ท่ามกลางการแพร่ระบาดของวิกฤติโควิด-19 ที่ถาโถมทั่วทั้งโลกแบบไม่ทันตั้งตัว รวมถึงประเทศไทย ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและธุรกิจในหลายส่วน ทั้งการท่องเที่ยว บันเทิง ค้าปลีก ร้านอาหาร ไปจนถึงการใช้ชีวิตประจำวัน แม้ว่าตอนนี้สถานการณ์แพร่ระบาดในไทยจะเริ่มคลี่คลาย หลายกิจการกลับมาเปิดให้บริการกันตามปกติ แต่ต้องยอมรับว่าภาพรวมของเศรษฐกิจและธุรกิจในปีนี้อยู่ในสถานการณ์ “สาหัส” อย่างมาก แล้ว ธุรกิจกาแฟไทย ที่แข่งขันกันอย่างดุเดือด โดยแทบจะมีอยู่ทุกซอกซอยและมุมถนน จะมีทิศทางอย่างไร ศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้า (EXIM Excellence Acedemy) หน่วยงานภายใต้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย ได้เผยบทวิเคราะห์ถึงสถานการณ์กาแฟไทยในช่วงโควิด-19 พร้อมกับทิศทางอนาคตไว้อย่างน่าสนใจ
โอกาสในวิกฤติ ยอดส่งออกกาแฟไตรมาสแรกโต 14%
เพราะการดื่มกาแฟเป็นมากกว่าแค่เครื่องดื่มที่ส่งกลิ่นหอมอบอวลชวนปลุกคนให้ตื่นจากความง่วงในยามเช้าหรือยามบ่าย แต่ยังสะท้อนรสนิยมของผู้ดื่มได้อย่างชัดเจน ทำให้กาแฟกลายเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น ทั่วโลกก็มีปริมาณบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้นด้วย ส่งผลให้โดยธุรกิจกาแฟของไทย มียอดส่งออกเป็นอันดับที่ 10-11 ของโลกมาอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลของกระทรวงพาณิชย์เอง และจาก International Coffee Organization ล่าสุดในเดือนเมษายน 2563 นี้ ระบุว่า ยอดการส่งออกเมล็ดกาแฟของไทย มีปริมาณสูงถึง 81,000 ตัน เป็นอันดับที่ 10 ของประเทศผู้ส่งออกเมล็ดกาแฟมากที่สุด เพิ่มขึ้นจากช่วงปี 2016/2017 ถึง 4%
สำหรับในช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคไม่สามารถนั่งรับประทานอาหารที่ร้านอาหาร โรงแรม และร้านกาแฟได้ จากมาตรการล็อกดาวน์ หลายคนจึงอาจจะคิดว่ายอดการบริโภคกาแฟน่าจะลดลง แต่ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ยอดส่งออกกาแฟของไทยโดยเฉพาะกาแฟสำเร็จรูปในไตรมาสแรกสูงถึง 6,000 ตัน เพิ่มขึ้น 14.69% ซึ่งตัวเลขที่เติบโตเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตแม้ในช่วงวิกฤติ ในขณะที่หลายประเทศไม่สามารถผลิตกาแฟป้อนตลาดโลกได้ทัน อีกทั้งผู้ประกอบการร้านกาแฟ ผู้ขายเมล็ดกาแฟ และกาแฟสำเร็จรูป ต่างปรับกลยุทธ์การขาย โดยหันมาเน้นช่องทางออนไลน์ และจัดส่งตรงถึงผู้ซื้อ ขณะเดียวกันยังปรับเปลี่ยนให้อยู่ในรูปแบบกาแฟพร้อมดื่มมากขึ้น และมีการแนะนำ ให้ความรู้ สอนการปรุงกาแฟในรูปแบบออนไลน์ผ่านสื่อต่างๆ เพื่อสร้างการรับรู้และสร้างความต้องการแก่ผู้บริโภคเพิ่มมากขึ้น จึงเป็นโอกาสของกาแฟสำเร็จไทย ทำให้ปริมาณการสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ในส่วนของสินค้ากาแฟสำเร็จรูป (3 in 1) กาแฟคั่วบด กาแฟแคปซูล และอุปกรณ์ชงกาแฟ ที่จำหน่ายในห้างสรรพสินค้าและทางออนไลน์ มียอดจำหน่ายเพิ่มขึ้น ขณะที่กลุ่มลูกค้าที่เคยซื้อในปริมาณมาก เช่น โรงแรม ภัตตาคาร และสายการบิน กลับมียอดขายลดลงเนื่องจากต้องหยุดกิจการในช่วงนี้
ปั้น “กาแฟ” เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทย
