ที่ 20-30% แต่เป็นกลุ่มที่สร้างยอดขายให้แบรนด์ 60% เป็นลูกค้าที่ซื้อจริง ซื้อซ้ำ การรักษาฐานลูกค้าพริวิเลจ จึงเป็นเรื่องที่แบรนด์ต่างๆ ให้ความสำคัญ
ปัจจุบันมีลูกค้า CRM Privilege ราว 120 แบรนด์ กว่า 300 แพลตฟอร์ม เพราะแต่ละแบรนด์มีหลายแพลตฟอร์ม มีแอคเคาน์ฐานลูกค้าของแบรนด์ 75 ล้านราย
กลยุทธ์ CRM Privilege ทำได้ทุกกลุ่มสินค้าตั้งแต่ระดับแมส อย่าง สินค้า M-150 ไปถึง กลุ่มลักชัวรี แบรนด์ Chanel Dior รูปแบบการทำพริวิเลจจะอยู่ที่ positioning ของแต่แบรนด์ เพราะ CRM มีผลต่อยอดขายโดยตรง สามารถเป็นช่องทางการสื่อสารเข้าถึงลูกค้าได้รายเซ็กเมนต์ ตั้งแต่ B2B พ่อค้าแม่ค้ารายย่อย ที่มาซื้อสินค้าไปขายต่อ เป็นช่องทางบอกโปรโมชั่นใหม่และให้คะแนนสะสมแต้ม จากเดิมที่แบรนด์ไม่สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มนี้ได้ ถือเป็นการเปลี่ยนเกมการตลาด ไปถึงผู้บริโภค end user
กลุ่มแมส มีความแอคทีฟกับโปรแกรม CRM สูง ชอบสินค้า พริวิเลจ เช่น ทองคำ ไอโฟน voucher ส่วนกลุ่มลักชัวรี่ จะชอบพริวิเลจประเภท priority เช่น บริการเลาจน์พิเศษ เอ็กซ์คลูซีพ ช้อปปิ้ง ไพรเวทเซลส์ ทิศทางธุรกิจ CRM Privilege จึงยังไปต่อได้
บัซซี่บีส์ เป็นเทค คอมปะนี ดังนั้นเป้าหมายหรือเซอร์วิสใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ ยังทำหน้าที่เป็น “ผู้ช่วยธุรกิจ” ทำให้เกิดดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ให้กับอุตสาหกรรม อย่าง CRM Privilege แตก e-voucher รับแลกให้แบรนด์ต่างๆ ช่วยลดคูปองกระดาษได้เดือนละ 2 ล้านใบ และกระบวนการส่งไปรษณีย์ 2 ล้านครั้ง
ส่วนอีคอมเมิร์ซ โซลูชั่น ก็มาจากการแก้ข้อจำกัดจากช่องทางออฟไลน์ สู่การขายสินค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มต่างๆ ด้วยการรวบรวมสินค้าไว้ที่บัซซี่บีส์ที่เดียวและนำไปเปิดร้านขายได้ทุกมาร์เก็ตเพลส เพื่อทำให้อุตสาหกรรมเติบโตก้าวกระโดด
“บทบาทของบัซซี่บีส์ จะเป็นพาร์ทเนอร์กับทุกอุตสาหกรรม เราไม่ได้ต้องออกหน้าด้วยแบรนด์บัซซี่บีส์ แต่หน้าที่คือเป็นผู้ช่วยให้ทุกคนสำเร็จ”