หากย้อนกลับไปเมื่อ 6 ปีที่แล้ว ในยุคที่คำว่า “ดิจิทัลคอนเทนต์” กำลังได้รับความนิยม หลายคนอยากผันตัวเองลงสู่สนามนี้ ไม่เว้นแม้แต่แบรนด์เพราะการดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน จะมองเพียงแค่ธุรกิจอย่างเดียวคงไม่ได้อีกต่อไปแล้ว ต้องสามารถแบ่งปัน Know How ความเชี่ยวชาญที่มีในธุรกิจไปสู่ผู้บริโภคได้ ซึ่งสิ่งนี้จะช่วย Engage และ Connect แบรนด์กับผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น
แต่ท่ามกลางคอนเทนต์ที่เกิดขึ้นใหม่ทุกวันบนโลกออนไลน์ จะมีสักกี่คอนเทนต์หรือแบรนด์ที่มีคาแรคเตอร์ชัดเจน จนทำให้ผู้อ่านจดจำและกลับเข้ามาอ่านอย่างต่อเนื่องเป็นประจำ Plearn เพลิน by Krungsri GURU เป็นหนึ่งในคอนเทนต์ฮับออนไลน์ที่เข้าสู่สนามดิจิทัลคอนเทนต์เมื่อปี 2557 จนประสบความสำเร็จ ปัจจุบันมียอดผู้อ่านต่อเดือนกว่า 570,000 ราย ท่ามกลางการแข่งขันอันดุเดือด และล่าสุดกำลังต่อยอดสู่ PODCAST เป็นครั้งแรก เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่นิยมฟัง PODCAST มากขึ้น
อะไรคือแม่เหล็กที่ทำให้คอนเทนต์ฮับออนไลน์อย่าง Plearn เพลิน by Krungsri GURU มัดใจผู้อ่านจนอยู่หมัด Brand Buffet จะพาไปค้นคำตอบจาก คุณมิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารแบรนด์และการตลาดองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) พร้อมล้วงลึกอินไซต์และเทรนด์การเติบโตของ PODCAST ในประเทศไทย
Make Life Simple สู่ ‘Plearn เพลิน by Krungsri GURU’
หากพูดถึง “ธนาคารกรุงศรี” แน่นอนว่าหมวกใบหลักคือ การให้บริการธุรกรรมทางการเงิน แต่เมื่อดิจิทัลเข้ามามีบทบาทต่อวิถีชีวิตผู้คนจนเปลี่ยนพฤติกรรมทางการเงินของผู้บริโภคไปอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ธนาคารยุคดิจิทัลจึงต้องมีบทบาทมากกว่าการเป็นธนาคารแบบเดิมๆ หนึ่งในนั้นคือ การนำองค์ความรู้ด้านการเงินมาถ่ายทอดให้ผู้บริโภค เพราะนอกจากจะทำให้ผู้บริโภคได้ความรู้ความเข้าใจและสามารถนำไปวางแผนทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น ยังช่วยให้แบรนด์ Engage กับผู้บริโภคได้มากขึ้นด้วย
คุณมิ่งขวัญ พัฒนวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานบริหารแบรนด์และการตลาดองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) บอกว่า เมื่อ 6 ปีที่แล้ว องค์ความรู้ทางด้านการเงินส่วนใหญ่มักใช้ภาษาค่อนข้างยาก ทำให้คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงความรู้ทางการเงิน ประกอบกับธนาคารกรุงศรียึดมั่นเรื่องเงินเป็นเรื่องง่ายสำหรับลูกค้าเป็นหลักในการทำงาน ตามกลยุทธ์ Make Life Simple เรื่องเงิน เรื่องง่าย จึงนำมาสู่แผนการตลาดและการสร้างแบรนด์ ผ่านการทำคอนเทนต์บนเว็บไซต์ Krungsri.com ในชื่อ Plearn เพลิน by Krungsri GURU ที่ทางธนาคารฯ ตั้งใจให้เป็นสื่อกลางสร้างความรู้และความเข้าใจทุกเรื่องการเงินที่ว่ายากให้ง่ายอ่านได้เพลินเพลิน เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถนำเอาไปประยุกต์ใช้ในชีวิตได้
