HomeBrand Move !!7 ดิจิทัลเทรนด์ยุคโควิด โจทย์ท้าทาย “แบรนด์-เอเยนซี่” ปรับตัว ใช้ดาต้ายิงให้ตรงเป้า เร่งปิดการขาย

7 ดิจิทัลเทรนด์ยุคโควิด โจทย์ท้าทาย “แบรนด์-เอเยนซี่” ปรับตัว ใช้ดาต้ายิงให้ตรงเป้า เร่งปิดการขาย

แชร์ :

Photo Credit : Shutterstock

นับจากยุค Digital Disruption วงการโฆษณาต้องปรับตัวรอบด้าน จากโจทย์ยากในฝั่งแบรนด์ เพราะแค่สร้างการรับรู้คงไม่พอ เมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคมากขึ้นไปอีก กลายเป็นความท้าทายของนักการตลาดและเอเยนซี่ที่ต้องจับมือร่วมกัน ใช้ทุกเครื่องมือการตลาด เพื่อทำให้การใช้เม็ดเงินโฆษณาเข้าถึงกำลังซื้อผู้บริโภคตัวจริง ช่วยให้ “แบรนด์” สร้างยอดขายได้ในทุกช่องทาง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

สถานการณ์โควิดที่ยังไม่รู้ว่าจะกลับสู่ปกติเมื่อไหร่ จึงมีหลายอย่างที่ทำให้นักการตลาด นักโฆษณาต้องปรับตัวไปอีกขั้น ในงาน Thailand Digital Trends Talk คุณศิวัตร เชาวรียวงษ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) ร่วมกับกรรมการสมาคมฯ ได้สรุป 7 ดิจิทัลเทรนด์ ที่จะเป็นแนวโน้มในวงการโฆษณาหลังจากนี้

1. Helping our Clients sell นักโฆษณาทำอย่างไรช่วยลูกค้าขายของให้ได้

– บทบาทของเอเยนซี่และนักโฆษณา คือช่วยลูกค้าขายของ แต่โจทย์นี้จะมีความท้าทายมากขึ้น เป็นบริบทที่แตกต่างกันจากอดีต เพราะหลังจากมีวิกฤติโควิดเกิดขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคลดลง ขณะที่ฝั่งแบรนด์และสินค้า มีความกดดันมากขึ้นในการทำธุรกิจ จึงเป็นความท้าทายของผู้บริหารทุกองค์กร เพื่อรักษายอดขายและธุรกิจไว้ให้ได้

– ในช่วงครึ่งปีหลัง 2020 การทำงานระหว่างลูกค้าและเอเยนซี่จึงเปลี่ยนแปลงไป เดิมวงการโฆษณาจะพูดถึงเรื่องตัวเลขการใช้สื่อเพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายไม่ว่าจะเป็น GRP, CPRP, CPM, CTR, CPC, Engagement Rate ในสื่อโซเชียลมีเดีย  แต่ปัจจุบันคำถามสำคัญในฝั่งแบรนด์ คือเมื่อใช้งบโฆษณาแล้ว จะทำให้ยอดขายเพิ่มเท่าไหร่ ออเดอร์ผ่านอีคอมเมิร์ซเพิ่มเท่าไหร่ ยอดขายมาจากสื่อประเภทใด เงินที่ซื้อสื่อช่วยสร้างยอดขายหรือไม่ ลงโฆษณาเท่านี้ได้ยอดขายเท่าไหร่ ลงโฆษณาอีคอมเมิร์ซแล้วทำให้เกิด Transaction ได้ยอดขายเพิ่มหรือไม่

“สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้การทำงานของเอเยนซี่และนักโฆษณาวันนี้ จะต้องช่วยกันแบกรับเป้าหมายยอดขายร่วมกับลูกค้า เพื่อทำให้บรรลุยอดขายที่แบรนด์วางไว้”

–  กลยุทธ์การตลาดที่ว่าด้วย 4P เดิม ก็ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เพื่อนำไปสู่การปิดยอดขายให้กับแบรนด์

