HomeBrand Move !!ท่องเที่ยว “ภูเก็ต” เจ็บหนัก พึ่งรายได้ต่างชาติ 80% เมื่อน่านฟ้ายังปิด โควิดทำเสี่ยงตกงาน 5 หมื่นคน

ท่องเที่ยว “ภูเก็ต” เจ็บหนัก พึ่งรายได้ต่างชาติ 80% เมื่อน่านฟ้ายังปิด โควิดทำเสี่ยงตกงาน 5 หมื่นคน

แชร์ :

Photo Credit : shutterstock

ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยเติบโตมาต่อเนื่องทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและเม็ดเงิน ปี 2562 รายได้ท่องเที่ยวอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็น 18.6% ของจีดีพี เมื่อต้องเจอโควิด-19 กับมาตรการเข้มปิดน่านฟ้า เพื่อหยุดการแพร่ระบาด “ท่องเที่ยว” จึงกระทบหนัก ที่สาหัสสุดในขณะนี้ คือ ภูเก็ต เพราะพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 80%  ที่พัก 1 แสนห้อง วันนี้เปิดได้ไม่ถึง 10% และยังไม่มีวี่แววฟื้นตัว

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถานการณ์โควิดในประเทศไทยไร้ผู้ติดเชื้อในประเทศมากว่า 100 วัน แม้เพิ่งพบกรณีผู้ติดเชื้อใหม่ ดีเจในสถานบันเทิงและนักฟุตบอลอุซเบกิสถานของทีมบุรีรัมย์ แต่ก็อยู่ในวงจำกัด อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในหลายจังหวัดเริ่มฟื้นตัวจากกำลังซื้อในประเทศ โดยเฉพาะจังหวัดที่สามารถขับรถไปท่องเที่ยวในระยะทาง 300 กิโลเมตร อย่าง พัทยา หัวหิน เขาใหญ่ แต่หากเป็นจังหวัดระยะไกล ที่ต้องเดินทางโดยเครื่องบินยังคงซบเซาต่อไป ยิ่งเป็นจังหวัดที่พึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติยิ่งกระทบหนัก โดยเฉพาะ “ภูเก็ต” 

แม้กำลังเข้าสู่ช่วงไฮซีซันท่องเที่ยวทะเลอันดามัน แต่เมื่อน่านฟ้ายังปิด มาดู 10 เรื่องทำไม “ภูเก็ต” จึงกลายเป็นจังหวัดที่ “เจ็บหนัก” ในเวลานี้

1.โควิดเขย่าท่องเที่ยวทรุด ผ่านช่วงต่ำสุดแต่ไร้แววฟื้น

– แม้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวผ่านช่วงต่ำสุดจากมาตรการล็อกดาวน์ปิดเมืองมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ฟื้นไข้ เพราะประเทศไทยมีรายได้จากการท่องเที่ยวปีที่ผ่านมา 3 ล้านล้านบาท มาจากรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 70% หรือ 2 ใน 3 ด้วยมูลค่า 2 ล้านล้านบาท ส่วนรายได้จากนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท หรือ 1 ใน 3 เมื่อยังไม่มีวัคซีนโควิด และหลายประเทศยังมีผู้ติดเชื้อในอัตราสูง มาตรการทางสาธารณสุขของไทยจึงคุมเข้มต่างชาติเดินทางมาไทย ปัจจุบันเดินทางได้เฉพาะกลุ่มเท่านั้น ประเทศไทยยังคงปิดน่านฟ้า “นักท่องเที่ยว” ทั่วไปยังไม่สามารถเข้ามาได้

– ประเมินกันว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้น่าจะอยู่ที่ 6.7 ล้านคน เท่านั้น เป็นการเดินทางเข้ามาก่อนช่วงโควิด จากปี 2562 ไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเกือบ 40 ล้านคน นั่นหมายถึงรายได้มหาศาลจะหายไปเช่นกัน

2. “ภูเก็ต” รายได้ท่องเที่ยวเบอร์ 2 รองจากกรุงเทพฯ

–  “ภูเก็ต” เป็นจังหวัดที่สร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเป็นอันดับ 2 รองจากกรุงเทพฯ ปี 2562 ทำรายได้ 4.7 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยว 14 ล้านคน แบ่งเป็นชาวต่างชาติ 10 ล้านคน และคนไทย 4 ล้านคน

– ตัวเลขนักท่องเที่ยวเดือนมกราคม-กรกฎาคม ภูเก็ตทำได้ 3.2 ล้านคน เป็นต่างชาติ 2.1 ล้านคน รายได้อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหายไปแล้ว 70% เพราะนับตั้งแต่เดือนเมษายน ประเทศไทยปิดน่านฟ้ามาถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวต่างชาติจึงเป็นศูนย์ กระทบอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ตทั้งระบบ ตั้งแต่รถทัวร์ ไกด์ ร้านอาหาร โรงแรม สายการบิน

