HomeBrand Move !!ย้อนรอยอุตสาหกรรมเพลง 40 ปี และเทรนด์ “แผ่นเสียง-เทป-ซีดี” ในมุมมอง “ร้านน้องท่าพระจันทร์”

ย้อนรอยอุตสาหกรรมเพลง 40 ปี และเทรนด์ “แผ่นเสียง-เทป-ซีดี” ในมุมมอง “ร้านน้องท่าพระจันทร์”

แชร์ :

Nong Taprachan

ในขณะที่อุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกมูลค่า 20.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ปี 2019) เปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบแล้ว โดยมี Music Streaming” ครองตลาดมากที่สุดในสัดส่วน 56.1% ของมูลค่าตลาดรวม ส่วน Physical Format” ทำรายได้เป็นอันดับ 2 ในสัดส่วน 21.6% ของตลาดรวม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ปัจจุบันจะเป็นยุค Streaming แต่ตลาด “Physical Format” ก็ยังคงอยู่กับอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกเสมอมา และพบว่าในบางประเทศ ตลาด Physical Format กลับอยู่ในทิศทางเติบโต

เช่น สหรัฐอเมริกา ได้ชื่อว่าอุตสาหกรรมดนตรีใหญ่สุดของโลก ตลาด Physical Format เติบโต 3.2% หรือที่สเปน เติบโต 7.2% และเมื่อเจาะลึกภาพรวมตลาด Physical ทั่วโลก พบว่ารายได้ Vinyl” เติบโต 5.3% โดยตลาดแผ่นเสียง คิดเป็นสัดส่วน 16.4% ของภาพรวมรายได้ Physical Format

สำหรับในประเทศไทย แน่นอนว่า Music Streaming ขยายตัวในทิศทางเดียวกับตลาดโลก แต่ในเวลาเดียวกัน “เสน่ห์” ของเพลงรูปแบบ Physical Format ยังคงไม่จางหายไป และยิ่งไปกว่านั้น ปัจจุบัน Physical Format แม้จะกลายเป็น Niche Market แต่ตลาดนี้กำลังเป็นที่สนใจอีกครั้ง!

ดังที่ปรากฏทั้งจากนักร้องนักดนตรี – ค่ายเพลง ไม่เพียงแต่นำผลงานของตนเองไปอยู่บนแพลตฟอร์มดิจิทัล ทั้ง Streaming และ YouTube เท่านั้น ขณะเดียวกันเริ่มกลับมาทำรูปแบบ Physical ควบคู่ไปด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง ซีดี หรือแม้แต่เทปคาสเซ็ท

โดย Insights ของศิลปินในยุคดิจิทัล การได้มีโอกาสทำ Physical Format ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง ซีดี หรือเทปคาสเซ็ท เป็นหนึ่งความฝันของศิลปิน ยิ่งนักร้องนักดนตรีคนไหน หรือกลุ่มใดสามารถนำผลงานไปอยู่บนแพลตฟอร์ม Streaming และยังทำ Physical Format ครบทั้ง 3 รูปแบบ ถือเป็นความสำเร็จในเส้นทางการเป็นนักร้อง – นักดนตรีได้ในระดับหนึ่ง

ขณะที่คนฟัง หรือแฟนเพลง หลายคนเติบโตในยุค Analog ก็หวนกลับมาฟังเพลงผ่านซีดี เทป หรือแผ่นเสียง และคนรุ่นใหม่ ถึงจะเกิดในยุคดิจิทัล แต่สนใจที่จะศึกษา และลองนำเครื่องเล่นของพ่อแม่ หรือบางคนตามหาซื้อเครื่องเล่นเอง เพื่อมาฟังเพลงในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งให้ประสบการณ์ และความรู้สึกที่แตกต่างจาก Streaming ที่ตัวเขาเองคุ้นเคยมา

Brand Buffet ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “พี่นก – อนุชา นาคน้อย” ผู้ร่วมก่อตั้งร้านน้อง ท่าพระจันทร์ ร้านขายเพลงมายาวนานถึงวันนี้เข้าสู่ปีที่ 41 ได้ฉายภาพพัฒนาการอุตสาหกรรมเพลงกว่าจะมาเป็นยุค Streaming ในทุกวันนี้ ได้ผ่านยุคแผ่นเสียง – เทปคาสเซ็ท – ซีดีมาก่อน และเวลานี้ทั้ง 3 Physical Format ดังกล่าวกำลังกลับมา