Products ต้องวิเคราะห์กลุ่มสินค้าแต่ละหมวด ทั้งด้านความต้องการสินค้า ไอเดียการทำโปรดักท์ใหม่ จะเห็นได้ว่าปัจจุบันจะมีการออกสินค้า “รุ่นใหม่” ถี่ขึ้นและมากขึ้น ทั้ง Limited Edition หรือ Exclusive Edition การทำ Collaboration ระหว่างแบรนด์ด้วยกันเพื่อกระตุ้นการซื้อ นอกจากนี้เอเยนซี่ต้องช่วยลูกค้าหา Partners เพื่อให้เกิดมิติใหม่ๆ ของการขาย

Pricing เอเยนซี่ต้องช่วยลูกค้าคิดราคาสินค้าว่าควรจะเป็นเท่าไหร่ สำรวจราคาที่สามารถแข่งขันในตลาดได้ โดยเฉพาะการขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซ ที่มีผู้ประกอบการจำนวนมาก

Places ช่องทางการขายก็ต้องว่าด้วยการออกแบบหน้าร้านอีคอมเมิร์ซ ที่แตกต่าง จะเห็นว่าสินค้าเดียวกันมีขายจากหลายแพลตฟอร์มและทำโปรโมชั่นไม่เหมือนกัน เอเยนซี่ต้องช่วยลูกค้าออกแบบหน้าร้านบนช่องทางออนไลน์ด้วย Retail Marketing ที่แตกต่างกัน รวมทั้งทำ Data Partnership การหาแหล่งข้อมูลใหม่ๆ  เพื่อเชื่อมต่อกับข้อมูลที่ลูกค้ามีอยู่ เพิ่มโอกาสทางการขาย

Promotion การทำงานก็ต้องยกระดับ ด้วยการวางแผนใส่ Code Promotion เพื่อให้เห็นยอดขายจากช่องทางต่าง ๆ เก็บดาต้ามาวิเคราะห์ต่อยอด

“ยุคนี้เอเยนซี่ ต้องช่วยลูกค้าหาให้ได้ว่าปัจจัยใดที่ทำให้เกิดยอดขาย หรือปัจจัยใดที่ทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้น การจะทำได้ต้องมีฐานข้อมูลจำนวนมากและวิเคราะห์ ลองผิดลองถูก ใช้ประสบการณ์หลายอย่างมาตอบคำถามให้ได้ว่าลูกค้าจะสร้างยอดขายได้อย่างไร เพื่อพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากการทำตลาดดิจิทัลในมิติใหม่ๆ”

2. Media-Fueled Creativity, The Inevitable งานครีเอทีฟที่ใช้มีเดียเป็นเชื้อเพลิงในการขับเคลื่อน

–  ในอดีต ครีเอทีฟ เอเยนซี่และมีเดีย เอเยนซี่ แยกการทำงานกันชัดเจน แต่ช่วง 10 ปีนี้ที่ดิจิทัล มีบทบาทมากขึ้น ปัจจุบันมีดิจิทัลแพลตฟอร์มจำนวนมาก แต่ละแพลตฟอร์มก็แตกต่างกัน หากมีเดียและครีเอทีฟ ยังทำงานแยกกัน จะเกิดช่องว่างในการใช้ “ดาต้า อินไซต์” เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค

–  ปัจจุบันคนคนเดียวกันเป็นผู้เสพคอนเทนท์ (Media Audience) ในหลากหลายดิจิทัลแพลตฟอร์ม ซึ่งแต่ละแพลตฟอร์มเก็บดาต้าไม่เหมือนกัน การจำแนกผู้ใช้งานก็แตกต่างกัน การทำความเข้าใจอินไซต์ผู้บริโภคและดาต้าจากแพลตฟอร์มจึงเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อทำให้การทำงานของ “ครีเอทีฟและมีเดีย” เข้าถึงผู้คนและกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้นกว่าเดิม

– สิ่งที่ต้องโฟกัส คือ อินไซต์ของผู้บริโภค เพื่อนำไปวิเคราะห์ร่วมกับอินไซต์ของ Media Audience ดูพฤติกรรมของแต่ละดิจิทัลแพลตฟอร์มแตกต่างกันอย่างไร จากเดิมที่งานครีเอทีฟชิ้นเดียวกัน ใช้สร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่ม แต่ในโลกดิจิทัลต้องการสร้างการรับรู้ต้องอยู่บน Media Audience ของแต่ละแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็น Google Facebook  IG  Line ที่มีความสนใจคอนเทนท์แตกต่างกัน

