ปฏิเสธไม่ได้ว่า อุตสาหกรรมศูนย์การค้าและค้าปลีก นับเป็นภาคธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ ในแต่ละปีสามารถสร้างเม็ดเงินและการจ้างงานเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินเวลายาวนานหลายเดือน ส่งผลให้ศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าต้องปิดให้บริการชั่วคราวจากมาตรการเข้มเว้นระยะห่างทางสังคม เพื่อต่อสู้กับไวรัสร้าย ยิ่งทำให้ธุรกิจได้รับผลกระทบอย่างหนัก และถึงแม้ว่าตอนนี้สถานการณ์จะเริ่มคลี่คลาย แต่ภาพรวมของอุตสาหกรรมกลับยังไม่ฟื้นตัวมากนัก สมาคมศูนย์การค้าไทย หรือ TSCA จึงเสนอ 3 แผนงานต่อภาครัฐเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและแรงงาน รวมถึงฟื้นฟูเศรษฐกิจและธุรกิจการท่องเที่ยวของไทยให้กลับมาเดินหน้าต่อไปได้
ศูนย์การค้า เส้นเลือดใหญ่ของประเทศ
คุณนพพร วิฑูรชาติ นายกสมาคมศูนย์การค้าไทย และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บอกว่า อุตสาหกรรมศูนย์การค้าและค้าปลีก นับเป็นภาคธุรกิจสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเป็นสถานที่ที่รวมผู้ประกอบการจำนวนมากกว่า 120,000 ราย ก่อให้เกิดการจ้างงานกว่า 2.4 ล้านคน และสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนกว่า 750,000 ล้านบาทต่อปี ศูนย์การค้าจึงเปรียบเสมือน “บ้านหลังใหญ่” ของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่
ซึ่งนับตั้งแต่เกิดวิกฤติการณ์โควิด-19 มาจนถึงปัจจุบัน ธุรกิจศูนย์การค้าได้รับผลกระทบอย่างหนัก โดยภาคธุรกิจศูนย์การค้ามีความพยายามช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอีของประเทศอย่างต่อเนื่องรวมระยะเวลากว่า 6 เดือน รวมรายได้ที่สูญเสียและเม็ดเงินช่วยเหลือเกือบ 2 แสนล้านบาท อาทิ การลดค่าเช่า 30-100% เพื่อให้ร้านค้ายังคงมีกระแสเงินสดหมุนเวียนและประคองธุรกิจต่อไปได้
รวมถึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการขายจัดแคมเปญลดราคา 50-90% รวมไปถึงเปิดพื้นที่การขายฟรีให้เอสเอ็มอีและผู้ประกอบอาชีพต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติการณ์ในครั้งนี้ เพื่อกระตุ้นการจับจ่ายของผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นวิธีประคองธุรกิจในระยะสั้น แต่ไม่เพียงพอให้ธุรกิจอยู่รอดได้อย่างต่อเนื่อง
ชู 3 แผนเร่งฟื้นธุรกิจศูนย์การค้าและท่องเที่ยว
คุณวัลยา จิราธิวัฒน์ อดีตนายกสมาคมศูนย์การค้าไทย 2 สมัย (ปี 2557-2561) และรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) บอกว่า ทางสมาคมศูนย์การค้า ได้นำเสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เพื่อร่วมกันเร่งฟื้นฟูและขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยมุ่ง 3 แนวทาง ได้แก่ แผนระยะสั้น แผนระยะกลาง และแผนระยะยาว ซึ่งมีสาระสำคัญ ดังนี้
- แผนระยะสั้น
1.ส่งเสริมธุรกิจเอสเอ็มอี ให้สามารถกลับมาค้าขายได้ คงการจ้างงาน และกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ด้วยมาตรการออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ
2.ส่งเสริมโครงการช้อปและเที่ยวช่วยชาติ โดยอนุมัติมาตรการ “ชิม ช้อป ใช้” แจก 3,000 บาทต่อคน พร้อมขยายมายังผู้ค้ารายย่อยในศูนย์อาหาร (Food Center) ให้สามารถเข้าร่วมได้