แม้จะไม่ได้เป็นตลาดกว้าง (Mass Market) เหมือนเช่นในอดีต แต่เป็นภาพสะท้อนให้เห็นว่า ไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างไร เกิดเทคโนโลยีสุดล้ำเพียงใด คนยังคงถวิลหาประสบการณ์เชิงกายภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่การฟังเพลงรูปแบบ Streaming ไม่อาจทดแทนได้

พร้อมพาไปดูเส้นทาง “ร้านน้อง ท่าพระจันทร์” และค้นหาคำตอบว่าอะไรคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ร้านขายซีดี – แผ่นเสียงแห่งนี้ ยังคงดำรงอยู่ได้ ท่ามกลางการล้มหายไปของร้านแผงเทป – ซีดีจำนวนมาก  

Nong Taprachan

 

ย้อนรอยดูพัฒนาการ “แผ่นเสียง – เทป – ซีดี” ก่อนจะถึงยุค Streaming

หากไล่เลียงพัฒนาการของ Physical Format อุตสาหกรรมเพลงในไทย เริ่มต้นจาก “ยุคแผ่นเสียง” ซึ่งคนที่จะฟังแผ่นเสียงได้ ต้องมีกำลังซื้อ เนื่องจากมีราคาสูงสำหรับคนในยุคนั้น ทำให้มีคนเล่นแผ่นเสียงในวงจำกัดเท่านั้น

พี่นก – อนุชา เล่าว่า ยุคแผ่นเสียง มีร้านจำหน่ายไม่กี่ร้าน เช่น เซ็นทรัลวังบูรพา ในขณะที่แผ่นเสียงมีราคาแพงเมื่อเทียบกับรายได้ของคนไทยในยุคนั้น สมมติแผ่นเสียง 1 แผ่น ราคา 140 บาท ขณะที่เงินเดือนข้าราชการเวลานั้น ประมาณ 800 บาท ด้วยความที่ราคาสูง จึงทำให้แผ่นเสียงเป็นของฟุ่มเฟือยสำหรับคนไทยส่วนใหญ่

ต่อมาอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลก และไทยเข้าสู่ “ยุคเทปคาสเซ็ท” เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และถือเป็น “ยุคทอง” ของธุรกิจเพลงก็ว่าได้  นั่นเพราะ

  • ทั้งเครื่องเล่นเทปคาสเซ็ท กับตลับเทป ราคาไม่แพงเหมือนกับแผ่นเสียง
  • สามารถพกพาไปไหนได้ง่าย อย่างวิถีชีวิตของคนต่างจังหวัด จะหิ้ววิทยุที่มีเครื่องเล่นเทปติดตัวไปด้วยเสมอเวลาไปทำไร่ทำนา
  • การเกิดขึ้นของเครื่องเล่นเทปพกพา เช่น Walkman ยิ่งทำให้ตลาดเพลงโตมากขึ้น เพราะสามารถติดตัวไปได้ทุกที่
  • การขยายตัวของร้านขายเทป

ด้วยปัจจัยเหล่านี้ ทำให้คนไทยสามารถเข้าถึงเพลงได้ง่ายขึ้น สะดวกขึ้น ในราคาถูกลง

“ช่วงเวลานั้นตลาดเพลงโตมาก อย่างแกรมมี่ในสมัยก่อนไม่ได้เปิดโรงงานผลิตเทปเอง ต้องไปให้บริษัทอื่นผลิต แต่หลังจากตลาดเพลงในบ้านเราบูม แกรมมี่ตัดสินใจเปิดโรงงานผลิตเทปให้กับศิลปินในค่าย

ขณะเดียวกันมีแผงเทปเกิดขึ้นมากมาย เดินไปตรงไหนก็เจอ อย่างที่สยามสแควร์ มีประมาณ 14 ร้านค้า ถ้าเราเดินจากร้านที่ 1 จะได้ยินเพลงหนึ่ง เดินไปร้านที่ 2 ก็จะได้ยินอีกเพลงหนึ่ง