“ถ้าเราเข้าใจ Media Audience ที่อยู่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ก็สามารถทำงานครีเอทีฟที่ตอบสนองความต้องการผู้เสพสื่อในแต่ละแพลตฟอร์มได้ การทำงานในยุคนี้ทั้ง Brand Planner, Media Planner และครีเอทีฟ จึงต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์สูงสุดในลูกค้า โดยใช้งานครีเอทีฟเป็นตัวขับเคลื่อนให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย”

3. Precision Marketing การตลาดแบบเจาะจง

– การทำการตลาดแบบเจาะจง คือการออกแบบประสบการณ์ให้กับผู้บริโภค คือ อยู่ที่ไหนและควรเห็นอะไร ที่เชื่อมโยงกับความสนใจ ทำให้โฆษณาเจาะใจผู้บริโภคได้ดียิ่งขึ้น เพื่อทำให้งานของนักการตลาดและนักโฆษณามีประสิทธิภาพดีขึ้น เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ตรงใจมากขึ้น เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากช่วง 1-2 ปีนี้ จากการเก็บ Data และเกิดเป็น Big Data จำนวนมาก ทำให้นักการตลาดเริ่มเข้าใจผู้บริโภค จึงมีคำพูดที่ว่า “ใครมีดาต้ามากที่สุด คือคนได้เปรียบในการทำการตลาดมากที่สุด”

– เทรนด์ที่เกิดขึ้น คือ การนำดาต้า มาหลอมรวมเข้ากับยุคดิจิทัล หากเปรียบเทียบง่ายๆ ว่า การยิงโฆษณา คือ การยิงปืน  ดาต้า ก็คือ เลเซอร์ ช่วยชี้เป้านั่นเอง ดังนั้นหากดาต้าชัด ก็ยิงชี้เป้าได้ชัดขึ้น ทำให้การยิงโฆษณาในแพลตฟอร์มต่างๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Precision Marketing  มี 3 เรื่องหลัก

  • Data-Driven Marketing การถูกขับเคลื่อนด้วยดาต้า เพราะวันนี้แบรนด์ต้องรู้จักผู้บริโภคให้มากขึ้นและดีขึ้น  ต้องรู้ว่าผู้บริโภคคิดอะไรและกำลังจะทำอะไร
  • Performance Ads เพราะเทคโนโลยีในช่วง 1-2 ปีนี้ สามารถนำโฆษณาติดตามผู้บริโภคไปได้ในทุกที่
  • Creativity การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ที่ต้องแยกย่อยไปตามดิจิทัล แพลตฟอร์ม

“เมื่อมีทั้ง 3 เรื่อง ก็ทำให้ผู้บริโภคที่เห็นโฆษณา ซึ่งเลือกมาแล้วว่าเหมาะสำหรับคนคนนั้น เป็นโฆษณาที่พูดกับผู้บริโภคโดยตรง เพิ่มประสิทธิภาพการสื่อสารและเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีขึ้น”

4. Build Your Brand Through Gamer เทรนด์การตลาดผ่านคนเล่นเกม

–  เทรนด์ในต่างประเทศ Game เป็นความบันเทิงสำหรับคนยุคใหม่ ปัจจุบันคนดูออนไลน์ผ่านคอนเทนท์ต่างๆ รูปแบบสตรีมมิ่งเกมและคนเล่นเกม เป็นอีกความบันเทิงที่คนให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันในประเทศไทยมีคนเล่นเกมกว่า 20 ล้านคน ที่เพิ่มขึ้นสูงมากคือคนเล่นเกมผ่านมือถือ ใช้เวลาเล่นเกม 13 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด

–  3 แพลตฟอร์มเกมที่ได้รับความนิยมของคนไทย คือ YouTube Gaming , Facebook Gaming และ Twitch

–  ข้อมูลที่น่าสนใจจาก YouTube บอกว่า 45% ของคนดูยูทูบ ในประเทศไทย จะมีความสนใจเกี่ยวกับเกม ซึ่งเป็นสัดส่วนเดียวกับความสนใจคอนเทนท์ละครและเพลง นั่นหมายถึงคนไทยมีความสนใจดูคอนเทนท์วิดีโอที่เกี่ยวกับเกมสูง ผู้สนใจคอนเทนท์เกมพบว่า 50% คือ วัย 18-35 ปี เป็นคนรุ่นใหม่ที่จะเติบโตและใช้เงินกับสินค้าต่างๆ (ดาต้าจะไม่เปิดเผยข้อมูลของคนที่ต่ำกว่าอายุ 18 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่ที่เล่นเกม)

–  หลังจากเปิดตัว เฟซบุ๊ก เกมมิ่ง ในปี 2018 ข้อมูลปี 2020 คนไทยดู สตรีมมิ่ง เฟซบุ๊ก เกมมิ่ง ติดท็อป 5 ของโลก และไทยยังติดท็อป 5 เล่นสตรีมมิ่งเกม บนเฟซบุ๊ก อีกด้วย

–  อีกแพลตฟอร์มเกมคือ Twitch ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม ไลฟ์ สตรีมมิ่งเกมรายใหญ่ของโลก บอกว่ามีคนไทยเข้ามาดู ไลฟ์สตรีมมิ่งของ Twitch 8  ล้านชั่วโมงต่อเดือน จากดาต้าดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ชั่วโมงในการนั่งเล่นและดูเกมออนไลน์ เป็นเทรนด์ที่น่าสนใจว่า คนจะใช้เวลายาวและนานอยู่กับคอนเทนท์เกม

– สิ่งที่ต้องรู้เกี่ยวกับคอนเทนท์เกม คือ Key Player ของคนเล่นเกม แบ่งออกเป็น Pro Player คือคนเล่นเกมแข่งชิงเงินรางวัล  อีกกลุ่มคือ Caster นักเล่นเกมและนักพากย์ เพื่อทำให้คนไม่เบื่อ, Creator นักสร้างสรรค์ที่คิดสตอรี่ก่อนว่าวันนี้จะเล่นเกมอะไร เพื่อตัดต่ออกมาแล้วดูสนุก และ Streamer นักเล่นเกมแบบเรียลไทม์ และ Player ทั่วไป

–  ท็อป 5 ครีเอเตอร์บนยูทูบ ที่มียอดผู้ติดตามสูงสุด คือ zbingz  จำนวน 11.9 ล้าน subscribers (แต่ละคอนเทนท์บนยูทูบมีคนดูหลักล้านต่อคลิป) เป็นเซเลบริตี้ในกลุ่มเกม ที่สามารถใช้เป็นกลยุทธ์สร้างการเข้าถึงให้กับแบรนด์ได้ ส่วน Facebook Gaming มีผู้ใช้เฟซบุ๊ก เปิดบัญชี Gaming เติบโต 85-95% ตั้งแต่ปี 2019 ถึงปัจจุบัน ขณะที่ Twitch มียอดผู้ชม 1.6 ล้านคนต่อเดือน มีจำนวน 244,000 คนเข้า Twitch ทุกวัน

– จากสถิติจะเห็นได้ว่าเกม ไม่ใช่ตลาดเฉพาะกลุ่มอีกต่อไป เพราะมีคนที่เอนเกจกับเกมอยู่ตลอดเวลา เฉลี่ยคนเล่นเกมจะใช้เวลา Livestream 1-8 ชั่วโมง ซึ่งมีคนเข้ามาดูตลอด หน้าที่ของ Streamer  คือให้ความบันเทิงกับกลุ่มผู้ชม ระยะเวลาที่คนดู Livestream ถือเป็นช่วงเวลาที่น่าสนใจ  ซึ่งแบรนด์ สามารถใช้เป็นพื้นที่สื่อสารและเข้าถึงผู้ชมได้ ผ่าน Streamer ในการพูดคุยกับผู้ชม