3.พิจารณาอนุมัติมาตรการเยียวยาค่าใช้จ่ายผ่านศูนย์การค้าเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีต่อไป ตามข้อเสนอมาตรการเยียวยาโควิดทั้งด้านภาษีและค่าใช้จ่ายๆ ตามจดหมายที่สมาคมฯ เคยนำเสนอเมื่อวันที่ 15 เม.ย. และ 29 มิ.ย. 2563 พร้อมขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือด้านการลงทุน และต่ออายุการลดภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอัตรา 90% ออกไปถึงปี 2566
- แผนระยะกลาง
1.ส่งเสริมการลงทุนต่อเนื่อง ด้วยการยกระดับธุรกิจศูนย์การค้าให้อยู่ในแผนแม่บทพัฒนาประเทศ อนุญาตให้ลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษของประเทศ
2.ส่งเสริม Seamless Connectivity เชื่อมต่ออาคาร, ระบบคมนาคม, สะพานลอย, รถไฟฟ้า, ถนนหลวง ฯลฯ
3.พิจารณาปรับกฎหมายที่เกี่ยวเนื่องให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตใหม่ และส่งเสริมมาตรการด้านภาษีเพื่อการลงทุน
- แผนระยะยาว
1.ผลักดันให้ศูนย์การค้าไทยเป็นจุดหมายปลายทางของการท่องเที่ยวในระดับโลก เพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ด้วยการยกระดับคุณภาพและดีไซน์สินค้าของไทยให้ดึงดูดนักท่องเที่ยว ไปพร้อมกับการทยอยปรับลดภาษีสินค้านำเข้า เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนได้
2.จัดแคมเปญระดับประเทศเพื่อโปรโมท Attraction & Unique Product ภายในศูนย์การค้า และการจัดงานส่งเสริมวัฒนธรรมระดับประเทศ (Cultural Event) โดยภาครัฐเป็นเจ้าภาพ เช่น กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกันส่งเสริม Art / Music / Food ของไทยในศูนย์การค้า เช่น งาน Bangkok Art Biennale เพื่อทำให้ศูนย์การค้าไทยเป็นสวรรค์แห่งการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก
สำหรับกลุ่มเป้าหมายหลักที่ทางสมาคมฯ ผลักดันให้เกิดการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนคือผู้ประกอบการ SMEs ทั่วประเทศ เพื่อรักษาไว้ซึ่งห่วงโซ่ธุรกิจ เพื่อช่วยประคองธุรกิจไม่ให้ปิดกิจการ คงการจ้างงาน ลดอัตราการว่างงาน และกระตุ้นเงินหมุนเวียนในระบบ รวมถึงการแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการจากต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพื่อให้ธุรกิจรอดไปด้วยกันทั้งหมด นอกจากนี้ สำหรับแผนระยะกลาง เราหวังให้เกิดการลงทุนอย่างต่อเนื่อง และการยกระดับให้ธุรกิจศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศ ด้วยเราเล็งเห็นบทบาทของศูนย์การค้าที่มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวอย่างมาก รวมถึงในระยะยาวเราต้องการผลักดันให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีศูนย์การค้าเป็นหนึ่งในแม่เหล็กหลักที่จะช่วยดึงดูดรายได้ให้กับประเทศ
นอกจากนี้ ทางสมาคมศูนย์การค้าไทยยังเสนอเพิ่มเติมว่า หากภาครัฐผลักดันและดำเนินการตามวิสัยทัศน์ที่นำเสนอดังกล่าวข้างต้น จะช่วยส่งเสริมและสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ประกอบการธุรกิจศูนย์การค้าดำเนินตามแผนการลงทุนตามที่ได้วางไว้ที่กว่า 171,000 ล้านบาทภายใน 3 ปีต่อจากนี้ (ประมาณ 57,000 ล้านบาทต่อปี) ซึ่งจะนำไปสู่การจ้างงานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการกระจายรายได้ และความเป็นอยู่ที่ดีตามแผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand