HomeBrand Move !!“เชนร้านอาหารรายใหญ่” ในไทย รุกโมเดลแฟรนไชส์ ลดการลงทุนสาขาเอง! เปิดเคส CRG – ZEN – Food Passion

“เชนร้านอาหารรายใหญ่” ในไทย รุกโมเดลแฟรนไชส์ ลดการลงทุนสาขาเอง! เปิดเคส CRG – ZEN – Food Passion

แชร์ :

Food Chain Restaurants Asset-Light

ที่ผ่านมาโมเดลธุรกิจของ “กลุ่มเชนร้านอาหารรายใหญ่” ในประเทศไทย เน้นสร้างความแข็งแกร่งใน Brand Portfolio เพื่อให้มีแบรนด์ร้านอาหารหลากหลายประเภท ซึ่งการเติมเต็ม Brand Portfolio แบ่งเป็น 4 รูปแบบหลักๆ คือ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune
  1. เป็นแฟรนไชส์ซีของแบรนด์ต่างประเทศ เพื่อเป็นผู้ได้สิทธิ์ดำเนินธุรกิจแบรนด์นั้นๆ
  2. ปั้นแบรนด์เอง (Own Brand) ทำให้มีอิสระ และยืดหยุ่นได้มากกว่า
  3. ซื้อกิจการ
  4. ร่วมทุน

ทั้ง 4 รูปแบบของการเติมเต็ม Brand Portfolio เพื่อที่ “กลุ่มเชนร้านอาหาร”​ ต้องการเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสการบริโภคของผู้คนให้ได้มากที่สุด แต่โมเดลดังกล่าวกลุ่มเชนร้านอาหารต้องใช้เงินลงทุนเองทั้งหมด เช่น ขยายสาขา ค่าเช่าพื้นที่ ด้านการตลาด ด้านบุคลากร ฯลฯ

แน่นอนว่าทุกวันนี้ Brand Portfolio Strategy ยังคงมีความสำคัญสำหรับกลุ่มเชนร้านอาหารรายใหญ่ ที่ต้องเดินหน้าเติมเต็มให้ครอบคลุมเซ็กเมนต์ใหญ่ๆ ของธุรกิจร้านอาหาร 

แต่เวลานี้ไม่ใช่แค่การสร้าง Brand Portfolio เท่านั้น หากแต่ได้ต่อยอดไปอีกสเต็ป ด้วยการขยายไปสู่การใช้โมเดลธุรกิจแบบ “Asset Light” นั่นคือ เจ้าของแบรนด์ลดการถือครองสินทรัพย์ตนเอง เช่น สาขาร้าน เพื่อลดการลงทุน ต้นทุนธุรกิจ และลดความเสี่ยง แต่หาคู่ค้า หรือพันธมิตรมาเป็นผู้ลงทุน 

และหนึ่งในวิธีการทำ Asset Light คือ “แฟรนไชส์” โดยนำแบรนด์ใน Portfolio บางแบรนด์ที่มีศักยภาพ และสามารถทำได้ มาเปิดขาย “แฟรนไชส์” ให้กับผู้สนใจอยากมีธุรกิจร้านอาหาร ได้เข้ามาลงทุนซื้อแฟรนไชส์เปิดร้าน

ยิ่งในสถานการณ์ COVID-19 ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากที่ผ่านมาธุรกิจนี้เติบโตต่อเนื่องมาโดยตลอด แต่จากรายงานศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดการณ์ว่าปี 2563 ธุรกิจร้านอาหารจะมีมูลค่ารวม 3.85 – 3.89 แสนล้านบาท หดตัวประมาณ 9.7 – 10.6% จากปี 2562

อีกทั้งยังไม่รู้ว่า COVID-19 จะสิ้นสุดเมื่อใด ส่งผลต่อสภาวะเศรษฐกิจ และกำลังซื้อซบเซาลากยาวไปอย่างน้อยปีหน้า หรือกินระยะเวลาการสูญเสียด้านเศรษฐกิจนานกว่านั้น!!

เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่ธุรกิจร้านอาหาร ต้องไม่ยึดติดอยู่กับการทำธุรกิจแบบเดิมๆ หากแต่มองหา “โมเดลธุรกิจใหม่” เพื่อสร้างโอกาสในการหารายได้จากหลากหลายทาง

ด้วยเหตุนี้เอง Asset Light ด้วยการขายแฟรนไชส์ จึงเป็นอีกหนึ่งคำตอบที่กลุ่มเชนธุรกิจร้านอาหารรายใหญ่ในไทย กำลังไปในทิศทางนี้

Franchise

 

“เจ้าของแบรนด์ – ผู้ซื้อแฟรนไชส์” จะได้อะไรจากโมเดล Asset Light ด้วยระบบแฟรนไชส์ ?

อันที่จริงแล้วโมเดล Asset Light” ในกลุ่มเชนร้านอาหารรายใหญ่ปรากฎให้เห็นมาสักพักแล้ว โดยเฉพาะเชนต่างประเทศ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ QSR ทั้งหลายที่เจ้าของแบรนด์ หาพันธมิตรในแต่ละประเทศ มาเป็นแฟรนไชส์ซี โดยผู้ที่ได้แฟรนไชส์จะเป็นผู้ลงทุนขยายสาขา ในขณะที่เจ้าของแบรนด์ ทำหน้าที่บริหารแบรนด์ และร่วมกันพัฒนาสินค้า และกลยุทธ์การตลาด

Win-Win ในการทำโมเดลธุรกิจ Asset Light ทั้งในส่วนเจ้าของแบรนด์​ กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ คือ

Win ในฝั่งเจ้าของแบรนด์จะได้ เช่น

– ไม่ต้องลงทุนด้านสาขาเอง แต่เป็นฝ่ายบริหารแบรนด์ และพัฒนาสินค้า – กลยุทธ์การตลาด

– ไม่ต้องแบกต้นทุนด้านสาขา เป็นที่ทราบกันดีว่าในธุรกิจ Chain Restaurant งบลงทุนสาขา การบริหารจัดการสาขา ค่าเช่า ค่าเสื่อมเป็นงบใหญ่ เนื่องจากสาขาถือเป็น Network ทั้งการเข้าถึงผู้บริโภคให้ได้ครอบคลุม และรองรับ Delivery

– ทำให้ได้พันธมิตรธุรกิจที่เข้าใจ Local Insight

– ขยายธุรกิจได้เร็วเป็นทวีคูณ

– กระจายความเสี่ยงธุรกิจ

Win ในฝั่งผู้ซื้อแฟรนไชส์ หรือแฟรนไชส์ซีจะได้ หลังจากลงทุนไปแล้ว เช่น 

– สาขาจากเงินลงทุนของตัวเอง

– รูปแบบธุรกิจที่เริ่มต้นได้เร็ว

– ถ้าแบรนด์แฟรนไชส์นั้น มีชื่อเสียง มีฐานลูกค้าอยู่แล้ว และประสบความสำเร็จมาก่อนแล้ว ทำให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ได้แบรนด์ที่แข็งแรงไปด้วย

– มีคู่มือ ระบบบริหารจัดการ องค์ความรู้ การฝึกอบรม และการสนับสนุนด้านต่างๆ จากเจ้าของแบรนด์

– ถ้าผู้ซื้อแฟรนไชส์มีทำเล หรือมีอสังหาริมทรัพย์ของตนเองอยู่แล้ว เช่น อาคาร จะทำให้เกิดการใช้ประโยชน์สูงสุดจากอสังหาริมทรัพย์ที่มีอยู่

