HomeBrand Move !!เส้นทาง ‘Brown Café’ จาก SME ชานมไข่มุก ปั้นธุรกิจอย่างไรให้ ‘เซ็นทรัล’ ร่วมทุน และแผนลงทุนจากนี้

เส้นทาง ‘Brown Café’ จาก SME ชานมไข่มุก ปั้นธุรกิจอย่างไรให้ ‘เซ็นทรัล’ ร่วมทุน และแผนลงทุนจากนี้

แชร์ :

Brown Cafe

ในช่วงหลายปีมานี้ เกิดผู้ประกอบการธุรกิจ SME และ Startup มากมาย เพราะใครๆ ก็อยากมีธุรกิจของตัวเอง ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ สิ่งที่ตัวเองหลงใหล สิ่งที่ตัวเองคิด แต่ในโลกความเป็นจริงนั้น เส้นทางกว่าที่ธุรกิจจะตั้งไข่ เติบโต และเดินได้อย่างมั่นคง ต้องเผชิญทั้งการแข่งขัน และอุปสรรคต่างๆ มากมมาย ยิ่งในสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อชะลอตัวเช่นนี้ เป็นความท้าทายใหญ่ของธุรกิจ SME

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เช่นกรณีศึกษา Brown Café” (บราวน์ คาเฟ่) ธุรกิจร้านขนมหวาน และเครื่องดื่มที่ก่อตั้งโดย “คุณแพร – แพรวา ไชยซาววงศ์” ผู้บริหารสาววัย 27 ปีในปัจจุบัน ซึ่งรักและหลงใหลในการทำขนมหวาน จนในที่สุดได้ตัดสินใจเปิดร้านแห่งแรกที่เชียงใหม่เมื่อปี 2560

ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปีนับตั้งแต่สาขาแรก ถึงวันนี้ Brown Café มี 9 สาขาในไทย และ 3 สาขาในต่างประเทศนั้น ไม่ง่าย! ต้องพบเจอโจทย์ยากต่างๆ แต่ด้วย Passion ความตั้งใจ และการขยายธุรกิจ ทำให้ธุรกิจ Brown Café” กลายเป็นที่สนใจของ “เซ็นทรัล” กระทั่งในที่สุด “บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด” หรือ CRG” (บริษัทย่อยของโรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ถือหุ้น 100%) ได้ร่วมทุน (Joint Venture) กับห้างหุ้นส่วนจำกัด บราวน์ กรุ๊ป ก่อตั้ง “บริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด”

โดย CRG ได้ซื้อหุ้นสามัญจากผู้ถือหุ้นเดิมจำนวน 18,952 หุ้น และซื้อหุ้นเพิ่มทุนอีกเป็นจำนวน 28,976 หุ้น รวมทั้งสิ้น 47,928 หุ้น หรือคิดเป็นสัดส่วน 51% ของจำนวนหุ้นทั้งหมดในบริษัท บราวน์ ดีเซิร์ท จำกัด ด้วยมูลค่าเงินลงทุน 70 ล้านบาท และอีก 49% ถือโดยคุณแพรวา ไชยซาววงศ์ (35%), คุณพีรพัฒน์ ไชยซาววงศ์ (11%) และคุณพีรดลย์ ไชยซาววงศ์ (3%)

Brown-Cafe

Brown Café นับเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ SME ที่สามารถปลุกปั้นธุรกิจ และสร้างการเติบโต จนองค์กรขนาดใหญ่มองเห็นศักยภาพธุรกิจนี้ จนนำไปสู่การร่วมทุนกัน ที่ต่าง win-win ด้วยกันทั้งคู่

โดยทาง CRG ได้แบรนด์พอร์ตโฟลิโอกลุ่มร้านขนมหวาน และเครื่องดื่มเข้าไปเติมเต็มความครบวงจร ขณะที่ทาง Brown Café ผู้บริหารมีอิสระในการบริหารงาน และการพัฒนาสินค้า – บริการต่างๆ และเงินทุน 70 ล้านบาทนั้น เตรียมใช้ในการสร้างฐานธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น

ถึงตรงนี้ หลายคนคงอยากรู้เบื้องหลังความสำเร็จของ Brown Café ทำธุรกิจอย่างไรให้แจ้งเกิดได้ จนสามารถขยายสาขา และมีองค์กรใหญ่มาร่วมทุนด้วย พร้อมทั้งแผนธุรกิจนับจากนี้ ?!?

Brown-Cafe

 

ทำธุรกิจด้วย Passion และต้องมีแผนดำเนินการชัดเจน

ด้วยความที่ “คุณแพรวา” รัก และชอบเรียนรู้การทำขนมหวาน ทำให้หลังจากเรียนจบได้หนึ่งปี ก็ตัดสินใจทำตาม Passion ของตัวเอง ด้วยการเปิดร้าน “Brown Café” ในปี 2560 ที่ย่านนิมมานเหมินทร์ แหล่งรวมไลฟ์สไตล์สุดฮิปชื่อดังของเชียงใหม่ ทั้งร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านขนมหวาน งานอาร์ต ฯลฯ

ถึงจะทำธุรกิจด้วย Passion แต่จุดเริ่มต้นของ Brown Café ได้วางแบรนด์ดิ้งไว้ชัดเจน ตั้งแต่คอนเซ็ปต์ และจุดขายแบรนด์ คือ เป็น “Friendly Dessert” ร้านขนมหวาน และเครื่องดื่มที่เป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้บริโภค ด้วยการใช้วัตถุดิบ และส่วนผสมจากธรรมชาติ ตอบรับกับไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคนี้ ที่ดูแลสุขภาพ และหันหาสิ่งที่เป็นธรรมชาติมากขึ้น

ขณะที่ชื่อแบรนด์​ โลโก้ ร้าน ทั้งภายนอก-ภายใน และแพ็กเกจจิ้ง ออกแบบให้สอดคล้องกับคอนเซ็ปต์ที่วางไว้ โดยใช้ชื่อ “Brown” เพราะสื่อถึงความเป็นธรรมชาติ

ส่วนโลโก้แบรนด์ ร้าน และแพ็กเกจจิ้ง  ดีไซน์ Modern Contemporary สื่อถึงการต้อนรับที่อบอุ่น และแตกต่างจากแบรนด์ชานมไข่มุกอื่นในไทย เช่น ขวดทรงสูง สำหรับซื้อกลับไป และแช่เก็บในตู้เย็นได้

Brown-CafeBrown-Cafe

สำหรับสินค้า ทั้งขนมหวาน และเครื่องดื่ม นอกจากฝึกฝนฝีมืออยู่เรื่อยๆ จากการทำเป็นงานอดิเรกอยู่แล้วตั้งแต่ก่อนจะเปิดร้าน คุณแพรวา ยังได้ลงคอร์สเรียนทำขนมหวาน และเครื่องดื่มที่ญี่ปุ่น และไต้หวันหลายรอบ เพื่อเจาะลึกถึงวัตถุดิบ และกระบวนการทำ ซึ่งทั้งสองประเทศนี้มีชื่อเสียงด้านขนมหวาน และเครื่องดื่มอยู่แล้ว อย่างญี่ปุ่น ขึ้นชื่อด้านความพิถีพิถัน ละเอียดอ่อน ได้นำมาปรับใช้กับการปลุกปั้นธุรกิจ Brown Café ตั้งแต่แรกเริ่ม จนถึงทุกวันนี้

“นับตั้งแต่ทำร้านที่เชียงใหม่สาขาแรก เราสร้างเอกลักษณ์ ซึ่งความแตกต่างแรกที่เน้นเสมอ คือ ความเป็น Friendly ทั้งวัตถุดิบ รสชาติ ความน่ากิน และแพ็กเกจจิ้งต่างๆ โดยเราตั้งใจผลิตสินค้าที่มีคุณภาพให้กับลูกค้า เพราะอยากให้ลูกค้าเข้ามาแล้วรู้สึกว่าได้รับสิ่งดีๆ จากร้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพ ความอบอุ่น อยากให้ลูกค้าอินกับตรงนี้ มาแล้ว อยากมาอีก