– กลุ่มสินค้าที่ทำการตลาดผ่านเกมมี 3 กลุ่มหลัก คือ อุปกรณ์เล่นเกม เกม คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์เทคโนโลยี ซึ่งพบว่ากลุ่ม FMCG ที่สื่อสารผ่านเกมยังมีไม่มากทั้งที่มีโอกาสทำได้ผ่าน Caster, Creator หรือ Streamer  ไม่ว่าจะเป็นเครื่องสำอาง สกินแคร์ ที่ทำให้คนเล่นเกมดูดี หรือเครื่องดื่มชูกำลัง ในช่วงเล่นเกม จึงเป็นโอกาสที่นักการตลาดต้องศึกษาการสื่อสารผ่านเกมทั้ง Tie-in สินค้าระหว่างไลฟ์ เป็นสปอนเซอร์ช่องของนักเล่นเกม (ปกติมีเฉพาะ Pro Player) การใช้กลยุทธ์ Collaboration ทำคอนเทนท์ร่วมกัน

“ทุกครั้งที่มีสปอนเซอร์สนับสนุน Pro Player จะมีคอมเมนต์เชิงบวก เพราะคนดูชื่นชอบอินฟลูเอนเซอร์คนเล่นเกมอยู่แล้ว เมื่อมีแบรนด์สนับสนุนผู้ติดตามนักเก่นเกมก็จะมี Positive feedback กับแบรนด์ไปด้วย ทำให้เป็นช่องทางสื่อสารแบรนด์และสร้างฐานลูกค้ากลุ่มใหม่ในอนาคต”

5. Future of Personalization Ad การทำโฆษณาตอบสนองผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม

– ในยุคดิจิทัลการเก็บดาต้าผู้บริโภคจากแพลตฟอร์มออนไลน์ทำได้มากขึ้น จึงสามารถทำ Personalization Ad เลือกคอนเทนท์ที่เหมาะกับผู้บริโภคแต่ละกลุ่มได้ เพื่อสร้างประสบการณ์กับแบรนด์ได้ดีขึ้น

– ปัจจุบันการวางแผนโฆษณาผ่านสื่อ ไม่ได้เลือกว่าจะลงในสื่อประเภทใด แต่มองจาก “กลุ่มเป้าหมาย” หรือ Audience ที่แบรนด์ต้องการเข้าถึง จึงเป็นการวางแผนสื่อที่เรียกส่า Audience first planning โดยดูจาก Audience ก่อน ว่าเป็นกลุ่มไหน มีอินไซต์ หรือ พฤติกรรมเป็นแบบใด

– ช่วงโควิดจะเห็นได้ชัดว่าเม็ดเงินโฆษณาเปลี่ยนจาก การสร้างการรับรู้ (Awareness) มาทำ Conversion มากขึ้นเพื่อให้เกิดยอดขายทันที ดังนั้นเม็ดเงินลงโฆษณาจึงต้องชัดเจนเรื่องผลตอบแทนการลงทุน (ROI)  สิ่งที่เอเยนซี่ต้องทำคือ ลดต้นทุนความสูญเสียที่เกิดจากการใช้งบสื่อโฆษณาไม่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย เพื่อประหยัดงบโฆษณาให้กับลูกค้า

–  เป้าหมายการทำ Personalization Ad

  • ปัจจุบันการทำแคมเปญ แบรนด์ไม่ได้กำหนดกลุ่มเป้าหมายคนกลุ่มเดียว อาจมี 4-5 กลุ่มเป้าหมาย จากหลายสินค้าของแบรนด์ จึงต้องทำให้ Personalization Ad ขยายได้ในวงกว้าง (scale)
  • ทำให้กลุ่มเป้าหมายไม่หลุดไปจากแบรนด์ หรือยกเลิกการใช้บริการ
  • ใช้ดาด้ามาดึงลูกค้าที่ซื้อสินค้ากับแบรนด์แล้วไปซื้อสินค้าอื่นๆ ของแบรนด์เพิ่มขึ้นอีก
  • ผู้บริโภคมีพฤติกรรมเสพสื่อหลายแพลตฟอร์ม Facebook YouTube IG Line แบรนด์ต้องรู้ว่าผู้บริโภคใช้สื่อไหนเมื่อไหร่ เพื่อวางแผนทำ Audience Engagement ตั้งแต่เริ่มต้นแคมเปญ
  • Personalization สามารถสร้างแบบทดลอง เพื่อเลือกใช้คอนเทนท์โฆษณาที่ดีที่สุด ทำให้แคมเปญได้ผลลัพธ์ที่ดี

