อุตสาหกรรมท่องเที่ยวยังกระทบหนักจากวิกฤติโควิด -19 เพราะการเดินทางหยุดชะงัก รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติหายไป ธุรกิจโรงแรมหลายทำเลอาการสาหัส ขาดสภาพคล่อง หากสายป่านสั้นก็ต้องเลือกเดินออกจากตลาด เจรจาขายกิจการให้ทุนใหญ่ หนึ่งในกลุ่มเนื้อหอมต้องยกให้ “ทีซีซี กรุ๊ป” ของเจ้าสัวเจริญ สิริวัฒนภักดี”
บริษัทที่มีพอร์ตโฟลิโอ อสังหาริมทรัพย์ครบวงจร ในเครือทีซีซี คือ แอสเสท เวิรด์ คอร์ป หรือ AWC บริหารโดย คุณวัลลภา ไตรโสรัส (บุตรสาวคนที่2 ของเจ้าสัวเจริญ) และ เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ บริหารโดยคุณปณต สิริวัฒนาภักดี (บุตรชายคนเล็กของเจ้าสัวเจริญ) จากสถานการณ์โควิด มีผู้ประกอบการโรงแรมและอาคารสำนักงาน ที่ได้รับผลกระทบ มาเสนอขายกิจการให้ทั้ง 2 บริษัทแล้ว 100 โครงการ
AWC เตรียมตั้งกองทุนซื้อกิจการโรงแรม
คุณวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่าผู้ประกอบการที่มาเสนอขายกิจการ 100 โครงการ ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 3-5 ดาว ทั้งแบรนด์โรงแรมไทยและโครงการที่บริหารโดยเชนต่างประเทศ (คนไทยเป็นเจ้าของพร็อพเพอร์ตี้) โรงแรมที่มาเสนอขายมูลค่าหลัก 100 ล้านบาท ถึง 10,000 ล้านบาท ในทำเลหลักๆ อย่าง กรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา เชียงใหม่ ส่วนโครงการคอมเมอร์เชียล อาคารสำนักงานและค้าปลีกมีมาเสนอขาย 5-6 โครงการ
ที่ผ่านมาเวลาผู้ประกอบการจะขายกิจการในกลุ่มอสังหาฯ ก็มาเสนอกับ ทีซีซี กรุ๊ป แต่ปัจจุบันได้กระจายไปตามบริษัทในเครือทั้ง AWC และ เฟรเซอร์ส เมื่อเกิดวิกฤติโควิด มีจำนวนโครงการมาเสนอขายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน ตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นล็อกดาวน์ถึงปัจจุบัน
ส่วนของ AWC มีความสนใจธุรกิจโรงแรม ขณะนี้กำลังเตรียมจัดตั้งกองทุน ที่เรียกว่า Opportunity Fund เพื่อเข้าไปซื้อกิจการ โดยคุยกับนักลงทุนไว้หลายราย ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนระดับโลกที่เข้าลงทุนใน AWC อยู่แล้ว Private Fund ทั้งไทยและต่างประเทศ ในเอเชีย ยุโรป สหรัฐ รวมทั้งธนาคารในประเทศและต่างประเทศที่จะมาร่วมกันจัดตั้งกองทุน คาดว่าจะเป็นช่วงต้นปี 2564 เบื้องต้นเป็นกองทุนหลักหมื่นล้านบาท
ปัจจุบัน AWC มีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ในระดับต่ำที่ 0.7 เท่า ยังมีโอกาสกู้ลงทุนได้ต่อเนื่อง แต่ก็ต้องการสร้างกระแสเงินสด จึงใช้รูปแบบกองทุนเข้าไปซื้อกิจการโรงแรมที่มาเสนอขายแทน
ซื้อกิจการโรงแรมสร้างรายได้ทันที
ปัจจุบันพอร์ตโฟลิโอธุรกิจโรงแรม AWC โฟกัสกลุ่มไฮเอนด์ ซึ่งเป็นตลาดที่เติบโตสูง สร้างฐานรายได้ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ประเทศ สำหรับโครงการที่มาเสนอขาย หากเป็นโรงแรมระดับ 3-4 ดาว แต่ทำเลดีมีศักยภาพ หากกองทุนซื้อกิจการมาแล้วก็จะนำมาปรับปรุงใหม่ Rebrand และอัพเกรดให้เป็นไฮเอนด์ หากดูจากกลุ่มที่มาเสนอขาย 100 โครงการ มีราว 30% ที่น่าสนใจปัจจุบันยังอยู่ระหว่างการศึกษาเพราะราคาที่เสนอมายังค่อนข้างสูง