เมื่อหันมามองแนวโน้มธุรกิจกาแฟเมืองไทย โดยเฉพาะตลาดกาแฟสด พบว่า มีแนวโน้มการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจัยหลักๆ มาจากอัตราการบริโภคกาแฟสดของคนไทยยังน้อยเมื่อเทียบกับหลายประเทศอย่างยุโรปและญี่ปุ่น โดยปัจจุบันคนไทยบริโภคกาแฟโดยเฉลี่ยประมาณ 1.2 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือประมาณ 300 แก้วต่อคนต่อปี ขณะที่คนยุโรปมีตัวเลขการบริโภคอยู่ที่ประมาณ 4-5 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือประมาณ 600 แก้วต่อคนต่อปี ส่วนคนในประเทศญี่ปุ่นบริโภคกาแฟประมาณ 3 กิโลกรัมต่อคนต่อปี หรือประมาณ 400 แก้วต่อคนต่อปี ตัวเลขนี้จึงสะท้อนให้เห็นว่าตลาดกาแฟสดยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก และอาจจะมีตัวเลขถึงปีละ 10%
ถึงแม้อัตราการบริโภคกาแฟของคนไทยยังไม่สูงมาก แต่ด้วยมูลค่าธุรกิจกาแฟในไทยที่สูงถึง 30,000 ล้านบาท และหากมองโอกาสของธุรกิจกาแฟ จากปริมาณการบริโภคกาแฟทั่วโลก จะพบว่า มีปริมาณสูงถึง 9.5 ล้านตัน เทียบกับปริมาณการส่งออกรวมของผู้ส่งออกกาแฟทั่วโลก ยังมีเพียง 2.9 ล้านตันเท่านั้น (ตัวเลขก่อนช่วงวิกฤติโควิด-19)
ซึ่งในช่วงโควิด-19 ปริมาณการส่งออกของรายใหญ่ๆ ลดลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ยอดสั่งซื้อเทมาที่ผู้ประกอบการไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ช่องว่างนี้จึงยังมีที่ให้กับผู้ประกอบการอีกมาก ควบคู่ไปกับการแข่งขันดุเดือดยิ่งขึ้นจากจำนวนคู่แข่งรายใหญ่ๆ ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นประเทศแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิล (อันดับ1) เม็กซิโก (อันดับ5) หรือกระทั่งเพื่อนบ้านในเอเชีย ทั้ง อินโดนิเซีย (อันดับ2) ฟิลิปปินส์ (อันดับ4) และเวียดนาม (อันดับ6) เป็นต้น เข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดอย่างต่อเนื่อง
จากศักยภาพของอุตสาหกรรมกาแฟไทยที่มีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ส่งผลให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้หยิบกาแฟมาปั้นเป็นยุทธศาสตร์เพื่อสร้างกลยุทธ์ในการผลักดันกาแฟไทย ทั้งด้านคุณภาพและปริมาณตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ โดยมีเป้าหมายต้องการให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำในด้านการผลิตและการค้ากาแฟคุณภาพของภูมิภาคอาเซียน และผลักดันให้กาแฟเป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ของไทยที่สร้างรายได้ที่มั่นคงให้แก่เกษตรกรและผู้ดำเนินธุรกิจที่อยู่ในอุตสาหกรรมกาแฟของไทย
ดังนั้น หากหลายภาคส่วนให้การสนับสนุนธุรกิจผลิตกาแฟอย่างจริงจัง พัฒนาสายพันธุ์กาแฟที่เป็นที่นิยม หรือมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น เช่น กาแฟขี้ชะมด หรือแม้แต่ส่งเสริมนวัตกรรมการผลิตกาแฟที่หลากหลายขึ้น แทนการผลิตกาแฟสายพันธ์ธรรมดาทั่วๆ ไป หรือวิธีการบริโภคทั่วๆ ไป บางทีกาแฟไทยอาจกลายเป็นสินค้าที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจที่ให้คุณค่าแก่สังคมได้อย่างไม่ยากเย็น
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand