กลายเป็นข่าวฮือฮาและถูกอกถูกใจแฟน “เจ้าจำปี” การบินไทย ที่ถึงแม้ตอนนี้จะไม่ได้ใช้บริการด้านการบิน แต่ก็ยังใช้บริการ “การบินไทย” ผ่านทางปาก ด้วยเมนูอาหารที่ถูกนำมาเสิร์ฟ เพื่อหารายได้ในช่วงเวลาที่องค์กรเกิดวิกฤติ แถมภาคการท่องเที่ยวการเดินทางต้องหยุดชะงัก แต่จาก “วิกฤติ” ถูกพลิกทำให้กลายเป็น “โอกาส”
ร้านอาหารขายได้ด้วย Storytelling
ปัญหาของการบินไทยหนักหน่วงขึ้น ช่วง Covid-19 ทำให้ขึ้นบินไม่ได้ จนแผนกต่างๆ หยุดชะงัก ทางองค์กรจึงต้องระดมสมองเพื่อหาวิธีสร้างรายได้ โดยเริ่มจากการใช้แผนก Catering ทำเมนูอาหารมาวางจำหน่าย ซึ่งในเบื้องต้นก็ได้รายได้ดี ถึงแม้ว่าจะเทียบไม่ติดกับการให้บริการด้านการบิน แต่ยอดขายก็ดีอย่างต่อเนื่องกว่า 2 เดือน ทำให้เกิดการต่อยอด ที่ทีมงานคิดว่าต้องเพิ่มยอดขายให้ได้มากกว่าเดิมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่มีอยู่
จนเป็นที่มาของ โปรเจ็กท์ “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้” ซึ่งเกิดขึ้นด้วยแนวคิด งานนี้ต้อง Zero-Cost ไม่มีต้นทุน จึงกลายเป็นการไปขุดเก้าอี้ในคลังที่ไม่ใช้แล้วมาปัดฝุ่นใหม่ ไปรื้อโกดัง นำเอาอะไหล่เก่าๆ มาดีไซน์เป็นโต๊ะ และติดตั้งบันไดขึ้นสู่พื้นที่รับประทานอาหาร โดยใช้บันไดขึ้นเครื่องบิน ทั้งหมดนี้ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายช่าง ที่อำนวยความสะดวก ทำความสะอาด และประกอบอุปกรณ์ต่างๆ ให้กลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ประดับตกแต่ง แปลงโฉมแคนทีนที่ให้บริการพนักงาน กลายเป็นร้านอาหารที่มีบรรยากาศของการเดินทาง และยกเอาเมนูดังที่ได้รับความนิยมจากผู้โดยสาร นำมาพัฒนาให้เหมาะกับการเสิร์ฟภาคพื้นดิน ทั้งเรื่องของรสชาติ และขนาด
โต๊ะที่สร้างสรรค์มาจากอะไหล่บริเวณใบพัดเครื่องบิน ราคา 20 ล้านบาท ส่วนเก้าอี้ก็เป็นเก้าอี้จริงที่เคยใช้บนเครื่อง
นอกเหนือจากเรื่องของ “เมนูอาหาร” และ “การตกแต่ง” แล้ว “การต้อนรับ” เป็นอีกจุดเด่นของแบรนด์ “การบินไทย” ทางพนักงานจึงมีการตั้งทีมอาสา ที่ลงทุนแต่งตัวชุดกัปตันและพนักงานต้อนรับมาถ่ายรูปและพูดคุยกับลูกค้า โดยงานนี้ทีมนักบินและลูกเรือ ลงทุนแต่งตัว-แต่งหน้า-ซักยูนิฟอร์ม และรวมตัวกันทำวงดนตรี เพื่อบริการลูกค้าด้วยตัวเอง ซึ่งผลตอบรับที่ผ่านมาได้ผลตอบรับที่ดีจนทำให้ในช่วงแรกที่เริ่มต้นเปิดจำหน่ายวันพุธ-ศุกร์ ถูกขยายเวลาเป็นวันพุธ-อาทิตย์ และมีเมนูอาหารสับเปลี่ยนหมุนเวียนทุกเดือน รวมทั้งเล็งว่าพัฒนาไอเดียที่คล้ายกันไปสู่สาขาอื่นๆ นอกจากนี้ยังรับฟีดแบ็กจากลูกค้าในเรื่องแพ็กเกจจิ้งมาปรับปรุงนำเอาจานที่ไม่ได้ใช้แล้วมาเสิร์ฟแทนที่กล่องที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง ซึ่งลูกค้าหลายคนท้วงติงเข้ามาในตอนแรก