อย่างขวดชานมไข่มุกทรงสูง แนวคิดมาจากเราอยากได้บรรจุภัณฑ์ on the go ดูทันสมัย สามารถพกพาไปไหนได้ และนำกลับมาใช้ได้อีก ขณะเดียวกันเราพัฒนาสินค้าใหม่ตลอด ทั้งขนมหวาน และเครื่องดื่ม เพื่อให้ลูกค้าได้รู้สึกว่าทุกครั้งที่มาที่ร้าน ได้ทดลองสินค้าใหม่ที่แตกต่าง”

Brown-Cafe

คุณแพร – แพรวา ไชยซาววงศ์ ผู้ก่อตั้ง Brown Cafe

ถึงแม้จะวางแผนด้านแบรนด์ และองค์ประกอบต่างๆ ของความเป็น Brown Café ไว้อย่างชัดเจน แต่ในเวลานั้น ด้วยความเป็น Entrepreneur มือใหม่ในธุรกิจร้านขนมหวาน และเครื่องดื่ม ทำให้คุณแพรวาต้องลองผิดลองถูกวิธีการบริหารจัดการร้าน

“ช่วงแรกที่เปิดร้านที่เชียงใหม่ หลักๆ เป็นปัญหาด้าน Operation เพราะเราไม่เคยเปิดร้านมาก่อน ทำให้ต้องลองผิดลองถูกอยู่นาน เช่น เราควรจะจัดคิวแบบนี้ หรือควรจะเสิร์ฟลูกค้าแบบนี้ พูดกับลูกค้าแบบนี้ เพื่อหาวิธีการที่ลงตัวที่สุด แต่เราคิดเสมอว่าทำทุกอย่างด้วยรอยยิ้ม ทำด้วยความสุข”

คุณแพรวา เล่าว่าหลังจากพยายามนำเสนอในสิ่งที่ไม่เหมือนใคร ด้วยความใส่ใจ พิถีพิถัน ก็ทำให้ผู้บริโภครู้จักร้าน Brown Café ที่เชียงใหม่มากขึ้น

Brown-Cafe

 

ก้าวสำคัญจาก “เชียงใหม่” สู่ “กรุงเทพฯ” และจาก “ในประเทศ” สู่ “ตลาดต่างประเทศ”

ในขณะที่เชียงใหม่คือ จุดตั้งต้นธุรกิจ Brown Café แต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ร้านขนมหวาน และชาไข่มุกแบรนด์นี้ เป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะเหล่าสายหวานที่ชื่นชอบขนมหวาน และชานมไข่มุก คือ การขยายธุรกิจมายัง “กรุงเทพฯ” ซึ่งเป็นตลาดที่ได้ชื่อว่ามีร้านชานมไข่มุกเพียบ! ทั้งรูปแบบเชน เปิดหลายสาขา และผู้ประกอบการอิสระรายเล็ก

แต่ท่ามกลางการแข่งขันสูง ย่อมมี “โอกาสมหาศาล” เช่นกัน เพราะทุกวันนี้ร้านขนมหวาน และเครื่องดื่ม กลายเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในเมืองใหญ่ไปแล้ว เพราะฉะนั้นจึงมี Demand ที่พร้อมจ่ายให้กับขนมหวาน และเครื่องดื่มที่อยู่ในเทรนด์ มีคุณภาพ และรสชาติดี

สำหรับจุดเริ่มต้นของการเปิดสาขาที่กรุงเทพฯ เกิดขึ้นหลังจากเปิดร้านที่นิมมานเหมินทร์ เชียงใหม่มาได้สักพัก วันหนึ่งคุณแพรวาได้มีโอกาสมาออกงานอีเว้นท์ที่กรุงเทพฯ ทำให้เห็นโอกาสในการขยายธุรกิจที่นี่ จึงตัดสินใจทดลองเปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์วัน ในรูปแบบคีออส 15 ตารางเมตร ขายเฉพาะเครื่องดื่มชานมไข่มุกอย่างเดียว