Partnership

ทิศทางลงทุนของเชนร้านอาหารทั่วโลก มุ่งมายังโมเดลธุรกิจ Asset Light มากขึ้น

ตัวอย่างหนึ่งที่อยากหยิบยกมาเป็นกรณีศึกษา คือ “Yum! Brand Inc.” เจ้าของแบรนด์ KFC, Pizza Hut และ Taco Bell ถึงแม้โมเดล Asset Light ของเชนธุรกิจร้านอาหารบริการด่วนระดับโลก จะเป็น Scale ใหญ่ที่สร้างความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์รายใหญ่ในแต่ละประเทศ มาเป็นแฟรนไชส์ซีของแต่ละแบรนด์ในเครือก็ตาม แต่จะทำให้เห็นถึงการใช้โมเดล Asset Light ที่ชัดเจน และสามารถสร้างความสำเร็จในการรุกขยายสาขาของธุรกิจร้านอาหารของกลุ่ม Yum! 

โดยในฝั่ง Yum! เป็นฝ่ายบริหารแบรนด์ ร่วมกันพัฒนาสินค้า และวางกลยุทธ์การตลาด วิธีการนี้ทำให้ Yum! ไม่ต้องลงทุนด้านสาขาเอง ไม่ว่าจะขยายเพิ่ม หรือปรับปรุงก็ตาม ในขณะที่พาร์ทเนอร์แฟรนไชส์ ได้แบรนด์ระดับโลกไปดำเนินธุรกิจ

ปัจจุบันในเครือ Yum! Brands Inc. มีร้านอาหารมากกว่า 43,000 สาขาใน 135 ประเทศ โดย 95% เป็นสาขาของแฟรนไชส์ซี

 สำหรับในประเทศไทย ทั้ง 3 แบรนด์คือ KFC, Pizza Hut และ Taco Bell อยู่ในรูปแบบแฟรนไชส์

– “KFC” ปัจจุบันมากกว่า 800 สาขา ผู้ได้แฟรนไชส์ 3 รายคือ CRG (Central Restaurant Group) บริษัทในเครือเซ็นทรัล, QSA (The QSR of Asia) บริษัทในเครือไทยเบฟ และ RD (Restaurant Development)

KFC

สาขา KFC ของ CRG

– Pizza Hut ผู้ได้แฟรนไชส์ในไทยคือ บริษัท พีเอช แคปปิตอล ของตระกูลมหากิจศิริ

– Taco Bell ผู้ได้แฟรนไชส์ในไทยคือ บริษัท สยาม ทาโก้ จำกัด (ร่วมทุนระหว่างบริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีเอ็ม แคปปิตอล จำกัด ของครอบครัวมหากิจศิริ

เพราะการใช้โมเดลธุรกิจนี้ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทั้งด้านแบรนด์ และการขยายสาขาแบรนด์ในเครือ Yum! Brands Inc. ทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว

Pizza Hut

 

กรณีศึกษา “CRG” พัฒนาโมเดลแฟรนไชส์ นำร่องแบรนด์ “อร่อยดี” และเตรียมต่อยอดสู่แบรนด์อื่น

ปัจจุบัน CRG” ประกอบธุรกิจอาหารแบ่งเป็น 4 กลุ่มใหญ่จาก 16 แบรนด์ แบ่งเป็น กลุ่ม QSR & Western Cuisine, กลุ่ม Thai & Chinese Cuisine, กลุ่ม Japanese Cuisine และกลุ่ม Bakery & Beverage Cuisine

ที่ผ่านแบรนด์ใน Portfolio เป็นเชนจากต่างประเทศเป็นหลัก แต่เมื่อปี 2562 “CRG” ได้ประกาศทรานส์ฟอร์มครั้งใหญ่ คือ

– สร้างแบรนด์ร้านอาหารของตนเอง เช่น อร่อยดี สุกี้เฮ้าส์

– ขยายการให้บริการ Delivery มากขึ้น ทั้งลงทุนแพลตฟอร์ม Delivery ของตนเอง และสร้าง Cloud Kitchen เอง 3 แห่ง ในนั้นมีอุปกรณ์ครัว และรองรับหลายแบรนด์ในเครือ รวมทั้ง CRG ได้เอาแบรนด์ในเครือไปอยู่ใน Cloud Kitchen ของผู้ที่ให้บริการด้านนี้โดยเฉพาะ เช่น Grab Kitchen