แม้อยู่ในช่วงโควิด แต่ AWC ยังเห็นศักยภาพอุตสาหกรรมท่องเที่ยวว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว ตั้งแต่กลางปีหน้า การเข้าไปซื้อโรงแรมทำเลดี มีศักยภาพ สามารถสร้างกระแสเงินสดได้ทันที ไม่ต้องรอก่อสร้างใหม่การเลือกซื้อก็จะดูให้ตรงกับพอร์ตโฟลิโอของ AWC บาลานซ์โลเคชั่นและเซ็กเมนต์ ทั้งกลุ่มประชุม กลุ่มครอบครัว มีโอกาสที่จะทรานส์ฟอร์มไปหลายเซ็กเมนต์ในกลุ่มไฮเอนด์
“ในสถานการณ์โควิดธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบหนัก หากผู้ประกอบการที่มีโรงแรมหลายแห่ง สามารถขายสินทรัพย์ออกได้บางส่วนก็จะมีเงินทุนมาบริหารต่อไป สามารถช่วยทั้งระบบให้กลับมาฟื้นตัวได้ และนักลงทุนของ AWC ก็มีโอกาสได้ผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่ม”
หลังจากกองทุนซื้อโรงแรมมาบริหารแล้ว ในอนาคตหากเจ้าของโครงการเดิมฟื้นตัวได้ ก็อาจให้สิทธิกลับมาซื้อคืนเป็นอันดับแรก ด้วยราคาที่สร้างผลตอบแทนที่ดีกับกองทุน
เดินหน้าลงทุนตามแผน 5 หมื่นล้าน เปิดอีก 10 โรงแรม
ส่วนธุรกิจโรงแรมของ AWC คุณวัลลภา มองว่าผ่านช่วงต่ำสุดของสถานการณ์โควิดในไตรมาส 2 ไปแล้ว หลังจากนี้จะค่อยๆ ฟื้นตัว และเป็นโอกาส ที่ AWC ยังเดินหน้าลงทุนตามแผน 5 ปี (2563-2567) เปิดอีก 10 โรงแรม มีทั้งรีโนเวทของเดิมและลงทุนใหม่ตามงบประมาณที่วางไว้ 50,000 ล้านบาท
ปัจจุบัน AWC มีทรัพย์สินโรงแรมที่เปิดดำเนินการทั้งสิ้น 18 โครงการ จำนวนห้องพักรวม 4,941 ห้อง ในกรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยวที่สำคัญทั่วประเทศไทย โดยมีความร่วมมือกับผู้บริหารโรงแรมระดับโลกต่าง ๆ เช่น แมริออท อินเตอร์เนชั่นแนล และ อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล กรุ๊ป รวมทั้งเปิดโรงแรมใหม่กับ มีเลีย โฮเทลส์ อินเตอร์เนชั่นแนล และบันยันทรี
โดยปี 2564 เตรียมเปิด โรงแรมมีเลีย เชียงใหม่, โรงแรม อินเตอร์คอนติเนนตัล แม่ปิง เชียงใหม่ (ปรับปรุงจากโรงแรมอิมพีเรียล)
สำหรับส่วนต่อขยาย เอเชียทีค เป็นโครงการมิกซ์ยูส อาคารสูงที่สุดริมแม่น้ำเจ้าพระยา จะมีการสร้างโรงแรมใหม่ 3 แห่ง ภายใต้แบรนด์ “ริทซ์ คาร์ลตัน รีเสิร์ฟ” เป็นบูทีคระดับ อัลตร้า ลักชัวรี่ จำนวน 124 ห้อง, โรงแรม เจดับบลิว แมริออท มาร์คีส์ 1,000 ห้อง และโรงแรม ดิ เอเชียทีค แบงค็อก ออโตกราฟ คอลเลคชัน 208 ห้อง สร้างเสร็จ ปี 2566
อีกบิ๊กโปรเจกต์มิกซ์ยูส ทำเล พัทยา มี 3 โรงแรม คือ โรงแรม อควาทีค พัทยา, โรงแรมออโต กราฟ คอลเลคชั่น และโรงแรม แมริออท มาร์คีส์
แม้โควิดจะเป็นวิกฤติที่ได้รับผลกระทบหนักสุด ศาสตร์การบริหารต้องใช้ความนิ่งรอเวลาให้ทุกอย่างฟื้นตัว แต่ก็เชื่อมั่นว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก AWC จึงยังเดินหน้าลงทุนต่อ