Brown-Cafe

ต่อมา “Brown Café” ขยายสาขาต่อเนื่อง ถึงวันนี้นอกจากที่เชียงใหม่ และสยามสแควร์วันแล้ว ยังมีสาขาที่ชิดลม เซ็นทรัล สีลมคอมเพล็กซ์ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์ เซ็นทรัล ปิ่นเกล้า​ เซ็นทรัลเวิลด์ และเมกาบางนา

ขณะที่วัตถุดิบจัดส่งให้กับแต่ละสาขา มีทั้งวัตถุดิบบางส่วนผลิตที่กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นกึ่งๆ ครัวกลาง เช่น ไข่มุกบางตัวและบางอย่างต้องผลิตที่เชียงใหม่ แล้วส่งมายังกรุงเทพฯ เช่น เมนูสูตรต้นแบบ ซึ่งทุกเมนู คุณแพรวาเป็นคนพัฒนาสูตร

“โดยเฉลี่ยใน 1 ปีจะมีเมนูใหม่ 4 – 5 เมนู ทั้งขนมหวาน และเครื่องดื่ม ซึ่งตอนนี้เราเพิ่มขนมหวานเข้ามามากขึ้น เพื่อให้ลูกค้าที่ซื้อเครื่องดื่ม จะได้รับประทานคู่กับขนมหวาน ลูกค้าจะได้ไม่รู้สึกจำเจ จากเดิมที่ดื่มแต่เครื่องดื่ม

ในการพัฒนาเมนูใหม่ เราจะศึกษาความต้องการของผู้บริโภคในขณะนั้นเป็นอย่างไร เช่น ปัจจุบันผู้บริโภคให้ความสำคัญกับสุขภาพมมากขึ้น ก็จะมีโปรดักต์ที่ทำให้ลูกค้ายังคงรับประทานของหวาน และเครื่องดื่มได้อร่อย ขณะเดียวกันตอบโจทย์สุขภาพด้วย โดยต่อไปจะออกเป็นซีรีส์ เช่น เมนูซีรีส์นี้ ลูกค้ารับประทานได้อย่างสบายใจ”

Brown-Cafe

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่ Brown Café มีต้นกำเนิดที่เชียงใหม่ โดยสาขาที่นั่นถือเป็นต้นแบบ และเป็น Flagship Store ที่มีสินค้าครบทั้งกลุ่มขนมหวาน และเครื่องดื่ม ทำให้การรับรู้ของผู้บริโภคในเชียงใหม่ รู้จัก Brown Café ทั้งการเป็นแบรนด์ร้านขนมหวาน และเครื่องดื่ม ดังนั้นสัดส่วนการขายของสาขาดังกล่าว มากถึง 70% มาจากขนมหวาน และอีก 30% เป็นเครื่องดื่ม

ในขณะที่การทำตลาดในกรุงเทพฯ Brown Café โฟกัสที่เมนูเครื่องดื่มเป็นหลัก ทำให้สัดส่วนการขายมากกว่า 90% มาจากกลุ่มเครื่องดื่ม แต่แผนต่อไปจะเพิ่มกลุ่มขนมหวานที่ร้านสาขาในกรุงเทพฯ มากขึ้น เพื่อเพิ่มความหลากหลายของสินค้า และสร้างการรับรู้ให้กับผู้บริโภคถึงการเป็นร้านขนมหวาน และเครื่องดื่ม

Brown-Cafe

นอกจากการสร้างสรรค์เมนูใหม่ต่อเนื่องแล้ว เพื่อรองรับการขยายสาขามากขึ้นในอนาคต และเพิ่มการขายขนมหวานในร้านสาขาที่กรุงเทพฯ มากขึ้น ขณะนี้ “Brown Café” จึงมีแผนจะสร้าง “ครัวกลาง” ในกรุงเทพฯ โดยจะย้ายการผลิตวัตถุดิบต่างๆ มาอยู่ที่นี่ทั้งหมด เพื่อควบคุมคุณภาพ และระบบโลจิสติกส์