นับตั้งแต่ Plearn เพลิน By Krungsri GURU เปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2557 ปัจจุบันมีเนื้อหาบทความมากกว่า 1,000 ชิ้น
ครอบคลุมเรื่องราวในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคทุกกลุ่มทั้ง Lifestyle นำเสนอไอเดียและแนวคิดดีๆ ให้อ่านกันแบบเพลินเพลิน GURU Financial จัดการทุกเรื่องการเงินให้เป็นเรื่องง่าย Business เคล็ดลับฉบับย่อสำหรับคนทำธุรกิจ และ Innovation เทรนด์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ชีวิตในยุคดิจิทัล ควบคู่ไปกับการพัฒนาความเข้มข้นของคอนเทนต์ให้มีความน่าสนใจอยู่ตลอดเวลา
สำหรับสถิติการใช้งานที่น่าสนใจในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2563 ของ Plearn เพลิน By Krungsri GURU พบว่า สามารถเพิ่ม จำนวนหน้าที่อ่าน (Pageview) เฉลี่ยอยู่ที่ 850,000 หน้าต่อเดือน เพิ่มขึ้นจากปี 2562 ราว 31% โดยเป็นจำนวนผู้เข้าชมเว็บไซต์รายใหม่ (New Readers) 470,000 ราย เพิ่มขึ้น 30.66% แบ่งสัดส่วนเป็นผู้หญิง 72% และผู้ชาย 38% โดยมีช่วงอายุ 25-34 ปี เข้าเยี่ยมชมเว็บไซต์มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 รองลงมาคือช่วงอายุ 35-44 ปี และ 18-24 ปี ส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในการอ่านมาจากช่องทางมือถือ 74% รองลงมาเป็นเดสก์ท็อป และแท็บเล็ต
เมื่อถามถึงแม่เหล็กที่ดึงดูดผู้อ่านให้เข้ามาเสพคอนเทนต์เป็นประจำอย่างต่อเนื่อง คุณมิ่งขวัญ มองว่า มาจากส่วนผสมสำคัญ 3 ส่วน ทั้งในด้านการออกแบบ “เนื้อหา” ที่ตอบโจทย์ Insight และหลากหลาย เพราะถึงแม้ว่าจะอยู่ภายใต้เว็บไซต์ของธนาคารกรุงศรี แต่เนื้อหาก็ไม่ได้จำกัดเพียงเรื่องการเงินเท่านั้น ยังมีเนื้อหาอื่นๆ ที่หลากหลายครอบคลุมทุกด้านในชีวิตประจำวันทุกกลุ่มคน โดยจะวิเคราะห์จากกระแสในช่วงนั้นๆ บวกกับเทรนด์ในตลาดจากที่คนส่วนใหญ่นิยมเสิร์ช รวมถึงยัง “เข้าใจง่าย” และ “ทำต่อเนื่อง” เมื่อผู้บริโภคเข้ามาอ่าน จึงเจอคอนเทนต์ใหม่ๆ ตลอดเวลา
“เวลาทำคอนเทนต์เราจะดู Insight ผู้บริโภคแต่ละเซกเมนต์ รวมกับสถานการณ์ในตอนนั้นว่าเกิดอะไรขึ้น เพื่อนำมาปรับคอนเทนต์ให้ Relevance กับพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมาย ยกตัวอย่างในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 เราค้นพบว่า Insight คนส่วนใหญ่มองหาเรื่องเงินสำรองฉุกเฉิน เพราะคนตกงาน มีความเดือดร้อน ทำให้ต้องมีการปรับคอนเทนท์ใหม่จนเป็นที่มาของแคมเปญกรุงศรีอยู่นี่นะ #ความห่วงไม่เคยห่าง เพื่อกระตุ้นให้กลุ่มเป้าหมายเริ่มต้นวิธีใหม่ๆ ในการวางแผนทางการเงินสำหรับวิถีชีวิตใหม่ในยุคโควิด-19”