หรือถ้าเป็นนักน้อง หรือวงดนตรียอดนิยม ในช่วงที่อัลบั้มใหม่วางแผง เช่น อัสนี – วสันต์ เดินไปแผงเทปร้านไหน ทุกร้านเปิดเพลงอัสนี – วสันต์ หรือในยุคพี่แจ้ และพี่เบิร์ด เดินไปร้านไหน ทุกร้านเปิดเหมือนกันหมด เรียกได้ว่าเป็นยุคบูมของอุตสาหกรรมเพลง”​ พี่นก ย้อนวันวานของตลาดเพลงในยุคเทปคาสเซ็ท

Nong Taprachan

จากยุคเทปคาสเซ็ท วงการเพลงเจอ Disruption อีกรอบ นั่นคือ การเข้ามาของเทคโนโลยี “แผ่นซีดี” และเครื่องเล่นซีดี ช่วงปฐมบทของยุคนี้ เครื่องเล่นซีดียังมีราคาแพง โดยคนที่อยากจะฟังต้องใช้งบประมาณไม่ต่ำกว่า 30,000 บาท

ในขณะที่แผ่นซีดี เวลานั้นไม่มีโรงงานผลิตในไทย ค่ายเพลงต้องส่งเพลงไปผลิตแผ่นซีดีในต่างประเทศ ทำให้ราคาขายหน้ากล่องตกอยู่ประมาณ 350 – 500 บาท สำหรับเพลงไทย และ 500 บาท สำหรับเพลงต่างประเทศ

ต่อมาแนวโน้มราคา ทั้งเครื่องเล่น และแผ่นซีดี ค่อยๆ ขยับลงมา จึงทำให้ตลาดโตมากขึ้น เพราะสามารถเข้าถึงคนฟังกลุ่มใหญ่

“ยุคที่เครื่องเล่นซีดีถูกลงมาในจังหวะใกล้เคียงกับการเกิดขึ้นของเครื่องเล่น Discman ขณะเดียวกันแกรมมี่มีการปรับราคาปกจาก 290 บาท ลงมาเหลือ 155 บาท และเมื่อค่ายใหญ่ปรับราคาลงมา ทำให้ค่ายอื่นต้องปรับราคาลงเช่นกัน อีกทั้งซีดีเพลงต่างประเทศ มีการผลิตในไทยแล้ว ทำให้ราคาปรับลงมาอยู่ที่ 399 บาท ส่งผลให้ตลาดซีดีในไทยโตอย่างมาก นับเป็นยุคเฟื่องฟูของตลาดเพลงซีดี”

ความเฟื่องฟูของตลาดเพลงซีดี ก็มาพร้อมกับยุคคอมพิวเตอร์ ที่สามารถไรท์แผ่นได้ ส่งผลให้เกิดการระบาดของซีดีเถื่อนไปทั่ว กระทั่งเมื่อเกิดแผ่นก๊อประบาดหนักขึ้น ย่อมกระทบทั้งอุตสาหกรรมเพลงโดยรวม ทำให้มีการใช้กฎหมายลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง

แม้ทุกวันนี้อุตสาหกรรมเพลงเปลี่ยนผ่านสู่ยุค “Streaming” แล้ว แต่เพลงในรูปแบบ Physical Format ยังอยู่กับอุตสาหกรรมเพลง และคนฟังมาตลอด ยิ่งในปัจจุบันทั้ง 3 Physical Format ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง,​ เทปคาสเซ็ท และซีดี กำลังกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง

ทั้งตัวศิลปินเอง นอกจากเอาเพลงไปอยู่บนแพลตฟอร์ม Music Streaming และ Video Streaming อย่าง YouTube แล้ว ศิลปินบางคน – บางวง ได้ทำ Physical Format ออกมาวางจำหน่ายควบคูกับการทำเพลงช่องทางดิจิทัลอีกด้วย ในขณะที่คนฟัง นอกจากฟังเพลงผ่าน Streaming แล้ว หากศิลปินที่ตนเองชื่นชอบสร้างสรรค์ผลงานรูปแบบ Physical ก็ไม่พลาดที่จะซื้อเก็บสะสม

Nong Taprachan

 

เมื่อเทรนด์แผ่นเสียง – เทปคาสเซ็ท – ซีดี กลับมาอีกครั้ง!