“ปาท่องโก๋” การบินไทย ทำยังไงให้ได้แบรนด์
ด้วยแนวคิดที่ประสบความสำเร็จจาก “อร่อยล้นฟ้า ไม่ต้องบินก็ฟินได้” ทางการบินไทยจึงคิดกันต่อว่าจะทำอย่างไรที่ทำให้สำนักงานทำเลเอื่น ทำเงินได้บ้าง ไหนๆ ก็ไม่มีต้นทุน “ค่าที่” อยู่แล้ว
แต่โจทย์ใหญ่ก็คือ ที่สีลมการแข่งขันสูง มีร้านอาหารอร่อยๆ ให้เลือกสรรเพียบ จนปิ๊งไอเดียนำเอา เมนูปาท่องโก๋ เป็นเมนูฮิตที่เสิร์ฟอยู่ในบางเส้นทาง รวมทั้งขายที่สุวรรณภูมิ มาขายให้กับเหล่าหนุ่ม-สาวออฟฟิศย่านสีลม
ซึ่งปาท่องโก๋ก็เหมาะจะเป็นอาหารเช้ารองท้องให้ก่อนเข้าทำงาน จนเป็นที่มาของเมนูและช่วงเวลาการขายที่ตอนนี้ ปังปุริเย่ ต่อคิวยาวววววววเหยียดและหมดเร็วมาก จนเป็นที่บอกต่อ ปาท่องโก๋ 1,200 ตัว และสังขยามันม่วง 350 ถ้วย หมดในเวลาเพียงแค่ 1.5 ชั่วโมง คิวแรกมาต่อตั้งแต่ตีสี่ครึ่ง จนต้องขยายพื้นที่จำหน่ายเพิ่มอีก 4 จุด โดยนำเอาพื้นที่เดิมที่มีอยู่แล้วมาสร้างจุดจำหน่าย ประกอบด้วย 1. ร้านพัฟแอนด์พาย สาขาตลาด อ.ต.ก. 2. ร้านพัฟแอนด์พาย สาขาสำนักงานใหญ่การบินไทย ถนนวิภาวดีรังสิต 3. ร้านพัฟแอนด์พาย สาขาอาคารรักคุณเท่าฟ้า ถนนวิภาวดีรังสิต ใกล้กับเจ้เล้ง 4. อาคารฝ่ายครัวการบิน ดอนเมือง ถนนวิภาวดีรังสิต
โดยงานนี้ต้องดัดแปลงกันเล็กๆ เดิมเสิร์ฟด้วยปาท่องโก๋สังขยาทำธรรมดา ก็เพิ่ม Branding สีม่วงเข้าไป โดยฝั่ง Catering ใช้เวลา 3 วัน นำ “มันม่วง” ทำสังขยา งานนี้จึงมีรายได้เข้ามาและสร้างกิมมิคเล็กๆ ให้แบรนด์ “การบินไทย”
Simulator สานฝันคนอยากติดปีก – อยากเป็นนางฟ้า
บริการอบรมและให้ทดลองใช้เครื่อง Stimulator เป็นอีกบริการที่มีเพิ่มเติมขึ้นมาในเวลานี้ กัปตันจุลจักร จักกะพาก เล่าให้ BrandBuffet ฟังว่า
ปกติเครื่อง Simulator จำลองการบินเป็นอุปกรณ์ที่นักบิน ต้องเข้ามารีเทรนนิ่งเป็นประจำทุกๆ 6 เดือนอยู่แล้ว หรือแม้แต่ตอนนี้ที่ไม่ได้บิน ก็ยังต้องเข้าไปฝึกกันอยู่ และสายการบินไทยก็มีเครื่องนี้ที่นอกเหนือจากจะให้นักบินขององค์กรฝึกแล้ว ก็ยังเปิดให้เช่าให้สายการบินอื่นเข้ามาใช้บริการ เช่นเดียวกันกับที่เครื่องบินบางรุ่นที่การบินไทยไม่มีก็ต้องไปเช่าฝึกจากการสายบินอื่นเช่นกัน