3. โควิดวิกฤติหนักสุดของภูเก็ต พึ่งรายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 80%

– หากเปรียบเทียบสถานการณ์วิกฤติด้านท่องเที่ยวของภูเก็ต ที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ทั้งสึนามิ เรือนักท่องเที่ยวล่ม ก็ไม่รุนแรงเท่าโควิด เพราะแต่ละครั้งการฟื้นตัวกลับมาได้ในระยะเวลา 4-6 เดือน แต่โควิดเป็นวิกฤติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะจบเมื่อไหร่

– ถึงวันนี้ก็ยังไม่มีวี่แววว่าภูเก็ต จะฟื้นตัวได้ในระยะเวลาอันใกล้ ตราบใดยังที่น่านฟ้ายังไม่เปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และไม่มีวัคซีนป้องกัน เนื่องจากการเข้าถึงฟื้นที่ภูเก็ตกว่า 70% เป็นการเดินทางโดยสายการบินและรายได้ท่องเที่ยว 70-80% มาจากนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

4. โรงแรมภูเก็ต 1 แสนห้องเปิดได้แค่ 10%

–  ปัจจุบันภูเก็ต มีโรงแรม 2,000 แห่ง รวมกว่า 100,000 ห้อง หลังล็อกดาวน์เปิดให้บริการได้ 125 แห่ง ราว 8,000 ห้อง หรือไม่ถึง 10% ของจำนวนห้องพักที่มีอยู่ เพราะไม่นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา โรงแรมที่เปิดบริการอยู่ก็มีอัตราการเข้าพัก (occupancy rate) แค่ 10% จากนักท่องเที่ยวไทย แต่จำนวนก็ไม่มากเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจทำให้รายได้ถดถอยเช่นกัน  ส่วนต่างชาติที่ยังพอมีอยู่คือ กลุ่มที่เข้ามาทำงานในประเทศไทย

คุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท.

5. ภาพลักษณ์ที่ต้องแก้ คนไทยมอง “ภูเก็ตราคาแพง”

–  ปัจจุบันมีเพียงนักท่องเที่ยวไทย ที่พอจะประคองท่องเที่ยวภูเก็ตให้ยืนระยะรอวันโควิดคลี่คลาย แต่ Pain Point ใหญ่ของภูเก็ต ที่เป็นกระแสถูกพูดถึงผ่านสื่อโซเชียลและความรู้สึกของคนไทยมองว่า ภูเก็ตแพง ภูเก็ตไม่รับนักท่องเที่ยวไทย

คุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาด ททท. กล่าวว่าที่ผ่านมาต้องยอมรับความจริงว่ามีคนไทยเฉพาะกลุ่มเท่านั้น ที่สามารถเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวได้ เพราะต้องมีค่าใช้จ่ายตั๋วโดยสารเครื่องบินเพื่อเข้าถึงพื้นที่

– ในวิกฤติโควิดนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนท่องเที่ยว ต้องร่วมมือกันปรับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวภูเก็ตใหม่ว่าเป็น Destination ที่คนไทยเข้าถึงได้ มีความหลากหลายเรื่องห้องพัก ตั้งแต่โรงแรม 5 ดาว หลักหมื่นถึงที่พักหลักพันบาท

– ที่สำคัญภูเก็ตไม่ใช่เป็น Destination ที่ต้องเข้าถึงด้วยสายการบินเท่านั้น การเดินทางโดยรถยนต์ก็มีความสะดวกโดยเฉพาะจังหวัดใกล้เคียงภูเก็ต การฟื้นภูเก็ต จึงต้องทำให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยเข้าถึงได้ พร้อมรับนักท่องเที่ยวไทย ด้วยราคาที่พักหลากหลายและรัฐก็ช่วยออกค่าใช้จ่ายผ่านแคมเปญ “เราเที่ยวด้วยกัน”

6. คนโรงแรมภูเก็ตเสี่ยงว่างงาน 5 หมื่นตำแหน่ง

สมาคมโรงแรมภูเก็ต และ ซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส ผู้เชี่ยวชาญด้านธุรกิจการบริการระดับเอเชีย สำรวจผลกระทบโควิดที่เกิดขึ้นกับธุรกิจโรงแรมและการท่องเที่ยวภูเก็ตกำลังเข้าขั้นวิกฤติ ข้อมูลจากท่าอากาศยานไทย (ทอท.) ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้โดยสารขาเข้ามีจำนวนลดลงถึง 65% เมื่อเทียบเป็นรายปี ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงกรกฎาคมของปีนี้

– ห้องพัก 86,000 ห้องในสถานประกอบการที่พักที่จดทะเบียนในภูเก็ตไม่สามารถคุ้มทุนได้จริง หรือแม้กระทั่งรักษากระแสเงินสดให้เป็นบวกต่อนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศเท่านั้น (Domestic Tourism) หากไม่มีการสนับสนุนจากรัฐบาล หรือไม่อนุญาตให้นักท่องเที่ยวจากต่างประเทศเข้ามา จะสร้างความสูญเสียอย่างมาก รวมถึงจะมีการว่างงานถึง 50,000 ตำแหน่งในภาคโรงแรมในปีนี้

– ขณะที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งระบบมีแรงงาน 4 ล้านคน หากไตรมาส 4 ปีนี้ยังไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย อาจมีแรงงานตกงาน 2.5 ล้านคน

7. โรงแรมภูเก็ตโอเวอร์ซัพพลายมาเป็น 10 ปี

– หากดูตัวเลขห้องพักในภูเก็ตที่มีอยู่ 100,000 ห้อง เรียกว่าอยู่ในภาวะโอเวอร์ซัพพลายมาเป็น 10 ปี ดูได้จากช่วงไฮซีซันภูเก็ต เครื่องบินลงทุก 5 นาที ทั้งสายการบินในประเทศ ต่างประเทศ และชาร์เตอร์ไฟลท์ แต่อัตราการเข้าพักดีที่สุดของภูเก็ตทำได้ 70% ไม่เคยทำได้ถึง 90%

– สิ้นปี 2562 มีสถานประกอบการที่พักที่ได้รับใบอนุญาต 1,758 แห่งบนเกาะภูเก็ต มีโรงแรมเปิดใหม่ 58 แห่ง เพิ่มขึ้น 19% โดยห้องพักเพิ่มเติม 16,476 ห้อง

คุณนภสร ค้าขาย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต

8. บทเรียนโควิดปรับโครงสร้างแหล่งรายได้

– สถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้น คุณนภสร ค้าขาย ผู้อำนวยการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานภูเก็ต มองว่านี่คือบทเรียนสำคัญ ที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ตต้องกลับมามองเรื่อง “ขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว ณ ช่วงเวลาหนึ่ง” เพื่อไปกำหนดนโยบายการก่อสร้างห้องพักเพิ่มให้สอดคล้องกับนักท่องเที่ยว เพราะจำนวนห้องพักปัจจุบันไม่มีทางมีอัตราเข้าพัก 100%  จึงต้องมาดูว่า จะนำห้องพักที่ว่างอยู่ไปใช้ประโยชน์ด้านใด เพื่อสร้างรายได้ให้กับผู้ประกอบการ

– การที่เศรษฐกิจภูเก็ต พึ่งพารายได้ท่องเที่ยว 80% ในจำนวนนี้มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 70-80%  แม้หลายแหล่งท่องเที่ยวจะมีลักษณะเดียวกับภูเก็ต ไม่ว่าจะเป็น เขาหลัก สมุย แต่ด้วยความที่เป็นจังหวัดขนาดใหญ่ ภูเก็ตจึงเจ็บหนักกว่า สถานการณ์นี้ทำให้ภาครัฐและเอกชนภูเก็ต ได้หารือร่วมกันเพื่อปรับเปลี่ยนโครงสร้างรายได้ของจังหวัดภูเก็ตใหม่ในอนาคต สร้างจุดขายหารายได้จากหลายช่องทาง ที่ ททท. วางโรดแมปไว้ใช้ตัวย่อว่า GEMMSS

  • Gastronomy การแปรรูปอาหาร เน้นให้คนมาชิมอาหารมิชลิน อาหารต้นตำรับ
  • Educational การศึกษา ภูเก็ตมีโรงเรียนนานาชาติ 10 แห่ง หากส่งเสริมให้ภูเก็ต เป็นศูนย์การเรียนระดับนานาชาติ  ที่เป็นมาตรฐานการเดินทางสะดวก จะเกิดการจ้างงานในสาขาวิชาชีพอื่นๆ มากขึ้น
  • Medical & Wellness  ประเทศไทยได้รับการยอมรับว่ามาตรฐานสาธารณสุขอยู่ในเกณฑ์ดี เป็นอันดับต้นๆ ของโลก ในภูเก็ต มีคนมารักษาและดูแลสุขภาพต่อเนื่อง โดยมีโครงการสร้าง Medical Center ที่บริเวณท่าฉัตรไชย สาธารณสุขเป็นเจ้าภาพ
  • Marina  ภูเก็ตมีท่าจอดเรือยอชท์ของเอกชน 4 แห่ง และของรัฐบาล 1 แห่ง  สามารถสร้างโอกาสต่อยอดธุรกิจนี้ได้  เช่น แรงงานทักษะ ช่างซ่อมเรือ โรงงานผลิตชิ้นส่วนเรือยอชท์
  • Sport  สถานที่แข่งขันและกักตัวนักกีฬาต่าง ๆ
  • Smart City พัฒนาภูเก็ตให้เป็นเมืองอัจฉริยะ ให้บริการรถสมาร์ทซิตี้ เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตในเมืองภูเก็ต เมื่อเทคโนโลยีพร้อม ก็สามารถดึงกลุ่ม workation (work+vacation) การทำงานไปพร้อมๆ กับการพักร้อน เพราะหลังจากการใช้ชีวิต Work from Home ทำให้คนคุ้นเคยกับการทำงานได้ในทุกที่