แม้ในปัจจุบันตลาดเพลง Physical Format จะกลายเป็น Niche Market” จากในอดีตที่เป็น Mass Market แต่เวลานี้ Niche Market นี้ กำลังกลับมาคึกคัก ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง และซีดี ถึงจะมี Streaming อย่างไร แต่ 2 รูปแบบนี้ยังคงอยู่กับอุตสาหกรรมเพลงมาโดยตลอด และเทปคาสเซ็ท ในไทยหายไปช่วงหนึ่ง พร้อมๆ กับปิดตัวของโรงงานผลิตเทป และการซบเซาของร้านแผงเทป

ปัจจัยหลักที่ทำให้ทั้ง Physical ทั้ง 3 รูปแบบได้รับความสนใจอีกครั้ง มาจากทั้งฝั่งคนทำเพลง และคนฟัง

เนื่องจากศิลปินต่างประเทศ และไทย ทำผลงานรูปแบบ Physical ควบคู่กับ Streaming หรือนักร้องบางกลุ่ม – บางคนออก Physical Format มาก่อน แล้วจึงตามด้วย Streaming

“ศิลปินยุคนี้ อยากให้งานเพลงของตนเองอยู่ในทุกฟอร์แมต ทั้ง Streaming ที่ต้องทำอยู่แล้ว เพราะได้ฐานคนฟังเพลงกลุ่มกว้าง และยังได้กลุ่มคนฟังต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันการได้ทำ Physical Format ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียง เทปคาสเซ็ท หรือซีดี ก็เป็นอีกความฝันหนึ่งของชีวิตการเป็นศิลปิน เพราะ Physical Format เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ศิลปินอยู่ในความทรงจำของคนฟังเสมอ

เพราะเมื่อเราหยิบ Physical Format รูปแบบใดก็ตามในตู้ เราหยิบออกมาดูเรื่องราวศิลปินคนนั้นๆ หรือวงนั้นๆจากปก และฟังเพลง แตกต่างจากการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล ที่ต้องเสิร์ช หรือจัดเก็บใน Playlist ซึ่งศิลปินที่ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง ผลงานของเขาจะมีทั้ง Streaming และรูปแบบ Physical”

Nong Taprachan

ขณะที่คนฟังเพลง เมื่อพูดถึงการฟังเพลงรูปแบบ Physical หลายคนอาจนึกถึงกลุ่ม Baby Boomers และ Gen X แต่จริงๆ แล้วเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่เติบโตในยุคดิจิทัล อยากลองฟังเพลงรูปแบบอื่น ที่นอกเหนือจาก Streaming

รวมถึงกลุ่มแฟนคลับศิลปิน เมื่อศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ ทำคอลเลคชั่น Physical Format จำนวนจำกัดให้ได้สะสม ก็ไม่พลาดที่จะหาซื้อมาเก็บ และกลุ่มคนฟังเพลงตัวจริง ที่อยากฟังคุณภาพเสียงที่ดี ซึ่งใน 3 Physical Format กลุ่มนักฟังเพลงตัวจริง จะเลือกฟังแผ่นเสียง เพราะตอบโจทย์ทั้งคุณภาพ และสามารถเก็บได้นาน

“คนที่ซื้อแผ่นเสียง ซื้อเทปคาสเซ็ท หรือซื้อซีดี เป็นแฟนคลับตัวจริงของศิลปินคนนั้นๆ หรือวงนั้นๆ จึงเป็นเรื่องปกติที่เราจะสนับสนุนศิลปินให้ทำผลงานในรูปแบบ Physical Format ด้วย และปัจจุบันกลุ่มวัยรุ่นหันมาฟังเพลง Physical มากขึ้น

อย่างเทปคาสเซ็ท มีทั้งวัยรุ่นที่เอาเครื่องเล่นของคุณพ่อคุณแม่ที่เคยใช้ เอามาลองฟัง และถ้าคุณพ่อคุณแม่ไม่ได้เก็บเครื่องเอาไว้ เขาจะไปตามหาซื้อเครื่องมือสอง นำมารีโนเวทเพื่อให้ใช้งานได้ และเริ่มฟังเทปคาสเซ็ท ด้วยตามหาซื้อเทปคาสเซ็ทมือสอง ราคาม้วนละ 30 – 50 บาท โดยจะเลือกซื้อวงที่เขาอาจจะไม่เคยฟังมาก่อน หรือเคยเป็นฮิตในอดีต เอามาฟัง และรู้สึกชอบ จนกลายเป็นของสะสมที่มีทั้งเทปม้วนเก่า และเทปที่ผลิตขึ้นใหม่