สำหรับการสร้างแบรนด์ของตนเองอย่าง “อร่อยดี” เป็นร้านอาหารไทยจานด่วน หรือที่คนไทยคุ้นเคยกันว่าร้านอาหารตามสั่ง และถือเป็นแบรนด์ Mass แรกของ CRG โดยวางตำแหน่งเป็น “ร้านอาหารสะดวกทาน” เมนูง่ายหลากหลาย ในราคาเข้าถึงได้ เริ่มต้นที่ 45 – 100 บาทต้นๆ และเป็นแบรนด์นำร่องของการใช้โมเดลธุรกิจ Asset Light ของบริษัท CRG 

โดยหลังจากพัฒนาแบรนด์อร่อยดีมาได้กว่า 1 – 2 ปี นับตั้งแต่สาขาแรกที่สีลม ถึงวันนี้มี 20 สาขาที่จะเป็น Role Model ในการนำแบรนด์นี้เปิดขาย “แฟรนไชส์” เพื่อทำให้สาขาของร้านอร่อยดี กระจายในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะพื้นที่นอก Mall เช่น ตามย่านที่อยู่อาศัย แหล่งคนทำงานออฟฟิศ ย่านโรงเรียน และย่านชุมชน ฯลฯ

“การขยายสาขาในรูปแบบแฟรนไชส์ เป็นแนวทางที่เราจะไปโมเดล Asset Light มากขึ้น เพราะเรามีองค์ความรู้ มีประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหารมา 42 ปี และมีความพร้อมทุกด้าน โดยมีทีม R&D พัฒนาเมนูใหม่ และทีมการตลาด ดูแลด้านการตลาด การทำโปรโมชั่น” คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เล่าถึงการขยายโมเดลธุรกิจร้านอาหารในกลุ่ม CRG

Aroi Dee

เหตุผลสำคัญที่ CRG ปั้นแบรนด์อร่อยดี พร้อมทั้งขายแฟรนไชส์ เพื่อรุกตลาดสตรีทฟู้ด เนื่องจาก

  1. เป็นตลาดใหญ่ จากมูลค่าธุรกิจอาหารกว่า 3.85 – 3.89 แสนล้านบาท มากถึง 75% เป็นร้านสตรีทฟู้ด ขณะที่ 25% เป็นเชนร้านอาหาร
  2. คนไทยรับประทานอาหารไทยอยู่แล้ว และคุ้นเคยกับอาหารตามสั่งจานเดียว จึงมีโอกาสมหาศาลที่จะผลักดันแบรนด์เข้าไปอยู่กับผู้บริโภคทุกกลุ่มในทุกวัน ทุกมื้ออาหาร ไม่ว่าจะมื้อเช้า – กลางวัน – เย็น
  3. เมนูอาหารจานเดียว ตอบโจทย์การให้บริการ Food Delivery ซึ่งร้านสาขาอร่อยดีทุกร้านจะเป็น Network สำหรับจัดส่ง Delivery เนื่องจากที่ผ่านมายอดขายของ “อร่อยดี” กว่า 70% มาจาก Delivery
  4. คำจำกัดความของการเป็น “ร้านสะดวกทาน” หัวใจสำคัญคือต้องมีสาขาจำนวนมากในพื้นที่ต่างๆ เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค เช่น ตามย่านที่อยู่อาศัย ย่านอาคารสำนักงาน ย่านสถาบันการศึกษา สถานีบริการน้ำมัน ฯลฯ ซึ่งการจะขยายสาขาให้ได้มาก และเร็ว ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ จึงต้องใช้รูปแบบแฟรนไชส์ เปิดให้กับผู้สนใจมาลงทุน

