เปิดตัวแล้วอย่างเป็นทางการเมื่อช่วงเช้าของวันนี้ สำหรับแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่จากอินโดนีเซียอย่าง “Gojek” ที่ก่อนหน้านี้เคยให้บริการในประเทศไทยภายใต้ชื่อ “GET” ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อบริษัทแม่ขยับลงมาในตลาดไทยด้วยตัวเอง ย่อมสะท้อนถึงสัญญาณหลาย ๆ ประการของธุรกิจ Ride-Hailing และ Food Delivery ที่กำลังแข่งกันอย่างดุเดือดในช่วงครึ่งปีหลังของ 2020 ด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
โดยหากมองในแง่ความใหญ่ของแพลตฟอร์ม Gojek นั้นพบว่า ปัจจุบัน แอปพลิเคชันดังกล่าวให้บริการแล้วใน 207 เมืองใน 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย เวียดนาม ไทย สิงคโปร์ (ส่วนประเทศที่ 5 คือฟิลิปปินส์ยังไม่มีการเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ มีเพียงการเข้าไปควบรวมกิจการ Coin.ph เตรียมไว้เท่านั้น) โดย Gojek มียอดการดาวน์โหลดไปแล้วกว่า 190 ล้านครั้ง มีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มมากกว่า 500,000 แห่ง และมีพาร์ทเนอร์คนขับมากกว่า 2 ล้านคน
เพียงแต่นโยบายก่อนหน้าของ Gojek คือการลงทุนในประเทศต่าง ๆ โดยใช้ชื่อบริการแตกต่างกัน เช่น GoViet ในเวียดนาม หรือ GET ในประเทศไทย
การออกมารีแบรนด์ให้ทุกประเทศกลับมาใช้ชื่อเดียวกันคือ “Gojek” จึงเป็นสัญญาณว่า บริษัทตั้งเป้าสู่การเป็นแบรนด์ระดับโกลบอลแล้ว โดยคุณเควิน อลูวี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ Gojek กล่าวในการแถลงข่าวเปิดตัวด้วยว่า เมื่อรวมการดำเนินงานในทุกประเทศเข้าด้วยกันจะทำให้ Gojek สามารถพลิกโฉมการใช้งานและประสบการณ์ของผู้บริโภคได้ในระดับภูมิภาค ซึ่งผู้บริหาร Gojek มองว่าจะเป็นอิมแพคที่แท้จริงที่จะเกิดขึ้นจากการรีแบรนด์ครั้งนี้
ขณะที่คุณอันเดร โซลิสต์โย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วมของ Gojek กล่าวถึงอีกหนึ่งเป้าหมายของบริษัท นั่นคือ การเพิ่มผู้ใช้บริการจากประเทศอื่นที่ไม่ใช่อินโดนีเซียให้มีสัดส่วนอยู่ที่ 50% ของแพลตฟอร์ม จากที่ปัจจุบัน ผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของ Gojek ยังมาจากอินโดนีเซียเป็นหลัก ซึ่งเขาบอกด้วยว่า ประเทศไทยมีส่วนสำคัญมากต่อเป้าหมายนี้
โดยปัจจุบัน ประเทศไทยมีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มแล้วกว่า 30,000 แห่ง และมีพาร์ทเนอร์ร่วมขับแล้วกว่า 50,000 ราย ส่วนในด้านผู้ใช้งานนั้น นับตั้งแต่เริ่มให้ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Gojek ได้บน AppStore และ Google Play Store เมื่อ 15 วันก่อน มาถึงตอนนี้มีผู้ดาวน์โหลด Gojek ไปแล้วหลักแสนราย และเชื่อว่าด้วยแคมเปญต่าง ๆ ในการเปิดตัวจะทำให้ตัวเลขการดาวน์โหลดพุ่งอย่างรวดเร็วด้วยเช่นกัน
เหตุเพราะกรณีดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วในเวียดนาม ซึ่งมีการรีแบรนด์จาก GoViet เป็น Gojek ไปเมื่อ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา และพบว่าเกิดการสั่งซื้อสินค้าภายในแพลตฟอร์มหลักล้านครั้งภายในไม่กี่สัปดาห์หลังการเปิดตัวด้วย (ปัจจุบันในเวียดนาม Gojek มีพาร์ทเนอร์คนขับกว่า 150,000 ราย และมีร้านอาหารบนแพลตฟอร์มกว่า 80,000 แห่ง)
เปิดตัว 3 แอป Gojek, GoPartner และ GoBiz
โดยสิ่งที่เกิดขึ้นจากการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในประเทศไทยคือ Gojek จะส่งแอปพลิเคชันมาบุกตลาดไทยทั้งสิ้น 3 แอปพลิเคชัน ประกอบด้วย Gojek สำหรับผู้ใช้งาน, GoPartner สำหรับคนขับ และ GoBiz สำหรับธุรกิจร้านอาหาร ส่วนแอปพลิเคชันเดิมนั้นจะไม่สามารถใช้งานได้อีกต่อไป
สำหรับบริการที่ Gojek เปิดในประเทศไทยประกอบด้วย
- GoFood บริการส่งอาหาร
- GoRide บริการเรียกรถจักรยานยนต์
