สถานการณ์การเมืองที่มีความขัดแย้งสูง วันนี้สังคมจึงถูกแบ่งออกเป็นหลายส่วน แต่ละฝ่ายต่างแสดงความเห็นผ่านสื่อออนไลน์อย่างเปิดเผย คงเป็นเรื่องปกติหากเป็นบทสนทนาของคนทั่วไปพูดในมุมมองและข้อมูลที่แต่ละคนเชื่อ บนกฎกติกาที่ไม่ละเมิดผู้อื่น แต่ถือเป็นสิ่ง “ต้องห้าม” สำหรับแบรนด์ รวมทั้ง “เจ้าของกิจการ” และผู้บริหารระดับสูง หากจะมีคอมเมนต์ประเด็นการเมือง เพราะนั่นหมายถึงความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบกับ “แบรนด์” จากกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยทันที
นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม จุดเริ่มต้นการชุมนุม “เยาวชนปลดแอก” โดยกลุ่มนักศึกษา ที่มีข้อเรียกร้องหลักให้มีการแก้รัฐธรรมนูญ มาถึงการชุมนุมใหญ่เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2563 บริเวณท้องสนามหลวง นอกจากกระแสแรงในพื้นที่ชุมนุมแล้ว การแสดงความเห็นของทั้ง 2 ขั้วบนโลกออนไลน์ก็ฮอตติดเทรนด์โซเชียลมีเดียไม่แพ้กัน
แฮชแท็กแบน…บุคคล สื่อ สินค้า แบรนด์ต่างๆ ฮอตโซเชียล ตลอดช่วง 2 เดือนนี้ ไม่ว่าจะเป็นกรณี #แบนสปอนเซอร์เนชั่น #แบนดารานักแสดงที่เลือกข้าง หรือ #แบนไอดอลคนไทยในเกาหลีที่ไม่แสดงความเห็น มาถึงการชุมนุมวันที่ 19-20 กันยายนที่ผ่านมา ก็มีกระแส #แบนSCB ก่อนแล้วต่อด้วย #แบนศรีพันวา เมื่อ คุณปลาวาฬ วรสิทธิ์ อิสสระ ผู้บริหารโครงการศรีพันวา ออกมาวิพากษ์วิจารณ์การชุมนุมของกลุ่มแนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม
เจ้าของกิจการ-แบรนด์ ต้องเป็นกลางทางการเมือง
ในสถานการณ์การเมืองที่มีความเห็นไม่ตรงกัน จนทำให้ “แบรนด์” ถูกโยงเข้าไปในความขัดแย้ง คุณวิทวัส ชัยปาณี นายกกิตติมศักดิ์ สมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย ให้มุมมองว่าปกติแบรนด์หรือองค์กรขนาดใหญ่มีนโยบายชัดเจนว่า “ไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” โดยต้องวางตัวเป็นกลางในทุกสถานการณ์ แต่ก็เป็นเรื่องยากในยุคนี้ โดยเฉพาะกรณีที่ “เจ้าของกิจการ” ออกมาคอมเมนต์ผ่านสื่อโซเชียล คนฟังก็นำมาผูกติดกับแบรนด์ ดังนั้นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูง ต้องหลีกเลี่ยง การแสดงความเห็นทางการเมือง เพราะจะกระทบแบรนด์ที่เป็นสาธารณะทันที
กระแส #แบน ที่เกิดขึ้นกับหลายแบรนด์ในช่วงนี้ น่าจะเป็นบทเรียนที่ดีว่า หากเจ้าของกิจการหรือผู้บริหารระดับสูง ที่เป็นภาพสะท้อนของแบรนด์ ออกตัวแรงจากการแสดงความคิดเห็นทางการเมือง ซึ่งมีความเห็นแบ่งเป็น 2 ฝ่าย เมื่อแสดงความคิดเห็นเข้ากับฝ่ายใด ก็จะมีอีกฝ่ายไม่เห็นด้วยทันที นั่นหมายถึงอาจเสียฐานลูกค้าอีกครึ่งไป ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงในการทำธุรกิจอย่างมาก
“การทำธุรกิจต้องพยายามวางตัวออกจากการเมือง คิดได้แต่อย่าพูดโดยเฉพาะในพื้นที่สาธารณะ เพราะมีความเสี่ยงกระทบแบรนด์ แม้แต่การพูดคุยผ่านไลน์กรุ๊ป ก็ยังถูกแคปหน้าจอได้ หรือพูดกับพนักงานในบริษัทก็ยังถูกถ่ายคลิปมาเผยแพร่ได้”
การพูดเรื่องการเมืองถือเป็นอันตรายสำหรับธุรกิจ เจ้าของกิจการและผู้บริหารต้องระวัง โดยเฉพาะประเด็นที่มีความขัดแย้งสูง ซึ่งผลของการแสดงความเห็นในฐานะเจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร จะกระทบแรงกว่า พนักงานหรือคนในองค์กรแสดงความเห็น เพราะกรณีนี้ยังชี้แจงได้ว่าเป็นความเห็นส่วนบุคคล ไม่ใช่องค์กร
เมื่อเจอกระแส #แบน “แบรนด์”ต้องทำอย่างไร
หากไม่ต้องการอยู่ในกระแส #แบน ต้องเริ่มจากการไม่แสดงความคิดเห็นทางการเมืองในพื้นที่สาธารณะ ซึ่งต่างจากกรณีที่แบรนด์ ถูกจัดอยู่ในแบล็คลิสต์ ของชาวโซเชียล ที่ไม่พอใจ จากการเป็นสปอนเซอร์อีกฝั่ง กรณีนี้ผลกระทบไม่แรงเท่าเจ้าของกิจการ หรือผู้บริหารสูงสุดขององค์กร ออกมาแสดงความเห็นแล้วเจอกระแส #แบน
แม้มีบางองค์กรที่เจอกระแส #แบน และเป็นอย่างที่โลกออนไลน์พูดถึงจริงว่าสนับสนุนฝั่งที่เป็นคู่ขัดแย้ง แต่หากเจ้าของกิจการและแบรนด์ไม่ออกมาตอบโต้ อยู่เฉยๆ และไม่ออกมาแก้ตัว ก็จะไม่กระทบมากนัก เพราะวันนี้คนในโซเชียลก็ไม่ได้เชื่อข้อมูลในกรณีที่เกิดดราม่าทั้งหมดอย่างรวดเร็ว นอกจากจะมีประเด็นข้อเท็จจริงที่ต้องชี้แจงและแบรนด์ไม่ได้เป็นอย่างที่โลกออนไลน์กำลังพูดถึง
“ในสถานการณ์การเมืองที่มีความคิดเห็นแตกต่าง เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร และแบรนด์ต้องอยู่เฉยๆ หรือแม้แต่เจอประเด็นดราม่า กระแส #แบน ก็ต้องนิ่งเงียบ หากไปตอบโต้จะเป็นการต่อยอดก็ไม่จบ เพราะการแก้ตัวไม่มีทางฟังขึ้นในมุมของผู้กล่าวหาและเปลี่ยนความคิดคนที่เชื่อไปแล้วไม่ได้ วันนี้โลกโซเชียลมีข้อมูลใหม่ๆ ให้พูดถึงทุกวัน โดยปกติกระแสที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์ ทั้งดีและไม่ดี 90% จะจบเร็ว”
แต่หากกระแสตราม่าไม่จบลากยาวเป็นสัปดาห์ เป็นเดือนเรื่องยังไม่จบ หรือยอดขายสินค้าลดลงอย่างมาก ก็ต้องเข้าสู่กระบวนการ Crisis Management แก้ไขปัญหา ชี้แจงข้อเท็จจริงตามขั้นตอน
การสื่อสารแบรนด์ในยุคสื่อออนไลน์ที่คนเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว แบรนด์ต้องอยู่บนความจริงใจ ให้ข้อเท็จจริง เพราะคนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย และตัดสินใจได้เองว่าตัวตนของแบรนด์เป็นอย่างไร