“หัวใจสำคัญของการทำแฟรนไชน์ คือ SOPs คือ Standard Operation Procedures ซึ่งแบรนด์ที่เป็นอาหารทุกแบรนด์จะมี SOPs เพราะเป็นคู่มือ และเป็น Agreement ที่ทุกคนเข้าใจ และจะทำตามนี้ ทั้งในส่วนวัตถุดิบ และกระบวนการทำอาหาร

นโยบายการควบคุมคุณภาพ และมาตรฐาน 1. เรามีทีมไป Setup, 2. มีทีมฝึกอบรม และ 3. มีทีม QA ไปตรวจสอบร้านโดยไม่ให้ทางร้านรู้ตัว ถ้าเจอสิ่งผิดพลาด เราพัฒนาร่วมกัน แก้ไขร่วมกัน” คุณธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ เล่าถึงการคุมคุณภาพและมาตรฐาน

Aroi Dee Menu

Photo Credit : Facebook Aroi Dee Restaurant

นอกจากนี้เพื่อทำให้เมนู “อร่อยดี” หลากหลาย และดึงผู้บริโภคมาสั่งอาหาร CRG ได้จับมือกับพันธมิตรร้านอาหารชื่อดัง เช่น เจ๊เกียง โจ๊กกองปราบ โตเกียว โบวส์ เจ๊เกียงหมูทอด ฯลฯ

โดยเมนูอาหารของพันธมิตรเหล่านี้ จะผลิตจาก “ครัวกลาง” ของ CRG ซึ่งอยู่ที่สีลม (คนละส่วนกับ Cloud Kitchen) จากนั้นเมื่อผลิตเสร็จ อาหารจะถูกส่งไปยังร้านอร่อยดีสาขาต่างๆ และส่งไปที่ Cloud Kitchen เพื่อให้พนักงานร้านอร่อยดี และ Cloud Kitchen นำมาทอด ปรุงร้อน แล้วขายให้กับลูกค้า

ขณะเดียวกันยังเปิดให้ผู้ซื้อแฟรนไชส์ร้านอร่อยดี สามารถขายในรูปแบบ “Grab and Go” เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้มากขึ้น

ผู้บริหาร CRG ยกตัวอย่างเช่นผู้ซื้อแฟรนไชส์คนหนึ่ง เปิดร้านอร่อยดี และใกล้ๆ ร้านที่เขาเปิดนั้น อยู่ใกล้โรงเรียน หรือใกล้ออฟฟิศ หรือใกล้โรงพยาบาล ผู้ซื้อแฟรนไชส์สามารถทำอาหาร บรรจุในกล่อง โดยทาง CRG จะสอนวิธีการแพคอาหารที่ถูกต้อง เพื่อไปตั้งจุดขาย Grab and Go เช่น ในช่วงเช้าที่นักเรียนมาโรงเรียน หรือคนทำงานกำลังไปทำงาน เมื่อเห็นเมนูข้าวอร่อยดี แพคในกล่อง ก็ซื้อไปรับประทานเมื่อถึงโรงเรียน หรือที่ทำงาน

เป้าหมายการขยายสาขาร้านอร่อยดี ภายใน 5 ปี ต้องการมี 300 สาขาในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นของ CRG 75 สาขา และแฟรนไชส์ 225 สาขา

Aroi Dee menu

Photo Credit : Facebook Aroi Dee Restaurant

นอกจากเปิดขายแฟรนไชส์แบรนด์ “อร่อยดี” แล้ว ในอนาคต CRG มีแผนจะเปิดขายแฟรนไชน์แบรนด์อื่นด้วยเช่นกัน