นี่เองจึงเป็นที่มาของบริการที่ “การบินไทย” เปิดให้คนที่อยากมีประสบการณ์เป็นนักบินได้เข้ามาทดลองใช้เครื่องจำลองการบิน
“ในเมื่อนักบินสายการบินอื่นก็มาใช้เครื่องที่เรามีอยู่ไม่ได้ ตอนแรกเราคิดไว้ว่าจะเริ่มต้นที่ผู้เรียนอายุ 12 ปี แต่ก็คิดกันว่าเด็กไปหรือเปล่า เลยขอลองกันที่อายุ 15 ปีขึ้นไปก่อน พอเปิดมาจริงๆ พบว่า คนที่เข้ามาเรียนแต่ละคนมีความรู้เรื่องเครื่องบินดีมาก ให้ความสนใจ ถามข้อมูลเยอะมาก คนสอนก็สนุก ไม่อย่างนั้นเครื่องที่มีอยู่ก็ไม่ได้ทำอะไร ก็นำมาหารายได้ดีกว่า ที่ผ่านมาคนที่มาเล่นเจ้าเครื่องนี้อายุมากที่สุด 70 ยังมีเลย ก็กำลังคิดกันอยู่ว่า ต่อไปจะพัฒนาต่อยอดอะไรได้อีก”
ต่อมาอีกบริการก็คือ โครงการ Be Our Guest Be Our Crew จำลองประสบการณ์การเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน
เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ “การบินไทย” เข็นออกมาเพื่อหาหารายได้เข้าสู่องค์กร ขนทรัพยากรและความเชี่ยวชาญขององค์กรมาให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ยิ่งมีแผนฟื้นฟู ยิ่งมีกำลังใจ
หัวหน้าเพอร์เซอร์ เล่าให้ฟังว่า บรรยากาศของเหล่าลูกเรือดีขึ้น เมื่อแผนฟื้นฟูมีความชัดเจน และเดินหน้าต่อไป ในขณะเดียวกัน DD ก็มี Staff Meeting ทำความเข้าใจกับพนักงานอยู่เรื่อยๆ เพื่ออัพเดทว่าได้ดำเนินการอะไรไปแล้วบ้าง โดยนับตั้งแต่เข้ามารับตำแหน่งมีการพูดคุยไปแล้วถึง 5 ครั้ง
ในส่วนของธุรกิจมีการนำเอาเครื่องบินโดยสารมาดำเนินการบินคาร์โก้ จากขนคน มาขนของ เพื่อหารายได้ อย่างไรก็ตามจำนวนเที่ยวบินก็มีไม่มากนัก รวมทั้งการบินไทยเองก็ทำได้เพียงแค่เอาพื้นที่ใต้ท้องเครื่องมาขนสินค้าเท่านั้น ไม่ถึงขนาดดัดแปลงนำที่นั่งมาขนของ เพราะต้องปฏิบัติตามกฎด้านการบินอย่างเคร่งครัด
ปัจจุบัน “การบินไทย” มีพนักงานอยู่ทั้งสิ้น 21,367 คน ในส่วนของนักบิน มีอยู่ 1,400 คน ส่วนพนักงานต้อนรับ 5,900 คน เมื่อเกิดวิกฤติ ความเสียสละของทุกคนในองค์กร เป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง ในช่วงเวลา “วิกฤติ” ขององค์กร ซึ่งชั่วโมงนี้ลดเงินเดือนไปแล้ว แต่เนื่องจากสถานการณ์การบินทั่วโลกที่คงไม่กลับมาสู่ภาวะปกติในระยะเวลาอันใกล้ การแสวงหารายได้เพื่อประคับประคองสถานการณ์แบ่งเบารายจ่ายขององค์กร จึงกลายเป็นความจำเป็นที่พนักงานการบินไทยขอลุยสุดฤทธิ์