ไม่เพียงแต่การเปิดสาขาในประเทศเท่านั้น “Brown Café” ยังได้ขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ ด้วยโมเดลแฟรนไชส์ เนื่องจากมีคนสนใจแบรนด์ Brown Café จึงได้ติดต่อเข้ามา โดยปัจจุบันมีพาร์ทเนอร์ 3 ราย ใน 3 ประเทศ คือ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และกัมพูชา พาร์ทเนอร์แต่ละราย ได้สิทธิ์เป็นมาสเตอร์ แฟรนไชส์ ในการขยายสาขาในประเทศนั้นๆ

ขณะที่รูปแบบสาขาในต่างประเทศแตกต่างกัน อย่าง Brown Café ในฟิลิปปินส์ เน้นเครื่องดื่มเป็นหลัก และให้บริการรูปแบบ Take Away หรือ To Go ส่วนมาเลเซีย เป็นร้านนั่งประทาน และมีบริการ To Go และสำหรับกัมพูชา เป็นร้านนั่งรับประทาน มีทั้งเมนูขนมหวาน และเครื่องดื่ม

Brown-Cafe

 

จาก “SME” สู่ “องค์กรมืออาชีพ” ที่มี “CRG” ร่วมทุน

แน่นอนว่าผู้ประกอบการธุรกิจ SME ทุกคน อยาก Scale Up ธุรกิจของตนเองให้เติบโตอย่างมั่นคงในระยะยาว แต่การจะทำเช่นนั้นได้ หากเดินคนเดียว ก็อาจติดข้อจำกัด เช่น ด้านเงินทุน ขนาดธุรกิจ ทำให้ไปถึงเป้าหมายเป็นไปได้ช้า ในขณะที่การแข่งขันโลกธุรกิจทุกวันนี้ “Speed” คือ หนึ่งในหัวใจหลัก

เพราะฉะนั้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และเร่ง Speed ให้ไปถึงเป้าหมายทางธุรกิจได้ตามแผน ต้องสร้างความร่วมมือทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือในรูปแบบใดก็ตาม เพื่อเสริมความแข็งแกร่งซึ่งกันและกัน

ดังเช่น “Brown Café” หลังจากดำเนินธุรกิจมาได้สักพัก ล่าสุดจับมือร่วมทุน (Joint Venture) กับ “CRG” วัตถุประสงค์ที่กลุ่มเชนธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ในเครือเซ็นทรัล กรุ๊ปร่วมทุน เพราะเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์หลักในการสร้างการเติบโตของ CRG ที่ต้องการเพิ่มแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ทั้งการซื้อแบรนด์ธุรกิจ ซื้อแฟรนไชส์ ร่วมทุน และพัฒนาแบรนด์ใหม่ขึ้นมาเอง เพื่อเร่งเติมเต็ม Brand Portfolio ให้มีประเภทอาหารครอบคลุมทุกเซ็กเมนต์ ขยายฐานลูกค้าให้กว้างมากขึ้น เพิ่มโอกาสการเข้าถึงผู้บริโภคหลายกลุ่ม และเข้าไปอยู่ในช่วงเวลาของการรับประทานอาหาร ทั้งมื้อหลัก และมื้อรอง

ประกอบกับเทรนด์ธุรกิจเครื่องดื่มชานมไข่มุก และขนมหวาน มาแรงและสามารถเติบโตได้อีกมาก ทำให้ “CRG” สนใจ “Brown Café” เพราะเชื่อมั่นใจแบรนด์ และความสามารถในการพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ความต้องการ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค นำมาสู่การร่วมทุน ในสัดส่วนการถือหุ้น CRG 51% และ Brown Café 49% ของบริษัท บราวน์ดีเซิร์ท จำกัด

Brown-Cafe

โดยบทบาทของ CRG จะเป็นที่ปรึกษา และสนับสนุนช่วยต่อยอดธุรกิจด้านต่างๆ เช่น ระบบบริหารจัดการหลังบ้าน พัฒนาให้เป็นระบบ และมีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น องค์ความรู้ต่างๆ รวมถึงด้าน Digital Solution เพื่อเพิ่มการให้บริการ Delivery  ส่วนทาง Brown Café ยังคงมีอิสระในการบริหารงาน และการพัฒนาสินค้า – บริการต่างๆ เหมือนเช่นเดิม

“เหตุผลที่ทำให้ Brown Café ร่วมทุนกับ CRG เพราะ CRG มีความเป็นมืออาชีพด้านต่างๆ โดยจะให้คำแนะนำ และให้กับการสนับสนุน อย่างเมื่อก่อนระบบหลังบ้านของ Brown Café ทำกันเอง แต่เมื่อมี CRG เข้ามา เชื่อว่าจะทำให้ระบบทุกอย่างของ Brown Café มีความเป็นมืออาชีพมากขึ้น ช่วยสนับสนุนธุรกิจ Brown Café ให้เติบโตแข็งแรง และมั่นคง

โดยทางทีมบริหารของ Brown Café ยังคงเป็นทีมเดิม ซึ่งทาง CRG ให้อิสระกับทีมบริหาร  และการพัฒนาสินค้าต่างๆ เพราะเชื่อมั่นที่เราเป็นเรา และให้เราเติบโตในสิ่งที่เราเป็น ส่วนกลยุทธ์ด้านสาขา จะเป็นการพิจารณาร่วมกันกับ CRG” คุณแพรวา ให้เหตุผลถึงการร่วมทุน

Brown-Cafe

 

Next Step: เดินตามแผนยุทธศาสตร์ที่วางไว้

ทั้ง Brown Café” และ “CRG” ตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปีจากนี้ สามารถสร้างยอดขายกว่า 500 ล้านบาท และสำหรับเงินที่ได้มาจากทาง CRG ซื้อหุ้น ทาง Brown Café” จะใช้เป็นงบลงทุนส่วนสำคัญของการขยายธุรกิจตาม Roadmap ที่วางไว้ ประกอบด้วย

1. ขยายสาขาทั่วกรุงเทพฯ – หัวเมืองใหญ่ และมองไกลถึงจังหวัดเล็ก เพื่อครอบคลุมพื้นที่ให้ทั่วถึงที่สุด

“ทุกวันนี้สาขาของ Brown Café อยู่ในโซน CBD (Central Business District) เป็นหลัก แต่เราอยากเข้าถึงผู้บริโภค คนที่รักในขนมหวาน และเครื่องดื่มได้มากขึ้นในโซนต่างๆ ที่เรายังไม่ได้เข้าไป เพื่อทำให้การเข้าถึงครอบคลุมมากขึ้น โดยนอกจากขยายในกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่แล้ว ถ้ามีโอกาส เราอยากไปถึงจังหวัดเล็กด้วย เพื่อให้มีสาขาทั่วถึงที่สุด”

ผู้บริหาร Brown Café คาดหวังว่าจะเปิดสาขา 1 เดือนต่อ 1 สาขา ดังนั้นในปี 2564 ในกรณีที่สถานการณ์ปกติ “Brown Café” จะเปิดเพิ่มอีก 12 สาขา

Brown-Cafe

2. ลุยตลาด Delivery

เป็นที่ทราบกันดีว่า Delivery กลายเป็นหนึ่งในช่องทางหลักของธุรกิจร้านอาหาร ร้านขนมหวาน และเครื่องดื่มไปแล้ว เพราะฉะนั้นภายใต้แผนธุรกิจที่วางไว้ “Brown Café” จะรุกบริการ Delivery มากขึ้น

สอดคล้องกับการขยายสาขา เนื่องจากร้านสาขา ถือเป็น Network ของการจัดส่งสินค้า ยิ่งมีสาขามาก และครอบคลุมพื้นที่สำคัญ ก็จะยิ่งสามารถให้บริการ Delivery ทั่วถึง และควบคุมคุณภาพ จนถึงมือลูกค้าปลายทางได้