ขั้นตอนการทำ Personalization

Tech  ไม่จำเป็นต้องทำชิ้นงานหลายชิ้น เพื่อสื่อสารกับคนทุกคน แต่สามารถใช้ระบบหรือเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพแคมเปญให้เข้าถึงคนเฉพาะกลุ่มได้

Talk  เนื้อหาหรือข้อความที่จะพูดคุยกับกลุ่มเป้าหมาย ไม่จำเป็นต้องเป็นเนื้อหาเดียวกัน สามารถสร้างเนื้อหาสำหรับแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกันได้

Tactic  การส่งข้อความ Retargeting ที่แตกต่างเพื่อกระตุ้นความสนใจและสั่งซื้อ

– การทำ Personalization เป็นเทรนด์ที่กำลังได้รับความนิยม จากการทดลองทำหลายแคมเปญ เห็นตัวเลขยอดขายสูงขึ้นและประโยชน์ที่ได้จากการใช้งบโฆษณาดีขึ้น

6. Data/Tech-Powered DTC, The New Normal in E-Commerce  การใช้ดาต้าและเทคโนโลยีในอีคอมเมิร์ซ

– อีคอมเมิร์ซ เป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตต่อเนื่อง การที่แบรนด์ต่างๆ เข้าสู่ Marketplace การเก็บดาต้าจึงอยู่ที่มาร์เก็ตเพลส แบรนด์จะไม่เห็นข้อมูลพฤติกรรมผู้บริโภค ปัจจุบันจึงเห็นแนวโน้มว่าแบรนด์ต่างๆ เริ่มทำแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของตัวเอง หรือ  DTC (Direct-to-Consumer) แม้ว่าการลงทุนสร้างแพลตฟอร์มเองจะสูง แต่ท้ายสุดจะทำให้รายได้และกำไรดีขึ้น เพราะแบรนด์ไม่ต้องแบ่งกำไรกับมาร์เก็ตเพลส

– แบรนด์ยังสามารถเก็บดาต้า การใช้งานของลูกค้าบนแพลตฟอร์ม และวาง Customer Journey บนหน้าร้านของแบรนด์ได้ว่า อยากให้ผู้บริโภคเห็นอะไรก่อน และนำเสนอสินค้าไหนต่อ  หลังจากเก็บดาต้าได้แล้วก็จะนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคได้และนำเสนอสิ่งที่น่าใจ

– สิ่งที่ต้องทำก่อน คือ รู้จัก Audience ก่อนว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน พฤติกรรมออนไลน์ เห็นโฆษณาจากแพลตฟอร์มไหนก่อนมาที่อีคอมเมิร์ซของแบรนด์ สนใจสินค้าอะไร ซื้อบ่อยแค่ไหน ออกจากแบรนด์แล้วไปไหนต่อ เปรียบเทียบราคาจากที่ไหน เมื่อรู้จักผู้บริโภคก็จะส่งคอนเทนท์โฆษณาแบบ Personalization ที่ผู้บริโภคสนใจ เพื่อสร้างโอกาสทางการขาย

– จากการเก็บข้อมูลพบว่า ถ้าแบรนด์สามารถนำเสนอประสบการณ์ที่ดีบนอีคอมเมิร์ซ ด้วยข้อความที่ตรงกับความสนใจ ทำให้มีโอกาสซื้อสินค้ามากขึ้น และสามารทำ Loyalty Program ที่ตรงกับความสนใจลูกค้าได้ด้วย รวมทั้งสามารถทำได้แบบเรียลไทม์ และรูปแบบ Marketing Automation ผ่าน AI เช่น CRM

7. Everyone is an Influencer  พวกเราทุกคนคือ อินฟลูเอนเซอร์

–  Influencer คือ คนที่สามารถสร้างอิมแพ็ค คุณค่าของการสื่อสาร บอกต่อ ทำให้คนเชื่อมั่นในสินค้าและบริการ หรือเรื่องราวต่างๆ ที่มีประโยชน์สำหรับแบรนด์