9. ภาพลักษณ์ใหม่ “ภูเก็ตไม่แพงดึงไทยเที่ยวไทย”

–  ช่วงโควิดนี้ ททท.และเอกชนกำลังสร้างภาพจำใหม่ให้ภูเก็ตเป็นแหล่งท่องเที่ยว  “ไม่แพงและพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวไทย” จัดทำเว็บไซต์ Phuketgreattime.com ซื้อขายแพ็คเกจท่องเที่ยวโดยตรงกับผู้ซื้อ ตั้งแต่เปิดตัวเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2563  มีคนเข้ามาซื้อแล้ว 30,000 ราย

– เดินสายจัดโปรโมชั่นดึงนักท่องเที่ยวไทย เริ่มที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม – 2 สิงหาคม 2563 ณ ลาน Parc Paragon  กับแคมเปญ “ภูเก็ตเด็ดทั้งเกาะ” ลดราคาโรงแรมที่พัก 50-80%  ครั้งต่อไปเป็นงานเป็นแคมเปญเจาะพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง อย่าง นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่

– แนวทางการฟื้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั่วประเทศรวมทั้งภูเก็ต Message ใหม่ที่ ททท. จะใช้สื่อสารกระตุ้นการท่องเที่ยวในเดือนตุลาคมนี้ คือ “ออกไปช่วยคนไทย ออกไปเที่ยวเมืองไทย” ชวนคนไทยออกมาเที่ยวไทย เพื่อช่วยคนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้ประคองธุรกิจอยู่ต่อไปได้ในช่วงวิกฤตินี้

10. ตัวเลขนักท่องเที่ยว 40 ล้านคน คงไม่เห็นอีกนาน

–  ก่อนหน้านี้มีการพูดถึง “ภูเก็ตโมเดล”  ซึ่งก็คือการจับคู่ท่องเที่ยวแบบจำกัด หรือ Travel Bubble  เมืองต่อเมือง โดยมีภูเก็ตนำร่อง ในช่วงไฮซีซันไตรมาส 4  แต่ในที่สุดยังไม่มีโมเดลนี้ เพราะสถานการณ์การติดเชื้อโควิดในต่างประเทศไม่นิ่งเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การเข้ามาของต่างชาติจึงเป็นกลุ่มเดิมที่รัฐอนุญาตให้เดินทางได้ คือ นักธุรกิจ คนที่มีใบอนุญาตทำงานในประเทศไทย ชาวต่างชาติที่มีครอบครัวอยู่ในประเทศไทย  การเดินทางเข้ารักษาและดูแลสุขภาพ (Medical Tourism) กองถ่ายภาพยนตร์  ผู้ถือบัตรอีลิท ที่กำลังพิจารณาเพิ่มเติมคือกลุ่ม “ลอง สเตย์”

– ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติถึงสิ้นปีนี้คงไม่แตกต่างจากช่วง 7 เดือนแรกมากนัก ต้องไปรอลุ้นปี 2564 ให้สถานการณ์โควิดคลี่คลาย เพื่อกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวอีกครั้ง ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เคยทำได้ 40 ล้านคน ก็คงไม่ได้เห็นอีกนาน

ตัวเลขนักท่องเที่ยวอาจไม่ใช่เป้าหมายหลักอีกต่อไป หลังโควิดอาจจะอยู่ที่ 25-30 ล้านคน แต่หากสามารถทำให้การใช้เม็ดเงินต่อคนเพิ่มขึ้นได้ ด้วยการโฟกัสไปที่กลุ่มคุณภาพ และผลักดันคนไทยเที่ยวไทยให้มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นได้ ก็นับว่าเป็นการปรับโครงสร้างทางการตลาดและการท่องเที่ยวไทยใหม่ เพื่อไม่ต้องเผชิญกับวิกฤติในครั้งต่อไป  “นี่เป็นเวลาดีที่สุด ในการยกเครื่องอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทย จากบทเรียนโควิดที่เกิดขึ้น”


แชร์ :

You may also like