3. สร้างครัวกลาง

เมื่อขยายสาขาเพิ่มขึ้น โจทย์สำคัญคือ การควบคุมคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานเหมือนกันทุกสาขา เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมี “ครัวกลาง”

จากเดิมทีวัตถุดิบของ Brown Café ที่ส่งเข้าสาขาต่างๆ มีทั้งมาจากกึ่งๆ ครัวกลางที่กรุงเทพฯ และจากสาขาเชียงใหม่ แต่ขณะนี้ได้เตรียมสร้าง “ครัวกลาง” คาดว่าจะตั้งอยู่โซนรอบนอกกรุงเทพฯ เพื่อให้เป็น Center ของการผลิตวัตถุดิบต่างๆ แล้วกระจายไปยยังสาขา

“ตอนนี้เรามีแผนจะสร้างครัวกลาง โดยอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาโลเคชั่นที่ตั้งครัวกลาง ที่สะดวกต่อการขนส่ง และควบคุมคุณภาพได้ มองเอาไว้ว่าอาจจะเป็นโซนรอบนอกกรุงเทพฯ และขณะนี้ยังอยู่ในขั้นตอนศึกษา และพูดคุยกันว่าขนาดพื้นที่ครัวกลาง จะประมาณ 200 ตารางเมตร สามารถรองรับการขยายสาขาถึงสิ้นปี 2564 หรือสร้างให้ใหญ่ขึ้นกว่านี้ไหม เพื่อรองรับการขยายสาขาไปได้ถึง 5 ปี”

Brown-Cafe

4. ขยายตลาดต่างประเทศ

หลังจากมีสาขาในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และกัมพูชา ด้วยโมเดลให้สิทธิ์มาสเตอร์ แฟรนไชส์ สเต็ปต่อจากนี้ Brown Cafe” มีแผนจะขยายไปยังประเทศอื่นๆ ให้ครอบคลุมตลาดอาเซียน และในระยะยาว ต้องการพัฒนาโปรดักต์ เพื่อเจาะตลาดเอเชีย และยุโรปด้วยเช่นกัน

จากเส้นทางของ “Brown Café” กว่าจะมายืนตรงจุดนี้ได้ ต้องผ่านเรื่องราวต่างๆ มากมาย ทั้งสวยงาม และอุปสรรค แต่ตลอดการเดินทางอยู่บนความตั้งใจ และความมุ่งมั่น

Brown-Cafe

“ตอนเริ่มต้นสร้างร้าน Brown Café เราอยากทำสิ่งที่ดีให้กับลูกค้า ด้วยความตั้งใจ และมุ่งมั่น กว่าจะได้แต่ละโปรดักต์ แต่ละอย่างที่ออกมาเป็น Brown Café ไม่ใช่เรื่องง่าย ผ่านการทำซ้ำแล้ว ซ้ำเล่า อย่างเมื่อครั้งที่เปิดสาขาแรกที่เชียงใหม่ แพรใช้เวลาอยู่แต่ในครัว เพื่อทดลองทำเมนูต่างๆ ตั้งแต่เช้า ถึงเที่ยงคืน ตีหนึ่ง ลองแล้วลองอีก ทดลองเป็นเดือน

เมื่อกลับไปนึกย้อนดู ก็หนักนะ แต่มันมีความสวยงามอยู่ในนั้น และเราคิดว่าความตั้งใจของเรา ความรักของเรา น่าจะส่งมอบไปถึงผู้บริโภคได้ ทั้งคุณภาพ ความสดใหม่ ทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นใน Brown Café และการได้มาร่วมทุนกับ CRG ถือว่าเรามาไกลกว่าที่คิด ซึ่งการร่วมมือจะทำให้ธุรกิจ Brown Café เติบโตเร็วขึ้น และมั่นคงขึ้น” คุณแพรวา สรุปทิ้งท้ายถึงเส้นทาง Brown Café

Brown-CafeBrown-Cafe


แชร์ :

You may also like