คุณธนพล เผยว่า “มีแผนจะขายแฟรนไชส์แบรนด์อื่นอีกในเร็วๆ นี้ ซึ่งการขยายธุรกิจในรูปแบบแฟรนไชส์ ช่วยให้เราขยายตัวเร็วขึ้น เพราะการทำแฟรนไชส์ ผู้ที่สนใจทำธุรกิจกับเรา มีโลเคชั่นดีอยู่แล้ว เข้ามาหาเราเพื่อลงทุนเปิดร้าน จะทำให้สาขาเพิ่มขึ้นหลายเท่า

ในขณะที่เรานำองค์ความรู้ ประสบการณ์ และมีฝึกอบรมให้กับผู้ซื้อแฟรนไชส์ เพื่อทำให้สามารถดำเนินธุรกิจร่วมกัน และประสบความสำเร็จทั้งเรา และผู้ซื้อแฟรนไชส์ ในวันนี้คุณอาจเปิด 1 สาขา แต่ต่อไปอาจจะเป็นดาวกระจายขยายไปอีก โดยซื้อแฟรนไชส์เป็นภูมิภาค หรือเป็นจังหวัดเลยก็ได้”

การพัฒนาโมเดลธุรกิจ Asset Light ด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ จะทำให้เชนร้านอาหารในเครือ CRG ขยายสาขาในวงกว้างได้เร็ว และกระจายอยู่ในทำเล หรือพื้นที่ต่างๆ นอก Mall โดยที่ CRG ไม่ต้องลงทุนสาขาเองทั้งหมด ในขณะเดียวกันทำให้ผู้สนใจทำธุรกิจ สามารถเป็นผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น

(ซ้าย) คุณธนพล ธรรพสิทธิ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการ และ (ขวา) คุณณัฐ วงศ์พานิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด

 

กรณีศึกษา “ZEN” ดัน “เขียง” เป็นแบรนด์ดาวรุ่งแบรนด์สตรีทฟู้ดแฟรนไชส์

อีกหนึ่งกลุ่มเชนร้านอาหารรายใหญ่ในไทย คือ ZEN Corporation Group” ที่มีแบรนด์ในเครือประมาณ 13 – 14 แบรนด์ แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องปรับโครงสร้างองค์กร เพื่อเพิ่มความคล่องตัว พร้อมทั้งควบคุมค่าใช้จ่าย และโฟกัสแบรนด์เรือธง 7 แบรนด์ คือ ZEN, AKA, On The Table Tokyo Café, Din’s, ตำมั่ว, ลาวญวน และเขียง ขณะเดียวกันให้ความสำคัญกับบริการ Take Away และ Delivery มากขึ้น

ในขณะที่การขยายธุรกิจภายใต้ Brand Portfolio ต่างๆ ZEN Corporation Group” เป็นกลุ่มเชนร้านอาหารที่เน้นรูปแบบแฟรนไชส์ ควบคู่กับการลงทุนเอง เห็นได้จากจำนวนสาขา (ครึ่งปีแรก 2563) ของแบรนด์ทั้งเครือ มีสาขารวม 348 สาขา แบ่งเป็น สาขาบริษัทลงทุนเอง 155 สาขา และสาขาแฟรนไชส์ 193 สาขา

หนึ่งในแบรนด์ที่ ZEN Corporation Group” ปั้นขึ้นเอง และวางรากฐานธุรกิจให้เป็นรูปแบบแฟรนไชส์มาตั้งแต่แรก คือ “เขียง” เชนร้านอาหารตามสั่งแฟรนไชส์ที่เปิดตัวในปี 2562 เพื่อเจาะตลาดสตรีทฟู้ด ราคาตั้งแต่ 50 – 150 บาท

ถึงวันนี้ “เขียง” มีสาขากว่า 70 สาขา และภายในปี 2563 ต้องการมี 100 สาขา เน้นกระจายในทุกพื้นที่ ทั้งศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ อาคารสำนักงาน สถานีบริการน้ำมัน ใกล้ที่อยู่อาศัย และบริการ Delivery