ต่อยอดสู่ PODCAST ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนไทยนิยมฟังมากขึ้น
จากความสำเร็จในการพัฒนาคอนเทนท์จนก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคอนเทนต์ฮับออนไลน์ด้านการเงิน ล่าสุดธนาคารกรุงศรีจึงต่อยอดเปิดตัว Krungsri Plearn เพลิน PODCAST คอนเทนต์ใหม่ในรูปแบบพอดแคสต์ ภายใต้แนวคิด “เรื่องเงินเรื่องง่าย ฟังได้เพลิน เพลิน” เพื่อเป็นทางเลือกให้ผู้บริโภครุ่นใหม่ได้รับสาระความรู้พร้อมความบันเทิงได้ง่ายๆ แทนการอ่าน
โดยเหตุผลที่ทำให้ธนาคารกรุงศรีตัดสินใจลุย PODCAST ในครั้งนี้ คุณมิ่งขวัญ บอกว่า เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้อ่านคอนเมนต์อย่างเดียว แต่ยังฟังมากขึ้นโดยเฉพาะพอดแคสต์ สะท้อนได้จากผลการสำรวจพบว่า ผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตที่มีอายุ 16-64 ปี นิยมฟังพอดแคสต์สูงถึง 44% ซึ่งสอดรับกับกลุ่มเป้าหมายของ Plearn เพลิน By Krungsri GURU ที่มีทั้งกลุ่มอายุ 20-24 ปี และ 30-49 ปี และหากเทียบตัวเลขนี้เมื่อเทียบกับเมื่อ 5 ปีก่อน เรียกได้ว่าเห็นความแตกต่างกันอย่างมาก เพราะในช่วงนั้นคนส่วนใหญ่แทบไม่รู้จักพอดแคสต์เลย
เทรนด์การฟังพอดแคสต์ที่เพิ่มขึ้นอย่างน่าสนใจ และแนวโน้มยังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งเพราะสามารถฟังได้ง่ายผ่านสมาร์ทโฟน ขณะเดียวกัน คุณมิ่งขวัญ บอกว่า ในปัจจุบันยังเป็นยุคของ Multitasking คนนิยมทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน โดยพอดแคสต์สามารถฟังได้ตลอดเวลาระหว่างการเดินทางไปกลับที่ทำงาน (ขับรถหรือโดยสารขนส่งสาธารณะต่างๆ) ระหว่างการออกกำลังกาย หรือแม้แต่การใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ขณะกำลังทำกิจกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของพอดแคสต์ ทั้งยังมีความเป็น Entertaining และ Stories Telling จึงทำให้ธนาคารกรุงศรีตัดสินใจผลิตพอดแคสต์ของตัวเองขึ้น โดยตั้งใจทำให้เป็น Financetainment เพื่อให้การเงินเป็นเรื่องที่สนุกตอบโจทย์ได้ทุกคน
สำหรับการลุยพอดแคสต์ในครั้งนี้ Krungsri Plearn เพลิน PODCAST จะแบ่งเป็น 2 รายการคือ
1. เรื่องเงิน ย่อยง่าย : พอดแคสต์ที่เชื้อเชิญกูรูมาย่อยข้อมูลความรู้ด้านการเงิน การออม และการลงทุนให้เข้าใจง่ายๆ เน้นเพิ่มทักษะเรื่องการเงิน หรือจุดประกายความคิดในการบริหารการเงินส่วนบุคคล ฟังเพลิน เข้าใจง่าย และสามารถนำไปปรับใช้ได้ ดำเนินรายการโดย แบม ปิติภัทร คูตระกูล ซึ่งกูรูคนแรกที่ได้มาพูดคุยกันเมื่อวันศุกร์ที่ 14 สิงหาคมที่ผ่านมา (ศุกร์ที่ 2 ของเดือนสิงหาคม) คือ ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ หรือ ดร. เม่น ผู้บริหารสายงานวิจัยและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ธนาคารกรุงศรี และล่าสุด คุณดมิศา พิศิษฐวานิช ผู้บริหารสายงานกลยุทธ์ธุรกิจลูกค้ารายย่อย และ Kept Innovation Champion ธนาคารกรุงศรี