หรือตลาดแผ่นเสียง ในอดีตคนจะเล่นแผ่นเสียง ต้องใช้เงินเริ่มต้น 50,000 – 60,000 บาท แต่ปัจจุบันใช้งบประมาณ 5,900 – 10,000 บาท คนฟังเพลงก็สามารถเล่นแผ่นเสียงได้แล้ว ซึ่งคนฟังเพลงตัวจริง อยากได้ Sound คุณภาพดี อีกทั้งคนรุ่นใหม่สมัยนี้เรียนด้านดนตรีมากขึ้น เขาโตมากกับการฟังเพลงคุณภาพเสียงที่ดี เพราะฉะนั้นเมื่อเขาเสพเพลง ก็ย่อมอยากได้คุณภาพเสียงด้วย ดังนั้นคนกลุ่มนี้เลือกจ่ายเงินเพิ่มขึ้นอีกนิด เพื่อฟังเพลงจากแผ่นเสียง”

Nong Taprachan

พี่นก ฉายภาพการผลิต Physical Format ในไทยว่า “ปัจจุบันโรงงานผลิตเทปคาสเซ็ท และเครื่องเล่นเทปในไทย คาดว่าปิดไปหมดแล้ว แต่ประเทศรอบๆ เช่น มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย ยังมีโรงงานผลิตเทปคาสเซ็ท ขณะการผลิตซีดี ยังมีโรงงานในไทย ส่วนโรงงานผลิตแผ่นเสียงในไทย ปัจจุบันมี 1 โรงงานชื่อ ResurRec ของคุณอู่ – Kidnappers (อู่ – ไตรเทพ วงศ์ไพบูลย์)”  

ด้วยความที่โรงงานผลิต Physical Format ในไทย น้อยลงไปมากเมื่อเทียบกับยุคเฟื่องฟูในอดีต ย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิต Physical Format สูงขึ้น และมีผลต่อราคาขาย

  • ราคาซีดีเพลงไทย ปัจจุบันอยู่ที่ 250 – 300 บาท
  • ศิลปินไทยอินดี้ ต้องสั่งทำขั้นต่ำ 300 – 500 แผ่น โรงงานถึงจะรับผลิต และยังมีค่าจิปาถะต่างๆ อีก ทำให้ราคาขยับขึ้นไป 350 – 500 บาท
  • ซีดีเพลงต่างประเทศ เริ่มต้น 500 บาท และขยับขึ้นไป 600 – 700 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนแผ่นซีดีที่อยู่ในนั้น
  • เทปคาสเซ็ท จากในอดีตเคยเป็น Physical Format ถูกสุด ในยุคเทปคาสเซ็ทเมื่อกว่า 20 – 30 ปีที่แล้ว ราคาประมาณ 105 บาท แต่ปัจจุบันไม่มีโรงงานผลิตในไทย จึงต้องผลิตจากต่างประเทศ ทำให้ราคาขายเริ่มต้นโดยเฉลี่ยประมาณ 550 บาท

อีกหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้ตลาดเพลง Physical กลับมาได้รับความสนใจ โดยเฉพาะแผ่นเสียง คือ เกิดการซื้อขายระหว่างคนฟังเพลงด้วยกันเอง ยิ่งสร้าง “มูลค่าเพิ่ม” ให้กับงานเพลง Physical นั้นๆ ยิ่งถ้าเป็นอัลบั้มเก่า ที่นักร้องดังบางคน/บางวงไม่ได้ Reissue อีกแล้ว ก็ยิ่งทำให้มูลค่าการซื้อขาย Physical Format ของนักร้องนั้นๆ เพิ่มสูงขึ้น

“แผ่นเสียงของศิลปินบางคน ราคาขาย Pre-order อยู่ที่ 1,500 – 1,600 บาท แต่เวลาผ่านไป ราคาที่นำมา Trade กันขึ้นไปเป็นหลักหมื่น ”

อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบคุณภาพระหว่าง 3 รูปแบบ พี่นก บอกว่า Physical Format ที่ให้คุณภาพเสียงดีที่สุด และสามารถเก็บได้นาน คือ “แผ่นเสียง” ไม่ว่าจะเป็นแผ่นเสียงเก่า หรือแผ่นเสียงใหม่ที่เป็น Reissue และแผ่นเสียงอัลบั้มปัจจุบันของศิลปิน อย่างแผ่นเสียงของพี่นกแผ่นหนึ่งอายุ 57 ปี แต่คุณภาพเสียงยังดีเหมือนกับตอนที่ซื้อมาใหม่ๆ