Khiang

“เขียง”​ ถือเป็นแบรนด์ดาวรุ่งของกลุ่ม ZEN Corporation ในการขยายสาขารูปแบบแฟรนไชส์ ในตลาด Mass ที่เข้าถึงผู้บริโภคทุกกลุ่ม และเป็นแบรนด์หลักของการสร้างการเติบโตในโลเคชั่นต่างๆ นอกพื้นที่ Mall เพราะจากที่ผ่านมาร้านอาหารในเครือ ZEN Corporation อยู่ในค้าปลีกสมัยใหม่เช่น ศูนย์การค้าเป็นหลัก

แต่ Mall มีข้อจำกัดในการขยายธุรกิจหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นต้นทุนค่าเช่า เวลาเปิด – ปิด และ Traffic ของคนที่มาเดิน หรือใช้จ่าย ไม่ได้หนาแน่นทุกช่วงเวลา และทุกวัน โดยส่วนใหญ่ Traffic สูงในวันหยุด และบางช่วงเวลาเท่านั้น

อีกทั้งในช่วง COVID-19 ที่ต้องปิดสาขาใน Mall ชั่วคราว และถึงแม้ปัจจุบันจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ด้วยพฤติกรรมผู้บริโภค ได้เปลี่ยนไปใช้บริการ Delivery มากขึ้น และความถี่ในการมาค้าปลีกสมัยใหม่ ไม่ว่าจะศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต กลับลดลง

ดังนั้นการมีแบรนด์เชนร้านอาหาร ในราคาย่อมเยา และขยายสาขาได้เร็ว ในโลเคชั่นต่างๆ จึงเพิ่มโอกาสการขายได้มากขึ้น

Khiang

 

กรณีศึกษา “Food Passion” สร้างแบรนด์แฟรนไชส์ Win-Win ทั้งบริษัท และแฟรนไชส์ซี

ที่ผ่านมาโมเดลธุรกิจของ Food Passion” ลงทุนขยายสาขาแบรนด์ใน Portfolio เอง ซึ่งในช่วง COVID-19 “Food Passion” เป็นอีกกลุ่มเชนร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบ ทำให้ต้องหาหนทางนำพาองค์กรก้าวต่อไปได้ ในหลากหลายกลยุทธ์

อย่างแบรนด์ “บาร์บีคิว พลาซ่า” เป็นแบรนด์ใหญ่สุดของ Portfolio ได้พัฒนารูปแบบการขาย และการทำตลาดใหม่ เช่น LIVE ขายสินค้า ออกเมนูใหม่ สำหรับ Delivery ขยายโปรดักต์ไลน์ สำหรับการบริโภคภายในบ้าน ทำโปรโมชั่นแนวคิดใหม่ และเพิ่มช่องทางการขายหลากหลาย เพื่อเข้าถึงผู้บริโภค มากกว่าจะรอให้ผู้บริโภคมาใช้บริการที่ร้านสาขา

และล่าสุด Food Passion สร้างโอกาสการเติบโตในอีกโมเดลที่แตกต่างจากเดิม นั่นคือ การสร้างแบรนด์ “หมูทอดกอดคอ” รูปแบบแฟรนไชส์ โดยใช้ “จุดแข็ง” ขององค์กรมาต่อยอด ทั้งประสบการณ์ในธุรกิจร้านอาหาร 33 ปี มาตรฐาน วัตถุดิบหมู และสูตรอาหาร

Food Passion_Moo Tod Gord Kor Franchise

ทว่าโมเดลแฟรนไชส์ของ “Food Passion” ภายใต้แบรนด์หมูทอดกอดคอ แตกต่างจากรูปแบบแฟรนไชส์ของกลุ่มเชนร้านอาหาณใหญ่รายอื่นตรงที่เป็นแฟรนไชส์ขนาดเล็ก ในรูปแบบคีออส และเงินลงทุนมีให้เลือก 3 โมเดลคือ ราคา 11,900 บาท 32,900 บาท และ 59,900 บาท โดยไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่นๆ ได้แก่ การยกเว้นค่าธรรมเนียมแฟรนไชส์ (Franchise Fee) การยกเว้นค่าสิทธิหรือการหักเปอร์เซ็นต์จากยอดขายรายเดือน (Royalty  Fee) การยกเว้นค่าการตลาด (Marketing Fee/ Advertising Fee) และยกเว้นค่าฝึกอบรม

เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์ได้ง่าย ขณะเดียวกันการทำร้านรูปแบบคีออส สามารถขยายได้เร็ว คล่องตัว เข้าไปอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ทุกตรอกซอกซอยได้ง่าย

Food Passion ตั้งเป้าปีนี้มี 100 สาขา โดยในเฟสแรกนี้จะเน้นพื้นที่ในกรุงเทพและปริมณฑลก่อน เพื่อให้สามารถดูแลทุกร้านได้อย่างทั่วถึง

Food Passion_Moo Tod Gord Kor Franchise

“จากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ สังคม เศรษฐกิจ และการดำเนินชีวิตของทุกคน รวมถึง Food Passion ด้วย จึงเป็นที่มาของความคิดที่จะยกระดับความเชื่อขององค์กร จากการสร้างความสุขผ่านมื้ออาหาร ไปสู่การสร้างรายได้ให้คนไทย ผ่านโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ ที่เราคิดว่าเหมาะจะนำมาใช้รับมือกับสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน

นอกจากความตั้งใจให้แฟรนไชส์ “หมูทอดกอดคอ” เป็นหนึ่งในทางออกของผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 แล้ว การพัฒนาโมเดลธุรกิจแฟรนไชส์ครั้งนี้ยังเป็นหนึ่งในแผนกลยุทธ์การสร้างความหลากหลายของการดำเนินธุรกิจ รวมถึงการ Synergy ทรัพยากรในองค์กรเพื่อการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาตอบโจทย์การเติบโตทางธุรกิจให้กับ Food Passion อีกด้วย” คุณชาตยา สุพรรณพงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟู้ดแพชชั่น จำกัด เล่าที่มาของการขยายสู่ธุรกิจแฟรนไชส์

Food Passion_Moo Tod Gord Kor Franchise

แน่นอนว่าโมเดลธุรกิจ Asset Light ด้วยรูปแบบแฟรนไชส์ ช่วยให้องค์กรเร่งสปีดธุรกิจได้เร็ว และมีคู่ค้าธุรกิจที่เป็นผู้ซื้อแฟรนไชส์มาร่วมธุรกิจ เพื่อสร้างการเติบโตไปด้วยกัน

แต่ความท้าทายของการใช้โมเดลนี้ ก็มีไม่ใช่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะการวางโครงสร้างพื้นฐานของแบรนด์นั้นๆ ให้มีความแข็งแกร่ง ไม่ว่าจะด้านแบรนด์ดิ้ง, กลยุทธ์การตลาด – โปรโมชั่น, ระบบหลังบ้าน, ระบบ Data, ระบบซัพพลายเชน – โลจิสติกส์ รวมไปถึงการคัดสรรผู้สนใจซื้อแฟรนไชส์ ที่มีวิสัยทัศน์ มีความเข้าใจ และมีความตั้งใจที่จะร่วมกันขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางเดียวกัน

เพราะถึงที่สุดแล้วระบบแฟรนไชส์ของแบรนด์นั้นๆ จะยั่งยืนหรือไม่ หัวใจสำคัญไม่ได้อยู่ที่การเร่งขยายจำนวนสาขาให้ได้มากไว้ก่อน แต่คือ การควบคุมคุณภาพทุกร้านสาขาให้อยู่ภายใต้มาตรฐานเดียวกัน

Food Passion_Moo Tod Gord Kor Franchise

 

 

Source: Yum! Brands Inc.

Source: ZEN Corporation Group

Credit Photo (รูปที่ 2, 3) : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like