2. เรื่องชีวิต คิดให้ง่าย : พอดแคสต์ที่ว่าด้วยเรื่องไลฟ์สไตล์ แนวคิดการใช้ชีวิต การท่องเที่ยว โดยมีเหล่าคนดังหลากหลายสาขาและยูทูบเบอร์ที่จะสลับสับเปลี่ยนกันมาแบ่งปันเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่แฝงด้วยสาระ ผู้ฟังได้สนุก ฟังเพลินไปกับประสบการณ์ของผู้เล่าที่นำมาแบ่งปันให้ฟัง แล้วคุณจะรู้ว่าชีวิตง่ายกว่าที่คิด เริ่มต้นตอนแรกไปแล้วเมื่อวันศุกร์ที่ 28 สิงหาคม กับ เรื่องราวสร้างแรงบันดาลใจ จาก ‘นิ้วกลม’ สราวุธ เฮ้งสวัสดิ์
คอนเทนต์ดี-เข้าใจง่าย-สนุก-ได้ประโยชน์ ยึดหัวใจคนฟังไม่ให้ไปไหน
ในช่วง 2-3 ปีมานี้ ความนิยมในการฟังเพิ่มมากขึ้น จึงเห็นหลายเว็บไซต์หันมาผลิตพอดแคสต์กันมากขึ้น ทำให้ Krungsri Plearn เพลิน PODCAST จึงต้องมีจุดขายที่แตกต่างจากพอดแคสต์ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับการเงินทั่วไป ซึ่งนอกจากการยึดเรื่อง Make Life Simple ทำเรื่องเงินเป็นเรื่องง่ายเป็นหลักในการผลิตพอดแคสต์แล้ว เมื่อผนวกกับการเป็นธนาคารที่มีผลิตภัณฑ์บริการทางการเงินหลากหลาย ทำให้มีความเชี่ยวชาญที่สามารถตอบโจทย์ Consumer Insight ในปัจจุบันได้อย่างตรงใจ
ถึงแม้จะมี Know how ด้านการเงิน แต่คุณมิ่งขวัญ ยอมรับว่า การทำคอนเทนต์ให้คนอยากอ่านอยากตามไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะในโลกดิจิทัลมีคอนเทนต์ให้เลือกอ่านมากมาย เมื่อประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน ก็ยิ่งทำให้ Switch ได้ง่าย นั่นจึงเป็นจุดยากของการทำพอดแคสต์ที่จะต้องทำให้ผู้ฟังอยู่ฟังจนจบ ส่งผลให้คอนเทนต์ต้องดีจริง ภาษาต้องเข้าใจง่าย สนุก และย่อยประเด็นให้สามารถจับต้องได้ จึงจะมัดใจผู้บริโภครุ่นใหม่ให้หันมาฟังจนจบและฟังอย่าต่อเนื่อง
“เราเชื่อว่าถ้าคอนเทนต์ดีมีประโยชน์ จะทำให้คนนำไปพูดต่อ ซึ่งตอนนี้เราเพิ่งเปิดตัวเพียง 2-3 ตอน มีทั้งเวอร์ชั่นความยาว 15 นาที 3 นาที และ 1 นาที รวมถึงสามารถฟังได้หลายช่องทาง ทั้ง Krungsri Simple YouTube, Spotify, Soundcloud, Apple Podcasts และเว็บไซต์ https://www.krungsri.com/bank/th/plearn-plearn/home.html เพราะเราอยากลองทำหลายๆ อย่างเพื่อดูเสียงตอบรับจากผู้บริโภคว่าชอบแบบไหน และนำมาปรับปรุงต่อไป โดยเราอยากจะให้คนฟังได้ประโยชน์และนำไปพูดต่อเพื่อให้คนอื่นๆ ที่ยังไม่เคยรู้จักเราลองเปิดใจเข้ามาฟัง พร้อมกับขยายฐานผู้ฟังสู่กลุ่มเด็กได้มากขึ้นเช่นกัน”