Nong Taprachan

ในขณะที่ “ซีดี” ได้ความคมชัด แต่อยู่ได้ประมาณ 20 ปี ก็เสื่อมสภาพแล้ว ส่วน “เทปคาสเซ็ท” เมื่อเทียบระหว่างราคา ที่ปัจจุบัน 500 – 600 บาท กับคุณภาพความคงทน ถือว่าเสียหายง่ายกว่าแผ่นเสียง และซีดี เพราะเมื่อฟังไปหลายครั้ง เทปจะยืด เพราะตัวเทปถูกกดด้วยหัวเทป กับลูกยาง ถึงจะมีบอกเล่าต่อๆ กันมาว่า ให้เอาแช่ตู้เย็นแล้วหายยืด แต่ในความเป็นจริงแล้ว แต่ตัวเทปไม่ได้หายยืด และจะทำให้ข้างในเทปคาสเซ็ทเกิดความชื้นด้วย

“ถ้าให้แนะนำคนฟังเพลง คุณฟังแผ่นเสียง จะได้คุณภาพเสียงที่ดีกว่า และเก็บได้นาน ซึ่งเป็นการจ่ายที่แพงกว่า แต่สมเหตุสมผล ทั้งอายุการใช้งานยาวนานกว่า และได้คุณภาพ หรือถ้าฟังซีดี มิติไม่ได้เหมือนกับ Analog แต่ได้ความคมชัด ส่วนถ้าจะสะสมเทปคาสเซ็ท ในมุมมองของพี่มองว่ายังเป็นแฟชั่น เนื่องจากขณะนี้ยังไม่มีโรงงานผลิตเครื่องเล่นในไทย มีแต่การใช้เครื่องเล่นเดิมที่มีอยู่ อายุการใช้งาน 20 ปีขึ้นไป ดังนั้นแนะนำว่าเก็บแผ่นเสียงดีกว่า ถึงจะจ่ายแพงกว่า แต่เก็บได้นานชั่วชีวิตคุณ และเชื่อว่าแผ่นเสียงจะโตขึ้น อีกหน่อยศิลปินไทยจะหันมาทำแผ่นเสียง”

Nong Taprachan  

“ร้านน้อง ท่าพระจันทร์” ตำนานที่เป็นมากกว่าร้านขายเพลง

เส้นทางการเดินทางของอุตสาหกรรมเพลงในบ้านเรา ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านคลื่นการเปลี่ยนแปลงลูกแล้วลูกเล่า ชื่อหนึ่งที่ต้องอยู่ในบันทึกหน้าประวัติศาสตร์อุตสาหกรรมเพลงในไทย คือ “ร้านน้อง ท่าพระจันทร์” เปิดในปี 2522 ก่อตั้งขึ้นโดย 4 พี่น้องตระกูลนาคน้อย ขายทั้งเพลงสากล และเพลงไทย

ในยุค Analog ร้านขายเพลง มีบทบาทสำคัญอย่างมากในการเป็นทั้งช่องทางโปรโมทผลงานของนักร้อง พบปะแฟนเพลง และเป็นช่องทางการขาย

พี่นก เล่ากระบวนการโปรโมทเพลง/อัลบั้มของศิลปินว่า เริ่มต้นด้วยค่ายเพลงจะส่งแผ่น Single ไปที่สถานีวิทยุรายการเพลงต่างๆ และเมื่อไรที่เพลงถูกเปิดบ่อยขึ้น แสดงว่าศิลปินคนนั้นๆ หรือวงนั้นๆ ใกล้ออกกผลงาน ขณะเดียวกันค่ายเพลงจะส่งแผ่น Single มาให้กับร้านค้าด้วยเช่นกัน พร้อมทั้ง Sales Sheet กำหนดการวางแผง เพราะฉะนั้นร้านค้าจะได้ฟังเพลงศิลปินคนนั้นๆ หรือวงนั้นๆ ก่อนคนอื่น

หลังจากที่เพลงถูกโปรโมทตามสถานีวิทยุรายการต่างๆ และทางร้านได้ฟังเพลงของศิลปินคนนั้นๆ แล้ว ร้านสามารถประมาณการณ์ล่วงหน้าได้ว่า จะมีลูกค้าเข้ามาซื้ออัลบั้มของศิลปินคนนั้นๆ หรือวงนั้นๆ จำนวนเท่าไร เพื่อที่ร้านจะได้เตรียมสั่งอัลบั้มมาวางจำหน่าย จากนั้นสินค้าจะกระจายเข้าร้านต่างๆ และศิลปินไทยจะเดินทางโปรโมทตามร้านต่างๆ เพื่อพบปะแฟนเพลง

