ก่อนหน้านี้ในประเทศไทยอาจมีการเปิดเผยตัวเลขให้นักการตลาดหลายคนต้องร้องว้าว กับการเข้าสู่โลกช้อปปิ้งออนไลน์ของผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่สำหรับประเทศญี่ปุ่น เริ่มมีการพบว่า ออนไลน์ช้อปปิ้งกับผู้สูงอายุอาจไม่ใช่เรื่องราวหอมหวานอย่างที่หลายคนคาดคิด โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม ซึ่งทำให้พวกท่านกดสั่งซื้อสินค้าชนิดเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า
โดย Nikkei Asian Review ได้อ้างถึงข้อมูลจาก The National Consumer Affairs Center ของญี่ปุ่นว่า การให้คำปรึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์แบบผิดปกติในปี 2019 นั้นเพิ่มขึ้นแตะ 183,000 ครั้ง ขณะที่ในปี 2010 มีราว ๆ 50,000 เคสเท่านั้น และเมื่อดูลึกลงไปยังพบว่า ในปี 2019 กลุ่มที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีการขอคำปรึกษา 50,500 ราย หรือเพิ่มขึ้นจากปี 2010 ถึง 3.5 เท่า
โดยความพีคของเรื่องดังกล่าวมาจากการพบว่า ผู้สูงอายุที่มีพฤติกรรมสั่งซื้อผิดปกตินี้ใช้ “อินเทอร์เน็ต” เป็นช่องทางหลัก โดยที่ตัวแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่มีการตรวจจับว่าเป็นพฤติกรรมที่ผิดปกตินั่นเอง (ส่วนผู้สูงอายุที่ใช้เครื่องมืออื่น ๆ ในการสั่งซื้อ เช่น อีเมล โทรศัพท์ หรือแฟกซ์นั้นพบว่าปัญหาดังกล่าวเพิ่มขึ้น 1 เท่าตัวเท่านั้น)
สำหรับสินค้าที่ผู้สูงอายุสั่งซื้อมากผิดปกติคือกลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพ (Health Foods) โดยพบว่ามีคำสั่งซื้อออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 7,400 ครั้ง หรือเพิ่มขึ้น 102 เท่า เมื่อเทียบกับปี 2010
ส่วนหนึ่งของปัญหามาจากความไม่คุ้นเคยใน User Interface ของตัวแพลตฟอร์มที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อผู้สูงอายุ เช่น ตัวหนังสือ หรือปุ่มแจ้งเตือนต่าง ๆ มีขนาดเล็กเกินไป ทำให้ยากแก่การสังเกต
แต่นอกจากตัวแพลตฟอร์มแล้ว อาการป่วยของผู้สูงอายุเองก็มีผลต่อการสั่งซื้อออนไลน์ที่ผิดปกติเช่นกัน โดยหนึ่งในเคสที่น่าสนใจมาจากผู้สูงอายุในเมืองเอจิเซ็น จังหวัดฟุกุอิ ที่พบว่ามีการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ไปมากถึง 10 ล้านเยนภายในเวลาเพียงแค่ 6 เดือน
ผู้ที่สั่งซื้อรายนี้เป็นหญิงฐานะดี วัย 86 ปี ซึ่งอาศัยอยู่กับลูกสะใภ้ โดยลูกสะใภ้ยอมรับว่าแม่สามีมีสัญญาณเตือนเกี่ยวกับโรคสมองเสื่อมมาตั้งแต่เมื่อสามปีที่แล้ว แต่เธอก็ไม่เคยคิดว่าผลลัพธ์มันจะเกี่ยวข้องกับการซื้อสินค้าออนไลน์ด้วย อีกทั้งแม่สามีใช้เงินจากบัญชีเงินฝากของตัวเองมาโดยตลอด ทำให้เธอไม่ทันสังเกตความผิดปกตินี้
สิ่งที่ทำให้เธอเริ่มเอะใจก็คือวันที่บ้านมีสินค้าอย่างพรม แจกัน อาหารสุขภาพ เข้ามาส่งอย่างต่อเนื่อง และเมื่อถามแม่สามีก็พบว่าจำไม่ได้ว่าสั่งซื้อเมื่อไร นั่นทำให้เธอต้องกลับไปดูรายการเดินบัญชีของคุณแม่และพบว่ามีการสั่งซื้อสินค้าไปราว ๆ 10 ล้านเยน ภายในเวลา 6 เดือน และสินค้าบางรายการก็เลยช่วงที่สามารถยกเลิกได้แล้ว ทำให้ทางครอบครัวต้องเก็บเอาไว้จนเต็มบ้านไปหมด
สิ่งหนึ่งที่ทำให้ปัญหานี้หนักขึ้นมาจากความจริงที่ว่า ผู้ที่มีอาการสมองเสื่อมมักจะอยู่กับบ้าน ทำให้มีเวลาอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์หรือทีวีมากขึ้น ซึ่ง ศาสตราจารย์จิน นารุโมโตะ (Jin Narumoto) ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสมองเสื่อมจากมหาวิทยาลัยเกียวโตมองว่า สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงมากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่ตามลำพัง เนื่องจากไม่มีใครคอยช่วยเตือนนั่นเอง
สำหรับตัวเลขในญี่ปุ่น มีผู้สูงอายุ (65 ปีขึ้นไป) ราว 7 ล้านคนที่อาศัยอยู่ตัวคนเดียว และ 22% เป็นผู้หญิง ซึ่งข้อมูลจาก the National Institute of Population and Social Security Research พบว่าตัวเลขนี้มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่องด้วย
สถานการณ์เหล่านี้นำไปสู่การเรียกร้องให้มีการยกระดับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซให้ปลอดภัยมากขึ้นสำหรับผู้สูงอายุ ซึ่ง Nikkei Asian Review พบว่าทาง Amazon สามารถตรวจจับความผิดปกตินี้ได้แล้ว หากมีการกดซื้อสินค้าซ้ำ ๆ ติดต่อกันหลายวัน และระบบจะมีการขึ้นแจ้งเตือนให้เห็นชัด ๆ ด้วยว่าเกิดการซื้อซ้ำที่มากเกินไป
ส่วนประเทศไทยที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้วเรียบร้อย ปัญหานี้ก็อาจเกิดขึ้นได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้สูงอายุอาจเป็นอีกหนึ่งข้อที่แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซต้องใส่ใจให้มากขึ้น