- GoSend บริการรับส่งพัสดุ
- GoPay บริการอีวอลเล็ต
- GoFood Pickup* เป็นบริการสั่งอาหารล่วงหน้า แล้วค่อยไปรับอาหารที่ร้านเมื่อตนเองสะดวก ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงทดลอง แต่มีร้านอาหารกว่า 500 แห่งในกรุงเทพฯ เข้าร่วมแล้ว
นอกจากนี้ สิ่งที่จะเกิดขึ้นที่เห็นเด่นชัดอีกข้อก็คือ ประสบการณ์ภายในแอปพลิเคชัน Gojek ที่จะเป็นประสบการณ์เดียวกันทั้งหมด ไม่ต่างกับในอินโดนีเซีย เวียดนาม หรือสิงคโปร์ เช่น การเพิ่ม “ฟีเจอร์แชท” ลงมาในแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถพูดคุยสื่อสารถึงกันได้ การแชร์ข้อมูลร้านอาหารที่ชื่นชอบกันได้ หรือการสร้าง Wishlist สำหรับบันทึกร้านอาหาร หรือเมนูที่ชื่นชอบเอาไว้สำหรับการสั่งอาหารในอนาคต เป็นต้น
อบรมคนขับออนไลน์ บน GoPartner
การเรียนออนไลน์ซึ่งเคยเฟื่องฟูในช่วง Covid-19 ตอนนี้ก็เกิดขึ้นแล้วเช่นกันบน GoPartner โดยต่อจากนี้ไป พาร์ทเนอร์ร่วมขับสามารถลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน และรับการอบรมออนไลน์ได้โดยตรงจากแอปเลย ไม่ต้องรอเข้าคิวมาอบรมที่ศูนย์ของ Gojek ในย่านสาธรอีกต่อไป
โดยในจุดนี้ คุณภิญญา นิตยาเกษตรวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ Gojek ประเทศไทย เผยว่า คอร์สอบรมออนไลน์ช่วยเพิ่มความสะดวกให้พาร์ทเนอร์ร่วมขับได้มากกว่า เพราะไม่ต้องสละเวลางานมาอบรมเหมือนในอดีต แต่ทางบริษัทจะมีการยืนยันตัวตนว่าพวกเขาเป็นตัวจริง ในตอนที่ให้คนขับมารับอุปกรณ์เช่น หมวกกันน็อค เสื้อคลุม ฯลฯ นั่นเอง เช่นเดียวกับการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมของคนขับจะยังมีอยู่เช่นเดิม
นอกจากนี้ ทาง Gojek ยังมีประกันภัยชนิดต่าง ๆ มอบให้กับพาร์ทเนอร์คนขับด้วย โดยเงื่อนไขคือจะมอบให้กับคนที่ขับให้กับ Gojek 8 ชั่วโมงต่อวันเป็นลำดับแรก
GoBiz แอปเพื่อร้านอาหาร
สำหรับร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม ซึ่งต้องใช้แอปพลิเคชัน GoBiz นั้น พบว่ามาพร้อมฟีเจอร์ใหม่เช่นกัน นั่นคือ Chat Head Notification หรือการแจ้งเตือนออเดอร์ใหม่ให้ร้านอาหารทราบ แม้ในขณะปิดแอปพลิเคชันอยู่ ฟีเจอร์ Partner Badge และ Super Partner Badge ที่ช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกหาร้านอาหารพาร์ทเนอร์ที่รับประกันได้ว่าให้บริการมีคุณภาพนั่นเอง
ปฏิเสธข่าวลือควบกิจการ
นอกจากการเปิดตัวแบรนด์ Gojek อย่างเป็นทางการในประเทศไทย ทางผู้บริหาร Gojek ยังได้ปฏิเสธข่าวลือเรื่องการควบรวมกิจการระหว่าง Grab กับ Gojek ที่มีมาก่อนหน้านี้ด้วย พร้อมชี้ว่า ด้วยจำนวนผู้ใช้งานที่โอนย้ายจากแอปพลิเคชัน GET มาสู่ Gojek ได้หลักแสนคนในช่วงเวลาเพียง 15 วัน ประกอบกับการมีพาร์ทเนอร์เชิงกลยุทธ์อย่างธนาคารไทยพาณิชย์ เดอะมอลล์กรุ๊ป ฯลฯ และแคมเปญใหญ่ในช่วงเปิดตัว* ทำให้ทาง Gojek ประเทศไทย มองเห็นโอกาสในการเติบโตอย่างมหาศาลที่จะเกิดขึ้น และเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้จะสามารถออกมาเปิดเผยตัวเลขเหล่านั้นได้อย่างแน่นอน
/////////////////////////////
แคมเปญใหญ่ช่วงเปิดตัวของ Gojek ประกอบด้วย
- Gojek Exclusive Set ที่แจกฟรีโดนัท Krispy Kreme แก่ผู้ใช้บริการ 10,000 ราย วันที่ 17 กันยายน 2020 ระหว่างเวลา 12.00 – 18.00 น.
- Gojek Grand Opening Deals
- มอบคูปองส่วนลดมูลค่าสูงสุดถึง 2,500 บาทให้กับผู้ใช้งานใหม่
- ดีลส่วนลดค่าอาหารสูงสุดถึง 50% จากพาร์ทเนอร์ร้านอาหาร อาทิ เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป, เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป, เท็กซัส ชิคเก้น, โดมิโน่พิซซ่า, เชสเตอร์ ฯลฯ
- คูปองส่วนลดมูลค่า 12 บาท 5 ใบ เพื่อทดลองใช้บริการ GoRide (เรียกรถจักรยานยนต์)
- Flash Sale เมนูเด็ดราคาเดียว 39 บาท 10 วัน 10 ร้านดัง