Nong Taprachan

“ทุกวันนี้เราไม่มีทางรู้เลย เพราะค่ายเพลงในบ้านเรา ไม่ได้มองร้านค้าเป็นพาร์ทเนอร์ในการสนับสนุนแล้ว เขาเน้นทำ Streaming ดังนั้นถ้าเขาอยากซัพพอร์ตร้านค้า อาจจะมี Standing ของศิลปินมาตั้ง เพื่อโปรโมท

ทำให้เราต้องอาศัยสื่ออินเทอร์เน็ต เสิร์ชเข้าไปดูรีวิวเพลง และฟังจากประสบการณ์ของเรา เพื่อประมาณการณ์จำนวนสินค้าที่จะนำมาขายในร้าน อย่างเพลงสากล เราจะสั่ง Import เข้าในร้าน เลือกตามแนวที่เราชอบ เพราะไม่ใช่ทุกวง ทุกศิลปินที่ออกเพลงมา แล้วเราจะสั่งเข้ามาในร้านทั้งหมด โดยเบื้องต้นจะทดลองสั่งมาอย่างน้อย 1 แผ่น เพื่อฟังเองก่อน เพราะเราชอบ เราอยากฟัง และศึกษาว่ากลุ่มลูกค้าของร้านจะชอบไหม

เพลงสากล ทางร้านมีทั้งเปิด Pre-order และวิธีประมาณการณ์ว่าลูกค้าของร้านมีประมาณกี่คนที่จะชอบแนวเพลงของศิลปินคนนั้นๆ หรือวงนั้นๆ โดยใช้ประสบการณ์ที่เราอยู่ตรงนี้มานาน จากนั้นสั่งซื้อตามตัวเลขที่ประมาณการณ์ไว้ โดยอาจมีสั่งเกินเผื่อเอาไว้นิดหน่อย”

Nong Taprachan

ตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษ ร้านขายเพลงเจอความท้าทายมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นยุคซีดี ที่ต่อมาเจอปัญหาแผ่นก๊อประบาดไปทั่ว หรือในยุค Physical Format เข้าสู่ยุคดิจิทัล ที่ YouTube และ Music Streaming กลายมาเป็น “ช่องทางหลัก” ของวงการเพลง ทำให้ทุกวันนี้ร้านขายเพลงจะหายไปจากอุตสาหกรรมเพลงจำนวนมาก

แต่หัวใจสำคัญที่ทำให้ “ร้านน้อง ท่าพระจันทร์” ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย นั่นเพราะ “ร้านน้อง ท่าพระจันทร์” ไม่ได้เป็นเพียงร้านขายซีดี – แผ่นเสียงเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็น “ตัวกลาง” เชื่อมโยง และนำเสนอแนวเพลง – ศิลปินที่ลูกค้าชอบ ขณะเดียวกันยังเป็น Community แลกเปลี่ยนมุมมอง – ความคิดเห็น – ความรู้เกี่ยวกับเพลง ดนตรีระหว่างพี่นก – พนักงานในร้าน กับลูกค้า ทำให้ไม่ว่าจะในช่วงแผ่นซีดีก๊อปปี้ระบาด ร้านน้องท่าพระจันทร์ไม่ได้รับผลกระทบ เพราะฐานลูกค้าของร้าน เป็นคนฟังเพลงที่ซื้อของแท้ หรือในปัจจุบันจะเป็นยุค Streaming แต่ร้านน้องท่าพระจันทร์ก็ยังมีลูกค้าที่มีความชอบเรื่องเพลงแวะเวียนมาอุดหนุนเรื่อยๆ

ที่สำคัญการมี Passion และสนุกกับการทำงานของทั้งพี่นก และทีม เพราะด้วยความที่พี่นกโตมากับเสียงเพลงตั้งแต่เด็ก จนเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตไปแล้ว โดยในทุกๆ วัน จะอยู่กับเสียงเพลง – เสียงดนตรีไม่ต่ำกว่าวันละ 6 – 8 ชั่วโมง ตั้งแต่อยู่ที่บ้าน จะให้เวลา 1 ชั่วโมงเต็มๆ ในการจดจ่อฟังเพลงที่อยากฟังจริงๆ และเมื่อมาที่ร้าน บรรยากาศภายในร้านน้องท่าพระจันทร์ จะเปิดเพลงตลอด ในขณะที่ทีมพนักงานคลุกคลีอยู่ในแวดวงถนนสายดนตรีอยู่แล้ว