– ในยุคดิจิทัลทุกคนสามารถเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้ เพราะเป็นยุคที่ทุกคนเป็น Gen C (ประชากรออนไลน์) ซึ่งในประเทศไทย Gen C เป็นคลื่นลูกใหญ่  “อินฟลูเอนเซอร์” หรือคนที่อยู่บนยอดคลื่น จึงมีจำนวนเติบโตตามไปด้วย ยุคนี้จึงมีทั้ง Macro , Micro และ Nano Influencer  มากขึ้น

–  ปัจจัยสนับสนุนอินฟลูเอนเซอร์เติบโตมาจาก แพลตฟอร์มโซเชียล มีเดีย ที่มีจำนวนมาก ใช้งานง่าย และทำให้คนเป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้เพียงข้ามคืน

– สิ่งที่ทำให้อินฟลูเอนเซอร์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว คือ ความเรียล เพราะคนเชื่อข้อมูลจากคนทั่วไปมากกว่าโฆษณาจากแบรนด์ และอินฟลูเอนเซอร์เองก็มีส่วนผลักดันให้เกิดการใช้โซเชียล มีเดียแพลตฟอร์มต่างๆ มากขึ้น

– นักการตลาดและเอเยนซี มีการปรับตัวใช้เรื่อง Influencer Marketing  โดยเฉพาะช่วงโควิด ที่ทำให้เกิด New Normal แบรนด์ สินค้าและบริการมองหา Short Term Solution หรือเห็นผลตอบแทนจากการลงทุน (ROI) ได้อย่างรวดเร็ว “อินฟลูเอนเซอร์” จึงถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างยอดขายผ่านอีคอมเมิร์ซที่เห็นผลได้ในระยะสั้น  ในระดับโลก อินฟลูเอนเซอร์ มาร์เก็ตติ้ง ก็เป็นเครื่องมือสำคัญที่แบรนด์และนักการตลาดนำมาใช้สร้างยอดขาย

– เรียนรู้อะไรจากอินฟลูเอนเซอร์ เป็นเครื่องมือสำคัญของนักการตลาด 

1. อินฟลูเอนเซอร์ ไม่ได้ทำแค่หน้าที่กระจายข้อมูลของแบรนด์ไปยังผู้บริโภคอีกต่อไป แต่ทำหน้าที่ช่วยนักการตลาดสื่อสารรายละเอียดของแบรนด์และ “ช่วยปิดการขายได้” ช่วงโควิดจะเห็นได้ว่า อินฟลูเอนเซอร์ ทำหน้าที่ขายสินค้าอยู่บนช่องทางออนไลน์จำนวนมาก อีกเครื่องมือที่แบรนด์สามารถใช้ได้ คือ “พนักงาน” ที่สามารถทำหน้าที่เป็นอินฟลูเอนเซอร์ได้เช่นกัน

2. แบรนด์ที่ผูก Relationship สร้างกองทัพอินฟลูเอนเซอร์ ทำให้อินฟลูเอนเซอร์รักแบรนด์ เมื่อแบรนด์ต้องการเปิดตัวสินค้า หรือมี Crisis อินฟลูเอนเซอร์ ก็ยินดีจะเข้ามาช่วย

3. เปิดกว้างอินฟลูเอนเซอร์ สร้างสรรค์คอนเทนท์ “เรียลและสนุก” ตามแนวทางของแต่ละคน โดยแบรนด์ไม่ปิดกั้น เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี

4. จบด้วยขายสินค้า ทุกแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย มีฟีเจอร์ที่สามารถนำไปสู่การจบการขายได้  (shoppable posts)

ไม่ว่าจะเกิดวิกฤติใดขึ้นก็ตาม หากเอเยนซี่และนักโฆษณา สามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าหรือแบรนด์ได้ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่ทุกธุรกิจต้องการเห็นตัวเลข “ยอดขาย” เพื่อผ่านสถานการณ์โควิดไปให้รอด จึงเป็นหน้าที่วงการโฆษณาต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ และพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส จากการทำตลาดดิจิทัลในมิติใหม่ๆ ในฐานะพันธมิตรของแบรนด์


แชร์ :

You may also like