Nong Taprachan

“ตั้งแต่พี่เปิดร้านมา 41 ปี ไม่เคยไม่อยู่ร้านเกินกว่า 15 วันใน 1 ปี พี่รู้สึกว่าตรงนี้เป็น “บ้าน” ไปแล้ว อย่างเวลาเดินทางไปต่างประเทศ ไม่เกิน 1 อาทิตย์ ก็คิดถึงร้านแล้ว แน่นอนว่าการทำงานมันได้เงิน แต่สิ่งที่มีความหมายมากกว่านั้น คือ เรามีความสุขกับการได้เจอคนฟังเพลงเหมือนกับเรา ได้พูดคุยกับคน ทำให้ได้หลายมุมมอง ได้เจอเพื่อนใหม่ในทุกวัน และบางวันโชคดี ได้เจอเพื่อนเก่าของเรา ที่ไม่ได้เจอกันมานาน มาคุยกัน ก็มีความสุข

บทบาทของร้านน้องท่าพระจันทร์ เป็น “ตัวกลาง” ในการนำเสนอสิ่งที่ลูกค้าชอบ โดยที่เรานำเสนอให้กับลูกค้า เช่น มีลูกค้าเข้ามา บอกชอบเพลงโฟล์คซอง (Folksong) เราแนะนำได้ว่ามีศิลปินท่านไหน ซึ่งสินค้าในร้านทุกอัน 90% พี่เป็นคนเลือกเข้ามา เลือกจากสิ่งที่เราชอบ เลือกจากสิ่งที่เรารู้จัก เพราะฉะนั้นอะไรที่ไม่รู้จัก พี่ต้องไปทำการบ้านเพิ่ม และการแลกเปลี่ยนทัศนคติของคนมาหาเรา เมื่อเรารู้โจทย์เบื้องต้นว่าเขาอยากฟังเพลงอะไร เราทำหน้าที่เสนอ

หรือแม้แต่นำเสนอแนวเพลงที่ฉีกออกไปจากโจทย์ที่ลูกค้าถามหา เช่น ลูกค้าเข้ามาหาด้วยโจทย์โฟล์คซอง เราแนะนำว่า Hip Hop วงนี้เจ๋งนะ อยากลองฟังไหม ถ้าลูกค้าคนนั้นเปิดกว้าง ขอลองฟัง แต่ไม่รู้จักศิลปินแนวเพลงนี้ ทางร้านก็จะแนะนำให้ ซึ่งน้องๆ ที่ทำงานในร้านน้องท่าพระจันทร์ เป็นนักดนตรีทุกคน แต่ละคนมีความรู้เรื่องดนตรีระดับหนึ่ง สามารถแลกเปลี่ยนทัศนคติในการฟังเพลงได้”

ปัจจุบันร้านน้องท่าพระจันทร์ ได้ขายเครื่องเล่น และอุปกรณ์การฟังเพลง เช่น เครื่องเล่นแผ่นเสียง ลำโพง เพื่อให้คนที่เดินเข้ามาในร้าน แล้วยังไม่มีไอเดียว่าจะซื้ออุปกรณ์เกี่ยวกับการฟังเพลงอย่างไร ทางร้านจะให้คำแนะนำทั้งการเลือกเครื่องเล่น – อุปกรณ์ที่เหมาะสมกับการใช้งาน ขนาดห้อง และงบประมาณ

“สินค้าที่เราขาย เราได้กำไรต่อหน่วยไม่เยอะ แต่เรามีความสุขกันมัน และคนที่เข้ามาหาที่ร้าน ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนในสิ่งที่ชอบเหมือนกัน เหมือนเขาได้เพื่อนกลับไป เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่ทุกคนโหยหา” พี่นก – อนุชา สรุปทิ้งท้าย

Nong Taprachan

 

 

Source : ข้อมูลมูลค่าอุตสาหกรรมเพลงทั่วโลกจาก International Federation of the Phonographic Industry (IFPI)


แชร์ :

You may also like